28 พ.ค. เวลา 11:00 • หนังสือ

ความสำเร็จไม่จำเป็นต้องรีบร้อน 10 บทเรียนจากหนังสือ Late Bloomer #สรุปหนังสือ Late Bloomer

ในปัจจุบันนี้ สังคม สื่อโซเชียลมีเดีย และหนังสือ Best Sellers มากมายต่างก็พยายามเชิดชูการประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นเหตุให้ใครหลายคนนั้นรู้สึกถึงความกดดันจากสังคมรอบข้าง รวมถึงพยายามเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอายุเท่ากันที่ประสบความสำเร็จมากกว่าอยู่เสมอ
แต่หนังสือ ‘Late Bloomers: สำเร็จได้ ไม่เห็นต้องรีบ‘ โดย Rich Karlgaard ได้ชวนเรากลับมาหารูปแบบการใช้ชีวิตของตัวเอง เพราะเราไม่รู้หรอกว่าปลายทางของชีวิตจะเป็นยังไง แต่เราสามารถพัฒนาตัวเองไปตามเป้าหมายของชีวิตได้ เพียงแต่ต้องอดทนรอได้ และอยู่กับตัวเองอย่างไม่ทุกข์ทรมาน ไปสำรวจความสำเร็จในจังหวะของตัวเองพร้อมๆ กันผ่าน 10 บทเรียนนี้
1. อย่ากดดันตัวเองที่จะต้องประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย
ในโลกปัจจุบันที่ให้มักเชิดชูแนวคิด "อายุน้อยร้อยล้าน" หรือคนที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้หลายคนรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวหากยังไม่สามารถสร้างผลงานที่โดดเด่นได้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว แต่จริงๆแล้วผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เองอย่าง Rich Karlgaard เองก็เป็นตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จในภายหลัง เขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดด้วยเกรดเฉลี่ยธรรมดา และใช้เวลาช่วงอายุ 20 ต้นๆ ไปกับการทำงานหลากหลายอย่าง กว่าจะมาเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสารไฮเทคและผู้จัดพิมพ์นิตยสาร Forbes ในที่สุด
2. สมองของวัยรุ่นจะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุ 25 ปีขึ้นไป
จากการศึกษาวิจัยของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ ที่ติดตามศึกษาพัฒนาการทางสมองของเด็กและวัยรุ่นกว่า 5,000 คนในระยะยาว พบว่าสมองของพวกเขาจะพัฒนาอย่างเต็มที่เมื่ออายุ 25 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะสมองส่วน Prefrontal Cortex ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน จัดระเบียบ และแก้ปัญหา ดังนั้นการคาดหวังให้วัยรุ่นต้องเก่งกาจตั้งแต่อายุยังน้อยจึงไม่สอดคล้องกับพัฒนาการตามธรรมชาติของสมองนั่นเอง
3. ช่วงอายุ 18-30 ปีเป็นช่วงสำคัญในการค้นหาตัวเอง
Jeffrey Arnett นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยคลาร์ก เสนอแนวคิดว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจทำให้เกิดช่วงวัยใหม่ที่เขาเรียกว่า "ผู้ใหญ่ตอนต้น" (Emerging Adulthood) ซึ่งอยู่ระหว่างวัยรุ่นกับผู้ใหญ่ คือในช่วงอายุ 18-30 ปี เขาเชื่อว่าการขยายช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ออกไปมีประโยชน์หลายด้าน ทั้งในเรื่องการรักษาความยืดหยุ่นของสมอง การส่งเสริมการคิดอิสระและการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ไปจนถึงการเพิ่มแรงจูงใจและแรงขับเคลื่อน
เช่น การที่ศาสนามอร์มอนส่งเสริมให้วัยรุ่นไปทำพันธกิจเป็นเวลา 2 ปีระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งจะทำให้พวกเขาสำเร็จการศึกษาเมื่ออายุ 24 ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับคนอายุ 22 ปีแล้ว พวกเขาจะมีวุฒิภาวะและความพร้อมในการทำงานและใช้ชีวิตมากกว่า
4. ความสามารถบางอย่างจะดีขึ้นตามวัย
จากการทดสอบความสามารถทางการรู้คิดผ่านแบบทดสอบออนไลน์กับกลุ่มตัวอย่างเกือบ 50,000 คน Laura Germine และ Joshua Hartshorne สองนักวิทยาศาสตร์พบข้อค้นพบที่น่าทึ่ง นั่นคือความสามารถด้านต่างๆ จะถึงจุดสูงสุดในช่วงวัยที่แตกต่างกัน อาทิ ความเร็วในการประมวลผลข้อมูลจะสูงสุดในวัยรุ่นตอนปลาย ความสามารถในการจดจำระยะสั้นจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอายุ 25 ปีก่อนที่จะคงที่ไปอีกสิบปี
ส่วนความสามารถในการประเมินรูปแบบที่ซับซ้อน รวมถึงอารมณ์ของผู้อื่น จะสูงสุดเมื่ออายุ 40-50 ปี และความฉลาดที่สั่งสมมาตลอดชีวิต (Crystallized Intelligence) จะสูงสุดในวัย 60 ปลายถึง 70 ต้น
5. เราควรสร้างเส้นทางอาชีพแบบใหม่ที่เปิดกว้างต่อการเติบโต
ในบริษัทส่วนใหญ่ คนที่ทำงานดีมักได้รับรางวัลเป็นตำแหน่งใหญ่ขึ้น อำนาจมากขึ้น และเงินเดือนสูงขึ้น จนถึงจุดที่เลื่อนขั้นต่อไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะพวกเขาอาจถึงขีดสุดความสามารถหรือไม่อาจทำงานหนักขนาดนั้นได้อีกต่อไป บริษัทก็จะหยุดขึ้นเงินเดือนให้ เพราะมันจะกลายเป็นการปิดกั้นโอกาสเลื่อนขั้นของคนรุ่นใหม่ และองค์กรมักเลือกที่จะเลิกจ้างคนเหล่านี้ในที่สุด (ในวงการกฏหมายและบัญชีเรียกวิธีนี้ว่า "up-and-out")
ผู้เขียนมองว่าแนวคิดนี้ควรเปลี่ยน จากการมองเส้นทางอาชีพแบบเส้นตรงควรมองเป็นเส้นโค้งมากกว่า โดยที่แม้จะเลิกเลื่อนขั้นแต่ยังให้ทำงานต่อไปได้ในฐานะที่ปรึกษาอาวุโสไปจนเกษียณ
6. จงกล้าแยกตัวออกจากวัฒนธรรมเดิมๆ
เรื่องของ Erik Wahl เป็นตัวอย่างของคนที่ถูกหล่อหลอมให้เชื่อว่าต้องเอาชนะ ต้องเข้ามหาวิทยาลัยท็อป และมีงานที่ให้รายได้สูง ซึ่งความเชื่อนี้พาเขาไปถึงความสำเร็จระดับนึง จนเมื่อเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ทำให้ธุรกิจของเขาต้องปิดตัวลง เขาจึงต้องมองหาเส้นทางใหม่ ด้วยการเข้าหาศิลปินที่เขาเคยแอบชื่นชมในความคิดอิสระ และเริ่มหัดวาดภาพ ถึงแม้ตอนแรกฝีมือจะแย่มาก แต่ยิ่งฝึกฝนเขาก็ยิ่งเก่งขึ้น จนสามารถทำเงินจากการเป็นศิลปินแสดงสดได้มากกว่าเมื่อครั้งเป็นนักธุรกิจเสียอีก
แสดงให้เห็นว่าหากยังยึดติดกับความเชื่อเดิมๆ ที่สังคมปลูกฝัง ก็อาจพลาดโอกาสค้นพบของขวัญที่แท้จริงของตัวเองไป
7. คนที่ประสบความสำเร็จช้าควรกล้าที่จะ “รื้อ” เพื่อสร้างตัวเองใหม่
เมื่อต้นกุหลาบเติบโตจนใหญ่เกินกระถางที่มันอยู่ มันจำเป็นต้องถูกย้ายไปอยู่กระถางใบใหม่ คนที่ยังไม่มีโอกาสผลิบานก็เช่นกัน ต้องกล้า "ย้ายกระถาง" ตัวเองบ้างเพื่อให้เจริญเติบโตเต็มศักยภาพ ไม่ว่าจะด้วยการคบหาสมาคมกับคนที่คิดคล้ายกัน หางานใหม่ หรือย้ายไปอยู่ที่อื่น อย่างเช่น Kimberly Harrington นักเขียนที่ผันตัวจากการเป็นคนเขียนโฆษณาในลอสแองเจลิส
1
เพราะเมืองนั้นไม่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ของเธอ เธอจึงย้ายไปตั้งถิ่นฐานในชนบทของรัฐเวอร์มอนต์ที่มีแต่นักวิชาการ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และผู้คนที่สนใจเรียนรู้ ไม่นานมุมมองของเธอก็เริ่มเปิดกว้างการได้ทำธุรกิจฟรีแลนซ์ของตัวเอง ห่างจากความกดดันในวงการโฆษณา ทำให้เธอมีพื้นที่ทางความคิดมากขึ้นและสามารถเขียนหนังสือเล่มแรกได้สำเร็จเมื่ออายุ 50 ปี
8. จงยึดมั่นในเป้าหมายของหัวใจ
Jean M. Twenge ผู้เขียนหนังสือและบทความทางวิชาการเกี่ยวกับวัยรุ่นมากกว่า 140 ชิ้น ตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุที่ทำให้คนหนุ่มสาวซึมเศร้ามากขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงจุดสนใจจากเป้าหมายภายใน เช่น การพัฒนาตนเองและสร้างอัตลักษณ์ที่มั่นคง ไปยังเป้าหมายภายนอก เช่น เกรด รายได้ และรูปลักษณ์ เธอเชื่อว่าสังคมให้คุณค่ากับเป้าหมายภายนอกอย่างความร่ำรวยและความสำเร็จทางการศึกษามากกว่าเป้าหมายภายในอย่างการรู้จักตัวเองและการมีความสุข
9. อย่าใช้มาตรฐานของคนอื่นตัดสินตัวเอง
Rich Karlgaard กล่าวย้อนไปเมื่อครั้งที่ตัวเขาอายุ 25 ปี เขายังคงหางานทำไม่ได้ เขารู้สึกสับสน จนทำให้ต้องรับงานเป็นยามรักษาความปลอดภัย วันหนึ่งขณะลาดตระเวนในลานจอดรถบรรทุก เขาพบว่าเพื่อนร่วมงานที่ควรจะคอยเฝ้าสังเกตการณ์กลับเป็นสุนัขร็อตไวเลอร์ตัวหนึ่งที่คอยเห่าใส่คนแปลกหน้า เขาได้ตระหนักถึงความไร้ค่าของงานที่ใครๆ หรือแม้แต่สุนัขก็ทำได้
ซึ่งพอได้ยินข่าวว่า Steve Jobs ซึ่งอายุเท่ากับเขากำลังจะนำ Apple เข้าตลาดหุ้นและเปลี่ยนแปลงวงการคอมพิวเตอร์ เขารู้สึกท้อแท้และสิ้นหวัง แต่เรื่องนี้สอนให้เห็นว่าแต่ละคนมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน บางคนอาจต้องใช้เวลามากกว่าคนอื่นในการค้นพบตัวเอง และเราไม่ควรรู้สึกแย่ไปกับเรื่องนั้น
10. ไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะค้นพบเป้าหมายของชีวิตในภายหลัง
อย่าคิดว่าตัวเองเป็นเพียงศักยภาพที่สูญเปล่าหากวัย 20 ผ่านไปแล้วแต่ยังไม่รู้ว่าควรทำอะไรกับชีวิต เมื่อคุณเดินบนเส้นทางอันยาวไกลอย่างไม่ย่อท้อ คุณจะค่อยๆ ค้นพบว่าตัวเองชอบอะไร ถนัดอะไร คุณจะได้พบกับผู้คนมากมาย เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และมีมุมมองที่เปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้ล้วนอาจนำไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต ดังนั้นอย่ามัวแต่กลัวความล้มเหลว จงมีความกล้าที่จะลงมือทำสิ่งใหม่ๆ และปล่อยให้ตัวเองได้ค่อยๆ ผลิบานบานตามธรรมชาติ แม้จะช้ากว่าคนอื่น แต่ถ้าคุณสามารถเบ่งบานออกมาได้อย่างงดงาม ทุกอย่างก็คุ้มค่าเสมอ
ซึ่งหากกล่าวโดยสรุปนั้น หนังสือ Late Bloomer เตือนใจเราว่า ในโลกที่ให้คุณค่ากับความสำเร็จที่มาเร็วเกินไป ผู้คนจำนวนมากกลับต้องเผชิญกับความกดดันและความทุกข์ใจอย่างใหญ่หลวง ทั้งที่จริงๆ แล้วการเบ่งบานช้ากว่าคนอื่นไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดปกติเลย เพราะพัฒนาการของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน และศักยภาพหลายอย่างก็มักจะปรากฏขึ้นในภายหลัง
ในการดำเนินชีวิต เราควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ ค้นหาตัวเอง และพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง อย่ายึดติดกับเส้นทางตรงที่สังคมวางไว้ จงกล้าที่จะออกนอกกรอบ ลองผิดลองถูก และสร้างเส้นทางที่เป็นของตัวเองขึ้นมา จงอดทนและมีความหวัง เชื่อมั่นว่าวันหนึ่งเราจะค้นพบพรสวรรค์ที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจและผลิบานออกมาได้อย่างงดงาม เมื่อเวลาและโอกาสที่เหมาะสมมาถึง
อ้างอิง
- หนังสือ Late Bloomers: The Power of Patience in a World Obsessed with Early Achievement : Rich Karlgaard
#สรุปหนังสือ
#แรงบันดาลใจ
#พัฒนาตัวเอง
#LateBloomer
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา