Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
1 มิ.ย. 2024 เวลา 10:10 • ประวัติศาสตร์
ผู้ชาย 1 ใน 200 คนในปัจจุบัน คือลูกหลานของ “เจงกิสข่าน (Genghis Khan)”
“เจงกิสข่าน (Genghis Khan)” คือผู้ก่อตั้งและผู้นำคนแรกของจักรวรรดิมองโกล และเป็นผู้ที่ประวัติศาสตร์ไม่อาจมองข้าม
ตั้งแต่ปีค.ศ.1206-1227 (พ.ศ.1749-1770) เจงกิสข่านได้ขยายดินแดนและเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนในดินแดนต่างๆ เป็นจำนวนมาก และนอกเหนือจากนั้น เขายังได้ชื่อว่าเป็นนักรักชั้นยอด มักจะได้ภรรยาจากดินแดนต่างๆ ที่ขยายอำนาจเข้าไปเสมอ
ว่ากันว่าตลอดรัชสมัยของเจงกิสข่าน เขาได้ทำให้หญิงตั้งครรภ์กว่า 1,000 คน และเมื่อเวลาผ่านมาเกือบ 900 ปี นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ประเมินว่าผู้ชายทุกๆ 1 ใน 200 คนในปัจจุบัน คือสายเลือดของเจงกิสข่าน
เรื่องราวเป็นอย่างไร ลองมาดูกันครับ
เจงกิสข่าน (Genghis Khan)
ในสมัยศตวรรษที่ 13 สังคมมองโกลนั้นไม่ใช่สังคมผัวเดียวเมียเดียว และโดยมาก ผู้ชายมักจะมีภรรยาได้มากตามที่ต้องการ สามารถทำได้แม้กระทั่งซื้อภรรยาก็ได้
ภรรยาคนแรกของเจงกิสข่านคือ “บอร์เต (Borte)” โดยผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจับคู่ให้ทั้งสองขณะที่บอร์เตอายุ 10 ขวบ ส่วนเจงกิสข่าน ซึ่งในเวลานั้นมีนามว่า ”เตมูจิน (Temujin)” มีอายุเก้าขวบ
ทั้งคู่แต่งงานกันขณะอายุยังไม่ถึง 20 ปี และบอร์เตก็ได้กลายเป็นจักรพรรดินีแห่งจักรวรรดิมองโกล ก่อนที่จะถูกชนเผ่าคู่อริลักพาตัวไปเป็นเวลานานกว่าแปดเดือน
เจงกิสข่านพร้อมด้วยสหายอย่าง “จามูคา (Jamukha)” ได้รีบไปช่วยบอร์เต และเมื่อช่วยบอร์เตได้ พร้อมๆ กับที่ลูกชายคนแรกอย่าง ”โจจิ (Jochi)” เกิดขึ้นมา ก็ได้เกิดคำถามว่าโจจินั้นเป็นลูกของเจงกิสข่านจริงหรือ? แต่ถึงอย่างนั้น เจงกิสข่านก็เลี้ยงดูโจจิประหนึ่งลูกแท้ๆ
โจจิ (Jochi)
นอกจากโจจิแล้ว บอร์เตยังให้กำเนิดบุตรชายอีกสามคน บุตรสาวอีกห้าคน ซึ่งบรรดาลูกชายนั้นก็มีส่วนสำคัญในการคุมกองทัพ ส่วนบุตรสาวนั้นก็ช่วยในการเชื่อมสัมพันธ์กับดินแดนอื่นผ่านการสมรส
เจงกิสข่านจะยกบุตรสาวให้แต่งงานกับเจ้าต่างแดนเพื่อเชื่อมพันธมิตร ซึ่งทำให้สถานะของมองโกลมั่นคงยิ่งขึ้น
สำหรับเรื่องราวของภรรยานั้น บอร์เตไม่ใช่หญิงเดียวในชีวิตของเจงกิสข่าน ไม่ว่าจะเข้ารุกรานเผ่าใด สุดท้าย เจงกิสข่านก็จะได้บุตรสาวของหัวหน้าเผ่าแต่ละแห่งมาเป็นภรรยา
“คูลัน (Khulan Khatun)” คือหนึ่งในบุตรสาวหัวหน้าเผ่าที่เจงกิสข่านพิชิต และเจงกิสข่านได้แต่งตั้งให้เป็นจักรพรรดินี มีราชสำนักของตนเอง ครอบครองเทือกเขาเคนตี และคูลันก็ได้ให้กำเนิดบุตรชายแก่เจงกิสข่าน นามว่า “เกเลเจียน (Gelejian)”
4
เมื่อประเมินแล้ว ในเวลา 25 ปี กองทัพมองโกลได้เข้าครอบครองดินแดนต่างๆ มากกว่ากองทัพโรมันในสมัยศตวรรษที่ 5 ซะอีก และในเมื่อยุคนั้น สตรีถือเป็นรางวัลของผู้ชนะ ดังนั้นเจงกิสข่านก็น่าจะมีภรรยามากมาย และให้กำเนิดบุตรนับร้อยเลยทีเดียว
1
และไม่เพียงแค่เจงกิสข่าน แต่ลูกหลานของเจงกิสข่านก็มีส่วนที่ทำให้เชื้อสายของเจงกิสข่านยังคงอยู่และแพร่กระจายออกไป
บุตรของเจงกิสข่านต่างก็มีภรรยาเป็นจำนวนหลายคนเช่นกัน แค่ตัวโจจิเพียงคนเดียว นักประวัติศาสตร์ก็เคยประเมินว่าโจจิต้องมีบุตรชายอย่างน้อย 14 คน บุตรสาวสองคน
เจงกิสข่านเสียชีวิตในปีค.ศ.1227 (พ.ศ.1770) และผู้ที่สืบทอดอำนาจก็คือ “ออคไดข่าน (Ögedei Khan)” หนึ่งในบุตรชายของเจงกิสข่าน
ออคไดข่านไม่มีบุตรกับภรรยาคนแรก หากแต่มีบุตรจำนวนห้าคนกับภรรยาคนที่สอง ในขณะที่บุตรคนอื่นๆ ต่างก็มีภรรยาหลายคนและมีบุตรรวมกันหลายสิบคน
เมื่อถึงรุ่นหลาน “กุบไลข่าน (Kublai Khan)” หลานของเจงกิสข่านซึ่งขึ้นครองอำนาจในจักรวรรดิมองโกลและเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์หยวน ก็ได้มีภรรยาและบุตรหลายคนเช่นกัน
กุบไลข่าน (Kublai Khan)
จากบันทึกของ “มาร์โค โปโล (Marco Polo)” นักสำรวจชาวอิตาลีซึ่งเคยทำงานในราชสำนักของกุบไลข่านเป็นเวลากว่า 17 ปี ได้กล่าวว่า กุบไลข่านมีบุตรชายที่เกิดจากภรรยาคนแรกกว่า 22 คน และบุตรชายทั้งหมดก็เป็นทายาทที่ถูกต้องของกุบไลข่าน
ในช่วงพีค จักรวรรดิมองโกลขยายอำนาจไปได้กว้างไกลกว่าเก้าล้านตารางไมล์ ทำให้จักรวรรดิมองโกลเป็นดินแดนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุคสมัยนั้น และเมื่อถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 14 อำนาจของจักรวรรดิมองโกลก็ได้ขยายเข้าไปในเอเชียและยุโรปตะวันออก
การขยายอำนาจเข้าไปยังดินแดนต่างๆ นี้ ทำให้เชื้อสายมองโกลของเจงกิสข่านขยายเข้าไปด้วย ในช่วงนี้มีเด็กเกิดใหม่มากมาย โดยในเวลานั้น 0.5% ของประชากรโลกมีเชื้อสายมองโกลของเจงกิสข่าน
ในปีค.ศ.2003 (พ.ศ.2546) นักชีววิทยาได้ทำการวิจัยซึ่งได้ทำการเก็บตัวอย่างเลือดจากประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิมองโกล และพบว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆ กว่า 16 แห่งในเอเชียมีโครโมโซมวายที่เกือบจะเหมือนกัน
มาร์โค โปโล (Marco Polo)
เชื้อสายของคนเหล่านี้สามารถย้อนกลับไปได้กว่า 1,000 ปี และก็ยืนยันแล้วว่ายีนส์ของพวกเขาก็คือยีนส์ของเจงกิสข่าน และผู้คนที่มียีนส์เหล่านี้ก็มีประมาณ 5% ของประชากรโลก
หากดูจากจำนวนประชากรในสมัยจักรวรรดิมองโกล ก็มีการประเมินว่ามีบุรุษที่มีเชื้อสายของเจงกิสข่านเกือบ 16 ล้านคน
แต่สถิติเหล่านี้ก็มีเฉพาะบุรุษเท่านั้น เนื่องจากโครโมโซมวายมีเฉพาะในเพศชาย และเพศหญิงก็ไม่มีโครโมโซมวายที่จะนำมาศึกษา ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเชื้อสายของเจงกิสข่านจริงๆ นั้นน่าจะมีมากกว่านี้อีกมาก
นี่ก็คือเรื่องราวที่น่าทึ่งหรือเป็น “มรดก” ที่เจงกิสข่านได้ทิ้งไว้ก็ว่าได้
References:
https://medium.com/lessons-from-history/how-1-in-200-men-today-have-genghis-khans-y-chromosome-860e271d9b16
https://www.nationalgeographic.com/culture/article/mongolia-genghis-khan-dna
https://www.discovermagazine.com/planet-earth/1-in-200-men-direct-descendants-of-genghis-khan
https://genomelink.io/dna/genghis-khan-ancestry
ประวัติศาสตร์
5 บันทึก
35
1
7
5
35
1
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย