5 มิ.ย. 2024 เวลา 02:20 • ประวัติศาสตร์

“เหอเชิน (Heshen)” ขุนนางที่คอร์รัปชั่นที่สุดในประวัติศาสตร์จีน

หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของนักท่องเที่ยวในประเทศจีน ก็คือ “คฤหาสน์กงหวังฝู่ (Prince Gong Mansion)” ซึ่งตั้งอยู่ข้างๆ “พระราชวังต้องห้าม (Forbidden City)” สถานที่ประทับขององค์จักรพรรดิ
1
แต่ทำไมคฤหาสน์ของขุนนางคนหนึ่งจึงสามารถตั้งอยู่ข้างๆ ที่ประทับขององค์จักรพรรดิได้? นั่นหมายความว่าขุนนางผู้นั้นน่าจะสำคัญไม่น้อย
แน่นอนว่าขุนนางผู้นี้สำคัญมาก และยังได้ชื่อว่าเป็น “ขุนนางที่โกงมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนอีกด้วย”
คฤหาสน์กงหวังฝู่ (Prince Gong Mansion)
เรื่องราวของเขาเป็นอย่างไร? ลองมาดูกันครับ
ในปีค.ศ.1750 (พ.ศ.2293) ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เด็กน้อยที่มีนามว่า “เหอเชิน (Heshen)” ได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก
เหอเชินนั้นสูญเสียบิดามารดาไปตั้งแต่ยังเยาว์วัย และต้องอยู่ท่ามกลางความลำบากและยากจนมาโดยตลอด
แต่ถึงแม้จะต้องเผชิญกับความยากลำบากมาโดยตลอด แต่เหอเชินนั้นเป็นผู้ที่รูปงาม สติปัญญาเฉลียวฉลาด ดูโดดเด่นกว่าผู้คนอื่นๆ สามารถพูดได้ทั้งภาษาจีน แมนจู มองโกเลีย และทิเบต และยังรอบรู้ในหลักปรัชญาขงจื๊อ
แต่ถึงจะมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด แต่เหอเชินก็ไม่สามารถสอบเข้ารับราชการได้ ทำให้เหอเชินเบนเข็ม สมัครเข้ามาอยู่ในกองทัพหลวงแทน ซึ่งทหารในกองทัพหลวงนั้นก็มีแต่ผู้ที่ถูกคัดเลือกมาแล้วว่ามีความสามารถ และดูสง่างามโดดเด่น
1
เหอเชิน (Heshen)
การได้เข้าร่วมกับกองทัพหลวง ทำให้เหอเชินสามารถไต่เต้าจนเป็นราชองครักษ์ของ “จักรพรรดิเฉียนหลง (Qianlong Emperor)” พระประมุขแห่งราชวงศ์ชิง
ในวันหนึ่ง จักรพรรดิเฉียนหลงทรงตั้งคำถามเกี่ยวกับหลักปรัชญาขงจื๊อ มีรับสั่งให้เหล่าราชองครักษ์หาคำตอบ หากแต่ไม่มีใครสามารถตอบได้ มีเพียงเหอเชินเท่านั้นที่สามารถตอบได้ ทำให้จักรพรรดิเฉียนหลงทรงชื่นชมและสนพระทัยในราชองครักษ์ผู้เฉลียวฉลาดและสง่างามผู้นี้
1
และนี่ก็คือเส้นทางสู่ความรุ่งโรจน์ของเหอเชิน
ขณะอายุเพียง 27 ปี เหอเชินก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเสนาบดีการคลัง ซึ่งเขาก็ทำหน้าที่นี้ได้ดี สามารถปราบปรามการทุจริตได้อย่างกว้างขวาง ทำให้จักรพรรดิเฉียนหลงทรงไว้วางพระทัยในตัวเหอเชินเป็นอย่างมาก อีกทั้งนโยบายการปราบปรามการทุจริตของเหอเชินก็เป็นที่ถูกพระทัยของจักรพรรดิเฉียนหลง ทำให้เหอเชินได้รับมอบหมายให้ดูแลการคลังของแผ่นดินทั้งหมดขณะที่มีอายุได้ 32 ปี
2
จักรพรรดิเฉียนหลง (Qianlong Emperor)
เมื่อเวลาผ่านไป จักรพรรดิเฉียนหลงทรงพระชราภาพ พระองค์ก็ทรงเริ่มมีพระอุปนิสัยที่ดุร้ายรุนแรง ไม่ฟังคำแนะนำของเหล่าที่ปรึกษา
เหอเชินเองก็สังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ และจะเรียกว่า “อยู่เป็น” ก็ได้ เนื่องจากเหอเชินก็พยายามที่จะเอาใจจักรพรรดิเฉียนหลง เช่น ในคราวที่พระราชชนนีของจักรพรรดิเฉียนหลงสวรรคต เหอเชินก็แสร้งทำเป็นร้องไห้ราวกับจะขาดใจ ประหนึ่งสูญเสียมารดาแท้ๆ ของตนไป และยังทำการไว้ทุกข์ถวายอีกหลายวัน
พฤติการณ์เหล่านี้ทำให้จักรพรรดิเฉียนหลงทรงโปราดปรานเหอเชิน และไว้วางพระทัยในตัวเหอเชิน
ในรัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลง พระองค์ทรงจัดให้มีการเสด็จประพาสต้นยังสถานที่ต่างๆ เพื่อทอดพระเนตรชีวิตราษฎร แต่อันที่จริง ดูเหมือนจะเป็นเพียงการท่องเที่ยวพักผ่อนมากกว่า มีการจัดงานเลี้ยงที่ใหญ่โตในสถานที่ต่างๆ ที่พระองค์เสด็จไป
2
การเสด็จประพาสต้นแต่ละครั้งนั้นต้องใช้เงินมหาศาล รวมทั้งแรงงานจำนวนมาก และการใช้เงินซึ่งเป็นเงินของชาตินี้ก็ทำให้พระองค์เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นวงกว้าง และทำให้พระองค์ทรงขัดแย้งกับเหล่าขุนนาง
1
เพื่อแก้ปัญหานี้ เหอเชินได้สร้างระบบหนึ่งขึ้นมา นั่นคือมีการอนุญาตให้ขุนนางสามารถบริจาคแร่เงินให้ทางการเพื่อขอลดโทษหากกระทำความผิด ซึ่งแน่นอน เหล่าขุนนางกังฉินต่างชื่นชอบระบอบนี้เป็นอย่างยิ่ง
หากแต่แร่เงินที่เหล่าขุนนางใช้บริจาคนั้น ก็ล้วนแต่เป็นเงินของประชาชนที่ถูกขูดรีด และระบบนี้ก็ได้กลายเป็นสาเหตุของการทุจริตและคดโกงเป็นวงกว้างในช่วงปลายรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง
1
จักรพรรดิเฉียนหลงสวรรคตในปีค.ศ.1799 (พ.ศ.2342) พร้อมๆ กับความตกต่ำของเหอเชิน
1
เมื่อปราศจากผู้คุ้มครองชั้นดีอย่างจักรพรรดิเฉียนหลง ทำให้เหล่าขุนนางลุกขึ้นต่อต้านเหอเชิน กล่าวประณามและเปิดโปงการคดโกงของเหอเชิน มีการถวายฎีกาต่อ “จักรพรรดิเจียชิ่ง (Jiaqing Emperor)” จักรพรรดิพระองค์ใหม่
เมื่อจักรพรรดิเจียชิ่งทรงได้รับฎีกา พระองค์ก็ทรงกริ้วเป็นอย่างมาก และมีรับสั่งให้จับกุมเหอเชินและครอบครัวพร้อมตัดสินว่าเหอเชินมีความผิดถึง 20 ข้อหา และให้ยึดทรัพย์ทั้งหมด
เหอเชินถูกตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยการถลกหนัง แต่ “เจ้าหญิงกู้หลุนเหอเซี่ยว (Princess Hexiao)” พระราชธิดาในจักรพรรดิเฉียนหลงและได้ทรงเสกสมรสกับบุตรชายของเหอเชิน ได้ทูลขอให้จักรพรรดิเจียชิ่งเมตตา เหอเชินจึงถูกบังคับให้ฆ่าตัวตายแทน
1
จักรพรรดิเจียชิ่ง (Jiaqing Emperor)
เหอเชินได้ฆ่าตัวตายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1799 (พ.ศ.2342) ขณะมีอายุได้ 49 ปี
หลังจากเหอเชินเสียชีวิต ก็ปรากฎว่าทรัพย์สินของเหอเชินที่ทางการยึดมาได้นั้นก็ทำให้ทุกคนตกตะลึง รวมทั้งราชสำนักเองก็คาดไม่ถึงว่าจะเยอะขนาดนี้
ทรัพย์สินของเหอเชินนั้นมหาศาล มีเงินกว่า 1,100 ล้านตำลึง คิดเป็นเงินในปัจจุบันได้ประมาณ 270,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9.8 ล้านล้านบาท) และทรัพย์สินอื่นๆ อีกมหาศาล
2
ซึ่งด้วยทรัพย์สินเหล่านี้ ก็ทำให้เหอเชินกลายเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีที่มั่งคั่งที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว
โฆษณา