11 มิ.ย. เวลา 09:27 • กีฬา

7 ครั้งแพ้หนเดียว : เผยเคล็ดลับเบื้องหลัง "ราชาดวลจุดโทษ" ของทีมชาติเยอรมัน | Main Stand

ว่ากันว่าการดวลจุดโทษเหมือนกับการเสี่ยงทายด้วยการโยนหัวก้อย โอกาสแพ้-ชนะ แทบจะเท่า ๆ กัน เพียงแต่ว่าเมื่อทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ๆ มาถึง เยอรมนี กลับเป็นชาติที่โอกาสชนะเพิ่มขึ้นเมื่อการชิงดำมาถึง ว่ากันว่าจาก 50-50 เป็น 85%
7 ครั้ง แพ้ครั้งเดียว และครั้งสุดท้ายที่ทัพอินทรีเหล็กดวลจุดโทษแพ้ เกิดขึ้นเมื่อปี 1976 แถมการแพ้ครั้งนั้นยังถือเป็นจุดเริ่มต้นในการ "จับทาง" ครั้งสำคัญ นำมาสู่สถิติชนะรวดหลังจากนั้นอีกด้วย
คิดแบบเยอรมัน ลงมือทำแบบเยอรมัน และชนะแบบเยอรมัน ... นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจากการทำงานหนักและเอาจริงเอาจัง จนไม่มีใครอยากจะต้องไปสู้กันถึงฎีกา
ติดตามเคล็ดลับฉบับอินทรีเหล็กนี้ที่ Main Stand
ว่ากันด้วยสถิติ
อย่างที่เรากล่าวไว้ในข้างต้น ดวลจุดโทษ 7 ครั้ง เยอรมนี ชนะ 6 แพ้ครั้งเดียว คิดเป็นเปอร์เซนต์ชนะคือ 85% ... เยอะแค่ไหนไม่ต้องถามกันอีกแล้วสำหรับตัวเลขที่น่าอัศจรรย์นี้ และถ้านับเป็นปี เยอรมัน ไม่แพ้จุดโทษใครในทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์มานานถึง 48 ปี
หนสุดท้ายที่พวกเขาแพ้จุดโทษ คือการแพ้ให้กับ เชโกสโลวาเกีย ในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอล ยูโร 1976 ย้อนกลับไปในเวลานั้น คือการดวลจุดโทษที่เกิดตำนานลูกยิงแบบ "ปาเนนก้า" ของ อันโตนิน ปาเนนก้า นักเตะของเชโกสโลวาเกีย ที่ชิปเข้ากลางประตูแบบนิ่ม ๆ เหมือนกับการเตะฟุตบอลเล่นในสวนหลังบ้าน
ทว่าหลังจากครั้งนั้น เยอรมัน เปลี่ยนโฉมหน้าในการดวลจุดโทษใหม่ และชนะรวด 100% ไล่เรียงมาตั้งแต่การเอาชนะ ฝรั่งเศส ใน ฟุตบอลโลก 1982, ชนะ เม็กซิโก ในฟุตบอลโลก 1986, ชนะ อังกฤษ ใน ฟุตบอลโลก 1990, ชนะ อังกฤษ อีกรอบใน ยูโร 1996, ชนะ อาร์เจนตินา ใน ฟุตบอลโลก 2006 และ ชนะ อิตาลี ใน ยูโร 2016
การเอาชนะในเกมระดับความกดดันถาโถม เพราะโอกาสการแพ้และชนะ เหมือนการเข้าใกล้กับ นรก-สวรรค์ ในความห่างแค่เอื้อมมือ นี่คือความสุดยอดที่ทำเอาคู่แข่งของเยอรมนี พากันท้อเมื่อต้องมาสู้กับพวกเขาในการดวลจุดโทษ
คนที่บอกเล่าความรู้สึกได้ดีที่สุดคือ แกรี่ ลินิเกอร์ ตำนานดาวยิงทีมชาติอังกฤษ ที่อยู่ในชุดแพ้จุดโทษ เยอรมันตะวันตก ในฟุตบอลโลก 1990 ในรอบตัดเชือก ซึ่งครั้งนั้น ลินิเกอร์ ถึงกับตัดพ้อผ่านการสัมภาษณ์ว่า
"ฟุตบอลคือเรื่องง่าย ๆ คน 22 คนลงไปแย่งฟุตบอลในสนาม จบ 90 นาที เยอรมัน เป็นผู้ชนะ"
ประโยคนี้ของ ลินิเกอร์ อัดแน่นในหลายความรู้สึก ทั้งความท้อที่พ่ายแพ้ ความเซ็งที่ทีมสิงโตคำรามเล่นดีขนาดนั้นก็ยังผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศไม่ได้ และสุดท้าย สำคัญที่สุด มันคือการยกย่องทีมชาติเยอรมัน ในฐานะของชาติที่เล่นเกมที่ถูกตีตราว่า "ต้องชนะ" ได้เก่งกาจที่สุดทีมหนึ่งของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องดวลจุดโทษ ไม่มีทีมไหนสถิติโดดเด่นเกินพวกเขาอีกแล้ว
กว่าจะได้มาซึ่งคำยกยอขนาดนี้ เรื่องทั้งหมดไม่ใช่ความฟลุก หรือความโชคดี ใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะมันเกิดขึ้นจาก DNA ในความเป็นคนเยอรมัน ที่เมื่อเห็นปัญหา พวกเขาจะต้องแก้ไขอย่างมีแบบแผน
หลังพ่ายแพ้ต่อ เชโกสโลวาเกีย และลูกยิงของ อันโตนิน ปาเนนก้า การถอดรหัสเรื่องการดวลจุดโทษของทีมชาติเยอรมันจึงเริ่มขึ้น พวกเขาไม่ปล่อยให้การแพ้เสียเปล่า พวกเขาถอดสมการ เพื่อทำให้ตัวเองไม่ต้องประสบพบเจอกับความพ่ายแพ้ในการดวลจุดโทษอีกต่อไป ...
แก้ปัญหาแบบเยอรมัน DNA
จะมีใครอธิบาย DNA ของชาวเยอรมันได้ดีกว่า ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ชายผู้คลุกคลีและเคยทำงานกับ BMW บริษัทรถยนต์แถวหน้าของเยอรมนี โดย ดร.วิทย์ เคยเปิดเผยกับ Main Stand ว่า
"เยอรมันเรารู้อยู่แล้วว่า เป็นชาติที่มีระเบียบวินัย มีแบบแผน ทำงานร่วมกันเป็นทีม พวกเขาเป็นชาติที่คิดว่าตัวเองเก่งอยู่เสมอ แต่ก็เป็นชาติที่กล้ายอมรับข้อเสีย ความผิดพลาดของตัวเอง เมื่อวันใดที่พวกเขาไม่ดี พวกเขาจะกล้าพูดว่า 'เราดีไม่พอ'"
ดร. วิทย์ ยกตัวอย่างเรื่องของการยอมรับข้อผิดพลาดและแก้ไขหลังจากจบศึก ยูโร 2000 ที่เยอรมนีตกรอบแรก เพราะหลังจากนั้น เยอรมนีได้วางแผนเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ทั้งหมด เพื่อกลับมาครองโลกลูกหนังอีกครั้ง แม้ว่าจะต้องเป็นแผนงานที่จะต้องใช้เวลานานถึง 10 ปีกว่าจะสัมฤทธิ์ผล แต่ด้วยความเป็นเยอรมัน ที่ทำอย่างมีแบบแผน เชื่อมั่นในวิธีการ พวกเขาก็ทำสำเร็จ เพราะจากนั้น 14 ปี พวกเขาก็กลายเป็นแชมป์โลก
ทำไมเราถึงต้องย้อนเรื่องนี้และยกมาเป็นตัวอย่าง ? เพราะวิธีการเปลี่ยนจากผู้แพ้ที่อ่อนหัดในการดวลจุดโทษจากลูกยิงแบบปาเนนก้า เยอรมนีก็แก้ไขด้วยวิธีคล้าย ๆ กัน
พวกเขารู้ซึ้ง และรับทราบว่า การยิงจุดโทษที่ต้องแบกความหวังของคนทั้งชาติ เดินมายิง หรือเดินมาเซฟท่างกลางผู้คนกว่าครึ่งแสนคือความกดดันชนิดที่ว่าต่อให้ซ้อมมาดีแค่ไหน ผู้รับผิดชอบการยิง-การเซฟ ก็ขาสั่นได้ง่าย ๆ เช่นกัน และในเมื่อการซ้อมเป็นกิจวัตรมันช่วยไม่ได้ทั้งหมด พวกเขาก็พบว่า "จิตใจ" นี่แหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการยิงจุดโทษตัดสินเกมแบบนี้ พวกเขาจะทำให้นักเตะของพวกเขาเป็นเหมือน อันโตนิน ปาเนนก้า
กล่าวคือทุกคนที่เดินมารับหน้าที่จะต้องแบกเอาความมั่นใจมาจากบ้าน สะทกสะท้านให้น้อยที่สุด ท่ามกลางบรรยากาศแสนตึงเครียด ... และเมื่อจิตใจสงบเยือกเย็น บวกกับการซ้อมที่เป็นระบบระเบียบ ทุกอย่างจะต้องออกมาดี และมันเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขารักษาสถิติชนะ 100% นับตั้งแต่การแพ้ในปี 1976 พวกเขาใช้คำว่า 'Nervenstaerke' สำหรับปฏิบัติการครั้งนี้
Nervenstaerke แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Nerve strength หรือการฝึกความแข็งแกร่งของจิตใจหรือประสาท เรื่องนี้ยืนยันได้จาก อันเดรียส ค็อปเค่ ผู้รักษาประตูทีมชาติเยอรมัน ชุดแชมป์ ฟุตบอลโลก 1990 และ ยูโร 1996 ที่เปิดเผยเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเอง
Nervenstaerke เป็นวิธีคิดที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ยุค 1980s โดยกระทำการผ่านการติดตั้งโดยโค้ช ผู้ฝึกสอน หรือแม้กระทั่งการสะกดจิตตนเอง เป้าหมายคือการทำให้นักเตะเยอรมันมั่นใจเหมือนกับว่า ปาเนนก้า ทำในเกมที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา แต่ก็ยังกล้าหาญพอที่จะตัดสินใจทำในสิ่งที่หลายคนคาดไม่ถึง ด้วยความมั่นใจในตัวเองว่า "ชนะแน่" "เข้าแน่" "เซฟได้แน่"
มันยากจะอธิบายเป็นคำพูดว่าของแบบนี้มันสร้างขึ้นอย่างไร แต่ ค็อปเค่ พยายามจะเล่าให้เห็นภาพว่า "ความสำเร็จส่วนใหญ่ต้องยกให้เรื่องของการพัฒนา Nervenstaerke มือยิงจุดโทษของเราแต่ละคนจะเกิดขึ้นจากการเลือกคนมั่นใจในตัวเองที่สุด คนที่คิดว่าตัวเองมีจิตใจแข็งแกร่งที่สุด พวกเราพยายามทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่าเมื่อเราเดินเข้าประจำจุดที่ต้องสังหาร เราจะต้องเป็นผู้ชนะ"
"Nervenstaerke ทำให้เราชนะในการดวลจุดโทษเสมอ นั่นคือเคล็ดลับ มันอยู่เบื้องหลังชัยชนะมากมาย รวมถึงการเจอกับอังกฤษในปี 1996 ด้วย" ค็อปเค่ ตอบสื่ออย่าง Reuters
ไม่ใช่แค่คนยิงจุดโทษเท่านั้น ใครจะได้เป็นมือ 1 ของทีมชาติเยอรมัน คนนั้นก็ต้องมีคาแร็คเตอร์ที่แข็งแกร่งด้วย
หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไม มาร์ค อังเดร แตร์ สเตเก้น ที่เล่นดีทุกปีในระยะหลัง ถึงแย่งมือ 1 จาก มานูเอล นอยเออร์ ไม่ได้สักที ? คำตอบอาจจะหมายถึงเรื่องนี้ด้วย
ค็อปเค่ อธิบายต่อว่า "เราเลือกผู้รักษาประตูที่สามารถหยุดลูกจุดโทษได้ตั้งแต่ต้น ผู้รักษาประตูสำคัญมาก พวกเขาเป็นหนึ่งในปัจจัยชี้ขาดชัยชนะ ไล่ตั้งแต่อดีตจนถึงตอนนี้ เราไม่เคยขาดผู้รักษาประตูที่เกิดมาเพื่อเซฟจุดโทษได้เลย"
เรื่องนี้ต้องยืนยันด้วยสถิติว่า นายด่านเยอรมนี ทั้งสามารถเซฟ และออกมาเป็นมือสังหารจุดโทษได้อย่างคมกริบในเวลาเดียวกัน ผลลัพธ์ 7 เซฟ จากการยิงจุดโทษ 18 ครั้ง คิดเป็น 39% ในฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ใหญ่ นี่คือสถิติที่ไม่ได้ใช่ได้มาเพราะโชคช่วยอย่างแน่นอน
ลงลึกแบบ เยอรมั๊นนน เยอรมัน
เยอรมนี ไม่ได้ซ้อมจุดโทษก่อนเกมมากนักในแต่ละครั้ง อย่างที ค็อปเค่ บอก เช่นเดียวกับที่ อันเดรียส เบรห์เม่ มือยิงจุดโทษส่งอินทรีเหล็กเป็นแชมป์โลกปี 1990 บอกตรงกัน
เบรห์เม่ เล่าว่าในทีมชุดนั้นมีมือยิงจุดโทษระดับพระกาฬมากมาย แต่ไม่มีการตั้งไว้ว่าใครจะเป็นคนยิงลำดับที่เท่าไหร่ มันคือเรื่องของสถานการณ์เฉพาะหน้า เพราะทุก ๆ วินาทีความรู้สึกของแต่ละคนย่อมเปลี่ยนไป คนที่ถูกวางเป็นมือยิงคนแรก อาจจะเพิ่งยิงจ่อ ๆ พลาดชนเสา จนใจเสียก็ได้ ? ดังนั้น เยอรมนี จึงมีแนวคิดด้วยให้คนที่มั่นใจที่สุดอาสาเป็นคนยิง
"การดวลจุดโทษหรือการยิงจุดโทษในเกมสำคัญ ๆ ไม่ใช่อะไรที่คุณจะทำในสนามซ้อมและเอามาใช้ในสนามจริงได้ ผมบอกได้เลย ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวน์ พูดกับพวกเราว่า การที่คุณถือบอลเดินไปยิงต่อหน้าคนดู 60,000 คน มันคนละเรื่องกับการยิงในสนามซ้อม ดังนั้นแม้เราไม่ปฏิเสธเรื่องความกดดันได้ แต่แน่นอนว่าคนที่จะจัดการมันภายใต้สถานการณ์แบบนี้ คือคนที่อาสา ยกมือขึ้นด้วยความมั่นใจ"
"พวกเราไม่เคยมีตัวเลือกแรก ทีมชุดนั้นมีผม มี รูดี้ โฟลเลอร์, โลธาร์ มัทเธอุส จังหวะการยิงจุดโทษในปี 1990 นัดชิงนั้น ผมรู้สึกไม่กดดัน สงบเยือกเย็น ผมจึงเป็นคนอาสาวิ่งขึ้นไปยิงจุดโทษเอง" เบรห์เม่ ผู้ล่วงลับกล่าว
แม้จะบอกว่าการไม่ได้ซ้อมยิงจุดโทษก่อนเกม คือหนึ่งในเคล็ดลับ แต่จริง ๆ ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่ซ้อม แต่หลักสูตรความแกร่งถูกส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อคุณชนะบ่อย ๆ คุณจะมั่นใจขึ้น และนักเตะเยอรมันในระดับทีมชาติก็เคยชินกับการยิงหรือเซฟจุดโทษเป็นอย่างดี ผ่านประสบการณ์ในระดับสโมสร นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมทีมชาติเยอรมัน มักมีนักเตะจากสโมสรใหญ่เป็นแกนหลัก โดยเฉพาะตำแหน่งสำคัญ ๆ ตัดสินเกมได้
ที่จะบอกคือ พวกเขาซ้อมในสนามจริงเป็นหลัก ส่วนเรื่องการจัดโปรแกรมยิงจุดโทษก่อนเกมนั้น อาจจะมีบ้างหากอิงตามหลักความเป็นจริง แต่ก็ไม่ปรากฏนักเตะเยอรมันคนไหนที่พูดถึงการซ้อมในลักษณะนี้เลย เยอรมนีฝึกเรื่องจิตใจ และการคาดคะเนมากกว่า ... เรื่องจิตใจก็ฝึกจากสถานการณ์จริงอย่างที่บอก ส่วนเรื่องคาดคะเนนั้นพวกเขาไปลึกถึงขั้นที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้วย
อย่างที่บอกว่าคนเยอรมัน นี่มันเยอรมันจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาดวลจุดโทษเก่งที่สุดในโลก พวกเขาก็ยังต่อยอดให้แข็งแกร่งขึ้นไปอีก โดยเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ผ่านเทคโนโลยีด้วยแอปพลิเคชั่นที่ชื่อว่า Penalty Insights จากบริษัทไอทีระดับโลกอย่าง SAP หรือ Systemanalyse und Programmentwicklung ซึ่งหลายคนคงคุ้นจากการเป็นสปอนเซอร์หน้าอกของ ฮอฟเฟ่นไฮม์ ทีมจอมเซอร์ไพรซ์ของบุนเดสลีกา
ความพิเศษของแอปพลิเคชั่นนี้ คือการรวบรวมสถิติของคู่ต่อสู้ทีมชาติเยอรมันแต่ละทีม เจาะลึกลงไปที่มือยิงแต่ละคน จากนั้นพวกเขาจะเอาสถิติทั้งหมดมาวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ และคาดการณ์การยิงจุดโทษในเกมที่จะเจอกัน คนนี้ชอบยิงแบบไหน แป หรือ หลังเท้า
ชอบยิงความสูงหรือต่ำขนาดไหน หรือแม้แต่จะเลือกยิงทางไหนเวลาเจอกับผู้รักษาประตูตัวใหญ่และตัวเล็ก ละเอียดถึงขั้นนั้นก็เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ให้ผู้รักษาประตูที่เชี่ยวชาญด้านการเซฟจุดโทษอยู่แล้ว มั่นใจในการเซฟขึ้นไปอีกเมื่อมีชุดข้อมูลที่อ้างอิงจากสถานการณ์จริง
"เมื่อก่อนกว่าที่เราจะทำการวิเคราะห์เรื่องการยิงหรือเซฟจุดโทษได้ เราค้นข้อมูลกันแทบหัวแทบแตก ... ตอนนี้ทุกอย่างดีขึ้นและเร็วขึ้นมากในการเจาะลึกไปที่ผู้เล่นแต่ละคน มันช่วยให้เราเตรียมผู้รักษาประตูของเราด้วยวิธีที่เหมาะสมที่สุด" ค็อปเค่ ที่เป็นโค้ชประตูของทีมชาติเยอรมันระหว่างปี 2004-2021 และเป็นโค้ชประตูของทีมชาติเกาหลีใต้ในปัจจุบันยืนยัน
แน่นอนว่าสถิติหรือแอปพลิเคชั่นล้ำยุคนี้คือตัวช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่ โอลิเวอร์ เบียร์โฮฟฟ์ ผู้จัดการทีมชาติเยอรมันระหว่างปี 2004-2017 และผู้อำนวยการเทคนิคระหว่างปี 2018-2022 ก็ยังยืนยันว่า สถิติเป็นแค่ตัวช่วยเสริมแกร่งเท่านั้น เพราะในสถานการณ์จริง คนจริง ๆ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้นการเตรียมคนให้แข็งแกร่งทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ ยังคงเป็นสารตั้งต้นทั้งหมดของเรื่องนี้ คนยิงต้องยิงอย่างมั่นใจ และคนเซฟต้องมีสมาธิ ข่มขวัญ และอ่านทางบอลด้วยความเชื่อมั่นของตัวเอง นั่นคือสิ่งสำคัญที่สุด
"ต่อให้มีข้อมูลในมือ แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าทีมชาติอื่น ๆ หรือผู้เล่นของพวกเขาก็พยายามจะสอดส่องและวิเคราะห์เราอย่างละเอียดเหมือนกัน ... เราใข้เทคโนโลยีเป็นการเสริมเขี้ยวเล็บ แต่เรายังยืนยันว่า สัญชาตญาณความเป็นมนุษย์คือพื้นฐานที่สำคัญที่สุด เรารู้ว่าไม่มีอะไร 100% ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ มันขึ้นอยู่กับว่าใครจะตอบสนองต่อความกดดันได้ดีกว่ากัน"
ท้ายที่สุดแล้ว การเป็นชาติที่ดวลจุดโทษเก่งที่สุด เกิดขึ้นจากการพยายามแก้ไขจุดอ่อน และต่อเติมจุดแข็งให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะจำได้ ... จากจุดโทษ ปาเนนก้า ที่แสดงให้เห็นว่าคนที่มั่นใจสามารถทำอะไรได้บ้างแม้ในสถานการณ์ที่เหมือนกับมีดจ่อคอหอย พวกเขาต่อยอดจนเจอกับจุดที่ตัวเองพลาด เปลี่ยนมันกลายเป็นลายเซ็นที่ทุกทีมทั่วโลกต้องขาสั่นเมื่อต้องเจอกับ เยอรมนี ในการดวลจุดโทษ
แน่นอนว่าสักวันพวกเขาจะต้องแพ้ เพราะเป็นสัจธรรมของโลกนี้ที่ไม่มีอะไรอยู่ยั้งยืนยง แต่ที่สำคัญคือทีมที่จะชนะพวกเขาต้องมีคุณสมบัติทั้งหมดที่กล่าวมามากกว่าที่เยอรมนีเป็น และสร้างขึ้นมากว่า 40 ปี
คุณใจเย็นได้มากแค่ไหนเมื่อต้องดวลกับราชาแห่งการดวลจุดโทษ ? คำตอบนี้เราอาจจะได้เห็นในฟุตบอล ยูโร 2024 หรือไม่อย่างนั้นก็คงได้เห็นความโรคจิตระดับฟ้าผ่ายังวิ่งปร๋อไม่สะทกสะท้านฉบับเยอรมันสไตล์ยืดสถิติสุดโหดนี้ออกไปอีก เตรียมตัวจับตาดูไว้ให้ดีเลยทีเดียว
1
บทความโดย : ชยันธร ใจมูล
โฆษณา