Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ESGUNIVERSE
•
ติดตาม
16 มิ.ย. 2024 เวลา 06:27 • ข่าว
‘Work-Life Balance’ เคล็ดลับการปรับสมดุลชีวิต
เพิ่มพลังบวกให้กับสุขภาพจิต
Work-Life Balance หรือ การหาความสมดุลให้ตัวเอง เป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน ทำให้เกิดความเครียดสะสม และส่งผลเสียต่าง ๆ ต่อสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตใจ ดังนั้นจะเห็นวิธีปรับสมดุลชีวิต และการดูแลสุขภาพจิตในรูปแบบต่าง ๆ ออกมาให้เห็น เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติมากมาย
SX TALK SERIES ครั้งที่ 3 ได้จัดเสวนาหัวข้อ “บาลานซ์อยู่ไหน? ปรับกาย ฮีลใจ ให้สมดุล” จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านฮีลใจ ที่จะมากระตุ้นพลังใจ เรียนรู้วิธีปรับสมดุลชีวิตให้ลงตัว ที่นำไปใช้ได้จริง ประกอบด้วย ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณดุจดาว วัฒนปกรณ์ ผู้ก่อตั้ง Empathy Sauce และนักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว ผู้ที่ให้ศิลปะบำบัดและเยียวยาจิตใจ และ คุณอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร บริษัท มายด์เซ็ทเมคเกอร์ จำกัด
ระบบนิเวศของสุขภาพจิต
(Mental Sustainability Ecosystem)
ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปรียบจิตใจเราเหมือนหัวหอม ที่มีวงรอบต่าง ๆ ล้อมรอบ โดยมีเราเป็นแกนกลาง วงที่ใกล้ที่สุดคือครอบครัว ถัดออกไปเป็นโรงเรียน ที่ทำงาน สังคม สิ่งแวดล้อม ประเทศชาติ เป็นต้น
ดังนั้นจุดแต่ละจุดที่เราอยู่จะบาลานซ์หรือไม่บาลานซ์ วงต่าง ๆ ที่ประกอบเป็นหัวหอม ต่างมีส่วนเกี่ยวพันกันหมด ถ้าเราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงวงนอกสุด คนบางคนที่เปลี่ยนแปลงวงนอกสุด ก็สามารถทำให้วงภายในสุดของเราบาลานซ์ได้ ปกติแล้ววงนอกสุด เป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถจัดการได้
แต่ส่งผลให้ชีวิตของเราขาดบาลานซ์ การจะทำให้คนกลับมามีบาลานซ์ในชีวิตอีกครั้ง จึงต้องทำอะไรที่มากกว่าการเปลี่ยนที่ตัวคนเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเปลี่ยนระบบนิเวศในองค์รวมของสุขภาพจิต (Mental Health Ecosystem) ทั้งระบบ เพื่อเอื้อให้เกิดความยั่งยืนต่อสุขภาพจิตของคนในสังคม
"เราจำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งหมด ไม่เช่นนั้นความรู้สึกที่ว่าไม่สบายใจ ไม่มีแหล่งความช่วยเหลือ มันก็จะวนอยู่เช่นนี้ตลอดไป ช่วงเวลาของความสบายใจและไม่สบายใจ ก็จะกลับมาสั้นลง การเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ จึงมีความจำเป็น ถ้าเราต้องการที่จะกลับมามีความสุขที่ยาวนาน นั่นหมายถึงเราต้องมีความยั่งยืนทางจิต (Mental Sustainability)"
ถ้าหากเราเปลี่ยนอีโคซิสเต็มส์ให้มันเอื้อ ให้มีพื้นที่สีเขียว มีพื้นที่สำหรับการติดต่อสื่อสาร มีพื้นที่บนโลกออนไลน์ที่ปลอดภัย มีแหล่งความช่วยเหลือที่เข้าถึงได้ ทั้งหมดนี้จะทำให้เอื้อก่อให้เกิดความยั่งยืนทางด้านสุขภาพจิตของเรา สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือ ภาคของความรู้ การที่เราจะกลับมามีความสุขยาว ๆ ต้องนึกถึงสิ่งภายนอกที่มีต่อเราด้วย การทำชีวิตให้บาลานซ์ วงกลมต้องเชื่อมต่อกัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ร่วมกัน ล้วนเชื่อมโยงต่อกัน
การที่เรามีความสุขหรือไม่มีความสุข หรือการที่ชีวิตเราบาลานซ์หรือไม่บาลานซ์ ทุกสิ่งทุกอย่างมีส่วนเกี่ยวข้องกัน การที่เราเป็นแกนกลางของหัวหอม ซึ่งหมายถึงตัวเราเอง ความสุขหรือทุกข์คือ คนที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด คนที่อยู่ข้าง ๆ คือคนที่มีความสำคัญกับเรามากที่สุด
"แม้ว่าปัจจัยภายนอก มีพื้นที่น้อยสำหรับเรา แต่คนรอบข้างเราดี ก็สามารถทำให้เรามีความสุขได้ เพราะมีพื้นที่ปลอดภัยใกล้ตัว การที่เราจะมีสิ่งเหล่านี้ได้ เราจะต้องมีจิตที่เมตตากรุณา จิตที่เมตตากรุณา ที่เราเผื่อแผ่ไปให้คนอื่น จะย้อนกลับมาหาเราเอง ไม่ว่าสถานการณ์ภายนอกจะเป็นอย่างไร วิกฤตแค่ไหน หากเราย้อนกลับมาที่ใจเรา แล้วแผ่เมตตาให้ตัวเราเอง เราจะรู้สึกสงบ"
ถ้าหากใจเราอยู่ในภาวะโกรธโมโห สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นรังสีที่อยู่ในตัวเรา แล้วก็แผ่ขยายไปยังคนรอบข้าง ทำให้ไม่ได้ช่วยก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีซึ่งกันและกัน แทนที่เราจะพุ่งเป้าความเมตตาไปที่คนอื่น เราต้องหันมาเมตตาตัวเราเองด้วย จากสภาวะภายนอกที่บีบอัด
สิ่งที่คนเราควรทำ มี 3 ประเด็นที่ที่น่าสนใจ คือ
อันดับที่ 1 ความอ่อนโยนต่อจิตใจเรา
อันดับที่ 2 มองเห็นสิ่งที่เราทุกข์อยู่ในขณะนี้ ทุกคนก็ทุกข์เหมือนกัน
อันดับที่ 3 การมีสติที่จะยอมรับว่าขณะนี้ เรามีความทุกข์ หรือมีความรู้สึกอย่างไร การยอมรับต่อความรู้สึกนั้น เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะนำพาเราไปสู่ความสุข
“ถ้าหากเรายอมรับ ในสิ่งที่เป็นอยู่อย่างเต็มที่ เราก็จะก้าวข้าม อุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ได้ ในจังหวะที่มีความรู้สึกเสียใจ ให้เราฉุกคิดขึ้นมา ว่าถ้าหากเป็นเพื่อนเรา เราจะปลอบโยนเขาอย่างไร แล้วนำคำนั้นมาปลอบโยนตัวเองรักตัวเอง”
เข้าใจตัวเอง เสริมสร้างจิตวิทยาเชิงบวก
คุณอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร บริษัท มายด์เซ็ทเมคเกอร์ จำกัด กล่าวว่า ร่างกายจะเป็นตัวเรียกร้อง ให้เราหันมาดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง การดูแลใจขั้นต้นเป็นสิ่งที่เราควรทำ เช่น ถ้าเราต้องการที่จะไปสนุก เราก็ไปสนุก ถ้าใจเรารู้สึกเศร้า เราก็ไปหากิจกรรมทำให้หายเศร้า
การตอบสนองความรู้สึกที่ไม่ดีของเรา เราควรมีวิธีของเรา ที่เป็นทางออกที่ดี ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากเราเศร้า แล้วเราไปหาของกิน สิ่งเหล่านี้จะกระทบกับมาที่ร่างกาย ซึ่งใจเรารู้ เพราะฉะนั้น เราควรหาทางออกทางด้านกิจกรรมอื่น เพื่อให้เรามีทางออกที่ดีกว่านี้
จิตวิทยาเชิงบวกเป็นศาสตร์ๆ หนึ่ง ที่กำหนดขึ้นมาจากมหาวิทยาลัย สหรัฐอเมริกา โดยมีความเชื่อว่า คนเราทุกคนใฝ่หาความสุข ซึ่งการแสวงหาความสุข เป็นมาตั้งแต่ยุคโบราณ ฉะนั้นจิตวิทยาเชิงบวกจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการนำเอาหลักทางวิทยาศาสตร์เข้าไปจับ แล้วแยกออกมาเป็นเครื่องมือประเภทต่าง ๆ เพื่อนำมาจัดการให้คนมีความสุข
“จิตวิทยาเชิงบวก คือการบวก ความรู้สึกที่ดี ๆ เข้าไปในชีวิตของเราในแต่ละวัน การใส่บวกเข้าไปในสุขภาพจิตของเรา เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีการทำวิจัยจิตวิทยาเชิงลบอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเศร้า ความกังวล ความเครียด มีการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาเชิงลบมากถึง 21 เท่า เมื่อเทียบกับจิตวิทยาเชิงบวก จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าสงสัยเลย ที่คนส่วนใหญ่ มักจะรู้สึกไปในทางลบ เช่นเศร้า เสียใจ เครียด แล้วมีความคุ้นเคยขึ้นมา จนทำให้เรามีแนวโน้มที่จะอธิบายโลกในเชิงลบ”
แต่หลังปี 2000 เริ่มมีการวิจัยเชิงบวกมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การจัดการความเครียด ถ้าหากเราเครียดแล้วกิน ความเครียดนั้นไม่ได้หายไปอย่างถาวร การที่เราจะจัดการความเครียดได้อย่างยั่งยืน เราควรไปหาที่ต้นเหตุ เปิดมุมมองใหม่ ๆ ของชีวิต เบี่ยงเบนความคิดและความรู้สึก พยายามหามุมในเชิงบวกเยียวยาจิตใจเรา
การฝึกคิดด้วยวิธีคิดใหม่ ๆ มันไม่เท่ากับการจัดการความเครียด วิธีการที่จะจัดการกับความทุกข์ คนละวิธีการกับการสร้างความสุข การเยียวยาด้วยการกิน จิตใจก็จะหยุดตรงที่จุดศูนย์ และมีแนวโน้มที่จะไปที่ลบ เพราะสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยอยู่แล้ว
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ถ้าหากเราเครียด แล้วเราบริโภค เป็นอาหารขยะ กระทบกับปัญหาสิ่งแวดล้อม การสร้างภาวะเชิงบวก ไม่เท่ากับการสร้างภาวะเชิงลบ ฉะนั้น การจะจัดการจิตวิทยาเชิงบวก จำเป็นต้องมีการฝึกฝน เป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง เราจัดการกับความเครียดได้ เป็นวิธีการหนึ่ง แต่การจัดการหาความสุข ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่ง ใช้เครื่องมือไม่เหมือนกัน
“จิตวิทยาเชิงบวก เป็นการนำศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ มาสร้างความรู้สึกเชิงบวกในจิตใจของเรา ค้นหาและโปรโมท สิ่งที่เป็นเชิงบวกให้งอกงามในจิตใจของเรา ทำให้จิตใจของเราเติบโตและงอกงามอยู่ทุกวัน เรามีวิธีการที่จะดูมันว่า วันนี้จิตใจงอกงาม หรือโดนลมพัดจนกิ่งก้านจะหักแล้ว จิตวิทยาเชิงบวกจึงทำให้เรามีความงอกงามทางจิตใจ โดยใช้ศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แต่ละเครื่องมือ”
จิตวิทยาเชิงบวกมีหลักการสำคัญชื่อว่า PERMA ได้แก่
P คือ Positive Emotion อารมณ์เชิงบวก เช่น สนุก ตื่นเต้น ภูมิใจ บันเทิงใจ มีความหวัง เพื่อให้เราสามารถรับมือ เมื่อต้องเจอกับเรื่องราวเชิงลบได้
E คือ Engagement การรู้สึกมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในชีวิต ที่ทำให้เรียนรู้และเติบโต
R คือ Positive Relationship การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น จะเป็นเกราะทางใจ และเป็นตัวแปรให้เราอยากทำสิ่งที่ดีให้ตัวเอง
M คือ Meaning การตระหนักถึงคุณค่า และความหมายในตัวเอง
A คือ Accomplishment รู้สึกถึงการเติบโตของตัวเอง ในแต่ละขั้นของชีวิต หากได้ฝึกคิด และพัฒนาสุขภาวะทางจิตของตัวเองอยู่เสมอ และขยายไปสู่คนรอบข้าง จะทำให้เรามีกำลัง พร้อมรับมือกับความท้าทายในทุกวัน
ฮีลใจด้วยศิลปะในโลกแห่งความยั่งยืน
คุณดุจดาว วัฒนปกรณ์ ผู้ก่อตั้ง Empathy Sauce และนักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว ผู้ที่นำเสนอ ‘ศิลปะ’ คือกระจกสะท้อนใจ ช่วยให้เรามองเห็นและเยียวยาตนเอง
การที่เราจะรู้ว่า จิตใจเราบาลานซ์หรือไม่ เราควรที่จะหาจุดตั้งต้นของจิตใจก่อน ในแต่ละวัน เราควรมีสติที่จะมาตรวจสอบความบาลานซ์ของจิตใจเรา ผู้คนในสมัยนี้ใช้การวิเคราะห์ ในการดำเนินชีวิตมาก การวิเคราะห์ไม่ผิด แต่ถ้าใช้มากเกินไป ชีวิตก็ไม่บาลานซ์ ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาที่ต้องการเลือกคณะในการเรียน แล้วใช้การวิเคราะห์ว่า ต้องเลือกสาขาที่มีรายได้เยอะ มีหน้ามีตาทางสังคม ถ้าหากเลือกในลักษณะนี้ พอเรียนระยะหนึ่ง ทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจ ที่จะเรียนต่อให้จบ บางทีเราถูกชักชวนให้ใช้หัวเยอะ และใช้มากไป
บางครั้งชีวิตเลือกการวิเคราะห์ บางครั้งชีวิตเลือกที่จะทำไปเรื่อย ๆ บางครั้งชีวิตเลือกที่หัวใจเรียกร้อง สิ่งเหล่านี้ ควรใช้ให้เหมาะกับกาละเทศะ สิ่งที่สำคัญที่สุด เวลาเราจะคิดอะไร ต้องนำเอาหัว หัวใจ และร่างกาย มาหลอมรวมกัน เพื่อดำเนินชีวิต สิ่งเหล่านี้จะทำให้ชีวิตเราบาลานซ์ การยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว จะไม่ช่วยให้การตอบสนองของเส้นทางชีวิตเราได้สมดุล โลกทุกวันนี้อยู่ยากขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น ทรัพยากรมีน้อยลง สิ่งเหล่านี้เป็นแรงกดทับให้คนอยู่ยากขึ้น
“เพราะฉะนั้นทางออกที่ดีคือ พยายามที่จะเยียวยาจิตใจของเราอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ในทางร่างกาย เรายังต้องอาบน้ำทุกวัน ในด้านจิตใจ เราไปเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ มากมาย เราจำเป็นต้องกลับมาสะสางจิตใจเรา เยียวยาจิตใจเรา นำสิ่งที่ไม่ดีออกไปอย่างสม่ำเสมอ มีสิ่งหนึ่งซึ่งทุกคนสามารถทำได้คือศิลปะ
ทุกคนสามารถสร้างงานศิลปะ เพื่อเยียวยาจิตใจของเราได้ แต่เราต้องต่อสู้กับความคิดที่ว่า เราไม่มีทักษะในการทำงานศิลปะ งานศิลปะเป็นเรื่องของความบันเทิง แต่ในความเป็นจริง ศิลปะเป็นเรื่องของทุกคน ไม่จำเป็นต้องเรียนก็ได้ ไม่ต้องเก่ง แต่มันมีอานุภาพ ที่สามารถเยียวยาจิตใจคนได้”
ที่ ‘Soulsmith by Empathy Sauce’ เรามีคลาสซ่อมใจสำหรับคนที่มองหาบาลานซ์ในชีวิต ผ่านศิลปะใน 4 แขนง คือ
1. Visual Arts การวาดเขียน การปั้น
2. Music ดนตรีสื่ออารมณ์
3. Drama การแสดงเพื่อรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองและผู้อื่น
4. Drama Movement ศิลปะการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อเยียวยาจิตใจ ไม่จำเป็นต้องวาดรูปเก่ง หรือมีทักษะใดเลย ศิลปะก็มีพลังที่สามารถช่วยเยียวยาจิตใจเราได้
อีกเครื่องมือหนึ่งคือ Emotion Support เป็นการพูดที่ให้กำลังใจกัน ผ่านการสื่อสาร เพราะว่าเราทุกคนต้องการสิ่งนี้ แต่ประเด็นก็คือทุกคนต้องการ แต่ไม่เคยคิดที่จะส่งมอบให้คนอื่น บางคนทำกับตัวเองได้ ไม่ยอมทำกับคนอื่น บางคนทำกับคนอื่นได้ ไม่ยอมทำกับตัวเอง คำพูดที่อ่อนโยนโอบกอด ทำให้เรามีแรง พูดกับตัวเองดี ๆ ซัพพอร์ตคนอื่นให้มาก แล้วฟังกันให้เป็น
“การฟังเป็นที่ที่ปลอดภัยมาก ๆ ถ้าทำเป็น ทำกันเองในบ้าน ทำบนความสัมพันธ์ที่มีอยู่แล้ว และต่อยอดขึ้นไป ฟังโดยไม่ขวาง ฟังแล้วรับความรู้สึกของเขาไปด้วย สุดท้ายเคารพขอบเขตของการรับฟังด้วย มันมีศิลปะของการรับฟัง และรักษาขอบเขตของคำพูดของผู้อื่น บางทีเรารักคนอื่น บางทีเราคิดแทนคนอื่น อันนี้ไม่เคารพขอบเขตของกันและกัน”
นอกจากนี้ อยากให้ทุกคนเติมศิลปะเรื่องการมี Empathy เข้าไปในวิถีชีวิต ไม่มองโลกใบนี้แค่ในมุมของตัวเอง แต่มองเห็นความละเอียดอ่อนของตัวเองและผู้อื่น การซัพพอร์ตและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน สามารถช่วยป้องกันและเยียวยาจิตใจ ที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง
ข่าว
ความรู้รอบตัว
พัฒนาตัวเอง
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย