19 มิ.ย. 2024 เวลา 11:37 • บ้าน & สวน

จ้างเขียนแล้วไม่ชอบ ไม่จ่ายได้ไหม ?

ตอนนี้ในกลุ่มงานทำบ้านเฟสบุ๊ค กำลังดราม่าเดือดเลย
เพราะมีเจ้าของร้านกาแฟท่านหนึ่ง
บอกว่าแบบทำมาไม่ถูกใจ แก้แล้วสองครั้งก็ยังไม่โอ
เลยจะไม่เอา ไม่จ่ายเงิน
เท่าที่ดู ค่าแบบ 55,000 ถือว่าสูงมาก
สำหรับลักษณะและสเกลของงาน
และมูลค่าระดับนี้ ถ้าเคลียร์กันไม่ลง
ก็คงต้องไปว่ากันในศาลล่ะ เสียค่าทนายกันแน่
ผมว่ามันน่าสนใจดี เลยจะมาเล่าให้ฟัง
ว่าต้องทำยังไง ในกรณีแบบนี้ เผื่อจะมีประโยชน์ครับ
ไม่ชอบ กับใช้ไม่ได้ เป็นคนละกรณี
คำว่าไม่ชอบ มีความหมายตรงตัว คือไม่ถูกใจ
แต่”ใช้ไม่ได้”นั้น หมายถึงว่าแบบที่เขียนไม่มีรายละเอียดพอ
หรือทำไม่ได้จริงๆ เมื่อมองไปที่ทางเทคนิค
หรืออาจยื่นขออนุญาตก่อสร้างไม่ผ่าน
เช่น ถ้าคนออกแบบเขียนมาว่ามีหินอ่อนประดับผนัง
แต่ไม่ได้มีรายละเอียดการติดตั้ง รวมถึงสเปกวัสดุ
ในการก่อสร้างจริง อันนี้ถือว่าเป็นแบบที่ “ใช้ไม่ได้”
ในกรณีว่าใช้ไม่ได้นั้น ถ้าขึ้นโรงขึ้นศาลมันก็ง่าย
เพราะเทียบเคียงได้กับคำว่า “ชำรุด บกพร่อง…”
ตามกฎหมายแพ่ง จ้างทำของ มาตรา 599
แต่ยังมีข้อถกเถียงถึงกรณี “ไม่ชอบ” ว่าจะสามารถไม่รับงาน
ได้หรือไม่ เพราะนัยหนึ่งก็หมายถึงว่ามันผิดสเปกเหมือนกัน
กรณีของการออกแบบต่างๆนั้น
อาจต้องพิจารณากันยาว เช่นเดียวกับการจ้างทำงานศิลปะ
เช่น ถ้าสั่งวาดรูปเหมือน แล้วมันไม่เหมือน
อันนี้ย่อมเป็นสิทธิที่ผู้ว่าจ้าง จะไม่จ่ายได้ อันนี้เห็นได้ชัด
แต่ในกรณีของงานออกแบบนั้น
ด้วยความที่มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน
ก็อาจต้องมองที่รายละเอียดที่คุยกันไว้
หรือที่ระบุในสัญญาแทน
เช่น ถ้าคนจ้างระบุธีมของสี หรือสไตล์มาให้
แล้วคนออกแบบทำให้ไม่ตรงแบบอ้างอิง
หรือโจทย์ที่กำหนด
กรณีแบบนี้ แม้แบบจะถูกต้อง มีรายละเอียดตามหลักเทคนิค
การก่อสร้าง แต่ก็ถือว่าผิดจากข้อตกลงเช่นกัน
เจ้าของมีสิทธิที่จะไม่จ่าย
หรือไม่สามารถควบคุมงบประมาณให้อยู่ในกรอบได้
ก็เป็นเหตุผลโดยชอบ ให้ผู้ว่าจ้างตัดจบสัญญาได้เช่นกัน
แต่โดยทั่วไปของงานออกแบบนั้น
มักมีการมัดจำแบบเสมอ เพื่อความเป็นธรรมต่อคนออกแบบ
ในกรณีว่าทำแล้วงานไม่เข้าตาจริงๆ
อย่างน้ิอยทางผู้ออกแบบ ก็จะได้ค่าเสียเวลา
และยังมีสิทธิในแบบที่ตนเองนั้นออก ที่เจ้าของงาน
จะไม่สามารถละเมิดได้
คือ เจ้าของงาน จะไม่สามารถทำการสร้างให้เหมือน
หรือใกล้เคียงกับงานที่ตัวเองบอกว่าไม่ชอบแล้วไม่รับได้เลย
ไม่งั้นผู้ออกแบบมีสิทธิที่จะฟ้องร้องได้
เท่าที่ได้ศึกษาคดีเก่ามา
ในกรณีแบบนี้ เจ้าของจะไม่จ่ายทั้งหมดไม่ได้
ศาลจะสั่งให้จ่ายในส่วนของค่าเสียเวลา
แต่ไม่ใช่มูลค่าของการจ้างทำแบบทั้งหมด
1
ซึ่งรายละเอียดของคดี ก็ต้องไปดูอีกว่า
ผู้จ้างนั้น มีการแสดงเจตนาโกง หรือหลอกให้ทำหรือไม่
นอกจากการละเมิดสิทธิ์ในตัวแบบ
ก็อย่างที่รู้กันครับ กฎหมายมันมีเรื่องยิบย่อยเยอะ
…มันคงไม่สามารถสรุปได้ เพียงเพราะดราม่าไม่กี่บรรทัด….
ที่จริงแล้ว ดราม่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น
หากการว่าจ้างนั้น มีลักษณะขั้นตอนที่ถูกต้อง
ตามหลักแล้ว การจ้างทำแบบบ้านนั้น
จะมีสีขั้นตอนหลักๆ คือ
1. การพูดคุยถึงขอบเขตงาน สิ่งที่ต้องการ
…ในขั้นตอนนี้ แม้จะปากเปล่า แต่จัดว่าสำคัญมาก
เพราะเป็นขั้นตอนที่จะทำให้รู้แนวคิดถึงสิ่งที่ต้องการระหว่างกัน
ของผู้จ้าง และผู้รับจ้าง ถ้าทัศนคติไม่ตรงกันในตัวงาน
ก็ควรจบในขั้นตอนนี้จะดีที่สุด
( บางกรณีก็คือจะเสียค่าปรึกษาได้เหมือนกัน )
2. การนำเสนอในชั้น “คอนเซ็ปท์ดีไซน์”
…นี่อาจเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการจ้างทำแบบทีเดียว
และยังมีความเข้าใจผิด แม้แต่กับผู้ออกแบบ ถึงขอบเขตงาน
ในส่วนนี้ เพราะผู้ออกแบบบางราย มักเข้าใจว่างานขั้นตอนนี้
คือการจบงานดีไซน์ และผมเข้าใจว่านี่แหละคือที่มาของดราม่า
ที่เกิดขึ้น
…ในขั้นนี้นั้น ผู้ออกแบบต้องนำเสนอสิ่งที่ตัวเองคิดออกมา
ให้เป็นรูปเป็นร่าง เพื่อให้ผู้จ้างนั้นพิจารณาตัดสินใจ ว่าถูกใจ
แล้วหรือไม่ อาจมีเงื่อนไขการแก้หลายครั้ง ขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างกัน ไม่มีกฎตายตัว ในงานโครงการใหญ่ๆนั้น บ่อยครั้ง
ที่มีการแก้กันเกินสิบครั้งทีเดียว
…ซึ่งในกรณีว่าผู้ว่าจ้างนั้นพอใจแล้วกับผลงาน งานขั้นต่อไปถึงจะตามมาได้ แต่ถ้าไม่พอใจ หรือล้นงบประมาณที่ตกลงกัน
และแก้แล้วแก้อีก ก็ยังไม่ถูกใจ
สัญญาจ้างระหว่างกันควรจะตัดจบได้ในขั้นตอนนี้
…ซึ่งตามหลัก คนทำแบบจะต้องได้ค่าเสียเวลา(มัดจำแบบ)
หากสัญญาโดนตัดจบ แต่ไม่ใช่มูลค่างานตามที่ตกลงกันทั้งหมด….
3. การออกแบบเพื่อก่อสร้างจริงๆ
…เมื่อรูปแบบเป็นที่พอใจแล้ว ขั้นตอนนี้ คือการให้ผู้ออกแบบนั้นไปทำรายละเอียดในการก่อสร้าง เพื่อใช้ในหน้างานจริงๆ
ในทุกๆส่วน เช่น แบบสาธารณูปโภค ระบบไฟฟ้าส่องสว่างต่างๆ รวมถึงรายละเอียดราคาต่างๆ
…ที่จริงแล้ว การขายแบบแบบขาดนั้น จะตัองจบในขั้นตอนนี้
ไม่ใช่ในส่วนของงานขั้นคอนเซ็ปท์ดีไซน์….
4. การควบคุมงาน
…อันนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะกับการรับสร้างด้วยเท่านั้น
ซึ่งบางกรณี ก็ไม่ใช่ความรับผิดชอบของผู้ออกแบบ
ซึ่งขายแบบออกมาแล้ว ดังนั้นจึงต้องดูข้อสัญญาให้ดี….
อันนี้คือเคลียร์ ลุยต่อได้ในขั้นตอนถัดไป ในงานผมเอง
จะเห็นว่า หากทำสัญญาอย่างถูกต้องตามขั้นตอนนั้น
มันจะเซฟทั้งฝั่งผู้จ้างและผู้ถูกจ้าง
แต่น่าเสียดาย ที่ขั้นตอนเหล่านี้มักถูกข้ามไป
และน่าเศร้าใจเช่นกัน ที่ผู้ออกแบบมักมีแนวคิดว่า
มันจบลงที่ชั้นของคอนเซ็ปท์ดีไซน์ แล้วไปโขกราคาเต็ม
เอากับผู้ว่าจ้างอยู่บ่อยครั้ง
ทั้งที่หากผู้จ้างตัดจบในชั้นของคอนเซ็ปท์ดีไซน์
มันก็คืองานนั้นมีความสำเร็จเพียง 50% เท่านั้น
ไม่ใช่การจบงานออกแบบที่สมบูรณ์
การจะเรียกรับเงินเต็มจำนวนนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้
ส่วนถ้าคนทำแบบสะเหร่อทำแบบดีเทล ก่อนเจ้าของเขา
โอเคกับรูปแบบ นั่นก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ คุณทำเกินเอง
และผู้ว่าจ้าง ก็จะไม่จ่ายเลยไม่ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ในทางกฎหมายแล้ว
มีคดีตัวอย่างที่ตัดสินเอาไว้แล้วมากมาย
และค่อนข้างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
และปัจจุบัน การใช้การส่งข้อความแชทในการดีลงาน
ก็เป็นหลักฐานในทางกฎหมายได้ จึงควรใช้ช่องทางนี้
ในการคุยงานมากกว่าการโทร ซึ่งไม่มีหลักฐาน
มันจะช่วยได้มาก หากเป็นคดีความ
…ถ้าถึงที่สุดจริงๆในชั้นศาล มันก็ไม่ได้แย่เกินไป
นอกจากเสียเวลาบ้างเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่จะดราม่ากัน
แล้วข่มขู่เอากับเจ้าของบ้าน….
ปัจจุบันนั้น ความหวาดระแวงระหว่างกันในงานสายนี้
มีค่อนข้างสูงมาก
ผู้จ้างไม่ไว้ใจผู้รับเหมา ผู้รับเหมาก็ไม่ไว้ใจเจ้าของบ้าน
ด้วยความที่มันเป็นยุคโซเชี่ยลมีเดีย
ทุกคนก็เอาแต่ส่วนที่ตัวเองน่าจะถูกมาพูด
ทำให้เกิดดราม่า ซึ่งยิ่งสร้างความหวาดระแวงระหว่างกัน
…บางที โซเชี่ยลเบาๆหน่อยก็ดี เพราะเราไม่มีรายละเอียด
ของเรื่องราวพอที่จะตัดสินอะไรได้….
…ก็ฝากไว้นะครับ รอบคอบ ศึกษาให้เข้าใจขั้นตอน
ก่อนจะทำงานร่วมกัน จะดีที่สุด….
และด้วยความเคารพนะครับ
ปัญหานี้มักมาจากอินทิเรียที่เป็นนักสร้างภาพสามมิติ
อย่างเดียวซะมากกว่า เพราะเขามักเข้าใจว่า สร้างภาพจบ
คืองานมันจบแล้ว ต้องรับเงินเต็ม
คือ ถ้าสัญญาว่าจ้าง มันไม่ใช่การเฉพาะลงไป
ถึงค่าทำแบบสามมิติโดยตรง( เรียกง่ายๆว่าทำเปอร์)
มันจะเป็นว่า การทำภาพสามมิตินั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่ง
ของขั้นตอนในคอนเซ็ปท์ดีไซน์เท่านั้น
…ซึ่งถ้าจบกันตรงนี้ ท่านไม่มีสิทธิไปเรียกร้องเงินเต็ม
จากเจ้าของบ้านนะครับ อย่าเข้าใจผิดว่าจบ…
…มันจะเสียกันไปหมดทั้งวงการ 😑😑😑…..
ปล. ในการออกแบบภายในสถานประกอบการ เป็นอาคารควบคุมตาม พรบ. นะครับ ตัองยื่นหน่วยงานรัฐขออนุญาต
การจบที่งานเปอร์อย่างเดียว ย่อมเป็นไปไม่ได้….
โฆษณา