30 มิ.ย. 2024 เวลา 14:24 • นิยาย เรื่องสั้น

"แม่ครับ ก้องเองครับ ตอนนี้ผมเกิดอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้ม อยู่ที่โรงพยาบาล ผมไม่เป็นไรครับ

ตอนนี้กำลังรอเอ็กซเรย์ขา ผมไม่มีเงินสด แม่โอนให้ผมหน่อยครับ ซักสองหมื่นก็พอ ที่บัญชีนี้ครับ"
1
เสียงเป็นเสียงของลูกจริง คนเป็นแม่ก็รีบโอนเงิน แล้วโทร.ไปสอบถามลูกอีกครั้ง ลูกตอบว่า "ผมอยู่บ้านตลอด ไม่ได้ไปไหน"
AI เป็นเครื่องมือใหม่ที่มิจฉาชีพใช้หลอกเงิน มันปลอมเสียงคนที่เรารู้จัก หรือปลอมเสียงเราไปหลอกคนอื่น
ใครที่ชอบโพสต์คลิปตัวเองในโลกโซเชียล คนที่ชอบใช้บริการ voicemail คนที่ชอบพูดยาวๆ กับโทรศัพท์ของคนแปลกหน้า AI สามารถเลียนแบบเสียงนั้นได้รวดเร็ว และราคาถูก
เทคโนโลยีวันนี้มาถึงจุดที่สามารถปลอมได้เนียน
ญาติของผมคนหนึ่งที่สิงคโปร์ก็โดนหลอกแบบนี้ เสียงของคนที่โทร.มาขอเงินเป็นญาติของเขาเองจริงๆ จึงหลงกลง่ายดาย
แล้วจะทำอย่างไร?
1
ผมเคยพูดเสมอเวลาเราได้รับข่าว คลิป ฯลฯ จากเพื่อนว่า อย่าส่งต่อจนกว่าจะ verify (ตรวจสอบ) แต่น้อยคนจะทำ ที่ตลกก็คือเพื่อนบางคนส่งข้อมูลหนึ่งมาพร้อมข้อความว่า "ไม่รู้จริงหรือเปล่า"
ถ้าไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า ก็อย่าส่ง โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ กินสมุนไพรนี้รักษาโรคนั้น ฯลฯ ส่งไปโดยไม่ตรวจสอบอาจฆ่าเขาได้นะครับ
1
เอาละ ขี้เกียจตรวจสอบข่าวสารเป็นเรื่องหนึ่ง แต่หากมีญาติสนิท ลูก สามี โทร.มาขอเงินด่วน อย่าได้ขี้เกียจ verify เป็นอันขาด
verify อย่างไร?
ง่ายมาก คือสอบถามข้อมูลที่มีแต่เรากับเขารู้ แค่คำถามเดียวก็รู้เรื่อง เช่น "สองวันก่อนเราไปร้านพิซซา คุณสั่งอะไร?"
เขาอาจตอบว่า "Hawaiian Pizza" แต่มันเป็นคำถามหลอก วันก่อนเราไปร้านญี่ปุ่นต่างหาก
หรืออีกทางในตัวอย่างแรกคือตรวจสอบกับโรงพยาบาลว่ามีคนไข้ชื่อนี้เข้ารักษาหรือไม่ ใจเย็นนิด ถ้าลูกเรามีแรงโทร.มาหาได้ แสดงว่าอาการยังไม่น่าเป็นห่วง
2
มิจฉาชีพใช้ความห่วงใยเป็นอาวุธ ผสมกับ AI ก็เรียบร้อย
สรุปก็คือตรวจสอบข้อมูลเสมอ
แต่หากมีคนอ้างตัวเป็นสามีโทร.มา บอกว่า "ที่รักจ๋า ผมเกิดอุบัติเหตุรถชนที่ต่างจังหวัด โอนเงินมาหน่อย" ให้รู้เลยว่าเป็นตัวปลอม เพราะทั้งปีทั้งชาติ สามีไม่เคยเรียกเราว่า "ที่รักจ๋า"
วินทร์ เลียววาริณ
30-6-24
โฆษณา