23 ก.ค. 2024 เวลา 07:24 • ข่าว

สิทธิ 30 บาท ใช้ Telemedicine เกือบ 2 แสนครั้ง เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า ลดแออัด รพ.

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บริการผู้ป่วยนอกผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) บนแอปพลิเคชันสุขภาพ เป็นบริการที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ด้วยเป็นการรับบริการที่ให้ความครอบคลุมการรักษา 42 กลุ่มโรค/อาการ ที่มีความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
สปสช. ได้เริ่มให้บริการตั้งแต่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปัจจุบันได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการระบบการแพทย์ทางไกลภาคเอกชน 8 แห่ง โดยเป็นการให้บริการผ่านแอบพลิเคชัน 3 แห่ง ได้แก่
คลิกนิกเฮลท์คลินิกเวชกรรม ผู้ดำเนินการแอบพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิค)
ชีวีบริรักษ์ คลินิกเวชกรรม ผู้ดำเนินการแอปพลิเคชัน Mordee (หมอดี)
สุขสบายคลินิกเวชกรรม แอบพลิเคชัน Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็ม ดี)
รวมถึงให้บริการผ่าน Line official ได้แก่ เดอะโททอลเล่คลินิกเวชกรรม (ID Line : @totale) และ โรงพยาบาล เอส วาย เอช (ID Line : @syhtelemed) โดยอีก 3 แห่ง เป็นการให้บริการระบบการแพทย์ทางไกลผู้ป่วยนอกเฉพาะผู้ป่วยของคลินิก ได้แก่ คลินิกเวชกรรมหมอครอบครัว, พุทธสุวรรณคลินิกเวชกรรม และ สุวรรณทวีคลินิกเวชกรรม
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.
จากการให้บริการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน มีประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการแล้ว 74,171 คน หรือ 233,406 ครั้ง
จำนวนนี้เป็นการเข้ารับบริการด้วยอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลันมากที่สุด จำนวน 52,764 ครั้ง
รองลงมาเป็นอาการลมพิษ จำนวน 35,494 ครั้ง ปวดกล้ามเนื้อ จำนวน 24,967 ครั้ง เนื้อเยื่ออักเสบ จำนวน 15,992 ครั้ง เยื่อจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลัน (ไข้หวัดธรรมดา) จำนวน 14,235 ครั้ง
อาการปวดท้องอื่นๆ และอาการปวดท้องไม่ระบุสาเหตุ จำนวน 12,518 ครั้ง กล้ามเนื้อเคล็ด จำนวน 10,677 ครั้ง คอหอยอักเสบเฉียบพลัน จำนวน 7,540 ครั้ง ปวดศีรษะจำนวน 7,374 ครั้ง และกระเพาะอาการกับลำไส้อักเสบ จำนวน 4,914 ครั้ง
จากข้อมูล AMED ที่เป็นการบันทึกผลการให้บริการ พบว่าการเข้ารับบริการผู้ป่วยนอกผ่านระบบการแพทย์ทางไกลของประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปีงบประมาณ 2567 ที่ได้เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นมา ที่แต่ละเดือนมีจำนวนการเข้ารับบริการกว่าหมื่นราย
ในเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา มีจำนวนการเข้ารับบริการมากที่สุด 33,419 ราย ขณะที่เดือนมิถุนายนอยู่ที่จำนวน 33,419 ราย และเดือนกรกฎาคม (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.ค. 67) อยู่ที่จำนวน 23,580 ราย ซึ่งโดยภาพรวมทั้งหมดในปีงบประมาณ 2567 มีประชาชนเข้ารับบริการจำนวน 196,580 ครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าปีงบประมาณ 2566 ประมาณเกือบ 5 เท่า
นอกจากนี้เมื่อดูข้อมูลโดยแยกตามผู้ให้บริการ พบว่า ประชาชนเข้ารับบริการผ่าน Line : @totale มากที่สุด จำนวน 131,399 ครั้ง รองลงมาเป็น แอป Click จำนวน 101,202 ครั้ง แอป Mordee จำนวน 914 ครั้ง เป็นต้น
จากข้อมูลที่ปรากฏนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการตอบรับของประชาชนต่อบริการระบบการแพทย์ทางไกลที่ สปสช. ได้ดำเนินการ และในอนาคตเชื่อมั่นว่าจำนวนประชาชนเข้ารับบริการผู้ป่วยนอกผ่านระบบการแพทย์ทางไกลในระบบบัตรทองฯ จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
เพราะด้วยความสะดวกที่เข้าถึงบริการได้ง่าย ความคุ้นชินของประชาชนต่อการใช้เทคโนโลยีเพื่อรับบริการ และที่สำคัญยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดิน ไม่รอคิวรับบริการที่โรงพยาบาล ทั้งเป็นการช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้
โฆษณา