Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Main Stand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
31 ก.ค. เวลา 14:31 • กีฬา
ยากเกินคว้า ? : จีนคว้าเหรียญโอลิมปิกแทบทุกกีฬา แต่ทำไมไร้ตัวตนในกีฬาฟุตบอล | Main Stand
ไม่ว่ากีฬาชนิดใด จีนก็ดูจะเก่งไปเสียหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาที่บรรจุในการแข่งขันโอลิมปิก ที่นับวันพวกเขาก็ยิ่งได้เหรียญทองมากขึ้นเรื่อย ๆ
แบดมินตัน, กระโดดน้ำ, ยิมนาสติก, เทเบิลเทนนิส, กรีฑา รวมถึงกีฬาอื่น ๆ อีกมาก พวกเขาพัฒนาอย่างรวดเร็ว
แต่กับฟุตบอล ทำไมความจริงสู่ความยิ่งใหญ่ช่างห่างไกลเหลือเกิน หากเทียบกับกีฬาที่กล่าวมา ?
ติดตามที่ Main Stand
กีฬา และ โอลิมปิก คือเครื่องมือแสดงอำนาจ
โลกพร่ำสอนเราว่า โอลิมปิก คือกีฬาของมวลมนุษยชาติ เป็นช่วงเวลาที่เหล่ามนุษย์ทั้งหลายจะได้แสดงถึงความแข็งแกร่ง กล้าหาญ วิริยะ และความยอดเยี่ยมที่พวกเขามีผ่านออกมาทางการแข่งขัน นั่นคือความจริงและเสน่ห์ของการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะการแข่งขันโอลิมปิกที่สร้างให้แก่คนดูและแฟนกีฬาทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม โอลิมปิก คือหนึ่งในเวทีที่สามารถสะท้อนความแข็งแกร่งของแต่ละชาติได้เป็นอย่างดี ถ้าคุณสังเกตในอันดับเหรียญโอลิมปิกแต่ละครั้ง ชาติมหาอำนาจที่มีบทบาทสำคัญของโลกเท่านั้นที่จะเกาะขึ้นมาในอันดับสูง ๆ ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่า ประเทศชาติที่มั่งคั่ง และมีอิทธิพล มีอำนาจการต่อรองสูง จะสามารถสร้างความแข็งแกร่งได้มากมายหลายทาง และนักกีฬาที่แข็งแกร่งก็เป็นหนึ่งในการสะท้อนความจริงข้อนั้น
พวกเขาทำทุกอย่างเพื่อให้ โอลิมปิก เป็นเวทีประกาศศักดาของชาติ ผลลัพธ์คือสิ่งสำคัญที่สุด ... แนวคิดเรื่องโลกยุคใหม่นี้ใช้กีฬาเป็นเครื่องมือแสดงความเก่งกาจ ที่ไม่ใช่แค่การกล่าวอ้าง แต่มันเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนด้วยตัวเลข เพราะหลังจากมีการนับสถิติตั้งแต่โอลิมปิก ที่กรุงลอนดอน เมื่อปี 1948 (ครั้งแรกหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2) จนถึงโอลิมปิกครั้งปัจจุบัน จะเห็นเส้นกราฟของนักกีฬาที่โอนสัญชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
1
โดยเฉพาะหลังยุค 1990s ที่ตัวกราฟพุ่งทะลุหลอด จากที่มีนักกีฬาโอนสัญชาติก่อนหน้านี้มากที่สุดแค่ 15 คน แต่ในโอลิมปิกปี 2004 ที่ กรุงเอเธนส์ มีนักกีฬาโอนสัญชาติที่เล่นในโอลิมปิกมากถึง 38 คน ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเรืองธรรมดาไปแล้ว ... ไม่ว่าชาติไหนก็อยากจะประสบความสำเร็จในโอลิมปิกทั้งนั้น
1
นอกจากความสำเร็จแล้ว การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกก็มีเหตุผลทางการเมืองซ่อนอยู่เช่นกัน มันคือเวทีที่โลกจับตา วันที่ส่วนต่าง ๆ ในประเทศไม่ว่าจะเรื่องความปลอดภัย ความล้ำสมัย ความสะดวกสบายทางคมนาคม หรือความเป็นมืออาชีพในการจัดอีเวนท์ใหญ่ ๆ ของโลก พวกเขาอยากจะโชว์ด้านดี ๆ ของประเทศให้โลกได้เห็น นั่นคือเหตุผลที่ทำไมหลายชาติจึงแย่งกันเป็นเจ้าภาพ แม้จะมีการวิเคราะห์กันว่าหากนับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ นั้น เจ้าภาพมักจะขาดทุนมากกว่าที่จะได้กำไร
ภาพชัดที่สุดคือการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 1972 ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมันตะวันตก ที่ต้องการลบล้างมรดกจาก โอลิมปิก ที่จัดในกรุงเบอร์ลิน เมื่อปี 1936 ซึ่ง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ใช้เป็นเวทีประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของพรรคนาซีเยอรมัน ด้วยการโกงการแข่งขันและการเลือกปฏิบัติต่อนักกีฬาต่างสีผิวและไม่ใช่ชาวอารยัน ตลอดจนการใช้อิทธิพลนอกสนามแทรกแซงการแข่งขัน รวมถึงการโฆษณาชวนเชื่อ
โอลิมปิกปี 1972 มีเป้าหมายที่จะแสดงให้โลกรู้ว่า ประเทศแห่งนี้เปิดต้อนรับทุกคนทุกเชื้อชาติมากแค่ไหน และมีความตั้งใจที่จะทำให้ทุกอย่างที่เป็นสัญลักษณ์ของพรรคนาซีถูกลบทิ้งไปอย่างสิ้นเชิง ... นี่คือตัวอย่างที่ของการเมืองที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการกีฬา และเรื่องนี้ไม่มีวันแยกกันขาด โดยเฉพาะชาติที่ถือว่าเป็น "พี่บิ๊ก" แห่งเอเชียอย่าง จีน ที่เริ่มเล่นเกมมหาอำนาจผ่านโลกกีฬานี้ตั้งแต่ยุค 1980 เป็นต้นมา
1
ทำไมจีนถึงเก่งกาจในโอลิมปิกนัก ?
อย่างที่เราบอกว่า จีนเองก็เป็นพี่ใหญ่ของเอเชียมานาน และกีฬาก็เป็นเป้าหนึ่งที่พวกเขาต้องการแสดงความเป็นเลิศออกมาให้เหมือนกับที่ สหรัฐอเมริกา เป็น เรียกได้ว่า จีนกะจะมาฟาดฟันกับ อเมริกา ในเวทีโอลิมปิกเหมือนกับช่วงก่อนยุค 1990s ที่ สหภาพโซเวียต รับหน้าที่ "ตัวแทนโลกฝั่งคอมมิวนิสต์" ขึ้นมาท้าทายอเมริกา ผู้นำโลกเสรีอยู่เสมอ
เรื่องเริ่มต้นจากโอลิมปิกปี 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ณ เวลานั้น จีน ทำผลงานได้แย่มาก เก็บเหรียญรวมได้แค่ 28 เหรียญ และมีเหรียญทองเพียงแค่ 5 เหรียญเท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้
รัฐบาลจีนเริ่มมีนโยบายเรื่องความเป็นเลิศทางกีฬาหลังจากการแข่งขันโอลิมปิก 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ พวกเขาให้งบสนับสนุนการฝึกเยาวชนระดับหัวกะทิทั่วประเทศกว่า 30,000 คน รวมแล้วเป็นเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างนักกีฬาระดับโลกทั้ง กรีฑา, ยิมนาสติก, ว่ายน้ำ และ แบดมินตัน มายาวนานหลายปี
นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไม จีน จึงกลายเป็นชาติที่ได้เหรียญรางวัลในการแข่งขันโอลิมปิกเป็นอันดับต้น ๆ เสมอมา หากมีนักกีฬาคนใดที่เดินไปถึงจุดที่คว้าเหรียญทองได้ พวกเขาจะได้รับเกียรติยศ ชื่อเสียง และเงินทองกลับมาให้ครอบครัวแบบคุ้มค่ากับช่วงเวลาที่สูญเสียไป
โดยเด็กที่ยอมเสียสละตัวเองจะได้เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน นอกจากด้านเทคนิคของกีฬาแต่ละประเภทแล้ว พวกเขาจะต้องทดสอบและเรียนรู้กับโค้ชต่างชาติ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา รวมถึงการเคี่ยวเข็ญให้เป็นคนที่มีสภาพจิตใจแข็งแกร่งผ่านโค้ชจิตวิทยาระดับมืออาชีพอีกด้วย
การผลักดันเรื่องนี้ยังทำมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีโรงเรียนกีฬาภายใต้การบริหารของรัฐบาลจีนมากกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งทุกโรงเรียนมีเป้าหมายเดียวกัน คือผลิตนักกีฬาเพื่อเข้าแข่งโอลิมปิกให้ได้ โดยหลังจากพัฒนาโครงการต่อไปเรื่อย ๆ ทุกวันนี้มีเยาวชนลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรดังกล่าวมากกว่า 400,000 คน
"มันยอดเยี่ยมมากที่เราจะค้นหาเด็กที่มีขีดความสามารถในด้านกีฬา มันคือเรื่องที่สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศให้ประสบควาสำเร็จได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว" หวู ยี่กาง ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ บอกกับ Washington Post
อะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น ... ยอดฝีมือในโครงการต่าง ๆ ตามชนิดกีฬาที่รัฐบาลจีนสนับสนุน สิ่งที่ยืนยันได้คือจำนวนเหรียญที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จาก 5 เหรียญทองในปี 1988 มาเป็น 16 เหรียญทอง ที่ บาร์เซโลน่า ปี 1992, 16 เหรียญทอง ที่ แอตแลนต้า ปี 1996, 28 เหรียญทอง ที่ ซิดนี่ย์ ในปี 2000, 32 เหรียญทอง ที่ เอเธนส์ ปี 2004 และทำสถิติกวาด 48 เหรียญทองในโอลิมปิก 2008 ที่ ปักกิ่ง บ้านของพวกเขา
การสนับสนุนและทุ่มแหลกจากภาครัฐ สร้างนักกีฬาที่เก่งกาจมากมาย ซึ่งเด็ก ๆ แต่ละคนที่เข้ามาเป็นนักกีฬาในสังกัดก็ต้องเสียสละตัวเองอย่างมาก เพราะการฝึกเข้มข้นสุด ๆ เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยเห็นภาพของเด็ก ๆ ในประเทศจีนฝึกยิมนาสติกที่เด็กบางคนสามารถบิดตัวได้ราวกับไร้กระดูก การจับยืดร่างกายพร้อมกับน้ำตา
สิ่งเหล่านี้ชาติตะวันตกมองว่าเป็นการยัดเยียดด้านความเป็นเลิศทางกีฬามากเกินไป จนหลงลืมสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ของวัยเด็กทั้งเรื่องการให้อิสระทางความคิด และการเสริมสร้างศีลธรรม ว่ากันว่าใครมาอยู่ที่นี่ก็เปลี่ยนจากเด็กคนหนึ่ง กลายเป็นเครื่องจักรสังหารในชนิดกีฬานั้น ๆ ... นั่นคือสิ่งที่ชาติตะวันตกมอง
อย่างไรก็ตาม จีน ไม่เคยบังคับให้เด็กคนไหนต้องทำแบบนี้ กลับกันมีแต่ผู้คนที่อยากจะให้ลูก ๆ ของเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ฝึกแห่งชาติทั้งนั้น เพราะผลตอบแทนที่ได้มันคุ้มค่าที่จะแลก ซึ่งจากที่เราเห็น เราก็จะพบได้ว่าการฝึกแบบ "เอเชียนสไตล์" แบบนี้เหมาะกับธรรมชาติของชาวจีน และมันก็ทำให้พวกเขามียอดฝีมือในวงการกีฬาต่าง ๆ มากมาย บางคนเก่งราวกับไม่ใช่มนุษย์ นั่นยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าหลักสูตรสุดโหด สร้างผลผลัพธ์ที่สุดยอดได้อย่างไม่ต้องสงสัย
ยกเว้นกีฬาชนิดหนึ่งที่ จีน ยังห่างชั้นจากชาติที่เก่งกาจระดับโลก หรือถ้าจะว่ากันตามจริงหากเทียบกับมหาอำนาจในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น อิหร่าน หรือ เกาหลีใต้ พวกเขาก็ยังห่างชั้นอยู่ดี ... และกีฬาชนิดนั้นคือ "ฟุตบอล"
1
จีนจริงจังกับฟุตบอลแค่ไหน ?
ประการแรกเลยที่ทำให้เราวิเคราะห์ได้ว่าทำไมจีนยังไม่เก่งฟุตบอลสักทีหากเทียบกับกีฬาชนิดอื่น ๆ ก็ต้องบอกว่า รัฐบาลจีนเริ่มสนับสนุนฟุตบอลช้ากว่ากีฬาชนิดต่าง ๆ ที่เรากล่าวไปก่อนหน้านี้
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ฟุตบอลไดรับการผลักดันในฐานะวาระแห่งชาติช้ากว่ากีฬาชนิดอื่นมากกว่า 20 ปี เอาง่าย ๆ ว่าในขณะที่นักกีฬาชนิดอื่นเก่งจนล้นประเทศ บางคนต้องโอนสัญชาติไปเล่นให้กับประเทศอื่น ๆ แต่กับวงการฟุตบอลรัฐบาลจีน เพิ่งเริ่มในช่วงหลังปี 2010s เท่านั้น เอาแบบจริง ๆ จัง ๆ คือหลังจากปี 2012 หลังจากที่ สี จิ้น ผิง ถูกเลือกให้เป็นประธานาธิบดีของประเทศ
รัฐบาลจีนในยุคของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง คือตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนให้ทีมในลีกนี้กลายเป็นพี่บิ๊กระดับทวีป ซึ่งถ้าหากทำได้ มันจะเป็นเหมือนกับโดมิโนเอฟเฟ็กต์ ที่ทำให้คุณภาพของทีมชาติจีนดีขึ้นไปด้วย เพราะเมื่อลีกแกร่ง นักเตะท้องถิ่นก็เก่งขึ้นเป็นเงาตามตัว
ปี 2014 ท่านประธานาธิบดี สี เริ่มวางวิสัยทัศน์ เขาผลักดันนโยบายที่มีชื่อว่า A 50-point plan เพื่อทำให้ประเทศจีนกลายเป็นพี่บิ๊กด้านฟุตบอลของทวีปเอเชีย
"ฟุตบอลคือเกมที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายของผู้คน สร้างแรงบันดาลใจได้มากอย่างเหลือเชื่อ และที่สำคัญคือ สามารถสร้างจิตวิญญาณนักสู้ให้ลุกโชน ดังนั้นความหวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผมสำหรับวงการฟุตบอลจีน คือการได้เห็นเราเป็นทีมที่ดีที่สุดในโลก" ท่านประธานาธิบดีว่าไว้ก่อนที่นโยบายของเขาจะถูกริเริ่ม
พิมพ์เขียวของ สี เริ่มจากการสร้างโรงเรียนฟุตบอลใหม่กว่า 2 หมื่นแห่งทั่วประเทศ และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 5 หมื่นแห่งในเวลาต่อมา มีการโฆษณาว่าฟุตบอลสเตเดียมจะถูกสร้างขึ้นทั่วประเทศ จากนั้นพวกเขาจะพยายามเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก และวางแผนไว้ว่าความสำเร็จจะต้องมาถึงภายในปี 2050 นั่นคือเรื่องของการพัฒนาทีมชาติ
1
ส่วนเรื่องการพัฒนาลีกในประเทศก็อลังการงานสร้างไม่ต่างกัน นโยบายสร้างบอลลีกของจีนถือเป็นการลงทุนในแบบที่ใส่ปุ๋ยดูแลตั้งแต่ราก นั่นคือการสร้างเยาวชนในระบบให้มีคุณภาพมากขึ้นด้วย Know How แบบฟุตบอลยุโรป นอกจากนี้ยังใส่ปุ๋ยเร่งดอกเร่งผลด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ และผลักดันให้แต่ละสโมสรสามารถใช้เงินซื้อนักเตะดัง ๆ มาร่วมทีมได้
รัฐบาลจีน ยังช่วยให้การลงทุนกับฟุตบอลของภาคเอกชนมีความเสี่ยงน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น การที่รัฐบาลจีนเพิ่มรายได้ให้กับลีก ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล ไชนีส ซูเปอร์ลีก ด้วยเงิน 8 พันล้านหยวน (ราว 41,000 ล้านบาท) เป็นต้น
มีการรวบรวมสถิติการใช้เงินยุคลีกจีนเฟื่องฟู ปรากฎว่าพวกเขาใช้เงินในการซื้อนักเตะมากกว่า เจลีก ของประเทศญี่ปุ่นถึง 3 เท่า และมากกว่า เคลีก ของเกาหลีใต้ถึง 10 เท่า ... ทั้งหมดนี้คือช่วงเวลาที่หน้าข่าวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเล่นข่าวนักเตะดังกับลีกจีนไม่เว้นแต่ละวัน เพราะที่นี่ขึ้นชื่อว่าทุ่มไม่อั้น เพื่อจูงใจนักเตะให้หันมามอง และให้โลกฟุตบอลต้องรู้สึกว่าความยิ่งใหญ่ของฟุตบอลจีนกำลังจะมาถึง มองจากสิ่งทีเกิดขึ้นมันไม่ต่างจากการผลักดันกีฬาชนิดอื่นเลย
แม้ ณ ปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนนโยบายไปบ้าง เรื่องการสนับสนุนให้สโมสรซื้อนักเตะต่างชาติค่าตัวค่าเหนื่อยแพง ๆ ที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ แต่หลัก ๆ แล้วเรื่องงบประมาณในการสร้างเยาวชน และการพัฒนาโครงสร้างด้านฟุตบอลยังคงได้รับการสนับสนุนเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
แต่มันมีเหตุผลอะไรล่ะที่ทำให้ จีน ดูจะไม่ได้เก่งด้านฟุตบอลขึ้นมามากนัก หากเทียบกับการลงทุนและการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ?
ทำไมทำไม่ได้ ?
อย่างแรกเลย ฟุตบอลคือกีฬาประเภททีม ที่ต้องใช้นักเตะมากถึง 20 คนเป็นอย่างน้อยในการที่จะสร้างทีมที่แข็งแกร่งขึ้นมา แน่นอนว่าการสร้างคนเก่ง ๆ ขึ้นมาจำนวนมากในเวลาเดียวกัน มันยากกว่าที่คุณจะค้นเจอปีศาจสักคนและปั้นให้พวกเขากลายเป็นสุดยอดนักกีฬาในกีฬาประเภทเดี่ยว เช่น แบดมินตัน, ยิมนาสติก หรือว่ายน้ำอะไรทำนองนั้น
1
อีกอย่าง จีนอาจจะมีงบประมาณมากในการสร้างเยาวชน แต่ก็มีการวิเคราะห์และสัมภาษณ์นักเตะจีนอายุน้อย ๆ ของเว็บไซต์ thatmags ที่พยายามหาคำตอบเหมือนกับเรา ซึ่งคำตอบที่พวกเขาได้ก็น่าสนใจ นั่นคือ จีน ขาดการส่งต่อเยาวชนที่ดี
อธิบายเพิ่มเติมคือพวกเขามีเด็กที่เก่งด้านฟุตบอลมาก ๆ ที่ชื่อว่า เจี๋ย โบยาน (Jia Boyan) ซึ่ง เจี๋ย ก็เสนอมุมมองของเขาว่าจริง ๆ แล้วตัวของเขากว่าจะได้เริ่มเล่นฟุตบอลแบบจริงจัง ในแบบที่เรียนรู้ศาสตร์ฟุตบอลก็ตอนอายุ 9 ปี เหตุผลที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า ในประเทศจีน การสร้างนักกีฬาชนิดอื่นนั้นเริ่มก่อนฟุตบอล โดยเริ่มจากที่โรงเรียนเป็นอันดับแรก
เด็ก ๆ อาจจะถูกจับไปเล่นกีฬาชนิดอื่น ไปพร้อม ๆ กับการโฟกัสเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับประชากรจีนที่ต้องการยกระดับตัวเองขึ้นมาให้เป็นกลุ่มชนชั้นกลางค่อนบน เจี๋ย เล่าว่าเขาเองก็ได้รับการสั่งสอนให้ตั้งใจเรียนหนังสือ และฟุตบอลเป็นเรื่องที่รองลงมา
จนกระทั่งเขาอายุได้ 9 ขวบ จึงได้เล่นฟุตบอลที่โรงเรียนแบบจริงจังเป็นครั้งแรก ก่อนที่อายุ 13 ปี จะมีโรงเรียนฟุตบอลที่ชื่อ เซี่ยงไฮ้ ลัคกี้ สตาร์ ดึงตัวเขาไปเรียนที่นั่น ก่อนที่จะเข้าสู่อคาเดมี่ของ เซี่ยงไฮ้ พอร์ท ไปเล่นในต่างประเทศกับ กราสฮอปเปอร์ ซูริค และ ดูบราว่า โดยปัจจุบันเล่นให้ หนานตง ซื่อหยุน ในลีกสูงสุดจีน
1
การเริ่มต้นเล่นฟุตบอลตอน 9 ขวบเป็นอะไรที่ช้า หากเทียบกับชาติที่เก่งกาจเรื่องฟุตบอล ยิ่งในระบบฟุตบอลลีกปัจจุบันนี้ สโมสรดัง ๆ ในยุโรปหลายทีมเซ็นสัญญากับนักเตะตั้งแต่อายุไม่กี่ขวบเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น อาร์เซน่อล ที่เซ็นสัญญากับ ซาอีน อาลี ซัลมาน ตอนที่เด็กคนนี้อายุได้ 4 ขวบกว่า ๆ เท่านั้น ดังนั้นการได้เรียนฟุตบอลจริงจังในอายุ 13 ปี ช้าเกินไปอย่างไม่ต้องสงสัยสำหรับเยาวชนจีน ... เรียกได้ว่ารอยต่อช่วงเริ่มต้นของพวกเขายังไม่มีที่ว่างสำหรับนักกีฬาฟุตบอลมากนัก
1
"ที่ประเทศจีน คนต้องเรียนหนังสือเป็นหลัก และการเป็นนักฟุตบอลก็มีค่าใช้จ่ายสูง เรื่องมันส่งผลต่อเด็กจากชนชั้นกลางไปจนถึงชนชั้นแรงงาน พวกเขาเจอปัญหา เด็กจากชนชั้นกลางไม่มีเวลา ส่วนเด็กชั้นแรงงานก็ไม่มีเงิน ผมได้รู้จักเด็กหลายคนที่เล่นฟุตบอลได้ดี แต่เมื่อพวกเขาโตขึ้น พวกเขาก็มีการบ้านเยอะไป ซึ่งแนวคิดของคนจีนนั้นการเรียนสำคัญกว่าสิ่งใดเสมอ สุดท้ายเด็กหลายคนก็เลิกเล่นในท้ายที่สุด" คาเมรอน วิลสัน (Cameron Wilson) บรรณาธิการผู้ก่อตั้ง Wild East Football อธิบาย
ส่วนเรื่องการพัฒนาเยาวชนก็มีการระบุว่ามันเกี่ยวกับเรื่องแนวคิดของความเป็นคนจีนด้วย โดย วิลสัน ว่าต่อว่า
"คนที่เล่นกีฬาได้แย่ไม่เพียงแต่ทำให้ตัวเองเสื่อมเสียชื่อเสียงเท่านั้น แต่ยังทำให้ครอบครัวเสียชื่อเสียงอีกด้วย ความล้มเหลวของพวกเขาจะกลายเป็นเรื่องตลกที่คนในครอบครัวเล่าให้ฟัง และผลงานของพวกเขาจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับเพื่อนและครอบครัว พ่อแม่ชาวเอเชียไม่เหมือนพ่อแม่ชาวตะวันตก การตำหนิลูกถือเป็นเรื่องปกติในสังคมตะวันออก"
ซึ่งก็มีการขายความต่อว่า หากเด็กถูกตำหนิหรือทำให้ลดทอนความมั่นใจไปเรื่อย ๆ พวกเขาจะขาดความสร้างสรรค์ และความกล้าที่จะแสดงบางอย่างที่ตัวเองมีออกมา นั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้นักเตะจีนไมได้มีนักเตะที่เก่งกาจมากมาย แม้จะเทียบกับชาติในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
อย่างสุดท้ายที่เราพอจะบอกได้คือ การลงทุนของรัฐบาลจีนเพิ่งจะเริ่มต้นอย่างจริง ๆ จัง ๆ ราว 10 ปีเท่านั้น พวกเขาอาจจะยังจบทริคอะไรบางอย่างไม่ได้ จนทำให้ผลผลิตที่ดียังไม่เกิดขึ้นมากมายนัก
อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดแล้ว การที่รัฐบาลจริงจริงจังกับเรื่องฟุตบอลในระยะหลัง ก็อาจจะทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป มันอาจจะเริ่มจากการทำให้เกิดความนิยมในการดูและเสพฟุตบอลมากขึ้น จนทำให้เด็ก ๆ หลายคนอาจจะเลือกฟุตบอลก่อนกีฬาชนิด ๆ อื่นที่เป็นที่นิยมในประเทศมากกว่า
ด้วยจำนวนประชากรที่จีนมี และงบประมาณในการสร้างฟุตบอลที่สามารถใช้คำว่า "ไม่อั้น" ของแบบนี้อาจจะต้องใช้เวลา ไล่ไปตั้งแต่การทำฟุตบอลให้เขาถึงเด็ก ๆ อย่างต่อเนื่อง อุดรอยรั่วที่จะทำให้เด็ก ๆ หลุดจากระบบ เพราะไม่มีทีมฟุตบอลรองรับ ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารแล้วว่าพวกเขาจะสามารถเจอแนวทางที่ถูกต้องในแบบที่เป็น "จีน เวย์" ได้เมื่อไหร่ พวกเขาอาจจะพุ่งฉิวก็เป็นได้
แต่ที่สุดแล้วของแบบนี้ต้องใช้ฝีมือและประสบการณ์เป็นอย่างมาก เพราะแต่ละประเทศก็มีค่านิยม วัฒนธรรม และแนวคิดที่ไม่เหมือนกัน จีน ไม่สามารถลอกเลียนแนวคิดชาติตะวันตกได้ทั้งหมด ไม่อย่างนั้นพวกเขาคงจะคัดพิมพ์เขียวแล้วตามแกะรอยได้ไม่ยาก
พวกเขาต้องเจอทางของตัวเองก่อน จากนั้นเราจึงค่อยมาดูกันว่า "จีน เวย์" ที่แท้จริง จะสร้างนักเตะที่เก่งกาจออกมาได้หรือเปล่า ? แน่นอนว่าตอนนี้มันยังห่างไกลความจริงไม่น้อย
บทความโดย : ชยันธร ใจมูล
แหล่งอ้างอิง
http://www.china.org.cn/sports/2012-08/12/content_26208289.html
http://factsanddetails.com/china/cat12/sub79/item1008.html
https://www.reddit.com/r/China/comments/16fjecm/why_is_football_in_china_so_bad/
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-4920780/Chinese-Super-League-Rise-fall-stall.html
https://www.theguardian.com/football/2021/mar/02/china-crisis-jiangsu-demise-wider-football-struggle
https://www.france24.com/en/live-news/20210419-champions-demise-haunts-diminished-chinese-super-league
https://www.thatsmags.com/china/post/34611/why-isn-t-china-producing-enough-world-class-footballers
1 บันทึก
18
1
3
1
18
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย