Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Main Stand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
27 ส.ค. เวลา 12:30 • กีฬา
1 ครั้งโลกไม่ลืม : ความทรงจำของทีมที่เก่งแต่วุ่นวายที่สุดในชีวิตของ "อีริคส์สัน" | Main Stand
การจากโลกใบนี้ไปแบบไม่มีวันกลับของ สเวน โกรัน อีริคส์สัน อดีตกุนซือ ลาซิโอ, ทีมชาติอังกฤษ, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เลสเตอร์ และอีกหลาย ๆ ทีม คือหนึ่งในการสูญเสียครั้งสำคัญของโลกฟุตบอล
ในสมัยที่เขายังมีชีวิต และโลดแล่นในวงการโค้ช "ป๋าสเวน" ฝากผลงานมากมายให้แฟนบอลได้กล่าวขาน ในแง่ของความสำเร็จ นั่นคือการพา ลาซิโอ คว้าแชมป์ เซเรีย อา ... ทว่าผลงานครั้งนั้นกลับถูกจดจำไม่เท่ากับผลงานการคุมทีมที่โลกจับตามองมากที่สุด นั่นคือการคุมทีมชาติอังกฤษ ทีมที่มียอดนักเตะแห่งยุคมากมายให้เขาเลือก แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นการคุมทีมที่วุ่นวายที่สุดในขีวิตของเขาเช่นกัน
สเวนรับงานคุมทีมชาติอังกฤษเมื่อปี 2001 พร้อมสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้จัดการทีมชาติอังกฤษที่เป็นชาวต่างชาติคนแรก และช่วงเวลานั้น ทีมสิงโตคำรามมีกลุ่มผู้เล่นที่เพียบพร้อม โดยมีพื้นฐานจากสโมสรในประเทศที่อาละวาดบนเวทียุโรป ชนิดที่ว่าสื่อในประเทศของพวกเขาถึงกับประกาศออกมาว่า "นี่คือ โกลเด้น เจเนอเรชั่น" หรือ ยุคทองของ ฟุตบอลอังกฤษ
ไล่ตั้งแต่หลังไปหน้า ไม่มีนักเตะคนไหนที่คุณไม่รู้จัก อย่างน้อย ๆ คุณต้องเคยได้ยินชื่อพวกเขาสักครั้ง แม้คุณจะไม่ได้ติดตามบอลอังกฤษมากมาย
ไมเคิล โอเว่น กองหน้ารางวัล บัลลงดอร์, เดวิด เบ็คแฮม ไอดอลค้างฟ้าของวงการ, เวย์น รูนี่ย์ สุดยอดดาวรุ่งในยุคที่สื่อจับตาเป็นพิเศษ หรือจะเป็นคู่เซ็นเตอร์แบ็กอย่าง ริโอ เฟอร์ดินานด์ และ จอห์น เทอร์รี่ ที่เป็นพี่ใหญ่สายตะโกนสั่งทั้งคู่ แน่นอน รวมถึง 3 แม่ทัพอย่าง พอล สโคลส์, แฟรงค์ แลมพาร์ด และ สตีเว่น เจอร์ราร์ด ... นี่คือตัวอย่างของกลุ่มผู้เล่นยุคทองชุดนั้น
และนักเตะกลุ่มนี้ถูกบริหารจัดการโดย สเวน โกรัน อีริคส์สัน ที่เคยพา ลาซิโอ คว้าแชมป์มามากมายก่อนเข้ามาคุมทีมชุดนี้
ด้วยรายชื่อที่กล่าวมา เวลาไปแข่งรายการไหน สื่อก็มักจะยกอังกฤษเป็นเต็ง 1 เต็ง 2 เต็ง 3 อยู่ตลอด แทบจะไม่เคยหลุดจากอันดับเหล่านี้ ทว่าโลกความจริงนั้นเป็นคนละเรื่อง
1
"อังกฤษยุคทอง" ลงสนามจริงด้วยผลงานสุดย่ำแย่ พวกเขาไม่เคยไปได้เกินรอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลก เช่นเดียวกับฟุตบอลยูโร ก่อนที่สุดแล้ว สเวนก็ลาออกหลังจบฟุตบอลโลก 2006
ทั้ง ๆ มีนักเตะระดับทองเลี่ยมเพชร และทุกชื่อที่กล่าวมาพิสูจน์ตัวเองกับสโมสรมาแล้ว ไม่ว่าจะในระดับพรีเมียร์ลีก หรือ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก แต่ทำไมปัญหาฟอร์มในสนามเป็นคนละเรื่องกับผังผู้เล่นบนหน้ากระดาษ ?
เรื่องนี้คนที่ตอบได้ดีที่สุดคือคนที่คอยจัดการพวกเขาทั้งหมด ... สเวน โกรัน อีริคส์สัน เคยเล่าว่า การคุมทีมชาติอังกฤษชุดนั้น เหมือนกับการจับปูใส่กระด้ง ขุมกำลังมากมายหลายคน และแต่ละคนล้วนต้องการลงสนาม ครั้นเขาตั้งใจจะดร็อปดาราคนไหนสักคน พวกสื่ออังกฤษ ก็จะเตรียมลับมีดรอเชือดเขาทันทีที่เกิดความผิดพลาด ต่อให้บางเกมเขาจะพาทีมชนะได้ก็ตาม
"สื่ออังกฤษเหมือนกับนกอีแร้งที่เกาะบนต้นไม้รอคุณสิ้นใจในทะเลทรายอย่างเลือดเย็น พวกเขาจ้องมองคุณเหนื่อย ร้อน และหิวกระหาย เมื่อใดที่คุณล้ม อีแร้งพวกนั้นจะลงมาจิกคุณทั้งฝูง" อีริคส์สัน บอกแบบนั้น และมันทำให้เขาต้องจัดตัวในแบบที่รักพี่เสียดายน้อง
หนักหนาที่สุดคือ 3 กองกลางอย่าง สโคลส์ แลมพาร์ด และ เจอร์ราร์ด ที่ดันเล่นตำแหน่ง และรับหน้าที่เดียวกันเกือบหมด ซึ่งด้วยความที่เขาไม่อยากดร็อปใคร เขาจึงต้องเอาทุกคนลงสนามพร้อม ๆ กัน ปรับแผนการเล่นมาเป็น 4-4-2 ไดมอนด์ หรือแผนที่ไม่มีปีกริมเส้น ทั้ง ๆ ที่ปีกทั้งสองข้างคืออาวุธหลักของฟุตบอลอังกฤษมาช้านาน … ทั้งหมดเกิดขึ้นเพียงเพราะเขาทำใจตัดใครไม่ได้ และแน่นอน เพราะความกดดันจากสื่อด้วย
เมื่อแผนมันไม่ตอบโจทย์ นักเตะเก่งแค่ไหน รอยรั่วก็เต็มไปหมด แม้จะพยายามทำแค่ไหนก็ไม่ดีขึ้น ซ้ำร้ายอังกฤษชุดนั้นยังเป็นทีมที่มีปัญหาภายในระหว่างนักเตะ ที่มีการแบ่งก๊ก แบ่งเหล่า ตามสโมสรที่ตัวเองอยู่ เช่น เวลาที่กินข้าว ก็จะมีโต๊ะสำหรับผู้เล่นของ แมนฯ ยูไนเต็ด มารวมตัวกันโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับผู้เล่นจากสโมสรใหญ่ทีมอื่น ๆ ที่หากใครติดทีมชาติเยอะหน่อย ก็จะแบ่งกลุ่มคุยกันเองเท่านั้น แทบไม่มีการสื่อสารเกิดขึ้น
พวกเขามีความสัมพันธ์กันแบบเพื่อนร่วมงานเกิน 100% แม้รู้ทั้งรู้ว่าต้องรวมพลัง รวมใจช่วยชาติ แต่กับบางคน พวกเขาก็ไม่สามารถที่จะพูดคุย หรือทำตัวสนิทสนมกันภายในแคมป์ทีมชาติได้จริง ๆ
เหตุผลหลัก ๆ เพราะพวกเขาห้ำหั่นกันในลีก ชนิดแสดงตัวเป็นอริกันแบบซึ่งหน้า ตอนนั้นแต่ละทีมมีเรื่องอริกันเต็มไปหมด เรียกได้ว่าจับคู่ไฝว้กันเละเทะ ทั้ง แมนฯ ยูไนเต็ด กับ ลิเวอร์พูล, ลิเวอร์พูล กับ เชลซี, เชลซี กับ อาร์เซน่อล, อาร์เซน่อล กับ แมนฯ ยูไนเต็ด วนเวียนไปแบบนั้น เพราะในช่วงนั้นแต่ละทีมก็มีแผลในเกมสโมสร สร้างโจทย์กันไปมาทั้งในและนอกสนาม แม้กระทั่งการสัมภาษณ์เหน็บกันไปมา ดังนั้นการจะให้พวกเขาอยู่ร่วมกันแบบ "เพื่อนรัก" ไม่มีทางเกิดขึ้นได้
1
เรื่องนี้แม้กระทั่ง สตีเว่น เจอร์ราร์ด ก็อดออกมาเมาท์ไม่ไหว โดยที่ตอนที่เขาแขวนสตั๊ดเเล้ว เขาออกมาพูดว่า ทีมชาติอังกฤษยุคทองนั้น ใส่หน้ากากเข้าหากันแบบสุดๆ และมีบรรยากาศที่ชวนอึดอัดในแคมป์เสมอ
"เมื่อคุณเข้าแถวในอุโมงค์กับ ริโอ (เฟอร์ดินานด์) และ แกรี่ เนวิลล์ คุณต้องการทำทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะพวกเขา ... ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่ามีความเกลียดชังอยู่ที่นั่น (แคมป์ทีมชาติ) นั่นคือสิ่งที่มันเป็น เมื่อคุณพบกันที่แคมป์ทีมชาติอังกฤษในเวลานั้น คุณจำเป็นต้องแกล้งทำเป็นชอบพวกเขา" เจอร์ราร์ด ว่าเช่นนั้น
2
จะว่าไปแล้ว อังกฤษยุคนั้นก็ไม่ได้แย่จนดูไม่ได้ แต่การตกรอบแต่ละครั้งมันคือการตกรอบประเภท "พลาดไปนิดเดียว" อยู่หลาย ๆ หน ... หนึ่งในสิ่งที่ อีริคส์สัน พูดถึงทีมชุดนั้นของเขาในแง่ของความเสียใจ ที่เขาอยากจะเปลี่ยนแปลงหากย้อนไปได้ นั่นคือการดวลจุดโทษ ที่เขาควรจะให้ความสำคัญมากกว่านี้
"ผมไม่ปฏิเสธว่าผมมีนักเตะชุดที่ดีมาก ๆ และแต่ละคนก็มีทักษะการยิงจุดโทษติดตัวมากับต้นสังกัด สำหรับทีมชาติอังกฤษชุดฟุตบอลโลกปี 2006 แต่ผมยอมรับว่า ณ เวลานั้นผมได้ทำความผิดพลาดครั้งใหญ่" อีริคสัน กล่าว
"ปัญหาในการดวลจุดโทษคือไม่สามารถซ้อมได้ เพราะมันเป็นเรื่องของจิตใจ นักเตะจะต้องคิดเรื่องการยิงของเขาระหว่างเดินจากเส้นกลางสนามไปที่เขตจุดโทษ พวกเขาจะคิดว่าตัวเองกำลังจะตัดสินใจอนาคตของทั้งทีมว่าจะได้ไปต่อหรือกลับบ้าน"
"ความผิดพลาดคือ ผมควรจะจ้างโค้ชด้านสภาพจิตใจเข้ามาทำงานกับทีมชุดนั้น ให้เขาเข้ามาช่วยสอนเรื่องการยิงจุดโทษ สิ่งที่เราควรจะทำ คือการทำยังไงให้นักเตะที่รับหน้าที่มีความกดดันน้อยที่สุด ปิดความคิดเรื่องแฟนบอลเป็นล้าน ๆ คนกำลังจ้องมาที่พวกเขาอยู่ คนยิงจุดโทษจำเป็นต้องเป็นเจ้าของความคิดของตัวเอง พวกเขาไม่สามารถปล่อยให้ความคิดเป็นหมื่นพันวนเวียนในหัว ตอนถึงเวลาที่กดดันที่สุด"
2
สุดท้ายแล้วทีมชาติอังกฤษยุคทองก็ไม่เคยแม้จะใช้คำว่า "ใกล้เคียง" กับความสำเร็จ เหล่าสตาร์แดนผู้ดีไม่ได้แก้ไขเรื่องนี้ให้ดีขึ้นในยุคของพวกเขา
กาลเวลาผ่านไป ทีมชาติอังกฤษชุดของ สเวน ถูกพูดถึงมากจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม ในความล้มเหลวนั้น สิ่งที่ สเวน สร้างไว้ คือบารมีที่เหล่านักเตะในทีมที่เป็นเบอร์ใหญ่ทุกคนยอมรับ
จอห์น เทอร์รี่, สตีเว่น เจอร์ราร์ด หริอแม้กระทั่ง เดวิด เบ็คแฮม คือหนึ่งในกลุ่มนักเตะที่ออกมาเปิดเผยการทำงานของ อีริคส์สัน ที่เป็นการทำงานแบบมืออาชีพ และนำสิ่งใหม่ ๆ มาสู่ทีมชาติอังกฤษมากมาย และยืนยันว่า นี่คือหนึ่งในกุนซือที่นักเตะทีมชาติอังกฤษให้ความเคารพมากที่สุดคนหนึ่งโดยไม่มีข้อแม้ ไม่มีการเล่นไล่โค้ช ไม่มีการเล่นแบบขอไปที ความล้มเหลวของทีมชุดนั้นเกิดขึ้นจากเรื่องของเกมฟุตบอลล้วน ๆ
ท้ายที่สุด แม้ สเวน จะไม่เคยคว้าแชมป์กับอังกฤษได้ และเขาอาจจะไม่ใช่คนอังกฤษ แต่เขาก็เป็นแฟนทีมชาติอังกฤษที่ตามเชียร์มาตลอด ... โดยในยูโร 2024 ที่ผ่านมา อีริคส์สัน ได้อวยพร แกเร็ธ เซาธ์เกต กุนซือทีมทีมชุดนั้นว่า "แกเร็ธ ช่วยเอาชนะในส่วนของผม, เซอร์ บ็อบบี้ ร็อบสัน และชนะในฐานะตัวแทนของคนอังกฤษด้วย"
แม้จะเป็นคำขอของคนที่อยู่ในวาระสุดท้าย แต่โลกใบนี้ไม่เคยมีอะไรแน่นอน และทุกสิ่งไม่ได้เป็นอย่างใจเราเสมอ โลกของฟุตบอลก็เช่นกัน ...สุดท้ายแม้ อีริคส์สัน อาจจะไม่ได้เห็นถ้วยแชมป์นั้น แต่เขาก็ยิ้มในวาระสุดท้าย และให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องชีวิตของเขาที่ผูกอยู่กับฟุตบอลมาเสมอว่า
"ผมได้ใช้ชีวิตที่ยอดเยี่ยมไปเรียบร้อยแล้ว ผมคิดว่าเราทุกคนต่างกลัวเมื่อวันตายมาถึง แต่ชีวิตเราย่อมต้องมีเรื่องนี้เช่นกัน ... คุณต้องยอมรับในสิ่งที่มันเป็น คุณอาจจะหวังว่าสุดท้ายผู้คนจะบอกว่า ใช่ เขาเป็นคนดี แต่ความจริงคือ คงไม่ใช่ทุกคนที่จะพูดอย่างนั้น" อีริคส์สัน กับวีดีโอสุดท้ายของเขาว่าเช่นนั้น
1
ในชีวิต คุณทำให้คนที่เกลียดรักคุณไม้ได้ ในโลกฟุตบอล คุณไม่สามารถปฏิเสธคำวิจารณ์จากผู้คนรอบข้างได้เช่นกัน ... สิ่งที่คุณทำได้ คือการก้าวผ่านสิ่งเหล่านั้น และเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดให้ได้ก็เพียงพอแล้ว เพื่อลาโลกนี้ไปโดยไม่ต้องเสียใจ
สเวน โกรัน อีริคส์สัน บอกเราแบบนั้น ก่อนที่เขาจะกลายเป็นเพียงความทรงจำ
บทความโดย : ชยันธร ใจมูล
3 บันทึก
14
3
14
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย