4 ก.ย. เวลา 12:38 • กีฬา

เทน ฮาก vs อาร์เน่อ : ปรัชญาบอลดัตช์ 2 แขนงสู่กุนซือคู่แข่งแดงเดือด | Main Stand

"2 คนนี้มีทรงผมเหมือนกัน แต่ที่เหลือแตกต่างกันทั้งหมด" ปาสกาล แยนเซ่น อดีตผู้ช่วยของ อาร์เน่อ ชล็อต ที่สอบโค้ชโปรไลเซ่นส์พร้อมกับ เอริค เทน ฮาก พูดถึงความเหมือนและความต่างของกุนซือของ แมนฯ ยูไนเต็ด และ ลิเวอร์พูล ณ ปัจจุบัน
พวกเขามาจากประเทศเดียวกัน ดินแดนฟุตบอลที่ โยฮัน ครัฟฟ์ แผ้วทางให้ แต่ว่ารายละเอียดลึก ๆ นั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง
เทน ฮาก กับ ชล็อต มีปรัชญาและแนวทางการทำทีมแตกต่างกันตรงไหน ? อะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้พวกเขาแตกแขนงออกจากแนวทางโค้ชดัตช์แบบเดิม ๆ ? ... หาคำตอบไปพร้อมกันได้ที่ Main Stand
สายครัฟฟ์ และ สายฟาน กัล
ฟุตบอลดัตช์ นั้นมี 2 สายใหญ่ แบบแรกอันเป็นลายเซ็นเอกลักษณ์ของพวกเขาคือ "โททัล ฟุตบอล" ที่สร้างขึ้นมาโดย ไรนุส มิเชลส์ และต่อยอดให้สมบูรณ์แบบขึ้นโดย โยฮัน ครัฟฟ์ นักเตะเทวดาในตำนาน
หลักการใหญ่ ๆ ของโททัลฟุตบอล หรือเรียกง่ายว่า "สายครัฟฟ์" คือฟุตบอลแบบเรียบง่าย ให้แล้วไป ผู้ล่นทุกคนในสนามต้องพร้อมจะขยับตัวเข้ามารับบอลในพื้นที่ที่ได้เปรียบ และต้องมีเซ้นส์บอลที่สูงจึงจะทำในสิ่งที่เรียบง่ายนี้ให้ออกมามีประสิทธิภาพสูงสุด
โททัล ฟุตบอล จึงเป็นฟุตบอลที่สวยงาม เล่นเกมรุก ดูสนุก และนั่นทำให้เป็นสไตล์ที่กุนซือดัตช์หลายคนใช้เป็นสารตั้งต้น ก่อนจะใส่ปรัชญาของตัวเองลงไปเพิ่มเติมในส่วนที่เหลือ และกุนซือคนปัจจุบันของลิเวอร์พูลอย่าง อาร์เน่อ ชล็อต ก็เป็นแบบนั้น
อย่างไรก็ตาม การผูกขาดไม่ได้สร้างผลดีเสมอไป และทำให้สิ่งนั้นคงอยู่ค้ำฟ้า สิ่งที่จะทำให้พัฒนาได้ก็คือการมีคู่แข่ง คู่เปรียบเทียบ เพื่อผลักดันกันและกัน ซึ่งฟุตบอลสายครัฟฟ์ ก็เพิ่งมาถูกท้าทายในช่วงยุค 1980s เป็นต้นมา ยุคที่กุนซือดัตช์สายขบถอย่าง หลุยส์ ฟาน กัล แจ้งเกิด
ฟาน กัล เป็นโค้ชที่มีแนวคิดเป็นของตัวเอง ชอบตั้งข้อสงสัย หักล้าง และทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีกว่า ขณะที่โค้ชดัตช์หลายคนให้ความเคารพฟุตบอลสายครัฟฟ์ ฟาน กัล กลับมองว่าฟุตบอลของ ครัฟฟ์ มีข้อจำกัดเยอะ ถ้าจะทำ โททัล ฟุตบอล ออกมาให้ดีได้ จำเป็นต้องใช้นักเตะที่เก่ง มีคุณภาพสูงทั้ง 11 ตำแหน่ง ซึ่งบางครั้งมันเป็นข้อจำกัดที่โค้ชบางคนไม่สามารถเดินตามรอยได้ นั่นจึงทำให้มีโค้ชดัตช์หลายคนล้มเหลวในเวทีระดับสูง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการไม่มีทรัพยากรที่ดีพอ หรือพวกเขาอาจไม่ได้เป็นโค้ชที่เก่งพอก็ตาม
ฟาน กัล คิดค้นฟุตบอลของเขาขึ้นมาใหม่ โดยคงความเป็นทีมเวิร์กเอาไว้ แต่ใส่เรื่องแท็คติกแบบจ๋า ๆ และระเบียบวินัยในการเล่น ไม่ว่าจะวินัยในตำแหน่งของตัวเอง หรือวินัยแบบทีมที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่ง ฟาน กัล ทำให้วิธีการเล่นของเขามีชื่อเสียงขึ้นมาผ่านการสร้าง อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม ในยุคของเขาที่ใช้ดาวรุ่งไร้โปรไฟล์ ก่อนกลายเป็นนักเตะดังกันแทบยกชุด
เมื่อนั้นเอง วงการฟุตบอลดัตช์จึงให้ข้อจำกัดความของคู่แข่ง "สายครัฟฟ์" ขึ้นมาเป็น "สายฟาน กัล" โดย Daily Mail เปรียบเทียบ 2 สายนี้ให้เห็นภาพว่า
"เกมของ ครัฟฟ์ คือฟุตบอลที่เชื่อเรื่องจินตนาการ เล่นกันไปตามฟีลเหมือนกับบอลข้างถนน ขณะที่ของ ฟาน กัล เหมือนกับการเล่นฟุตบอลในค่ายทหาร ทุกคนต้องมีวินัย ยึดมั่นในแท็คติกมากกว่า"
และว่ากันว่า เอริค เทน ฮาก กุนซือของ แมนฯ ยูไนเต็ด ถูกรวมเข้าไปใน "สายฟาน กัล" ด้วย แม้ว่าเขาจะไม่เคยบอกด้วยตัวเองแบบนั้นก็ตาม เหตุผลอาจจะเพราะว่า ใครก็ตามที่ยืนตรงข้ามครัฟฟ์ ก็จะถูกเหมารวมเป็นอีกฝั่ง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องน่าสนใจมาก ๆ ที่ต้องย้อนไปกลับตอน เทน ฮาก อายุ 13 ปี เขาเคยถกประเด็นเรื่องการให้อิสระในการเล่นกับลูกทีมของ โยฮัน ครัฟฟ์ และเขาถกกับ ครัฟฟ์ โดยตรงผ่านรายการโทรทัศน์ของฮอลแลนด์ ซึ่งบางช่วงบางตอนนั้นมีอยู่ว่า
"ผมคิดว่าคุณควรระวังที่จะไม่ตะโกนใส่ผู้เล่นเยาวชนมากเกิน เพราะคุณอาจทำลายผู้เล่นด้วยวิธีแบบนั้น แต่ในระดับสูงขึ้นมา เช่นในทีมชุดใหญ่ของอาแจ็กซ์ คุณควรที่จะสามารถพูดอะไรเกี่ยวกับมันได้ คนพวกนั้นฝึกซ้อมแทบทุกวันในแต่ละสัปดาห์ ถ้าพวกเขาทำผิดพลาดซ้ำแบบเดิม คุณควรสามารถไปเผชิญหน้ากับพวกเขา (นักเตะทีมชุดใหญ่) ได้" เทน ฮาก ในวัย 13 ปีว่าแบบนั้น
เด็ดขาด ยึดมั่นในแท็คติกและปรัชญาของตัวเอง ฟันผู้เล่นที่ไม่ใช่ทิ้ง เทน ฮาก ทำแบบนั้นจริง ๆ ในวันที่เขาเป็นโค้ช ตรงนี้เราจะได้เห็นแล้วว่า เทน ฮาก กับ ชล็อต มีความเชื่อทางฟุตบอลที่ต่างกันไม่น้อยเลยทีเดียว
เทน ฮาก vs ชล็อต เวอร์ชั่นลีกดัตช์
อย่างที่บอกไป พวกเขาก็ต่างมีแนวทางของตัวเองกันทั้งคู่ อาจจะไม่ได้เอาสไตล์ของ ครัฟฟ์ หรือ ฟาน กัล มาใช้กัน 100% แต่คำจำกัดความเพื่อให้เป็นภาพง่าย ๆ เป็นแบบนั้นจริง ๆ ในสิ่งที่คนฟุตบอลดัตช์มอง ข้อสรุปคือ เทน ฮาก และ ชล็อต มีปรัชญาฟุตบอลที่แตกต่างกัน
คนที่บอกเรื่องนี้ได้ดีคือ ปาสกาล แยนเซ่น อดีตผู้ช่วยของ อาร์เน่อ ชล็อต สมัยคุม อาแซด อัลค์มาร์ ที่สอบโค้ชโปรไลเซ่นส์รุ่นเดียวกันกับ เอริค เทน ฮาก ที่บอกว่า นอกจากทรงผมที่หัวโล้นแล้ว ทั้งคู่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
"พวกเขามีทรงผมเหมือนกัน แต่ที่เหลือแตกต่างกันสิ้นเชิง ... เราเริ่มที่เรื่องคาแร็คเตอร์ก่อนเลยแล้วกัน" แยนเซ่น กล่าวเริ่มกับ Sky Sports
"เทน ฮาก เป็นคนที่มีคาแร็คเตอร์ชัดเจนมาตั้งแต่อยู่ในลีกดัตช์ เขาโดดเด่นและเป็นที่รู้จักมากกว่า ชล็อต จากการทำทีมฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จมากกว่าในตอนที่เขาคุมทีมอาแจ็กซ์ เทน ฮาก เข้มงวด กระตือรือร้น และมีแท็คติกที่ชัดเจนตายตัว ถ้าเขาเซ็ตทีมได้เมื่อไหร่ ยากที่ทีมอื่น ๆ จะหยุดทีมของเขาได้"
สิ่งที่ แยนเซ่น บอก คล้าย ๆ กับมันจะเกิดขึ้นให้เราเห็นด้วยตัวเอง เทน ฮาก มีความชัดเจนในแง่ของแท็คติก นักเตะแต่ละคนต้องเป็นสเป็กที่เขาอยากได้จริง ๆ และลงตัวกับแนวทางฟุตบอลที่เขาอยากจะทำ โดยเฉพาะตำแหน่งสำคัญ ๆ ที่ในตอนนี้กับ ยูไนเต็ด เขาก็พาเอานักเตะที่เขารู้จักและเคยร่วมงานด้วยที่ อาแจ็กซ์ มาหลายคน
ฟากฝั่งของ ชล็อต เป็นกุนซืออารมณ์ดี ยิ้มมากกว่า และมีความสบาย ๆ มากกว่า ในแง่ของคาแร็คเตอร์ แต่ในแง่ของฟุตบอล ชล็อต ให้ความสำคัญกับเกมบุก และมีแท็คติกที่ยืดหุ่นมากกว่า ถึงขั้นที่มีการเขียนบทความระบุว่า "โค้ชที่เน้นเกมรุกมากที่สุดในเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ โยฮัน ครัฟฟ์” ซึ่งเกมบุกของเขาให้นักเตะใส่จินตนาการและการสลับตำแหน่งกันได้อย่างเต็มที่
"ชล็อต ใช้คำพูดเก่ง ฟังลื่น สบายหู วาทศิลป์ของเขาทำให้ลูกทีมเข้าใจได้ดีว่าเขาจะสื่ออะไร เขาใข้เวลาไม่เยอะในการบอกและสอนนักเตะของเขา ในขณะเดียวกัน คำพูดคำจาของเขา เป็นสิ่งที่สื่อในเนเธอร์แลนด์ชอบมาก เพราะเอาไปเล่นเป็นข่าวได้ตลอด เพราะเฉลียวฉลาดในการตอบคำถาม มีลูกล่อลูกชน และชอบที่จะเหน็บแนมแบบเนียน ๆ" จูร์จาน แมนเนส อดีตลูกทีมของ ชล็อต ขยายความเพิ่มเติมในแง่ของคาแร็ตเตอร์ที่โค้ชของเขามีต่อสื่อ
ตัดกลับมาที่ เทน ฮาก ความเด็ดขาดตรงไปตรงมาของเขาถูกสะท้อนผ่านการตอบกับสื่อและคุยกับนักเตะภายในทีมเช่นกัน ... เทน ฮาก ชอบพูดอะไรที่ไม่ต้องตีความเยอะ หมายความว่าแบบนั้นตามที่พูด และนั่นก็เป็นวิธีที่ทำให้นักเตะของเขาซึมซับแท็คติกและส่งที่เขาต้องการจะสื่อได้เร็วขึ้นในมุมมองของเขา
1
มาร์นิกซ์ โคลเดอร์ อดีตลูกทีมของ เทน ฮาก เล่าถึงเรื่องการฝึกซ้อมสมัยทำงานร่วมกันว่า "เบื้องหลังการซ้อมทุกครั้งชัดเจน และทุกคนต้องได้ข้อคิดเสมอ เทน ฮาก เป็นโค้ชประเภทที่พยายามจะทำให้นักเตะในทีมดีขึ้นในแง่ของแทคติก ยุทธวิธีการเล่น และเรื่องของกายภาพ"
"5-6 สัปดาห์แรกของพรีซีซั่นในทีมของ เทน ฮาก ผมยอมรับจริง ๆ ว่าผมคิดว่าเขาเกลียดขี้หน้าผม เพราะเขาชอบตะโกนและบอกว่าผมกำลังทำผิด ผมต้องทำมากกว่านี้ แต่แล้วความเกลียดของผมก็โดนเขาลบล้าง วันหนึ่ง เทน ฮาก คุยกับผมว่า เขาจำเป็นต้องทำ เพราะผมเป็นนักเตะประเภทที่พอใจกับการทำงานเพียงแค่ 80% ของตัวเอง เขาตั้งใจอยากทำให้ผมโกรธ ทำให้ผมก้าวร้าวเพื่อเปลี่ยนจาก 80% เป็น 90% หรือ 100%"
แน่นอน ณ จุดนี้ เราไม่ได้บอกว่าฟุตบอลของใครดีกว่ากัน นี่คือสิ่งที่ต้องบอกว่า "แล้วแต่คนชอบ" และแล้วแต่วิจารณญาณ ชล็อต อาจจะได้รับการยกยอจากการทำทีม ลิเวอร์พูล ในตอนนี้ที่ดูมีทิศทางที่ดี จนหลายคนบอกว่าเขาเป็นโค้ชที่ดีกว่า เทน ฮาก ... แต่ถ้าคุณวัดจากความสำเร็จล่ะ ? เทน ฮาก คือคนที่เหนือกว่าด้วยถ้วยแชมป์มากมาย มีแชมป์ติดไม้ติดมือทุกปี แบบนี้มันเป็นผลลัพธ์หรือแก่นแท้ของฟุตบอลที่จับต้องได้กว่าไม่ใช่เหรอ ?
ไม่มีคำตอบอีกอยู่ดีสำหรับคำถามนี้ เพราะมันขึ้นอยู่กับว่าฟุตบอลที่คุณชอบเป็นแบบไหน หรือจะเอาให้ชัดคือ คุณเชียร์ทีมอะไรมากกว่าต่างหาก ? ... ดังนั้นเราไปดูกันต่อถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ของโค้ชทั้ง 2 คน
วัดกันที่พรีเมียร์ลีก
เอริค เทน ฮาก สู้เพียงลำพังที่ ยูไนเต็ด มาแล้ว 2 ปี จนกระทั่งมีจุดเปลี่ยนในซัมเมอร์ 2024 ... จะพูดแบบนี้ก็คงไม่ผิดนัก
ภายใต้บอร์ดบริหารและทีมงานหลังบ้านที่ไร้ประสิทธิภาพของ แมนฯ ยูไนเต็ด แม้ เทน ฮาก จะได้เงินเสริมทัพมากมาย แต่มันก็ชัดเจนว่าเขาเป็นคนที่ซื้อตัวไม่ค่อยเก่ง นักเตะที่เขาเลือกมาด้วยตัวเองนั้นแย่มากกว่าดี ถ้าจะให้พูดแบบเห็นใจ เขาคือหัวเดียวกระเทียบลีบ เพราะทีมหลังบ้านไม่ได้ช่วยคัดกรองและทำให้หลายสิ่งมันง่ายสำหรับเขา
โปรดจงอย่าลืมว่า คนเราไม่ได้เก่งทุกอย่าง ตัวของ เทน ฮาก อาจจะมีแท็คติกและปรัชญาฟุตบอลที่ดี แต่ตอนนี้เขามาที่อังกฤษ ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญรอบตัวสำคัญมาก ๆ ซึ่งการที่เขาขาดจุดนี้ ก็ทำให้ฟุตบอลของเขาถูกดูแคลนไปไม่น้อย
ในซัมเมอร์ 2024 การเข้ามาอย่างเต็มตัวของกลุ่ม INEOS นำโดย เซอร์ จิม แรดคลิฟฟ์ ทำให้เราได้เห็นอะไรที่แปลกใหม่มากมายแบบที่ ยูไนเต็ด ไม่เคยมีมาเป็น 10 ปี (ขณะที่ทีมอื่นเขามีกันมานานแล้ว) นั่นคือทีมสรรหานักเตะ ผู้อำนวยการกีฬา ซีอีโอด้านฟุตบอล นักเจรจาต่อรอง และผู้อำนวยการเทคนิค แบบมืออาชีพจริง ๆ ไม่ใช่หยิบคนที่เก่งด้านหนึ่งมาทำงานเกินมือเหมือนในอดีต ... สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ แมนฯ ยูไนเต็ด มีขุมกำลังที่ดูดีขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด
การที่เขามีจอมยุทธ์อยู่รอบกาย ทำให้ เทน ฮาก ไม่มีข้ออ้างอื่น ๆ ใดอีกในซีซั่นนี้ เรื่องราวความสำเร็จของเขากับ อาแจ็กซ์ ไม่ควรถูกนำมาพูดถึงอีกต่อไป สิ่งที่จะตัดสินเขาคือสิ่งที่เขาทำกับ ยูไนเต็ด ต่อจากนี้ล้วน ๆ ไม่ว่าใครจะจำกัดความว่าเขาเป็น "สายฟาน กัล" หรือสายอะไรก็ตามแต่
ด้าน อาร์เน่อ ชล็อต เองก็เริ่มต้นได้อย่างยอดเยี่ยมภายใต้ทีมหลังบ้านที่เก่งกาจอยู่แล้วของ ลิเวอร์พูล ทั้งในเรื่องการเลือกนักเตะ การสั่งสมขุมกำลัง แม้กระทั่งการเลือกโค้ชอย่างเขาที่สามารถต่อติดกับฟุตบอลของโค้ชคนเก่าอย่าง เยอร์เก้น คล็อปป์ ได้ดีเกินคาด โดยการปรับเปลี่ยนภายในเวลาสั้น ๆ จากที่คนมองว่าเขาจะเจองานยาก กลายเป็นว่าฟุตบอลของเขาออกมาดีมีอนาคตแทบจะในทันที
เรื่องราวสมัยดัตช์ลีกของทั้งคู่กลายเป็นอดีต ผลงานในลีกที่แข็งแกร่งอย่างพรีเมียร์ลีกจะตัดสินพวกเขาในซีซั่นนี้ ไม่ว่าพวกเขาจะมีความเชื่อ ปรัชญา หรือแนวทางฟุตบอลแบบไหน สิ่งสำคัญคือผลงานที่จับต้องได้ โดยเฉพาะทางฝั่ง เทน ฮาก ที่คอขึ้นเขียงไปเมื่อปลายซีซั่นที่แล้ว ยังดีที่ถ้วยแชมป์ เอฟเอ คัพ กอบกู้สัญญาฉบับใหม่ของเขากลับมาได้
ณ ตอนนี้ พวกเขาทั้งคู่คือกุนซือดัตช์ที่ดีที่สุด และอยู่ในสปอตไลท์มากที่สุดไปแล้ว ดังนั้นมันไม่สำคัญอีกต่อไปว่า สายฟาน กัล หรือ สายครัฟฟ์ เรื่องมันใหญ่โตไปกว่านั้น พวกเขาจะต้องงัดทุกสิ่งที่มีออกมาภายใต้การคุมทีมที่มีประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ และมีแฟนบอลอยู่ทั่วโลก หากใครสักคนใน 2 คนนี้ก้าวไปถึงการเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก หรือแชมป์ยุโรปขึ้นมา พวกเขาอาจจะเป็นต้นกำเนิดบอลดัตช์แขนงใหม่ขึ้นมาก็ได้
จากสาย ครัฟฟ์ vs สายฟาน กัล ... อาจจะเปลี่ยนเป็นสายชล็อต vs สายเทน ฮาก ให้พูดถึงและเปรียบเทียบในอีก 10 ปีหลังจากนี้ก็เป็นได้
บทความโดย : ชยันธร ใจมูล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา