Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Anontawong's Musings
•
ติดตาม
5 ก.ย. เวลา 00:00 • ความคิดเห็น
คำไทยที่มักเขียนผิด และวิธีการสร้างตะขอ
บทความหนึ่งที่เรามักเห็นบ่อยๆ คือ "คำไทยที่มักเขียนผิด" โดยบอกว่าคนมักจะเขียนผิดอย่างไร และที่ถูกควรเป็นอย่างไร
แต่ผมไม่ค่อยเห็นบทความที่อธิบายว่าจะทำยังไงถึงจะจำคำที่ถูกได้
1
เพราะการเห็นทั้งคำผิดและคำถูกนั้นไม่ได้ช่วยให้เราจำได้แม่นขึ้นเท่าไหร่ เผลอๆ จะสับสนกว่าเดิมด้วยซ้ำไป
ผมคิดว่าเคล็ดลับอย่างหนึ่งที่มีประโยชน์มากๆ คือเราต้องหาทางสร้างกฎในการจำขึ้นมาเอง เหมือนเป็นตะขอที่เราเอาไว้แขวนกับสิ่งที่เราจำได้อยู่แล้ว และถ้ามันเป็นกฎของเรา เราจะไม่ลืมมันอีกเลย
ปู่กับย่าผมเสียไปนานแล้ว คนหนึ่งชื่อเจ็ง อีกคนชื่อเส่ง แต่ตอนเด็กๆ ผมไม่เคยมั่นใจเลยว่าคนไหนชื่ออะไรกันแน่ เพราะชื่อเจ็งกับเส่งไม่ได้บอกเพศ รู้แค่ว่า "สระเอ็ง" ด้วยกันทั้งคู่
อยู่มาวันหนึ่ง พ่อทวนให้ผมกับน้องชายฟังว่า ปู่ของเราชื่อเจ็ง ย่าของเราชื่อเส่ง
น้องชายของผมซึ่งตอนนั้นยังอยู่วัยประถมก็พูดขึ้นว่า "เส่ง...เส่งศรี!"
แล้วจากนั้นมาผมก็ไม่เคยสับสนเรื่องชื่อปู่กับย่าอีกเลย
วันนี้ผมเลยจะเล่าให้ฟังถึงคำบางคำที่ผมเคยสะกดผิด และสร้างกฎขึ้นมาเองจนทำให้จำได้ไม่ลืม
1
เริ่มจากคำว่า "กฎ" ก่อนเลยแล้วกัน ที่คนมักจะเขียนผิดเป็น "กฏ" ที่ถูกคือต้องใช้ "ฎ.ชะฎา" ไม่ใช่ "ฏ.ปะฎัก"
1
วิธีจำของผมคือ "กฎบางอย่างมีไว้กดขี่ผู้คน" (ฏ.ชะฎาและด.เด็กล้วนเสียง "ดอ" ด้วยกันทั้งคู่)
1
อีกคำที่เขียนผิดบ่อยๆ คืออนุญาต ที่มักเขียนผิดเป็น อนุญาติ
วิธีจำคือ "เพราะไม่ใช่ญาติเลยต้องขออนุญาต"
1
ส่วนคำว่า สังเกต ที่มักจะสะกดผิดเป็น สังเกตุ (หลายคนคงเห็นคำว่า "สาเหตุ" มีสระอุ ก็เลยคิดว่าสังเกตต้องมีสระอุไปด้วย)
1
วิธีจำของผมคือ "คอลเกตไม่มีสระอุ บิลเกตส์ก็ไม่มีสระอุ ดังนั้น สังเกตย่อมไม่มีสระอุ"
1
ที่สดๆ ร้อนๆ เลยก็คือในบทความที่ผมเขียนถึงทอล์กโชว์ของนิ้วกลม ผมเขียนคำว่า "วันสารทจีน" เป็น "วันสาทรจีน"
ตอนนี้ผมก็เลยจำว่า "วันสารทจีนไม่ได้อยู่บนถนนสาทร"
4
-----
แน่นอน ถ้าจะพูดเรื่องการสะกดผิด จะไม่พูดถึงคำว่า คะ/ค่ะ คงไม่ได้
2
คำนี้ผมคิดว่าไม่น่าจะเคยสะกดผิด แต่เห็นคนสะกดผิดบ่อยมาก
เรื่องนี้สำคัญถึงขั้นว่าตอนที่บริษัทผมออกแบบ aptitude test เพื่อเอาไว้ทดสอบผู้มาสมัครงาน ก็จะใส่คำถามประเภทคะ/ค่ะ เอาไว้ด้วย ถ้าเห็นว่าเขียนถูกก็อุ่นใจ ถ้าเขียนผิดก็ทดเอาไว้ในใจ
1
สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตคือ แม้ว่าบางจะสับสนกับการ 'เขียน' คะ/ค่ะ แต่พวกเขาไม่เคยสับสนกับการ 'พูด' คะ/ค่ะ เลย
1
ดังนั้น ถ้าเขียนแล้วลองอ่านออกเสียงออกมาก็ไม่ควรพลาด
ถ้ารู้ตัว (และยอมรับ) ว่าเรายังเขียนคะ/ค่ะ ผิด วิธีหนึ่งที่อาจช่วยได้คือลองเปลี่ยนตัว "ค.ควายไม้เอก" ให้เป็น "ข.ไข่" แล้วอ่านมันออกมาเพื่อดูว่าใช่เสียงที่เราต้องการรึเปล่า เพราะคำว่า ค่ะ กับ ขะ ออกเสียงเหมือนกันเป๊ะ
1
ยกตัวอย่างเช่น
ขอบคุณนะค่ะ ลองเปลี่ยนเป็น ขอบคุณนะขะ แล้วอ่านออกเสียงดู
อย่างที่บอกว่าคนจะผิดแค่ตอนเขียนเท่านั้น ไม่ได้ผิดตอนพูด เมื่ออ่านออกเสียงว่า "ขอบคุณนะขะ" ก็จะรู้ทันทีว่าเราไม่ได้พูดกันแบบนี้ ดังนั้น ขอบคุณนะค่ะ จึงใช้ไม่ได้ ต้องเขียนว่า ขอบคุณนะคะ
ในมุมกลับกัน บางคนเขียนผิดจาก "ค่ะ" เป็น "คะ"
เช่น "ขอคุยด้วยหน่อยคะ" (จริงๆ ต้องเขียนว่า "ขอคุยด้วยหน่อยค่ะ") ก็ใช้วิธีคล้ายกันคือลองเขียนออกมาทั้งสองแบบ
ขอคุยด้วยหน่อยคะ
ขอคุยด้วยหน่อยขะ
แล้วอ่านออกเสียงออกมา อันไหนถูกกว่าก็เลือกอันนั้น และถ้าเป็น ขะ ก็แก้กลับเป็น ค่ะ
ในกรณี้ ขอคุยด้วยหน่อยขะ คือเสียงที่ถูก ดังนั้น "ขอคุยด้วยหน่อยค่ะ" จึงเป็นวิธีการเขียนที่ถูกต้อง
-----
อันนี้เป็นของแถม ซึ่งไม่เกี่ยวกับการสะกดผิด แต่เป็นการจำสลับกันของคำว่า "หยิน/หยาง"
หลายคนสับสน ไม่แน่ใจว่าคำไหนหมายถึงเพศชาย คำไหนหมายถึงเพศหญิง ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น
จนกระทั่งพี่อ้น วรรณิภา ภักดีบุตร ที่เป็น mentor ของผมบอกว่า พี่อ้นมีวิธีจำง่ายๆ ก็คือ "หยิน" กับ "หญิง" เป็นคำที่คล้ายกัน ดังนั้น หยินคือผู้หญิง และหยางคือผู้ชาย
1
-----
บทเรียนสำคัญของสิ่งที่ผมนำมาเล่าน่าจะมีสองอย่าง
1. การจะจำอะไรบางอย่างให้ดีขึ้น เราควรมีกฎในการช่วยจำ ซึ่งเปรียบเสมือน "ตะขอ" ที่เราเอามันไปเกี่ยวกับอะไรบางอย่างเอาไว้ ทำให้มันไม่หลุดไปจากความทรงจำได้โดยง่าย
1
2. ถ้าเราเป็นคนสร้างตะขอนั้นขึ้นมาเอง เราจะไม่มีทางลืม
1
จากนี้ไปหาเจอคำไหนที่เราสะกดผิด หรือจำสับสน ลองสร้างตะขอของตัวเองขึ้นมาดูนะครับ
52 บันทึก
89
9
45
52
89
9
45
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย