5 ก.ย. เวลา 12:00 • กีฬา

จาก โซล่า ถึง เคียซ่า : ทำไมแข้งอิตาเลี่ยน "เจ๊งเยอะกว่าดี" เมื่อมาพรีเมียร์ลีก | Main Stand

ผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี ที่ อันเดรีย ซิเลนซี่ เป็นนักเตะอิตาลีคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ย้ายมาค้าแข้งในพรีเมียร์ลีก
จากปี 1995 จนถึงตอนนี้ แข้งอิตาเลียนมากมายตบเท้าเข้ามาแสวงโชคในดินแดนที่แตกต่างทางวัฒนธรรม
คนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ จานฟรังโก้ โซล่า ขณะที่คนที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้นเยอะแยะมากมาย ... จนมาถึงวันนี้ โฟกัสอยู่ที่ เฟเดริโก้ เคียซ่า ที่กลายเป็นสมาชิกใหม่ของ ลิเวอร์พูล
เราจะลองย้อนดูเรื่องราวทั้งและค่อย ๆ หาเหตุผลทีละข้อว่า คนที่ประสบความสำเร็จเขาประสบความสำเร็จเพราะอะไร และคนที่เขาล้มเหลวมันมีเหตุผลอะไรบ้าง ? ติดตามที่ Main Stand
ต่างกันสุดขั้ว
ประการแรกที่เข้าใจง่ายที่สุด อังกฤษและอิตาลี แม้จะเป็นชาติยุโรปเหมือนกัน แต่ก็มีวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันสุดขั้ว ขณะที่ฟุตบอลของทั้ง 2 ประเทศก็แตกต่างกันมากในแง่ของแนวคิดและวิธีการ ... นั่นคือเหตุผลที่ว่าฟุตบอลอาชีพของอังกฤษก่อตั้งมาเป็นร้อย ๆ ปี กว่าจะมีนักเตะอิตาลีย้ายมาเล่นที่เป็นคนแรกก็ต้องถึงปี 1995
อันเดรีย ซิเลนซี่ มาอยู่กับ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ด้วยราคาถึง 1.8 ล้านปอนด์ (นับเป็นราคาแพงระดับหนึ่งในตอนนั้น) กองหน้าที่แฟนเจ้าป่าคิดว่าจะเล่นแบบ โรแบร์โต้ บาจโจ้ แต่เขากลับทำในสิ่งตรงข้าม ยิงไม่ได้ (ในเกมลีก) แอสซิสต์ไม่ได้ เล่นไม่ได้ และแน่นอน คือใช้ชีวิตประจำวันแทบไม่ได้
แม้แต่ชื่อของเขายังโดนอำ ในเกมแรกที่ลงสนามกับ โคเวนทรี ผู้บรรยายเกมนั้นบอกว่า "ประวัติศาสตร์ถูกบันทึก แอนดี้ ซิเลนซี่ จากตูริน กลายเป็นนักเตะอิตาลีคนแรกที่ลงแข่งในพรีเมียร์ลีก"
ผู้บรรยายเรียกเขาว่า แอนดี้ เพราะ Andrea ชื่อของเขา ถ้าอ่านแบบภาษาอังกฤษ อ่านว่า แอนเดรีย ซึ่งตามความเข้าใจ คือเป็นชื่อของผู้หญิง ... นั่นเป็นเรื่องที่มีการแซวกันอยู่บ้างประปรายในวันที่เขาฟอร์มไม่ดี ... แค่ชื่อก็เป็นประเด็นแล้ว
ไหนจะเรื่องอาหารการกิน การใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ เรื่องของฝนฟ้าอากาศ แม้กระทั่งกฎหมายจราจร รวมถึงอื่น ๆ อีกมากมาย
นักเตะอิตาเลียนหลายคนประสบปัญหานี้ เพื่อนร่วมทีมฟอเรสต์หลายคนบอกว่า ซิเลนซี่ เป็นคนที่ดีมากนอกสนาม ชอบสร้างเสียงหัวเราะ อัธยาศัยดีมากในวันแรกที่มาถึง แต่เมื่อฟุตบอลไม่เป็นใจ และปรับตัวในการใช้ชีวิตไม่ได้ ความสดใสที่มีก็หายไปเรื่อย ๆ และแน่นอน มันส่งผลถึงสภาพจิตใจ ทำให้การเล่นของ ซิเลนซี่ แย่ลงไปอีกจากเดิมที่แย่อยู่แล้ว และสื่ออังกฤษก็มักจะตลกโปกฮากับความผิดพลาดในสนามของนักเตะต่างแดน
"ผมไม่อยากจะว่าร้ายอะไรเขาเลย เขาเป็นคนดีมาก แต่ฟุตบอลอังกฤษ และการใช้ชีวิตในอังกฤษไม่เหมาะกับเขา ส่วนเรื่องฟุตบอล มันไม่เหมาะตั้งแต่การฝึกซ้อมแล้ว เขาตัวใหญ่ แข็งแรง และบางครั้งเขาก็ทำให้เราตะลึงจากการยิงไกล 35 หลา"
"ความจริงคือคุณไม่สามารถเป็นนักบอลที่แย่ได้เพียงข้ามคืน ทุกอย่างถูกบั่นทอนและค่อย ๆ แย่ลง ในสนามซ้อมเราอาจจะได้เห็นอะไรจากเขาบ้าง แต่ในการแข่งขันจริง ถามว่าเขาแสดงอะไรดี ๆ ออกมาไหม ... เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าไม่มีเลย" พอล แม็คเกรเกอร์ เพื่อนร่วมทีมของเขาอธิบาย
ทำไมการปรับตัวถึงยากนัก ? อย่างที่บอกว่าวัฒนธรรมชาวอิตาเลียนและไลฟ์สไตล์แตกต่างกับคนอังกฤษอยู่มาก
บทความของเว็บไซต์ languagesalive.com ระบุถึงวิถีคนอิตาเลียนว่า คนอิตาเลียนเข้าสังคมมากกว่าคนอังกฤษ และการที่พวกเขาต้องแยกตัวออกมาในแบบที่ไกลบ้านชนิดไปหากันไม่ได้ง่าย ๆ มันคือสิ่งที่ผิดธรรมชาติของชาวอิตาเลียนส่วนใหญ่
"คนอิตาลี เป็นคนที่ไม่ได้ชอบความสันโดษโดยส่วนใหญ่ พวกเขาจะมีวัฒนธรรมเรื่องการให้ความสำคัญกับครอบครัว ต่อให้แต่งงานแยกบ้านออกไป แต่พวกเขาก็จะต้องกลับมารวมตัวกันที่บ้านพ่อ-แม่ ต้องมีการกินข้าวร่วมกันแบบโต๊ะใหญ่กับสมาชิกทุกคนที่มีสายเลือดเดียวกัน การทำกิจกรรมร่วมกันกับคนหมู่มากถือเป็นเรื่องปกติของพวกเขา"
"พวกเขาจะใช้ชีวิตและมีกิจกรรมร่วมกันกับคนหลาย ๆ รุ่นอายุ ชอบเฉลิมฉลอง ทำอาหารกินกันเอง และให้ความสำคัญในอาหารแต่ละจาน ในวันที่แดดดี ๆ พวกเขาอาจจะออกมากินข้าวนอกบ้านด้วยการตั้งโต๊ะกลางแจ้ง สิ่งเหล่านี้จะถูกส่งต่อยังคนรุ่นต่อไปเสมอ พวกเขาจะไม่ทิ้งวัฒนธรรมนี้" บทความดังกล่าวว่าแบบนั้น
1
หลายอย่างที่พูดมา เราแทบยังไม่ต้องพูดถึงฟุตบอลเลย การย้ายถิ่นฐานและใช้ชีวิตในต่างแดนไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน บางคนทำได้ แต่สำหรับบางคนแทบนับวันรอกลับบ้าน ซึ่งนักเตะอิตาลีหลายคน ตั้งแต่ยุค 1990s จนกระทั่งยุคไม่กี่ปีมานี้หลายคนก็เป็นแบบนั้น
"ผมมีปัญหาเรื่องภาษา และการขับรถผิดเลนเป็นปัญหามาก ๆ วันแรกที่มาอังกฤษผมขับรถผิดเลนสองเลน ล้อรถของผมขูดฟุตบาทไปแล้ว ผมต้องยอมรับว่าผมอยู่ที่นี่มาเดือนครึ่งแล้ว แต่ผมยังไม่เคยเห็นดวงอาทิตย์เลย ฝนตกเกือบทุกวัน ผมคิดถึงบ้าน และคิดถึงพาสต้ามากเหมือนกัน” อันเดรีย ราน็อคเคีย อดีตปราการหลังของ อินเตอร์ มิลาน ที่ถูก ฮัลล์ ซิตี้ ยืมตัวมาเมื่อปี 2016 กล่าวเช่นนั้น
2
ยังไม่จบแค่นั้น โรลันโด้ เบียงคี่ กองหน้าระดับดาวยิงของ เซเรีย อา ที่มาเล่นให้ แมนฯ ซิตี้ ช่วงสั้น ๆ ก็พูดไม่ต่างกัน
"ผมยกธงขาวเพราะอาหารอังกฤษ มันแย่มากและผมไม่ชอบมัน อ้อ อีกอย่าง ณ ตอนนั้น ผมคิดว่าผมเป็นผู้เล่นคนเดียวที่ไม่ดื่มเหล้าในพรีเมียร์ลีก เพื่อนร่วมทีมของผมหลายคนงงมากเมื่อผมปฏิเสธที่จะดื่มเบียร์ พวกเขามองผมอย่างกับผมเป็นมนุษย์ต่างดาว"
เล่นฟุตบอลคนละแบบ
แน่นอนว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องการใช้ชีวิต แต่รวมถึงเรื่องของฟุตบอลด้วย นักเตะอย่าง มาริโอ บาโลเตลลี่ ที่มาเล่นในอังกฤษ 2 ครั้ง ทั้งกับ แมนฯ ซิตี้ และ ลิเวอร์พูล ยังเคยบอกว่า มันยากที่นักเตะอิตาลีจะเล่นฟุตบอลแบบอังกฤษได้ดี เพราะพื้นฐานและหลักการสำคัญ ๆ แตกต่างกันมาก ... โดยเขาย้ำว่า ฟุตบอลที่อังกฤษไม่ได้ยากหรือแข็งแกร่งกว่าที่อิตาลี แต่มันแค่ต่างกันมากเกินไปเท่านั้นเอง
"ผมเองก็รู้สึกดีนะที่ได้เล่นในอังกฤษ แต่การปรับตัวนั้นก็ต้องบอกว่า ในทุก ๆ แง่มุมมันคือความแตกต่างแบบสิ้นเชิง ไม่ว่าจะการแข่งขันจริงหรือการฝึกซ้อม" บาโลเตลลี่ กล่าว
"ตัวของผมรู้สึกว่าต้องปรับตัวตั้งแต่การซ้อม ในเรื่องของจังหวะและวิธีการฟุตบอลอังกฤษแตกต่างกับอิตาลีมาก ๆ เน้นความแข็งแรงมากกว่า แต่ที่อิตาลีเน้นแท็คติกมากกว่า ... มันไม่เกี่ยวว่าลีกไหนดีกว่าลีกไหน แต่มันแตกต่างกันมากต่างหาก"
ถ้าจะยกตัวอย่างคนที่ล้มเหลวด้วยเหตุผลด้านฟุตบอล ก็มีอีกเยอะมาก และเห็นชัดกว่า บาโลเตลลี่ หลายคน อาทิ มัสซิโม ตาอิบี้ ประตูที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ซื้อตัวมาร่วมทีมและสร้างตำนาน "ลอดดาก" รับลูกยิงของ แมทธิว เลอ ทิสซิเอร์ ลอดหว่างขาเข้าประตู เป็นอีกหนึ่งคนที่ปรับตัวกับฟุตบอลอังกฤษไม่ได้
คนที่บอกเล่าเรื่องราวคือ แกรี่ เนวิลล์ ที่ชี้ชัดว่า "ผมเล่นฟุตบอลมานานกว่า 20 ปี แต่ไม่มีอะไรอันตรายไปกว่าผู้รักษาประตูที่กระตือรือร้นที่อยากจะมีส่วนร่วมกับเกมหรอก ต้องยอมรับว่า ตาอิบี้ ไม่ประสบความสำเร็จเลยที่นี่"
ฟุตบอลอังกฤษนั้นว่ากันง่าย ๆ เข้าใจได้ไม่ยาก แม้กระทั่งทุกวันนี้ ที่มันจะมีความเร็ว แรง และเข้าปะทะแบบถึงเนื้อถึงตัว ความเร็วเท่านั้นจะทำให้คุณผ่านคู่แข่งไปได้โดยที่เนื้อตัวของคุณไม่ถูกเลาะหน่อไม้
FourFourTwo เว็บไซต์บทความฟุตบอลชื่อดัง ก็เขียนถึงประเด็นนักเตะจาก เซเรีย อา มาตกอับที่อังกฤษไว้ว่าเป็นเรื่องของสไตล์ฟุตบอลที่แตกต่างกัน พวกเขาบอกว่า จังหวะการเล่นที่แตกต่างไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หลายทีมในอิตาลียังเล่นแบบมีวิงแบ็ก และแทบไม่มีปีกธรรมชาติที่ขึ้นไปอยู่ระดับแนวหน้าของโลก แตกต่างกับอังกฤษที่เกมริมเส้นถูกตัดสินด้วยปีกความเร็วสูงมาแต่ไหนแต่ไร
แม้กระทั่ง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ที่เป็นโค้ชชาวสเปน ก็ยังบอกตรงกันว่า "ในเกมระดับนี้แทบไม่มีเวลาให้คุณได้คิด คุณต้องเร็วมากพอในการตัดสินใจจะทำอะไร ความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงครั้งเดียว ส่งผลให้คุณพลาดคว้าแชมป์ลีกได้เลย"
เร็วที่กวาร์ดิโอล่าบอก คือเร็วทั้งความคิดและร่างกาย นักเตะอิตาลีคนไหนล่ะที่ทำแบบนี้ในลีกอังกฤษได้ ? ... หนึ่งเดียวเท่านั้นที่เด่นระดับแบกทีมได้นั่นคือ จานฟรังโก้ โซล่า ที่เคยทำไว้กับ เชลซี และถ้าคุณเอาวิธีคิดและวิธีการเล่นของ โซล่า วางแผ่กับพื้น คุณจะเข้าใจว่าทำไมเขาจึงเป็นอิตาเลียนที่เขย่าวงการฟุตบอลอังกฤษได้
เจอร์รี่ ค็อกซ์ อดีตนักข่าวกีฬาที่มีสิทธิ์ลงคะแนนโหวตนักเตะยอดเยี่ยมประจำปีของพรีเมียร์ลีก เล่าถึง โซล่า ว่า เป็นคนที่มีรวดเร็ว คล่องแคล่ว และมีไหวพริบที่เฉียบแหลม การตัดสินใจของเขาเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาที และนั่นทำให้เขาเหมาะกับลีกอังกฤษมาก พอมาเล่นที่นี่ เขากลายเป็นนักเตะที่เหนือชั้นระดับสตาร์ของลีก แตกต่างกับตอนที่เขาเล่นในอิตาลี เขาถือว่าไม่ใช่ตัวท็อปของ เซเรีย อา ด้วยซ้ำไป
"ผมขอเปรียบเทียบ โซล่า กับ พอล แกสคอยน์ คุณจะได้เห็นภาพง่าย ๆ ทั้งสองคนนี้มีความเหมือนกันมากตรงไหวพริบและการตัดสินใจที่รวดเร็ว พวกเขาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ตลอดเวลา"
"ตัวของโซล่านี่ชัดเจนมาก เป็นอัจฉริยะที่คาดเดาไม่ได้และฟุตบอลอังกฤษไม่เคยเจอ เพราะเขากล้าทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้า เขาคือของหายากในพรีเมียร์ลีกตอนนั้น ไม่มีกองหลังในอังกฤษคนไหนเข้าใกล้โซล่าได้" เจอร์รี่ ค็อกซ์ อธิบาย
ต้องมาพร้อมกัน
สูตรสำเร็จที่ทำให้นักเตะคนหนึ่งย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดมายังแดนไกลและประสบความสำเร็จ ไม่มีอะไรมากไปกว่าการที่คุณปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตการเป็นอยู่ใหม่ ๆ ให้ได้
และอีกประการคือ คุณต้องเข้าใจธรรมชาติของงานที่คุณทำว่ามันเป็นแบบไหน และอย่างไรคุณจึงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ... นั่นคือการเรียนรู้ พัฒนา และปรับตัวในสนาม มันคือบาลานซ์คลาสสิกคือ นั่นคือ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี + งานที่ดี = ความสุข และความสำเร็จ
นักเตะอย่าง โซล่า ที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่แค่เล่นฟุตบอลเก่งเท่านั้น โซล่า มาถึงอังกฤษได้ไม่นานก็ลงเรียนคอร์สภาษาอังกฤษส่วนตัว พยายามซ้อมพิเศษเพื่อให้ตัวเองได้เข้าใจวิถีฟุตบอลของอังกฤษมากขึ้น ก่อนจะแยกตัวมาซ้อมเดี่ยวเพื่อพัฒนาจุดแข็งของตัวเองเช่นการยิงบอลจากทุกระยะ และการยิงฟรีคิกด้วยเท้าซ้าย และเท้าขวา ... การเล่นได้ 2 เท้าคือความอันตรายที่มีคนบอกว่าเขาคือนักเตะที่กองหลังอังกฤษไม่สามารถเข้าถึงได้
นักเตะอิตาลีหลาย ๆ คนอยู่ในพรีเมียร์ลีกตอนนี้ และหลายคนก็มีการปรับตัวที่ดีขึ้น เนื่องจากฟุตบอลยุคนี้มีค่าจ้างสูง และนักเตะก็มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ผู้รักษาประตูของ สเปอร์ส อย่าง กีเยโม่ วิคาริโอ ก็บอกว่า ช่วงหลัง ๆ นักเตะอิตาลี เริ่มอยากมาค้าแข้งในอังกฤษมากขึ้น แตกต่างกับเมื่อก่อน พอรู้ว่าต้องมาอังกฤษ พวกเขาจะขอคิดดูก่อน
"นักเตะอิตาลีหลายคนไม่ต้องการโอกาสมาเล่นในอังกฤษเลยด้วยซ้ำ เรามีวัฒนธรรมแตกต่างกันเยอะ ดังนั้นมันจึงไม่ง่ายเลยที่ในอดีตเราจะได้เห็นนักเตะอิตาลีบอกว่า โอเค เราย้ายไปเล่นในประเทศอื่นกันเถอะ เราจะพูดภาษาที่นั่นไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ... อากาศจะหนาว ฝนจะตกมากกว่าหน่อยก็ช่างมัน นี่คือเรื่องที่เป็นไปได้ยากในอดีต" วิคาริโอ กล่าวกับ FourFourTwo
นักเตะอิตาลียุคหลังหลายคน ไล่เรียงมาตั้งแต่ จอร์จินโญ่, เดสตินี่ อูโดกี, ซานโดร โตนาลี หรือแม้แต่ บาโลเตลลี่ ตอนเล่นให้กับ แมนฯ ซิตี้ คือนักเตะที่คุณบอกว่าพวกเขาล้มเหลวไม่ได้เลยหากวัดกันเรื่องฟอร์มในสนาม เช่นเดียวกันกับ วิคาริโอ ที่บอกว่าของแบบนี้มันอยู่ที่วิธีคิด ถึงตอนนี้ทุกคนต้องปรับตัวหากอยากไปพัฒนาตัวเองไปในระดับที่สูงขึ้น ตัดเรื่องความกลัวการอยู่ไกลบ้านทิ้ง และลุยด้วยทัศนคติที่พร้อมจะเป็นนักเตะที่ดีขึ้น นั่นคือหัวใจสำคัญที่สุดของเรื่องนี้
"ผมไม่ขอพูดถึงใคร ผมจะยกตัวอย่างผมเองก็แล้วกัน ตอนมาที่ สเปอร์ส ผมไม่ได้คิดเรื่องความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ผมมองว่ามันหมดยุคแล้วที่จะอยู่แต่ในเซฟโซนและปฏิเสธความท้าทาย"
"ทำไมน่ะเหรอ ? ณ ตอนนี้ พรีเมียร์ลีกคือลีกที่ดีที่สุดในโลก และการมาที่นี่คือโอกาสที่คุณจะได้เห็นโลกอีกแบบ ได้สัมผัสชีวิตที่แตกต่าง ได้เรียนรู้ภาษาใหม่ วัฒนธรรมในห้องแต่งตัวใหม่ ๆ มองอีกด้าน สิ่งเหล่านี้คือโอกาสดีของอาชีพจริง ๆ" ประตูมือ 1 คนปัจจุบันของ สเปอร์ส ว่าแบบนั้น
ณ ตอนนี้ พรีเมียร์ลีกได้ต้อนรับน้องใหม่ชาวอิตาเลียนคนล่าสุดอย่าง เฟเดริโก้ เคียซ่า ที่กลายเป็นสมาชิกใหม่ของ ลิเวอร์พูล
ตัวอย่างเก่า ๆ มีให้เขาดูมากมาย ส่วนเขาจะอยู่ฝั่งประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว นั่นขึ้นอยู่กับว่าเขาพร้อมหรือยังที่จะเผชิญสิ่งใหม่ ๆ ทั้งการใช้ชีวิต และเรื่องของฟุตบอล ดังที่เราร่ายยาวมาทั้งหมดนี้
บทความโดย : ชยันธร ใจมูล
โฆษณา