Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
26 ต.ค. 2024 เวลา 10:45 • ประวัติศาสตร์
“แฟรงคลิน ดีลาโน รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt)” ผู้นำที่ชาวอเมริกันลืมไม่ลง
เมื่อ “แฟรงคลิน ดีลาโน รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt)” เสียชีวิตในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) ทหารหนุ่มนายหนึ่งได้มายืนอยู่หน้าทำเนียบขาว รำลึกถึงอดีตประธานาธิบดีผู้เป็นที่รัก
"ผมรู้สึกราวกับว่าผมรู้จักท่าน (แฟรงคลิน) และผมก็รู้สึกว่าท่านก็รู้จักผม"
คือคำกล่าวของนายทหารผู้นี้และเป็นเหมือนตัวแทนความรู้สึกของชาวอเมริกันหลายคน
แฟรงคลิน ดีลาโน รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt)
แฟรงคลินเป็นประธานาธิบดีมาตั้งแต่ค.ศ.1933 (พ.ศ.2476) โดยเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสี่ครั้ง ดำรงตำแหน่งเป็นเวลานานถึง 12 ปี ซึ่งยาวนานกว่าประธานาธิบดีคนอื่นๆ ที่ผ่านมา
เมื่อตอนที่แฟรงคลินเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ปัญหาต่างๆ รอแฟรงคลินอยู่มากมาย
ธนาคารก็กำลังล่มสลาย ผู้คนตกงาน ประชาชนต้องสูญเสียบ้านตัวเอง ซึ่งนั่นคือช่วงเวลาของ "ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)"
แฟรงคลินไม่ใช่ผู้นำประเภทที่นั่งอยู่เฉยๆ ปล่อยเวลาให้ผ่านไปอย่างไร้ค่า โดยในช่วง 100 วันแรก แฟรงคลินได้ลงนามอนุมัติกฎหมายที่จะช่วยเหลือประชาชนหลายฉบับ ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่มีประธานาธิบดีคนใดจะทำงานได้เร็วเพียงนี้มาก่อน
เรียกได้ว่าแฟรงคลินไม่เพียงแต่แก้ปัญหาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยนำพาประเทศให้ผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปได้อีกด้วย
อะไรที่ทำให้แฟรงคลินเป็นผู้นำที่เข้มแข็งเช่นนี้? บางทีอาจจะมาจากปัญหากับชีวิตส่วนตัวของแฟรงคลินเอง โดยเริ่มมาตั้งแต่แฟรงคลินอายุ 39 ปี นั่นคือตอนที่แฟรงคลินรู้ตัวว่าตนเองนั้นเป็นโรคโปลิโอ และแฟรงคลินก็เดินไม่ได้อีกเลย
แต่ถึงอย่างนั้น แฟรงคลินก็ไม่เคยยอมแพ้ เขายังคงบริหารประเทศและนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตไปได้
แน่นอนว่าไม่ใช่ว่าทุกคนจะชื่นชอบแฟรงคลิน ไม่ใช่ทุกคนจะชื่นชมเรื่องราวของมหาบุรุษผู้นี้ ไม่ใช่ว่าจะเห็นด้วยกับแนวคิดและนโยบายของแฟรงคลินทุกคน แต่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนั้นรักแฟรงคลิน เมื่อชาวอเมริกันทราบว่าแฟรงคลินเสียชีวิต ต่างร้องไห้เสียใจราวกับแฟรงคลินคือสมาชิกในครอบครัว
หลายคนคิดไม่ออกด้วยซ้ำว่าสหรัฐอเมริกาจะไปต่อได้อย่างไรหากปราศจากแฟรงคลิน
เรื่องราวของมหาบุรุษผู้นี้เป็นอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังครับ
ในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ.1882 (พ.ศ.2425) ในบ้านหลังใหญ่ที่เรียกว่า "สปริงวู้ด (Springwood)" ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เด็กชายคนหนึ่งได้ถือกำเนิด และพ่อแม่ของเด็กก็ได้ตั้งชื่อเด็กว่า "แฟรงคลิน (Franklin)"
แฟรงคลินในวัยเด็ก
พ่อของแฟรงคลินคือ "เจมส์ รูสเวลต์ (James Roosevelt)" ส่วนผู้เป็นแม่คือ "ซารา ดีลาโน รูสเวลต์ (Sara Delano Roosevelt)" ทั้งคู่พบกันขณะที่ซาร่ามีอายุเพียง 25 ปี ส่วนเจมส์อายุได้ 51 ปีแล้วและเป็นพ่อม่ายลูกติด
เจมส์และซาราพบกันในงานเลี้ยงอาหารค่ำ และเจมส์ก็ตกหลุมรักซาร่า ก่อนจะสานสัมพันธ์และได้แต่งงานกันในปีค.ศ.1880 (พ.ศ.2423)
เจมส์และซารามาจากครอบครัวที่เก่าแก่และร่ำรวยในหุบเขาฮัดสัน บ้านของทั้งคู่นั้นหลังใหญ่และมีคนรับใช้หลายคน โดยเจมส์นั้นเป็นชาวไร่เจ้าของที่ดินผืนใหญ่ และแฟรงคลินนั้นเป็นบุตรเพียงคนเดียวของเจมส์และซาร่า ดังนั้นซาราจึงรักแฟรงคลินยิ่งกว่าสิ่งใด และแฟรงคลินก็รักผู้เป็นแม่มากเช่นกัน
แฟรงคลินกับเจมส์และซารา
แฟรงคลินนั้นเติบโตมาท่ามกลางเหล่าผู้ใหญ่และไม่ได้ไปโรงเรียน โดยสำหรับการเรียนนั้น จะมีอาจารย์มาสอนศาสตร์ต่างๆ แก่แฟรงคลินที่บ้านจนแฟรงคลินอายุได้ 13 ปี และถึงแม้รอบๆ บ้านจะไม่มีเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่แฟรงคลินก็มีชีวิตวัยเด็กที่สนุกสนาน ในฤดูหนาวก็มักจะไปเล่นรถเลื่อนบนภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ และยังออกสำรวจป่ารอบๆ บ้าน อีกทั้งยังเพลิดเพลินกับการขี่ม้า
อีกหนึ่งกิจกรรมที่แฟรงคลินโปรดปรานตั้งแต่อายุยังน้อยก็คือการเก็บสะสมแสตมป์ และกลายเป็นกิจกรรมที่แฟรงคลินโปรดปรานไปตลอดชีวิต
หากแต่สิ่งที่แฟรงคลินโปรดปรานมากที่สุด ก็คือ "ทะเล"
แฟรงคลินชอบที่จะต่อเรือโมเดล และเมื่อเริ่มโตขึ้น แฟรงคลินก็ชอบที่จะไปล่องเรือในแม่น้ำ และเมื่อมีอายุได้ 16 ปี แฟรงคลินก็มีเรือเป็นของตนเอง
เมื่อมีอายุได้ราว 13-14 ปี ก็มีคนบอกเจมส์และซาราเรื่องโรงเรียนประจำที่ชื่อว่า "กรอตัน (Groton School)" ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของบอสตัน และเจมส์กับซาราก็ตัดสินใจจะส่งแฟรงคลินไปเป็นนักเรียนประจำที่กรอตัน
นักเรียนส่วนใหญ่ที่กรอตันเริ่มเข้าเรียนที่กรอตันขณะมีอายุได้ 12 ปี หากแต่แฟรงคลินเข้าเป็นนักเรียนที่กรอตันขณะมีอายุได้ 14 ปีแล้ว ซึ่งแฟรงคลินก็คิดถึงบ้านเป็นอย่างมาก
แฟรงคลินขณะเป็นนักเรียนที่กรอตัน
ชีวิตที่กรอตันนั้นแตกต่างจากที่สปริงวู้ดเป็นอย่างมาก กรอตันนั้นเป็นโรงเรียนประจำที่รับต้นแบบมาจากโรงเรียนประจำในอังกฤษที่มีกฎระเบียบเข้มงวด ห้องนอนก็เป็นห้องนอนรวมที่ต้องนอนกับเด็กคนอื่นๆ อีกหลายคน
แฟรงคลินจบการศึกษาจากกรอตันในปีค.ศ.1900 (พ.ศ.2443) และก็ได้เข้าศึกษาต่อที่ "มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University)" ในปีเดียวกัน
ในปีค.ศ.1900 (พ.ศ.2443) นี้เอง เจมส์ล้มป่วยและเสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลวในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1900 (พ.ศ.2443)
เมื่อสูญเสียสามีไปแล้ว ซาราก็ไม่อยากอยู่เพียงลำพังที่สปริงวู้ด ซาราจึงย้ายไปอาศัยยังบอสตันเพื่อจะได้อยู่ใกล้ๆ แฟรงคลิน
แฟรงคลินขณะเป็นนักศึกษาฮาร์วาร์ด
ที่ฮาร์วาร์ด แฟรงคลินเป็นผู้จัดทำหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย "คริมสัน (Crimson)" ซึ่งประสบความสำเร็จล้นหลาม โดยแฟรงคลินนั้นเป็นนักเขียนที่มีความสามารถและสัมภาษณ์แขกได้อย่างดี และได้เป็นประธานคริมสันในปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัย
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ฮาร์วาร์ด นั่นก็คือแฟรงคลินได้สนิทสนมกับญาติห่างๆ ที่ชื่อว่า "เอเลนอร์ รูสเวลต์ (Eleanor Roosevelt)"
ชีวิตของเอเลนอร์ค่อนข้างจะแตกต่างจากแฟรงคลิน บิดาของเอเลนอร์นั้นเป็นน้องชายของ "ทีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt)" ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ.1901 (พ.ศ.2444) โดย "เอลเลียตต์ รูสเวลต์ (Elliott Roosevelt)" บิดาของเอเลนอร์ เป็นชายที่รูปหล่อและมีเสน่ห์
เอเลนอร์ รูสเวลต์ (Eleanor Roosevelt)
เอลเลียตต์นั้นรักและเอ็นดูเอเลนอร์ และเอเลนอร์ก็รักผู้เป็นพ่ออย่างมาก หากแต่เอลเลียตต์มีปัญหาเรื่องการติดสุรา ส่วน "แอนนา ฮอลล์ รูสเวลต์ (Anna Hall Roosevelt)" มารดาของเอเลนอร์ ก็เป็นแม่ที่เย็นชาและเหินห่างจากบุตรสาว
แอนนามักจะเรียกเอเลนอร์ว่า "คุณยาย (Granny)" เนื่องจากเอเลนอร์นั้นเป็นเด็กที่เคร่งขรึมจริงจัง ทำให้เอเลนอร์รู้สึกว่าตนนั้นเป็นเหมือนลูกเป็ดขี้เหร่เมื่อเทียบกับมารดาผู้มีหน้าตาสะสวย
เมื่อมีอายุได้ 10 ขวบ ทั้งพ่อและแม่และน้องชายคนหนึ่งของเอเลนอร์ต่างก็เสียชีวิตไปหมดแล้ว ทำให้เอเลนอร์และน้องชายอีกคนหนึ่งต้องไปอาศัยอยู่กับตายาย ซึ่งตายายก็ไม่ได้ต้อนรับเท่าใดนัก มองว่าการรับเด็กเข้ามาดูแลนั้นเป็นภาระ
ทีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt)
ด้วยเหตุนี้ ทำให้เอเลนอร์มักจะรู้สึกเปลี่ยวเหงา เธอจึงมักจะใช้เวลาไปกับการฝันกลางวัน คิดถึงช่วงเวลาที่เธอมีความสุขกับผู้เป็นพ่อ และในที่สุด วันดีๆ ก็มาถึง นั่นคือช่วงวันคริสต์มาสที่เธอจะได้พบเจอกับญาติๆ ตระกูลรูสเวลต์ในงานเลี้ยงวันคริสต์มาส
แฟรงคลินเองก็อยู่ในงานเลี้ยง และได้ขอเอเลนอร์เต้นรำ ซึ่งเอเลนอร์ก็ยินดีถึงแม้ว่าเธอจะเต้นไม่เป็น แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา
จากนั้น แฟรงคลินกับเอเลนอร์ก็ไม่ได้เจอกันอีกเลยเป็นเวลาหลายปี โดยเอเลนอร์ถูกส่งไปเข้าโรงเรียนประจำที่อังกฤษ และกลับมาสหรัฐอเมริกาขณะมีอายุได้ 18 ปี
ด้วยความที่เอเลนอร์เป็นหญิงสาวที่มาจากครอบครัวระดับแถวหน้า ทำให้ถึงเวลาที่เอเลนอร์จะต้องหาที่ยืนในแวดวงสังคมชั้นสูง ซึ่งเอเลนอร์ก็บอกว่าเธอรู้สึกระทมทุกข์เป็นอย่างมาก
แต่เอเลนอร์ก็ได้พบกับแฟรงคลินในงานเลี้ยงอีกครั้ง และเมื่อแฟรงคลินเชิญเอเลนอร์ให้มาร่วมงานเลี้ยงวันเกิดปีที่ 21 ของแฟรงคลินที่สปริงวู้ด เอเลนอร์ก็ตอบตกลง ในไม่ช้า หนุ่มสาวทั้งสองก็พบเจอกันบ่อยขึ้น สนิทสนมกันมากขึ้น และแฟรงคลินก็มักจะทำให้เอเลนอร์หัวเราะได้เสมอๆ
แต่มารดาของแฟรงคลินไม่ต้องการให้บุตรชายไปจริงจังกับหญิงสาวคนใดในเวลานี้ อยากจะให้แฟรงคลินโฟกัสที่เรื่องเรียนและชีวิตการทำงาน แต่นับวัน แฟรงคลินก็ยิ่งชอบเอเลนอร์มากขึ้นเรื่อยๆ
เอเลนอร์เคยอาศัยและท่องเที่ยวยุโรป อีกทั้งยังพูดภาษาฝรั่งเศสได้ดีกว่าตัวแฟรงคลินซะอีก และด้วยรูปร่างผอม สูง ผมสีทองยาวลงมาถึงเอว ดวงดาสีฟ้าสดใส นั่นทำให้เอเลนอร์นั้นไม่ใช่ลูกเป็ดขี้เหร่เลย อย่างน้อยก็ในสายตาของแฟรงคลิน
แฟรงคลินขอเอเลนอร์แต่งงาน ซึ่งเอเลนอร์ก็ตอบตกลง แต่แน่นอนว่าซารา มารดาของแฟรงคลินนั้นไม่ได้รู้สึกยินดีด้วยเลย หากแต่ซาราก็ยังนิ่งๆ ไม่ได้ว่าอะไร และบอกให้หนุ่มสาวทั้งคู่ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งรีบร้อน เนื่องจากทั้งคู่ก็ยังเด็ก ซึ่งแฟรงคลินและเอเลนอร์ก็ตกลงที่จะรอเวลาที่เหมาะสม
เอเลนอร์กับแฟรงคลิน
จากนั้น ซาราก็ได้พาแฟรงคลินออกทริปล่องเรือไปยังแถบแคริบเบียนเป็นเวลานานถึงหกสัปดาห์ ซึ่งซาราก็หวังว่าการได้ห่างจากเอเลนอร์นานๆ จะทำให้แฟรงคลินลืมเอเลนอร์
แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม แฟรงคลินกลับยิ่งคิดถึงเอเลนอร์มากขึ้นและเฝ้ารอที่จะได้กลับไปหาเธอ
ในที่สุด ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ.1904 (พ.ศ.2447) ซาราก็ยอมแพ้ และแฟรงคลินกับเอเลนอร์ก็ได้เข้าพิธีหมั้นหมาย ก่อนที่ในปีต่อมา ค.ศ.1905 (พ.ศ.2448) แฟรงคลินและเอเลนอร์จะได้แต่งงานกันที่นิวยอร์ก
เอเลนอร์ในชุดแต่งงาน
ทั้งคู่ได้ไปฮันนีมูนกันเป็นระยะเวลานานกว่าสามเดือน ก่อนจะกลับมานิวยอร์ก และได้ย้ายเข้าไปอาศัยยังบ้านหลังใหญ่ที่มีเฟอร์นิเจอร์ครบครัน และอยู่ห่างจากบ้านซาราไปเพียงไม่กี่หลัง
สองสามีภรรยามีบุตรด้วยกันคนแรกในปีค.ศ.1906 (พ.ศ.2449) ก่อนจะมีบุตรตามมาอีกสี่คน หากแต่บุตรคนที่สามนั้นเสียชีวิตตั้งแต่อายุเพียงแปดเดือน
แฟรงคลินได้ศึกษาต่อด้านกฎหมาย ก่อนจะเข้าทำงานในสำนักงานกฎหมายชื่อดังในวอลล์สตรีท หากแต่เขาก็ไม่ได้รู้สึกสนุกกับงานมากเท่าไรนัก และเขาก็ไม่ได้อยากจะเป็นชาวไร่เหมือนผู้เป็นบิดา
แฟรงคลินกับเอเลนอร์และลูกๆ
งั้นอะไรที่ทำให้แฟรงคลินสนใจล่ะ?
สิ่งนั้นก็คือ "การเมือง"
ค.ศ.1910 (พ.ศ.2453) ขณะมีอายุ 28 ปี แฟรงคลินได้ลงสมัครเลือกตั้ง
ได้มีสมาชิกพรรคเดโมแครตมาชักชวนแฟรงคลินให้ลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งหากแฟรงคลินชนะ เขาก็จะได้ทำงานในอัลบานี เมืองหลวงของรัฐนิวยอร์ก ซึ่งสำหรับแฟรงคลินที่มาจากตระกูลดังและพรั่งพร้อมด้วยเงินทอง ทำให้แฟรงคลินเป็นผู้สมัครที่ดูดีเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าประชาชนจำนวนมากในเขตนั้นจะเป็นรีพับลิกันก็ตาม
แต่แฟรงคลินก็ทราบดีว่าแค่นามสกุลรูสเวลต์อาจจะยังไม่พอที่จะดึงดูดใจให้ประชาชนสนใจเลือกตน เขาจะต้องทำให้ประชาชนรู้จักเขามากกว่านี้
แฟรงคลินได้จ้างรถแห่สีแดงสดและขอให้สมาชิกสภาที่กำลังเป็นที่นิยม ขอให้ช่วยเขาหาเสียง และทั้งคู่ก็จะตระเวนบนรถ หาเสียงไปทั่ว ซึ่งประชาชนต่างก็ชื่นชอบนักการเมืองหนุ่มที่มีบุคลิกเป็นมิตรและมักจะพูดเรื่องรัฐบาลที่โปร่งใสผู้นี้
เมื่อวันเลือกตั้งมาถึง ปรากฎว่าแฟรงคลินชนะคู่แข่งไปกว่า 1,440 คะแนน และได้ดำรงตำแหน่งในวุฒิสภากว่าสามปีและเป็นที่รู้จักในฐานะของนักการเมืองที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ยอมก้มหัวให้ใคร และในช่วงเวลานี้เอง แฟรงคลินก็ได้รู้จักกับ "ลูอิส โฮว์ (Louis Howe)" นักหนังสือพิมพ์ที่กลายมาเป็นเพื่อนสนิทของแฟรงคลิน
1
โฮว์กับแฟรงคลิน
ในปีค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) แฟรงคลินได้เข้าร่วมงานประชุมประชาธิปไตยที่บัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ ซึ่งแฟรงคลินก็ได้ให้การสนับสนุน "วูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson)" ผู้ว่าการรัฐจากนิวเจอร์ซีย์ ให้ได้เป็นประธานาธิบดี ซึ่งในท้ายที่สุด วิลสันก็ชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น
สาเหตุที่แฟรงคลินสนับสนุนวิลสันนั้น ไม่ใช่แค่เพียงชื่นชอบแนวคิดของวิลสันเท่านั้น หากแต่เขายังหวังจะได้ตำแหน่งในวอชิงตัน ซึ่งก็สมหวัง แฟรงคลินถูกชักชวนให้มาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการกองทัพเรือ
1
แฟรงคลินนั้นชื่นชอบการเดินเรือและท้องทะเลอยู่แล้ว ดังนั้นการได้ทำงานในกองทัพเรือจึงดูจะเข้ากับแฟรงคลินมาก และเขาก็อเลิทมาก ทุ่มเทให้กับงาน พูดคุยกับนายทหารทุกระดับชั้น ทำให้แม้แต่นายทหารระดับสูงยังรู้สึกเคารพและชื่นชม
วูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson)
ค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) สงครามโลกครั้งที่ 1 (World War I) ได้เริ่มขึ้นในยุโรป และในปีค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) สหรัฐอเมริกาก็ได้เข้าร่วมในสงคราม และแฟรงคลินก็ได้เสนอให้กองทัพเรือสร้างเรือรบขนาดใหญ่ ซึ่งก็ได้แก่เรือ "USS Arizona"
นอกจากนั้น แฟรงคลินยังเสนอให้ทางกองทัพเรือวางกับระเบิดจำนวนมากใต้น้ำทะเลเหนือ ซึ่งเป็นจุดที่เรือดำน้ำเยอรมันต้องใช้เป็นทางผ่านเข้ามายังมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อโจมตีเรืออเมริกันและอังกฤษ ซึ่งกับระเบิดเหล่านี้ก็ทำให้เรือของฝ่ายสัมพันธมิตรปลอดภัย
สงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ.1918 (พ.ศ.2461) ด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายเยอรมนี และแฟรงคลินก็ถูกส่งไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อเข้าร่วมการประชุมสันติภาพปารีส (Paris Peace Conference)
USS Arizona
ในเมื่อสงครามสิ้นสุดลงแล้ว แฟรงคลินก็พร้อมจะกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ซึ่งช่วงนั้นคือปีค.ศ.1920 (พ.ศ.2463) ซึ่งเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี และแฟรงคลินก็ต้องประหลาดใจที่แคนดิเดตพรรคเดโมแครตอย่าง "เจมส์ ค็อกซ์ (James Cox)" ได้ขอให้แฟรงคลินลงเลือกตั้งเป็นรองประธานาธิบดี
แฟรงคลินได้ทุ่มสุดตัวกับการเลือกตั้ง เขานั่งรถไฟไปเยี่ยมเยียนรัฐต่างๆ กว่า 20 รัฐ เดินทางนับหมื่นกิโลเมตร พูดคุยกับประชาชนทุกระดับชั้น ทั้งชาวนาชาวไร่ คนงานในโรงงาน พนักงานบริษัท นักธุรกิจ รวมทั้งสตรีที่เพิ่งจะมีโอกาสมีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้ง
แฟรงคลินและค็อกซ์ไม่ได้คาดหวังว่าตนจะชนะ ซึ่งก็จริงดังคาด ทั้งคู่แพ้ขาดลอย หากแต่แฟรงคลินก็ชอบการเลือกตั้ง และประสบการณ์ที่ผ่านมาก็ทำให้ประชาชนรู้จักแฟรงคลินมากยิ่งขึ้น
ค.ศ.1921 (พ.ศ.2464) แฟรงคลินกลับมานิวยอร์กและกลับมาทำงานทนายความเช่นเดิม ก่อนที่ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน แฟรงคลินได้ไปพักผ่อนกับครอบครัวที่แคมโพเบลโล และในเช้าวันหนึ่ง ขณะที่ทั้งครอบครัวได้ออกไปล่องเรือ ก็ได้พบเห็นควันไฟลอยออกมาจากเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่ง
แฟรงคลินและครอบครัวได้เข้าไปจอดเรือและไปช่วยดับไฟ ซึ่งก็ใช้เวลาหลายชั่วโมง และไฟก็ดับลงในที่สุด
กลับมายังแคมโพเบลโล แฟรงคลินได้ออกไปว่ายน้ำกับลูกๆ ก่อนที่แฟรงคลินจะกลับเข้ามาในสภาพตัวเปียกโชกและรู้สึกหนาวเหน็บและปวดหลังอย่างรุนแรง แฟรงคลินจึงเข้านอนแต่หัวค่ำ
แต่วันต่อมา อาการของแฟรงคลินกลับทรุดลงและเขาก็แทบจะลุกขึ้นยืนไม่ได้
เอเลนอร์เรียกหมอมาดูอาการของแฟรงคลิน ซึ่งหมอก็คิดว่าคงเป็นไข้หวัดธรรมดา แต่เวลาผ่านไป อาการของแฟรงคลินก็ไม่ดีขึ้นเลย เขาลุกจากเตียงไม่ได้ เขารู้สึกปวดไปทั้งตัว
หมออีกคนได้มาดูอาการของแฟรงคลินและก็พูดเช่นเดียวกับหมอคนแรก นั่นก็คือแฟรงคลินเป็นไข้หวัด แต่สุดท้าย เอเลนอร์ก็ได้เรียกหมอจากบอสตันให้มาดูอาการของแฟรงคลิน และหมอท่านนี้ก็รู้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น
แฟรงคลินเป็นโปลิโอ ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้มีไข้สูงและเดินไม่ได้
เอเลนอร์พาแฟรงคลินกลับไปนิวยอร์ก ซึ่งแฟรงคลินก็มีกำลังใจดีมาก เขาเริ่มออกกำลังกายและตั้งใจจะกลับมาเดินได้อีกครั้ง
แฟรงคลินให้คนจัดทำสายรัดที่ทำจากเหล็กรัดเข้าที่ขา ซึ่งสายรัดนี้จะเชื่อมต่อกับเข็มขัดที่รัดอยู่ที่สะโพกและหน้าอก ทำให้แฟรงคลินสามารถลุกขึ้นยืนได้ หากแต่ยังไม่สามารถเดินได้
ซาราได้โน้มน้าวให้แฟรงคลินไปยังสปริงวู้ด ซึ่งแฟรงคลินก็ยอมตามใจผู้เป็นมารดา หากแต่สำหรับเอเลนอร์ เธอกลับรู้สึกหนักใจ
ท้ายที่สุด แม่สามีก็กลับมามีอำนาจอีกครั้ง
ที่สปริงวู้ด แฟรงคลินพยายามทำทุกทางให้กลับมาเดินได้อีกครั้ง หากแต่ก็ไม่มีทางใดได้ผลเลย
แต่การว่ายน้ำก็ทำให้แฟรงคลินพบว่าตนนั้นสามารถลอยได้โดยไม่ต้องมีคนคอยพยุง และแฟรงลินก็มั่นใจว่านี่เป็นการรักษาขาของตนได้อย่างดี
ในปีค.ศ.1924 (พ.ศ.2467) แฟรงคลินได้ยินว่ามีสถานที่ที่มีน้ำวิเศษ อยู่ในป่าของจอร์เจีย เรียกว่า "วอร์มสปริงส์ (Warm Springs)" และแฟรงคลินกับเอเลนอร์ก็ลองไปที่วอร์มสปริงส์
ที่วอร์มสปริงส์มีโรงแรมเก่าๆ กระท่อมหลายหลัง และสระว่ายน้ำ ซึ่งน้ำที่วอร์มสปริงส์ก็ทำให้แฟรงคลินรู้สึกดีมาก
หนังสือพิมพ์เริ่มลงข่าวแฟรงคลินไปพักรักษาตัวที่วอร์มสปริงส์ ทำให้ผู้ป่วยโปลิโอคนอื่นๆ สนใจอยากลองไปบ้าง ซึ่งหลายรายก็เป็นเด็ก
สองปีต่อมา แฟรงคลินได้ซื้อรีสอร์ทที่วอร์มสปริงส์และเอามาปรับปรุง และมักจะไปที่วอร์มสปริงส์ทุกครั้งที่มีโอกาส
1
บ้านพักของแฟรงคลินที่วอร์มสปริงส์
แฟรงคลินได้ค้นพบบ้านหลังที่สองแล้ว ที่นั่นเขาสามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ เขาไม่จำเป็นต้องเสแสร้งทำว่าทุกอย่างนั้นโอเค เขาอยู่ท่ามกลางผู้ป่วยโปลิโอคนอื่นๆ ที่มีชะตากรรมเดียวกับเขา ซึ่งผู้ป่วยเหล่านั้นต่างก็รักแฟรงคลิน และสถานที่แห่งนี้ก็คือสถานที่แห่งความสุขสำหรับแฟรงคลิน
ค.ศ.1927 (พ.ศ.2470) แฟรงคลินได้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเหยื่อโปลิโอและศึกษาเรื่องโรค และแฟรงคลินยังให้มีการปรับปรุงรถยนต์ของเขาให้สามารถขับได้โดยใช้มือบังคับเท่านั้น ไม่ต้องใช้เท้า
แฟรงคลินยังคงคาดหวังที่จะลงเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ก่อนอื่น เขาอยากจะเดินให้ได้ก่อน และเขาก็ต้องให้พรรคเดโมแครตจำเขาให้ได้ ดังนั้นแฟรงคลินจึงมักจะติดต่อกับพรรคผ่านทางโทรศัพท์เสมอ
เอเลนอร์ก็ไม่ต้องการให้แฟรงคลินถูกลืม ซึ่งโฮว์ เพื่อนของแฟรงคลิน ก็ได้แนะนำให้เอเลนอร์เข้าร่วมงานประชุมทางการเมือง และยังสอนวิธีการพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก ซึ่งเอเลนอร์ก็เริ่มจะสนุกกับการทำงานการเมือง และสำหรับเธอ สิทธิสตรีคือสิ่งที่สำคัญ
แต่ถึงแม้ว่าแฟรงคลินจะพยายามซักเพียงใด เขาก็ยังไม่สามารถเดินได้ แต่เขาก็พบวิธีการยืนขึ้นและเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยการแกว่งขาข้างหนึ่ง ตามมาด้วยอีกข้าง และจับตัวคนข้างๆ และใช้ไม้เท้าพยุง ทำให้ดูเหมือนว่าเขาเดินได้
ค.ศ.1924 (พ.ศ.2467) พรรคเดโมแครตได้ขอให้แฟรงคลินเสนอชื่อ "อัล สมิท (Al Smith)" ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ให้ลงเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งงานชุมนุมนั้นจะจัดขึ้นที่เมดิสัน สแควร์ การ์เดน (Madison Square Garden)" ในนิวยอร์ก
อัล สมิท (Al Smith)
แฟรงคลินต้องการจะปรากฎตัวอย่างสง่างามและมั่นใจ เขาก้าวไปยังเวทีด้วยความช่วยเหลือของลูกชาย และถึงแม้จะต้องตะเกียกตะกายกว่าจะขึ้นไปยังเวทีได้โดยมีเหงื่อไหลย้อยเต็มหน้า แต่เขาก็ยืนบนเวทีได้อย่างมั่นใจและสง่างาม เสียงปรบมือจากประชาชนดังลั่น
ในเวลานี้ แฟรงคลินน่าจะรู้ตัวแล้วว่าตนคงไม่สามารถเดินได้อีกแล้ว หากแต่ชีวิตการเมืองของเขายังไม่จบเพียงเท่านี้ และแฟรงคลินยังคงสู้ต่อไป
อีกสี่ปีต่อมา ค.ศ.1928 (พ.ศ.2471) แฟรงคลินได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ซึ่งถึงแม้ว่าแฟรงคลินจะชนะไปเพียงแค่ 25,000 คะแนนจากคะแนนเสียงทั้งหมดสี่ล้านเสียง แต่แฟรงคลินก็ยังชนะอยู่ดี
พรรครีพับลิกันคือพรรคที่เป็นใหญ่และบริหารนครนิวยอร์กอยู่ในเวลานั้น ซึ่งในคำกล่าวต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่ง แฟรงคลินก็ได้กล่าวถึงกฎหมายใหม่ๆ ที่จะช่วยปกป้องคนงานและสหภาพแรงงาน หากแต่นโยบายเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่พรรครีพับลิกันสนใจ
ต่อมา ค.ศ. 1929 (พ.ศ.2472) สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็ได้เกิดขึ้น
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทล่ม ทำให้ประเทศทั้งประเทศปั่นป่วน ผู้คนสูญเสียเงินและหมดตัว คนตกงานนับล้าน
นี่คือจุดเริ่มต้นของ "ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)"
เมื่อถึงปีค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) ประชาชนชาวอเมริกันอย่างน้อย 12 ล้านคนตกงาน ต่างกลายเป็นคนไร้บ้านและอดอยาก ชีวิตความเป็นอยู่แร้นแค้น
แต่ในช่วงเวลาวิกฤตนี้เอง กลับเป็นเวลาทองที่แฟรงคลินคิดว่าเหมาะเจาะที่ตนจะลงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี
แฟรงคลินเดินสายหาเสียงไปทั่วประเทศ สัญญากับประชาชนว่าเขาจะหาทางทำให้ทุกคนกลับมามีงานทำ พยายามให้ทุกคนมองไปยังอนาคตที่สดใส ซึ่งประชาชนต่างก็ชื่นชมแฟรงคลิน และคิดว่าพวกตนเจอผู้นำคนใหม่แล้ว
เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา ปรากฎว่าแฟรงคลินชนะคู่แข่งอย่างอดีตประธานาธิบดี "เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover)" อย่างถล่มทลาย โดยจากทั้งหมด 48 รัฐ แฟรงคลินแพ้เพียงแค่หกรัฐเท่านั้น
ยุคของรูสเวลต์มาถึงแล้ว
หลังจากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 32 แห่งสหรัฐอเมริกา แฟรงคลินก็ได้ให้คำมั่นว่าตนจะเริ่มทำงานและต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ จะมีการออกโปรแกรมใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยแฟรงคลินกล่าวประโยคที่เป็นที่จดจำประโยคหนึ่งว่า
"สิ่งที่เราต้องเกรงกลัวก็คือ "ความกลัว" นั่นเอง"
แน่นอนว่าในเวลานั้น คนทั้งประเทศกำลังหวาดกลัว ต่างไม่เชื่อถือธนาคาร ต่างพากันแห่ไปยังธนาคารเพื่อถอนเงินออกมา และในเมื่อธนาคารไม่มีเงินฝาก ธนาคารทั่วประเทศต่างก็ต้องปิดตัวลง
แฟรงคลินไม่อยู่เฉย รีบประกาศให้มีวันหยุดธนาคารเป็นเวลาสี่วัน จะไม่มีใครสามารถไปถอนเงินออกมาได้เพราะธนาคารปิด ซึ่งแฟรงคลินก็หวังว่าการให้ธนาคารปิดไปชั่วคราวจะทำให้ประชาชนใจเย็นลง
จากนั้น แฟรงคลินก็ได้พูดคุยกับประชาชนออกอากาศทางวิทยุ โดยแฟรงคลินต้องการให้ประชาชนเห็นว่าตนนั้นกำลังจัดการกับปัญหาของธนาคารอยู่ และการเก็บเงินไว้กับธนาคารนั้นปลอดภัยกว่าการเก็บไว้ที่ตัว
ปรากฎว่าการออกอากาศทางสถานีวิทยุนี้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม มีจดหมายและโทรเลขนับพันฉบับส่งมายังทำเนียบขาว ต่างชื่นชมท่านประธานาธิบดี โดยบุคลิกการพูดของแฟรงคลินเวลาออกอากาศนั้น มีลักษณะเป็นกันเอง เหมือนเพื่อนคุยกับเพื่อน และประชาชนก็รู้สึกได้ว่าแฟรงคลินนั้นไม่ได้นิ่งนอนใจ
ในช่วงเวลา 100 วันแรก สภาได้ออกกฎหมายกว่า 15 ฉบับที่ช่วยให้คนกลับมามีงานทำ ซึ่งโปรแกรมที่แฟรงคลินสัญญาไว้ก็ได้ดำเนินการไปจริงๆ เป็นที่รู้จักในนามของ "สัญญาใหม่ (New Deal)"
โครงการต่างๆ ที่แฟรงคลินริเริ่ม ได้ดำเนินการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้คนตกงานกลับมามีงานทำ ช่วยชาวนาชาวไร่ในการขายผลผลิตให้ได้ราคา อีกทั้งยังมีการก่อสร้างต่างๆ มากมาย ทั้งทำถนน อาคารต่างๆ รวมถึงให้พื้นที่ต่างๆ ในชนบทมีไฟฟ้าใช้ และมีการออกกฎหมายที่ช่วยให้ธุรกิจและคนงานไปด้วยกันได้อีกด้วย
และโปรแกรมที่ริเริ่มในสมัยแฟรงคลินและยังดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือรัฐบาลจะมีการส่งจดหมายไปยังผู้สูงอายุที่อายุเกินกว่า 65 ปีและเด็กยากจน เด็กพิการ และคนว่างงาน เพื่อส่งเงินช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
แน่นอนว่าโปรแกรมเหล่านี้ต้องใช้เงินมหาศาล เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลนั้นใช้เงินมากเกินไป หลายคนก็เริ่มจะไม่ชอบรัฐบาลแฟรงคลินเนื่องจากตนต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูง
แต่นี่คือช่วงเวลาวิกฤต และแฟรงคลินก็มั่นใจว่าตนกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง
ค.ศ.1936 (พ.ศ.2479) แฟรงคลินลงเลือกตั้งอีกครั้งเป็นสมัยที่สอง คราวนี้ เขาชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายยิ่งกว่าสมัยแรกซะอีก พ่ายแพ้ไปเพียงแค่สองรัฐเท่านั้น
ถึงแม้ว่าประชาชนและสภาจะเห็นชอบกับสัญญาใหม่ แต่แฟรงคลินก็ต้องเจอกับอุปสรรคใหม่
นั่นคือ "ศาลสูง"
หากว่ากฎหมายที่ออกโดยสภาไปขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลสูงก็มีหน้าที่จะต้องจัดการกับกฎหมายนั้น ซึ่งโปรแกรมหลายๆ โปรแกรมของแฟรงคลินก็ถูกศาลสูงระงับ โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลไม่มีสิทธิจะริเริ่มโปรแกรมเหล่านี้หรือจ่ายเงินเพื่อดำเนินการโปรแกรมเหล่านี้
เหล่าผู้พิพากษาในศาลสูง
คำตัดสินของศาลสูงสร้างความขุ่นเคืองแก่แฟรงคลินอย่างมาก ผู้พิพากษาในศาลสูงล้วนแต่ไม่ใช่คนของแฟรงคลิน คนเหล่านี้คือพวกหัวเก่า อนุรักษ์นิยมที่ไม่เคยเชื่อมั่นในรัฐบาล แต่สิ่งที่แฟรงคลินต้องการ ก็คือผู้พิพากษาหัวก้าวหน้าที่เชื่อว่ารัฐบาลต้องมีส่วนในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน
นอกจากนั้น ผู้พิพากษาศาลสูงจำนวนเจ็ดคนจากทั้งหมดเก้าคน ก็ล้วนแต่เป็นคนแก่ที่มีอายุเกิน 70 ปีและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้ตลอดชีวิต ซึ่งแฟรงคลินก็มองว่าคนเหล่านี้เป็นเต่าล้านปีที่ขัดขวางการพัฒนา
แฟรงคลินจึงคิดจะแก้เกมด้วยการแต่งตั้งผู้พิพากษาใหม่ๆ เข้าไปแทนที่ผู้พิพากษาที่มีอายุเกิน 70 ปี
แต่ปรากฎว่าครั้งนี้สภาไม่เห็นด้วยกับแฟรงคลิน และประชาชนก็ไม่เอาด้วยเช่นกัน มีจดหมายต่อต้านนับพันฉบับส่งมายังทำเนียบขาว
นี่เป็นไม่กี่ครั้งที่แฟรงคลินพ่ายแพ้และทำไม่ถูกใจคนส่วนใหญ่
ถึงแม้ว่าในที่สุด แฟรงคลินจะได้สิทธิเลือกผู้พิพากษาจำนวนเจ็ดคน แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้เขาต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น
สำหรับชีวิตในทำเนียบขาวนั้น ก็นับเป็นชีวิตที่มีสีสันสำหรับแฟรงคลินไม่น้อย
ผู้สื่อข่าวเคยถามแฟรงคลินว่ารู้สึกชอบหรือไม่กับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งแฟรงคลินก็ตอบอย่างร่าเริงว่า
"ผมชอบมาก"
แต่เอเลนอร์นั้นดูเหมือนจะไม่ได้รู้สึกเหมือนแฟรงคลิน
เอเลนอร์เคยกล่าวกับเพื่อนว่า
"ฉันไม่เคยอยากจะเป็นภรรยาประธานาธิบดีเลย"
เอเลนอร์ต้องจัดงานเลี้ยงต้อนรับแขกคนสำคัญและเหล่านักการเมือง ต้องยืนจับมือทักทายแขกเหรื่อเป็นชั่วโมงๆ ซึ่งน่าเบื่อมาก
แต่ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไร ทั้งแฟรงคลินและเอเลนอร์ก็ตั้งใจจะทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด
ค.ศ.1933 (พ.ศ.2476) ปีเดียวกับที่แฟรงคลินขึ้นเป็นประธานาธิบดี เยอรมนีก็ได้เกิดขั้วอำนาจใหม่ขึ้นมา
เยอรมนีจัดเตรียมกองทัพอย่างยิ่งใหญ่โดยมีเป้าหมายที่จะยึดครองยุโรป และเยอรมนีก็จะเป็นชาติที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก
ค.ศ.1938 (พ.ศ.2481) กองทัพเยอรมันบุกเข้าไปในออสเตรีย ก่อนจะรุกไปยังอีกหลายประเทศ ทั้งเชโกสโลวาเกีย นอร์เวย์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก และฝรั่งเศส
อังกฤษรู้ตัวว่าตนนั้นกำลังจะเป็นรายต่อไป
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สหรัฐอเมริกาได้ส่งกองทัพไปรบในยุโรป และต้องสูญเสียกำลังพลกว่า 116,000 นาย และคราวนี้ ชาวอเมริกันไม่ต้องการจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามในยุโรปอีกแล้ว
แม้แต่สภาเองก็ไม่อยากยุ่ง มีการออกกฎหมายที่จะป้องกันไม่ให้สหรัฐอเมริกาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามระหว่างประเทศอื่น นั่นหมายความว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่สามารถให้การช่วยเหลือประเทศใดได้ แม้แต่จะขายอาวุธให้ก็ไม่ได้
แต่แฟรงคลินก็รู้ดีว่ายังไงซะ สหรัฐอเมริกาก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามในซักวันหนึ่งอยู่ดี
เยอรมนีอาจจะยังไม่โจมตีสหรัฐอเมริกาในเร็ววัน แต่หากเยอรมนีครอบครองยุโรปทั้งทวีปได้แล้ว ก็ไม่แน่ว่าสหรัฐอเมริกาจะยังรอด
ในเวลานั้น เยอรมนีไม่เพียงต้องการจะครองโลกเท่านั้น แต่ยังคิดกำจัดเผ่าพันธุ์อื่นๆ ที่มองว่าด้อยกว่า มีผู้คนเสียชีวิตนับล้าน ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็รับทราบและจับตามองอย่างไม่วางใจ
ค.ศ.1940 (พ.ศ.2483) สมัยที่สองของรัฐบาลแฟรงคลินกำลังจะหมดลง และที่ผ่านมา ก็ยังไม่เคยมีประธานาธิบดีคนใดลงเลือกตั้งเป็นสมัยที่สาม
แต่ดูเหมือนว่าแฟรงคลินจะเป็นคนแรก
ด้วยภาวะสงครามที่กำลังระอุในยุโรป แฟรงคลินคิดว่าตนจำเป็นต้องเป็นประธานาธิบดีต่อไป ซึ่งผลการเลือกตั้งนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ชนะอย่างถล่มทลายเหมือนครั้งก่อน แต่เขาก็ยังชนะการเลือกตั้งอยู่ดี
กรกฎาคม ค.ศ.1940 (พ.ศ.2483) เยอรมนีได้เริ่มทิ้งระเบิดลงยังอังกฤษ ในทุกค่ำคืน ลอนดอนเต็มไปด้วยความโกลาหล ซึ่ง "วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)" นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ก็ได้ขอความช่วยเหลือมายังแฟรงคลิน
เชอร์ชิลล์เข้าใจดีว่าสหรัฐอเมริกาไม่สามารถเข้าร่วมสงครามได้ แต่อังกฤษจำเป็นต้องมีเรือรบ
วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)
เชอร์ชิลล์ได้กล่าวต่อแฟรงคลินว่า
"ท่านประธานาธิบดี ด้วยความเคารพอย่างสูง ผมต้องบอกท่านว่าด้วยประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของโลกใบนี้ นี่คือสิ่งที่ต้องทำในทันที"
แฟรงคลินก็อยากจะช่วย แต่อังกฤษก็ไม่มีเงินจ่ายค่าเรือรบ ทำให้แฟรงคลินกลืนไม่เข้า คายไม่ออก
แต่แฟรงคลินกับเชอร์ชิลล์ก็คิดวิธีแก้ปัญหาได้
แฟรงคลินและเชอร์ชิลล์
สหรัฐอเมริกาจะให้อังกฤษยืมเรือรบจำนวน 50 ลำ แลกกับการที่อังกฤษต้องยอมให้สหรัฐอเมริกาเข้าไปตั้งฐานทัพในดินแดนของอังกฤษที่ใกล้กับสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 99 ปี ซึ่งด้วยข้อตกลงนี้ รัฐสภาจึงเห็นชอบ
และไม่เพียงแค่เยอรมนีเท่านั้นที่แฟรงคลินต้องปวดหัวด้วย แต่พันธมิตรอย่าง "ญี่ปุ่น" ก็เป็นชาติที่แฟรงคลินต้องคอยจับตาดู
ญี่ปุ่นนั้นมีกองทัพที่เข้มแข็ง และก็กำลังแผ่อำนาจไปทั่วเอเชีย
แฟรงคลินมั่นใจว่าซักวันหนึ่ง ญี่ปุ่นต้องโจมตีสหรัฐอเมริกาแน่ ซึ่งก็เป็นจริงดังที่แฟรงคลินคาด
ทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2
วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 (พ.ศ.2484) เครื่องบินรบญี่ปุ่นได้เข้าโจมตีฐานทัพ "เพิร์ล ฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor)" ของสหรัฐอเมริกาในฮาวาย ทำให้ทหารอเมริกันกว่า 3,500 นายเสียชีวิตและบาดเจ็บ เครื่องบินจำนวน 265 ลำถูกทำลาย เรืออีกเก้าลำก็อับปาง
วันต่อมา ชาวอเมริกันทั้งประเทศมารวมตัวกันหน้าวิทยุเพื่อฟังแฟรงคลินแถลงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยแฟรงคลินกล่าวว่าเหตุการณ์ในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 (พ.ศ.2484) คือวันที่จะถูกจดจำในฐานะวันที่อัปยศที่สุด
ในวันเดียวกันนั้น สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามต่อญี่ปุ่น และอีกสามวันต่อมา เยอรมนีและญี่ปุ่นก็ประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา
ในที่สุด สหรัฐอเมริกาก็เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 จนได้
เหตุการณ์ เพิร์ล ฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor)
ชายชาวอเมริกันอายุเกิน 18 ปีต่างสมัครเข้าร่วมกับกองทัพบกและกองทัพเรือ และภายในชั่วข้ามคืน โรงงานต่างๆ ที่เคยผลิตสินค้าต่างๆ เช่น ของเล่น หรือรถยนต์ ต่างก็ปรับเปลี่ยนเป็นผลิตอาวุธ รถบรรทุก รถถัง และเครื่องบิน
สตรีชาวอเมริกันก็ไม่ได้อยู่เฉย หากแต่เข้าช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทำให้ในตอนนี้ ชาวอเมริกันต่างมีงานทำ ไม่มีใครตกงานอีกต่อไป
แฟรงคลินได้กล่าวแก่ประชาชนชาวอเมริกันว่า
"นี่จะไม่ใช่สงครามที่ยาวนาน แต่จะเป็นสงครามที่ยากลำบาก"
หากแต่แฟรงคลินก็พูดอีกว่า
"เราจะชนะสงคราม และเราจะชนะสันติภาพที่จะตามมา"
สงครามนั้นรบกันอย่างดุเดือดในแนวหน้าทั้งสามด้าน นั่นคือที่ยุโรป แอฟริกาเหนือ และแปซิฟิก
แต่จุดพลิกผันก็มาถึงในแถบแปซิฟิกเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1942 (พ.ศ.2485) ใน "ยุทธนาวีมิดเวย์ (Battle of Midway)" โดยฝ่ายอเมริกันสามารถไขรหัสลับของญี่ปุ่นได้ ทำให้ทราบถึงแผนการโจมตี จึงมีการเตรียมการไว้ก่อน
ยุทธนาวีมิดเวย์ (Battle of Midway)
ยุทธการนี้ดำเนินไปเป็นระยะเวลาสี่วัน และเมื่อยุทธการนี้จบลง ฝ่ายอเมริกันก็สามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินของญี่ปุ่นไปได้สี่ลำ
ในที่สุด ชัยชนะก็ตกเป็นของฝ่ายอเมริกัน
หากแต่การต่อสู้ยังไม่จบ ยังมีการปะทะกันในแถบโอกินาว่า อิโวจิม่า และเกาะอื่นๆ ในญี่ปุ่น
สำหรับการบุกยุโรปนั้น เริ่มขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.1944 (พ.ศ.2487) และเป็นที่รู้จักในนามของ "วันดีเดย์ (D-day)"
เรือเกือบ 5,000 ลำ ขนทหารกว่า 100,000 นายข้ามช่องแคบอังกฤษไปยังชายหาดนอร์มังดีในฝรั่งเศส และต้องพบกับการป้องกันอย่างรุนแรงจากฝ่ายเยอรมัน
หากแต่ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ไม่ยอมแพ้ และภายในสองสัปดาห์ กำลังเสริมเกือบ 600,000 นาย พร้อมด้วยอาวุธและเสบียง ก็ได้ส่งมาถึงนอร์มังดี ก่อนที่อีก 11 เดือนต่อมา วันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) เยอรมนีจะยอมแพ้ในที่สุด
ที่สหรัฐอเมริกา ค.ศ.1944 (พ.ศ.2487) ถึงเวลาเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งแล้ว
ที่ผ่านมานั้น แฟรงคลินทำหน้าที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในช่วงสงคราม และในตอนนี้ แฟรงคลินก็กำลังจะลงเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สี่โดยมี "แฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman)" สมาชิกวุฒิสภาจากมิสซูรี เป็นคู่แข่ง
แฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman)
ในเวลานั้น แฟรงคลินนั้นเหนื่อยล้า แต่เขาก็ยังออกหาเสียงด้วยความมั่นใจ มีอารมณ์ขัน และรวยเสน่ห์
1
ผลออกมาก็คือ แฟรงคลินชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง
มกราคม ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) แฟรงคลินเดินทางไปยังเมืองยอลตาในแถบทะเลดำเพื่อพบผู้นำสหราชอาณาจักรและรัสเซีย โดยแฟรงคลินต้องการให้รัสเซียให้คำมั่นว่าจะช่วยสู้รบกับญี่ปุ่น อีกทั้งรัสเซียต้องเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์การสันติภาพโลกหลังจากสงครามจบลง
องค์การที่ว่าก็คือ "องค์การสหประชาชาติ (United Nations)"
แฟรงคลินเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาพร้อมคำมั่นจากรัสเซีย หากแต่แฟรงคลินนั้นดูเหนื่อยล้า ขอบตาดำคล้ำ น้ำหนักลด ซึ่งเอเลนอร์ก็เป็นห่วงผู้เป็นสามีอย่างมาก
เมื่อกลับมาถึงสหรัฐอเมริกา แฟรงคลินก็ได้รายงานเรื่องการเดินทางไปยอลตาให้สภารับทราบ และเป็นครั้งแรกที่แฟรงคลินต้องนั่ง ไม่ลุกขึ้นขณะพูด โดยแฟรงคลินได้กล่าวว่า
"ผมหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะไม่ถือสาที่ผมนั่ง แต่ผมว่าท่านคงรับทราบดีว่าการทำอย่างนี้จะง่ายกว่าสำหรับผม ซึ่งจะได้ไม่ต้องใส่เหล็กที่หนักประมาณ 10 ปอนด์ (ประมาณ 4.5 กิโลกรัม) บนต้นขา และก็ด้วยเหตุที่ว่าผมเพิ่งจะเดินทางเป็นระยะทางกว่า 14,000 ไมล์ (ประมาณ 22,500 กิโลเมตร)"
จากนั้นไม่นาน แฟรงคลินก็ได้เดินทางไปพักผ่อนที่วอร์มสปริงส์ ส่วนเอเลนอร์อยู่ในวอชิงตัน โดยแฟรงคลินเดินทางไปพักผ่อนกับเพื่อนๆ ซึ่งในช่วงสัปดาห์แรกนั้น แฟรงคลินนั้นดูสดชื่นแจ่มใส
แต่แล้วในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) แฟรงคลินตื่นขึ้นมาในตอนเช้าพร้อมกับอาการปวดหัวและคอแข็ง
แฟรงคลินทานอาหารเช้า แต่งตัว และออกไปพบปะกับเพื่อน ก่อนที่ในช่วงเที่ยง แฟรงคลินจะนั่งพักบนเก้าอี้ และกล่าวว่าตนนั้นปวดหัวอย่างรุนแรง ก่อนจะล้มลงกับพื้น
แพทย์ถูกตามตัวมาดูอาการแฟรงคลินอย่างเร่งด่วน หากแต่สายไปแล้ว
ก่อนเวลา 15:30 น.เพียงเล็กน้อย แฟรงคลิน ดีลาโน รูสเวลต์เสียชีวิตจากอาการเส้นเลือดในสมองแตกด้วยวัย 63 ปี
เมื่อข่าวการเสียชีวิตของแฟรงคลินแพร่กระจายออกไป ไม่เพียงแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ช็อก หากแต่ทั้งโลกต่างตกใจ
เอเลนอร์รีบเดินทางมาจากวอชิงตันเพื่อรับร่างของสามีกลับบ้าน สถานีรถไฟที่วอร์มสปริงส์เต็มไปด้วยมิตรสหายและเหล่าเพื่อนบ้านของแฟรงคลินที่มาบอกลาเพื่อนผู้เป็นที่รัก ผู้คนนับพันต่างร้องไห้ เสียน้ำตาให้กับแฟรงคลิน
ขณะที่รถไฟที่บรรจุร่างของแฟรงคลินกำลังเคลื่อนตัวออกจากชานชาลาไปยังวอชิงตัน ผู้สื่อข่าวได้รายงานว่า
"ผู้คนมาจากทั่วทุกสารทิศ มาชุมนุมกันนับพันเพื่อเฝ้ามองด้วยความเสียใจและไว้อาลัย"
งานศพของแฟรงคลินถูกจัดขึ้นอย่างสมเกียรติ ก่อนที่ตำแหน่งประธานาธิบดีจะตกเป็นของ "แฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman)"
7 พฤษภาคม ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) เยอรมนียอมแพ้สงคราม และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ทรูแมนได้ออกคำสั่งให้ทิ้งระเบิดปรมาณูลงยังฮิโรชิม่าและนางาซากิ ทำให้ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488)
ในที่สุด สงครามโลกครั้งที่สองก็จบลงแล้ว
หลังจากแฟรงคลินเสียชีวิต ทหารหนุ่มนายหนึ่งก็ได้พูดในสิ่งที่ชาวอเมริกันหลายคนรู้สึกเกี่ยวกับแฟรงคลิน
"ผมจำท่านประธานาธิบดีได้ตั้งแต่ผมยังเด็ก อเมริกาคงจะดูเป็นสถานที่ซึ่งแปลกและว่างเปล่าเมื่อปราศจากเสียงของท่านพูดคุยกับประชาชนในทุกๆ ครั้งที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ผมไม่อยากจะเชื่อเลยว่าท่านจากไปแล้ว"
ในตลอดช่วงรัฐบาลแฟรงคลิน ได้เกิดเหตุการณ์หลายอย่าง ทั้งร้ายและดี
แต่เมื่อมีแฟรงคลินเป็นผู้นำ ชาวอเมริกันจำนวนมากก็รู้สึกได้ว่าตนนั้นมีเพื่อนที่จะช่วยให้ผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายไปได้
1
และเพื่อนผู้นั้นก็มีนามว่า “แฟรงคลิน ดีลาโน รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt)”
References:
https://www.whitehouse.gov/about-the-white-house/presidents/franklin-d-roosevelt/
https://www.britannica.com/biography/Franklin-D-Roosevelt
https://www.fdrlibrary.org/fdr-biography
https://www.whitehousehistory.org/bios/franklin-roosevelt
https://www.nps.gov/people/franklin-d-roosevelt.htm
https://www.history.com/topics/us-presidents/franklin-d-roosevelt
ประวัติศาสตร์
7 บันทึก
36
1
10
7
36
1
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย