8 ต.ค. 2024 เวลา 08:26 • บันเทิง

เหม เวชกร ผู้บันทึกความหลอนของสังคมไทยหลังปี 2475

‘จิตรกรมือเทวดา’ ‘จิตรกรห้าแผ่นดิน’ เป็นเพียงสมญานามส่วนหนึ่งของ เหม เวชกร ศิลปินไทยผู้มีชีวิตและสร้างสรรค์ผลงานที่มากกว่า 50,000 ชิ้นขึ้นมาในช่วงไทยคาบเกี่ยวของประวัติศาสตร์ไทย ทั้งความคาบเกี่ยวในเชิงศิลปะ จากศิลปะราชนิยมในรั้ววัง สู่ยุคศิลปะประชานิยม และความคาบเกี่ยวของยุคสมัยทางการเมืองการปกครอง จากยุคการปกครองสมัยเก่า ถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองหลัง พ.ศ.2475
ในแง่คุณูปการด้านวรรณกรรม ครูเหม เวชกร คือผู้บุกเบิกวรรณกรรมที่เรียกว่า ‘ปีศาจนิยาย’ ด้วยเรื่องสั้นสยองขวัญพร้อมภาพประกอบกว่า 100 เรื่องที่โดดเด่นด้วยการนำเสนอบรรยากาศความหลอนของทิวทัศน์ที่เห็นได้ในชีวิตประจำวันของคนในยุคนั้น ตั้งแต่ความสลัวมัวหม่นของพระนครยุคเริ่มมีไฟฟ้า จนถึงริ้วท้องทุ่งนายามสงัดของชนบทไทย
เรื่องผีของครูเหมไม่ได้ ‘น่ากลัว’ เพียงเพราะการนำเสนอเรื่องราวของผีและบรรยากาศชวนขนลุก แต่ความน่ากลัวขนหัวลุกในเรื่องผีของครูเหมยังมาจากการขุดความกลัวและความประหวั่นพรั่นพรึงของคนสยามในยุคอภิวัฒน์สยามที่กำลังเผชิญหน้ากับจุดเปลี่ยนของยุคสมัยออกมาถ่ายทอดใหม่ แล้วสร้าง ‘ผี’ ขึ้นมาจากปัจจัยแห่งความกลัวของคนในยุคนั้น ทั้งความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมหลังสงครามโลก การขยายตัวของเมืองที่รุกคืบพื้นที่ชนบทอย่างรวดเร็วและน่ากลัว
ไปจนถึงการเผชิญหน้ากับการล่มสลายของคุณค่าดั้งเดิม และการท้าทายของค่านิยมใหม่ของสังคมยุคใหม่
เดือน ฮาโลวีนแบบนี้ เพจเทlife จะสรุปสาระสำคัญจากบทความของ groundcontrolth ที่หาข้อมูลไว้แล้ว จะเป็นอย่างไรนั้นไปอ่านกันเลย!!!
[ประวัติของเหมเวชกร]
เหม เวชกร เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2446 ที่พระนคร มารดาของคือ ม.ล.สําริด พึ่งบุญ ส่วนบิดาของเขาคือ หม่อมราชวงศ์ปฐม (หุ่น) ทินกร มหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
เมื่อเหมอายุได้ 8 ปี พ่อแม่ของเขาก็แยกทางกัน ก่อนที่แม่จะพาเขาไปฝากไว้กับพี่ชายอย่าง ม.ร.ว.แดง ทินกร ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และเป็นผู้ดูแลบ้านของเจ้าพระยายมราชที่อยู่ในซอยวัดสามพระยา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยเหตุนี้ เหมจึงเติบโตขึ้นมาในบ้านริมน้ำแห่งนี้พร้อมกับลุง
แม้ว่าลุงของเขาจะส่งเข้าเรียนในโรงเรียนมีชื่ออย่างเทพศิรินทร์และอัสสัมชัญ แต่ด้วยความที่ชอบหนีเที่ยว เหมจึงไม่ประสบความสำเร็จทางการศึกษา แต่สิ่งหนึ่งที่เหมรักและทำมาตั้งแต่เด็ก ๆ ก็คือการวาดภาพ โดยเขาร่ำเรียนการวาดภาพด้วยตัวเองมาตั้งแต่เด็ก
จุดเปลี่ยนแรกในชีวิตของเหมมาถึงเมื่อลุงของเขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลคณะจิตรกรชาวอิตาเลียนที่รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เดินทางมายังพระนครเพื่อวาดจิตรกรรมเพดานของโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งนำเสนอภาพพระราชกรณียกิจของกษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-6 โดยคณะจิตรกรได้มาพำนักอาศัยอยู่ที่บ้านของพระยายมราชที่เหมอาศัยอยู่นั่นเอง
วันหนึ่งขณะที่เหมถือชอล์กและกระดานไปนั่งวาดภาพที่ริมน้ำ หัวหน้าคณะจิตรกรชาวอิตาเลียน คาร์โล ริโกลี ก็ได้มาพบกับเหมและเกิดสะดุดตาในฝีมือการวาดภาพของเด็กชายชาวสยามที่ไม่เคยร่ำเรียนวาดภาพมาก่อน เขาจึงได้ไปคุยกับลุงของเหมเพื่อขอถ่ายทอดวิชาการวาดเส้นต่าง ๆ ให้ จนในที่สุดเหมก็ได้หัดวาดลวดลายต่าง ๆ จากครูชาวอิตาเลียนผู้นี้
เมื่องานที่พระที่นั่งอนันตสมาคมสำเร็จเรียบร้อย ริโกลีและชาวคณะก็ต้องเดินทางกลับประเทศอิตาลี แต่ด้วยความชอบพอในนิสัยและเห็นแววในตัวเหม ริโกลีจึงไปขออนุญาต ม.ร.ว. แดง ทินกรฯ เพื่อพาตัวหลานชายไปเรียนวาดภาพที่อิตาลีด้วย และแม้ว่าผู้เป็นลุงจะอนุญาตด้วยความยินดี แต่เมื่อพ่อของเหมรู้เรื่องเข้า เขาก็ได้ไปลักพาตัวเหมไว้ก่อนวันเดินทาง และนับตั้งแต่นั้นมา ไม่ใช่แค่มิสเตอร์ริโกลีเท่านั้น แต่เหมยังไม่เคยได้เห็นหน้าลุงของเขาอีกเลย
หลังต้องพรากจากลุงผู้เป็นที่รัก
อีกทั้งความฝันที่จะได้ไปเรียนศิลปะที่ต่างประเทศก็ล่มสลาย ชีวิตของเหมในวัยหนุ่มก็พบกับความระหกระเหิน พ่อของเขามีอันต้องขายบ้านหลังใหญ่ไป แถมทั่วโลกก็ถูกปกคลุมด้วยสภาวะของสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อรัชกาลที่ 6
ทรงประกาศสงครามกับเยอรมันและออสเตรีย เหมที่ไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิตจึงได้ไปสมัครเป็นทหาร แต่ก็ไม่ผ่านเพราะอายุไม่ถึงเกณฑ์ สุดท้ายเขาจึงมุ่งหน้าออกจากบ้านโดยไม่บอกให้ใครรู้ หางานทำในเรือขนส่งของชาวจีน รับตำแหน่งทั้งนายท้ายเรือและช่างเครื่อง ระหกระเหินจากแม่น้ำเจ้าพระยาสู่แม่น้ำสายต่าง ๆ อยู่ร่วมปีจึงกลับบ้าน
เมื่อเหมกลับบ้าน เขากลับมาในฐานะ เหม เวชกร โดยนามสกุล ‘เวชกร’ ก็หยิบยืมมาจาก ขุนประสิทธิ์เวชชการ อดีตสาธารณสุข จ.เพชรบูรณ์
ชีวิตศิลปินของเหมเริ่มต้นขึ้นในค่ายทหาร หลังจากที่เข้ารับการเกณฑ์ทหาร เหมก็ได้รับหน้าที่ให้เป็นช่างเขียนในกรมตำราทหารบก กระทรวงกลาโหม เมื่อออกมาจากทหารมา การพิมพ์ในพระนครเฟื่องฟูมาก หนังสือนิยายราคาถูกแค่เพียงไม่กี่สตางค์จนคนทั่วไปก็ซื้อมาเสพได้ เหมเห็นดังนั้นจึงได้ร่วมกับเพื่อนเปิดร้านทำบล็อกภาพที่ชื่อว่า ‘บล็อกสถาน’ อยู่ที่บริเวณศาลาเฉลิมกรุง พร้อมรับวาดภาพปกนิยายต่าง ๆ ที่นี่เองที่เหมเริ่มได้แสดงฝีมือวาดภาพ กระทั่งใน
พ.ศ. 2473 เหมก็ได้รับเชิญให้ไปวาดภาพฝาผนังของระเบียงวัดพระแก้วเรื่องรามเกียรติ์ ห้องที่ 69 ตอน แผลงศรฆ่ามังกรกัณฐ์
ณ จุดนั้นเองที่เส้นทางชีวิตอันระหกระเหินของเหมดูจะเปลี่ยนทิศทางไป
[‘ผี!’ ของเหม และคณะเหม]
ในปี พ.ศ. 2475 อันเป็นช่วงที่การพิมพ์รุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เหมและเพื่อนได้ร่วมกันก่อตั้งสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ พิมพ์นิยายราคาถูกเพียง 10 สตางค์ (สมัยนั้นนิยายส่วนใหญ่ราคาอยู่ที่ 30-40 สตางค์) โดยที่เหมรับหน้าที่เป็นผู้วาดภาพปกและภาพประกอบ
นอกจากการก่อตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเองแล้ว ณ ที่นี่เองที่เหมได้ตีพิมพ์หนังสือแนวสยองขวัญเรื่องแรกของตัวเองอย่าง ‘ผี!’ ซึ่งประกอบด้วยเรื่องผีจำนวน 10 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ ‘เลขานุการผี’ หนึ่งในเรื่องผีที่โด่งดังที่สุดของเหม (และน่าสนใจว่าผลงานเรื่องผีชิ้นแรก ๆ ของเขาชิ้นนี้เล่าเรื่องราวของชายหนุ่มที่ทำหน้าที่เป็นเลขานุการให้คุณหลวงในบ้านไทยเก่าแก่ …ซึ่งก็คล้ายคลึงกับเรื่องราวของลุงผู้เป็นเลขานุการของเจ้านายชั้นสูงของเขามาก ๆ)
ในช่วงเวลาเดียวกับที่ ‘ผี!’ ออกวางแผน เหมก็ได้ออกจากสำนักพิมพ์เพลินจิตต์เพื่อมาตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเองที่ชื่อว่า ‘คณะเหม’ ตีพิมพ์ผลงานนวนิยายของเพื่อนนักเขียนอย่าง ‘แผลเก่า’ ของไม้ เมืองเดิม โดยที่เหมยังรับหน้าที่วาดภาพปกและภาพประกอบให้กับนวนิยายเรื่องนี้ด้วย ไม่เพียงเท่านั้น เหมยังแนะนำแนวทางการเขียนให้กับไม้ เมืองเดิม ด้วยแนวทางที่เหมเรียกว่าเป็นเรื่องแต่งแนว ‘ฝากสถานที่’ หรือเรื่องเล่าที่อ้างอิงสถานที่หรือเหตุการณ์จริง ตามที่เหมอธิบายวาส
“คือฝากไว้ทั้งความนึกคิดของเขาแก่ผู้อ่าน แล้วฝากวิญญาณของตัวละครให้สิงอยู่ในย่านนั้นจริง ๆ ดังวิญญาณปีศาจหรือวิญญาณเจ้าพ่อเจ้าแม่แห่งความรักสถิตอยู่กับทุ่งและลำคลองป่าไม้”
เรื่องแต่งแนว ‘ฝากสถานที่’ หรือการเล่าเหตุการณ์โดยอ้างอิงกับความเป็นจริงนี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์เรื่องผีของเหมในช่วงปลาย พ.ศ. 2470 - 2510 เรื่องผีของเหมวางอยู่บนการสร้างเรื่องเล่าที่ทำให้คนอ่านในยุคน้้นเชื่อมโยงกับเรื่องเล่าและจินตนาการถึงความหลอนที่เหมบรรยายได้แจ่มชัด ทั้งการพรรณาบรรยากาศของบ้านเมืองของกรุงเทพฯ และชนบทสมัยนั้น และการอ้างอิงถึงสถานที่ที่มีอยู่จริง
นอกจากนี้เหมยังมักเปิดเรื่องด้วยการกล่าวว่า เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ได้ยินมาจากคำบอกเล่าของบุคคลผู้หนึ่ง จนผู้อ่านในยุคนั้นมักเชื่อว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิญญาณของเหมนั้นเป็นเรื่องจริง เช่น ใน ‘หลบภัยทางอากาศ’ ที่เหมเปิดเรื่องด้วยการบอกว่า “เรื่องนี้เป็นบันทึกเหตุการณ์ของนายสุพจน์ที่พบปิศาจในตอนที่ประเทศไทยสู่ภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ ถูกบอมบ์แทบทุกวันทุกคืน มีการพรางไฟ มืดไปทั้งเมือง”
ในวิทยานิพนธ์เรื่อง ผีของเหม เวชกร: ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมไทย (พ.ศ. 2475-2513) ผู้เขียนคือ พิชยพัฒน์ นัยสุภาพ อธิบายว่า การที่เหมเริ่มเขียนเรื่องผีในช่วงช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2470 นั้นมีนัยยะสัมพันธ์กับห้วงเวลาที่เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมไทย ทั้งในทางการเมืองและสังคมวัฒนธรรม เรื่องผีของเหมจึงมีน้ำเสียงที่
ในวิทยานิพนธ์เรื่อง ผีของเหม เวชกร: ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมไทย (พ.ศ. 2475-2513) ผู้เขียนคือ พิชยพัฒน์ นัยสุภาพ อธิบายว่า การที่เหมเริ่มเขียนเรื่องผีในช่วงช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2470
นั้นมีนัยยะสัมพันธ์กับห้วงเวลาที่เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมไทย ทั้งในทางการเมืองและสังคมวัฒนธรรม เรื่องผีของเหมจึงมีน้ำเสียงที่
ถ่ายทอดให้เห็นความคิดของเหมต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเก่ามาสู่สิ่งใหม่ การปะทะกันของพื้นที่เมืองและชนบท การพัฒนาที่ยังกระจายไปไม่ถึงพื้นที่ชนบท จนทำให้พื้นที่ชนบทยังคงเป็นพื้นที่แก่งความกำกวม อึมครึม ไม่น่าไว้ใจ และยังเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความเชื่อและตำนานที่ขัดแย้งกับความเชื่อสมัยใหม่ของคนเมือง
ตัวอย่างเช่นในเรื่อง ‘หมอจำเป็น’ ที่ตัวละคร ‘นายเชาวน์’ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาไปหาเพื่อนที่มีบ้านแพอยู่ในแถบแม่น้ำแม่กลอง โดยนายเชาวน์ได้ถ่ายทอดบรรยากาศชวนหลอนของชนบทยามกลางคืน ซึ่งสะท้อนถึงการที่ความมืดของชนบทเป็นสิ่งที่ทำให้คนกรุงเทพฯ ผู้ที่คุ้นเคยกับแสงไฟสว่างจ้าในยามค่ำคืนรู้สึกหวาดกลัว
“พอค่ำลง ชักเกิดหมาหอนกันทั่ว ๆ ไป เรื่องชนบท ลงค่ำแล้วมันก็มืดจริง ๆ หมาหอนที่หมู่ไหน หมู่นั้นก็หนาวสะท้านกันไปทั่ว… บังเอิญบ้านหมอลือตัวเรือนมิได้อยู่บนพื้นดิน ปลูกเสาเรือนลงน้ำจึงไม่มีพวกหมาที่จะมาช่วยเห่าหอนให้น่ากลัวขึ้น ... แต่กระนั้นบนอากาศยังทำให้หวาดหวั่นอยู่บ้างจนได้ มีนกแสกบินผ่านบ่อยพอบินผ่านก็ร้องแซกกรีดหัวใจนัก”
นอกจากการปะทะกันของภาพสังคมเมืองใหม่กับชนบทที่ยังไม่พัฒนา เรื่องผีของเหมยังแฝงไว้ด้วยการนำเสนอความตึงเครียดของสังคมไทยหลัง 2475 ในสภาวะที่ ‘สิ่งเก่าไม่ตาย สิ่งใหม่ไม่ได้เกิด’ ดังเช่นในเรื่อง ‘เลขานุการผี’ ที่เล่าถึง ‘นายทองคำ’ ชายหนุ่มที่สมัครไปทำงานเป็นเลขานุการกับท่านเจ้าคุณในบ้านเก่าแก่ใหญ่โตริมน้ำ ก่อนจะพบว่าทุกคนที่อยู่ในบ้านล้วนเป็นวิญญาณติดอยู่กับบ้านเก่า ในที่นี้ ทั้งตัวบ้านและท่านเจ้าคุณเอง มักถูกตีความว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนความตายของระบอบเก่าและชนชั้นเจ้านายหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475
อย่างไรก็ตาม การตายไม่ได้หมายความว่า ‘หายไป’ แต่ค่านิยมเก่าและระบอบเก่าเหล่านี้ยังคงแฝงฝังอยู่ในสังคมไทย และคอยหลอกหลอนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่อย่างนายทองคำนั่นเอง
แหล่งที่มาข้อมูล https://groundcontrolth.com/blogs/hem-vejakorn
อยากฟังเรื่องราวของเหม เวชกร สามารถฟังได้ที่นี้ >> https://youtu.be/W8pcioRZuls?si=oKM23pf-qbwvZysj
ติดตามเพจในเครือเทได้ที่นี้
Youtube
#เพจเทlife
โฆษณา