25 ต.ค. 2024 เวลา 12:27 • ประวัติศาสตร์

การล่มสลายของ “จักรวรรดิมองโกล (Mongol Empire)”

“จักรวรรดิมองโกล (Mongol Empire)” คือดินแดนที่กว้างใหญ่และทรงอำนาจที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก และยิ่งใหญ่ได้จากการที่ “เจงกิสข่าน (Genghis Khan)” รวบรวมชนเผ่ามองโกลต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียวได้ในต้นศตวรรษที่ 13
แล้วทำไมวันหนึ่ง จักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้จึงล่มสลาย?
ลองมาหาคำตอบกันครับ
บนที่ราบของมองโกเลีย นักรบหนุ่มนามว่า “เตมูจิน (Temüjin)” เฝ้าฝันถึงการณ์ใหญ่
เตมูจิน หรือภายหลังคือ “เจงกิสข่าน (Genghis Khan)” เกิดมาในครอบครัวนักรบ และความยากลำบากในปฐมวัย ก็ทำให้เตมูจินรู้จักการเอาตัวรอดและมีความเป็นผู้นำสูง
ตั้งแต่วัยเยาว์ เตมูจินต้องพบเจอกับการที่บิดาถูกลอบสังหาร และยังถูกชนเผ่าของตนทรยศหักหลัง ทำให้เตมูจินและครอบครัวต้องมีชีวิตที่ยากแค้น
เจงกิสข่าน (Genghis Khan)
แต่ด้วยความสามารถเฉพาะตัว กลยุทธ์การศึกและการรบที่ห้าวหาญของเตมูจิน ทำให้เตมูจินสามารถรวบรวมชนเผ่าเร่ร่อนต่างๆ ให้อยู่ใต้อำนาจของตนได้ในปีค.ศ.1206 (พ.ศ.1749) ทำให้เตมูจินได้รับการขนานนามว่า “เจงกิสข่าน (Genghis Khan)” ซึ่งแปลว่า “ผู้ปกครองทุกสรรพสิ่ง“
1
และนี่คือจุดกำเนิดของจักรวรรดิมองโกล
ถึงแม้ภาพลักษณ์ของเจงกิสข่าน คือแม่ทัพที่โหดเหี้ยม เข่นฆ่าผู้คนได้อย่างเลือดเย็น หากแต่อันที่จริงไม่ได้มีแค่นั้น
เจงกิสข่านเป็นนักการทหารที่ปราดเปรื่อง สามารถสร้างกองทัพที่ยิ่งใหญ่ มีทหารม้าที่ยอดเยี่ยม และมีพลเกาทัณฑ์ที่แม่นราวจับวาง สามารถพิชิตศัตรูได้ทั่วแคว้น แม้แต่กองทัพที่มีขนาดใหญ่กว่า ก็ล้วนแต่เกรงกองทัพมองโกล
ดินแดนของจักรวรรดิมองโกลทอดยาวข้ามเอเชีย กว้างใหญ่ไพศาล หากแต่มองโกลนั้นไม่ใช่เพียงแค่ผู้ทำลาย ป่าเถื่อนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นนักปกครองที่เก่งกาจ มีการรับระบบการปกครองที่มีประสิทธิภาพ และยังส่งเสริมคนมีความสามารถ การเลื่อนยศนั้นเป็นไปตามผลงานและความสามารถ ไม่ใช่ดูจากชาติกำเนิดหรือความสูงส่งใดๆ ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ประชาชนในดินแดนที่มองโกลเข้าปกครองรู้สึกชื่นชอบ และสมัครเข้าทำงานในกองทัพมองโกลเพื่อหวังจะเลื่อนสถานะทางสังคม
ช่วงเวลาแห่งความสงบสุขนี้ เป็นที่รู้จักในนาม “แพ็กซ์ มองโกเลีย (Pax Mongolica)” เป็นช่วงเวลาที่รุ่งเรือง มีการค้าและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และมีระบบการติดต่อสื่อสารที่สะดวกทั่วยูเรเซีย
เส้นทางการค้าต่างๆ ล้วนคึกคัก สินค้าต่างๆ เช่น ผ้าไหมและเครื่องเทศ ต่างเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตะวันออกและตะวันตกเชื่อมต่อกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
หากแต่ความรุ่งเรืองเหล่านี้ก็ต้องมาถึงจุดสิ้นสุด เมื่อความตายของเจงกิสข่านมาเยือน
เจงกิสข่านเสียชีวิตในปีค.ศ.1227 (พ.ศ.1770) และกลายเป็นจุดผันแปรของจักรวรรดิมองโกล
ถึงแม้ว่าจักรวรรดิมองโกลจะไม่ล่มสลายในทันที หากแต่ความตายของเจงกิสข่านก็เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความล่มสลายในเวลาต่อมา
ในไม่ช้า เหล่าลูกหลานของเจงกิสข่านก็ขัดแย้งกัน แย่งชิงอำนาจ เกิดความวุ่นวายต่างๆ ในสมัยต่อๆ มา จนเมื่อถึงยุคของ “กุบไลข่าน (Kublai Khan)” หลานของเจงกิสข่านซึ่งขึ้นสู่อำนาจในปีค.ศ.1260 (พ.ศ.1803) ได้มีนโยบายที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงดังเช่นสมัยที่ผ่านๆ มา และตั้งใจจะปกครองแผ่นดินด้วยความมั่นคงและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
กุบไลข่าน (Kublai Khan)
แต่กุบไลข่านนั้นเป็นผู้นิยมวัฒนธรรมจีนอย่างมาก และได้ย้ายเมืองหลวงไปยังแผ่นดินจีน ตั้งตนเป็นจักรพรรดิ ก่อตั้งราชวงศ์หยวน
การที่กุบไลข่านชื่นชอบวัฒนธรรมจีนจนถึงขั้นนำมาปรับใช้ในราชสำนัก สร้างความไม่พอใจให้ขุนนางมองโกลเดิมบางส่วน ซึ่งหลายคนก็อยากกลับไปในสมัยที่เจงกิสข่านปกครอง
แต่ถึงอย่างนั้น กุบไลข่านก็ยังส่งเสริมการปฏิรูปที่นำความเจริญด้านต่างๆ มาสู่แผ่นดิน มีการแนะนำวิทยาการใหม่ๆ หลายด้าน และยังมีการเผยแพร่วัฒนธรรมออกไปอย่างกว้างไกล มีการจัดทำตัวอักษรที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย มีการใช้เงินกระดาษเพื่อให้การค้ากับตะวันตกนั้นง่ายดายขึ้น และมีการลงทุนในด้านการศึกษา ศิลปะ และวิทยาศาสตร์
หากแต่กุบไลข่านก็ไม่มีบารมีหรืออำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดดังที่เจงกิสข่าน ผู้เป็นปู่ของตนมี
จักรวรรดิมองโกลได้แตกออกเป็นขั้วอำนาจต่างๆ ซึ่งต่างก็แย่งชิงอำนาจ และถึงแม้กุบไลข่านจะมีอำนาจควบคุมดินแดนส่วนใหญ่ในจีนและมองโกเลีย แต่พื้นที่อื่นๆ นั้นล้วนแต่อ่อนแอและไม่สงบ
นอกจากนั้น ความพยายามจะบุกญี่ปุ่นของกุบไลข่านก็ล้มเหลว
กุบไลข่านได้พยายามจะบุกเข้าตีญี่ปุ่นถึงสองครั้ง ครั้งแรกในปีค.ศ.1274 (พ.ศ.1817) และอีกครั้งในปีค.ศ.1281 (พ.ศ.1824) หากแต่ก็ต้องล้มเหลวทั้งสองครั้งเนื่องจากดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ
ความล้มเหลวทั้งสองครั้งผลาญทั้งเงิน ทั้งทรัพยากรไปมหาศาล ทำให้กุบไลข่านจำเป็นต้องขึ้นภาษี ทำให้ชาวจีนต่างไม่พอใจ ลุกฮือขึ้นก่อการกบฏ
และเมื่อสิ้นกุบไลข่านในปีค.ศ.1294 (พ.ศ.1837) จักรวรรดิมองโกลก็ใกล้จะแตกสลายเต็มที
หลังสิ้นกุบไลข่าน ผู้นำคนต่อๆ มาล้วนแต่อ่อนแอ ไม่สามารถปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีปัญหาทั้งภายนอกและภายใน
รัฐบาลของราชวงศ์หยวนก็ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่มีการโกงกินมหาศาล มีการขูดรีดภาษีราษฎร สร้างความไม่พอใจแก่ผู้คน ทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นก่อกบฏของเหล่าชาวนาชาวไร่ และการณ์เช่นนี้ก็ดำเนินไปเรื่อยๆ จนถึงปีค.ศ.1368 (พ.ศ.1911) เมื่อราชวงศ์หยวนถูกล้มล้าง และได้เกิดราชวงศ์ใหม่ นั่นคือราชวงศ์หมิง
และนี่คือจุดจบของอำนาจมองโกลในแผ่นดินจีน
ส่วนดินแดนต่างๆ ซึ่งเคยเป็นของมองโกล ก็ล้วนแต่ล่มสลายในเวลาต่อมา และเมื่อถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 15 จักรวรรดิมองโกลก็ได้สิ้นสลายลงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดินแดนต่างๆ ล้วนถูกแบ่งออกเป็นดินแดนใต้อำนาจของหลายๆ กลุ่ม
และนี่ก็คือจุดจบของจักรวรรดิมองโกล อาณาจักรที่ได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก
โฆษณา