30 ต.ค. 2024 เวลา 04:03 • ความคิดเห็น

รักแท้แต่แปลไม่ออก

เคยถูกงอนจากแฟนตัวเองมั้ยครับ…
หรือเคยโดนบ่นแนวว่าทำไมถึงไม่เข้าใจ ถูกหงุดหงิดใส่ ว่าไม่รักหรืออย่างไรทั้งๆที่เราเองก็ทั้งรักทั้งห่วง แต่เหมือนจะไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจกันได้ บางคู่ก็เป็นทั้งสองฝั่ง รักกันแค่ไหนหลายคนก็มีปัญหาในการสื่อสารกันอยู่ไม่น้อย
วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดาและ โอ๊ต อัครพล คู่ชีวิตที่ใครๆหลายคนรู้จักและดูรักกันหวานชื่นมาอย่างยาวนาน วู้ดดี้เคยเล่าว่าชีวิตคู่เอาจริงๆก็ไม่ได้ราบเรียบ ทะเลาะก็บ่อย แทบจะเลิกกันก็เคย วู้ดดี้บอกว่า มีเรื่องหนึ่งที่ทั้งคู่เพิ่งค้นพบว่า love language ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน วู้ดดี้เคยหงุดหงิดว่าทำไมโอ๊ตไม่ค่อยกอด ไม่ค่อยหอม เพราะวู้ดดี้โตมาในครอบครัวที่แสดงความรักกันแบบนั้น
พอได้ปรึกษาและได้แชร์ความรู้สึกกันถึงรู้ว่า ในขณะที่ภาษารักของวู้ดดี้คือกอดและหอม ภาษารักสำหรับโอ๊ตนั้นคือคำชม การแสดงความรักในฝั่งโอ๊ตคืออยากได้ยินคำพูดหวานๆ คำชม ชมนิดชมหน่อยก็มีความสุขแล้ว แต่ไม่ได้สนใจหรือแสดงความรักด้วยการกอดและหอมแต่อย่างใด
พอเข้าใจภาษารักของกันและกัน แล้วพออยากแสดงความรักให้อีกฝ่ายรับรู้ก็จะทำให้เข้าอกเข้าใจกันมากขึ้นมาก แทนที่จะใช้ภาษาเราที่เขาไม่ได้รู้สึกเหมือนเมื่อก่อน
พอได้ยินคำว่า love language เป็นครั้งแรก ผมก็เลยไปค้นดูต่อว่าภาษารักที่วู้ดดี้ว่านั้นมันมีกี่ภาษากันแน่ แล้วก็เจอหนังสือของคุณ Gary Chapman ที่น่าจะเป็นต้นเรื่องของคำนี้ อธิบายไว้ว่าภาษารักหรือ love language ที่มนุษย์เราไว้สื่อสารถึงกันนั้นมีอยู่ 5 แบบ แต่ปัญหาที่คู่ชีวิตเจอก็คือเรามักจะพยายามใช้ภาษารักแบบที่เราคุ้นเคยหรือถนัดกับคู่ของเรา ซึ่งภาษารักของคู่เราอาจจะไม่เหมือนเราเลยก็ได้
ซึ่งทำให้ผมนึกถึงนิทานเรื่องหนึ่ง ที่กระต่ายพยายามตกปลาด้วยแครอทเพราะตัวเองชอบกิน แต่ปลาก็ไม่ได้ชอบกินเหมือนกระต่าย ฉันใดก็ฉันนั้น…
คุณแกรี่อธิบายถึงภาษารักที่มีห้าแบบ ประกอบด้วย แบบแรกคือคำพูดจาที่ไพเราะ ชมเชย (word affirmation) ตั้งแต่การบอกว่ารัก คำชม หรือคำที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกมีค่า แบบที่สองคือการกระทำที่ใส่ใจ (act of service) คือการทำอะไรให้คู่เราเพื่อแสดงถึงความรักความห่วงใยโดยที่ไม่ต้องพูดอะไร เช่นชงกาแฟที่เขาชอบ ดูแลงานบ้านให้ ไปซื้อของให้ ทำกับข้าวให้ทาน เป็นต้น
2
ส่วนแบบที่สามคือ การให้ของ (receiving gift) คู่ชีวิตหลายๆคนชอบที่จะได้รับของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เพราะทำให้รู้สึกว่าอีกฝ่ายคิดถึงอยู่ ของฝากเวลาไปเที่ยว ของขวัญวันเกิด หรือของขวัญในวันสำคัญต่างๆ มีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ แสดงถึงความพิเศษก็จะยิ่งปลื้ม ไม่ได้เกี่ยวกับของแพงแต่เป็นการให้ความสำคัญมากกว่า หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมการลืมวันเกิดถึงเป็นเรื่องใหญ่จนแทบจะเลิกกัน ก็เพราะบางคนต้องการภาษารักแบบนี้นั่นเอง
แบบที่สี่คือการมีเวลาให้ (quality time) คู่ชีวิตบางคนรู้สึกถึงความรักอันเต็มเปี่ยมก็เมื่ออีกคนมีเวลาให้และให้เวลากับเราคนเดียว ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ดีๆ ร่วมกัน ไปดูหนัง ไปเที่ยว เดินเล่นด้วยกันหรือแค่นั่งอยู่ด้วยกันเงียบๆ ก็พอใจมากๆ แล้ว บางคนถึงโมโหมากๆ ถ้าไม่มีเวลาให้ ต่อให้ซื้อของขวัญอะไรให้ก็แทนกันไม่ได้นั่นเอง
แบบที่ห้าคือ การกอดการหอม (physical touch) เหมือนในกรณีวู้ดดี้ที่โตมาในการแสดงความรักแบบนั้น ยิ่งกอด ยิ่งหอม นวดให้ จูงมือ นัวเนีย ยิ่งรู้สึกว่าอีกฝ่ายรัก พออีกฝ่ายไม่ทำก็จะไม่เข้าใจและพาลคิดว่าอีกฝ่ายไม่รักก็ได้
ความเข้าใจถึงภาษารักของอีกฝ่ายจึงจำเป็นมากๆถึงการครองคู่ได้ยาวนาน เพราะต่อให้รักกันมากแค่ไหนถ้าไม่เข้าใจกันก็จะทะเลาะกันจนพาไปสู่การเลิกราก็ได้ การทำความเข้าใจคู่ของเรานั้นต้องเริ่มจากการสังเกตว่าภาษาไหนมีปฏิกริยาที่ตอบสนองในทางบวกที่สุด และต้องตั้งใจฟังเสียงบ่นว่าเขาบ่นว่าอะไร ทำไมเดี๋ยวนี้ไม่บอกรักเลย ทำไมถึงไม่กอด ไม่จับมือ หรือว่าลืมแล้วใช้มั้ยว่าวันนี้วันอะไร
จนไปถึงว่าทำไมถึงแล้งน้ำใจแบบนี้ ฟังแล้วก็จะพอเดาได้ดีขึ้นว่าภาษารักที่เราควรพูดหรือแสดงนั้นคืออะไรแน่ หรือคุณแกรี่แนะนำให้ถามตรงๆ เลยก็เป็นทางเลือกอีกทางเช่นกัน
เพราะบางทีการชงกาแฟใส่น้ำตาลหนึ่งก้อนที่เขาชอบด้วยนมโอ๊ตเพราะแฟนแพ้นมวัวให้ตอนตื่นนอนอาจจะมีค่ากว่าการกอดหรือการซื้อของขวัญราคาแพงให้ก็ได้ ถ้าเราเข้าใจภาษารักของอีกฝ่ายว่าเขาใช้ภาษาอะไรนั่นเอง..
รักเขาแค่ไหน แต่ไม่เข้าใจภาษารักที่เขาฟังออกก็อาจจะไม่มีประโยชน์ใดๆ เลยนะครับ…
(ผมเขียนบทความนี้ที่ญี่ปุ่น ภรรยาต้องทำงานอยู่ไทย จะตามมาก็อีกหลายวัน เป็นการบอกว่าคิดถึงผ่านบทความซึ่งลุ้นว่าเขาจะแปลออกนะครับ)
โฆษณา