ตากาฉ่อ กล้วยไม้ที่สำรวจพบที่อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จ.สุราษฎร์ธานี

ตากาฉ่อ เป็นกล้วยไม้ที่สำรวจพบที่อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จ.สุราษฎร์ธานี ความสูงจากระดับน้ำทะเล 0 - 600 เมตร เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยขนาดเล็ก เจริญทางยอด รากขนาดใหญ่ แบน เกาะติดเปลต้นไม้ไปได้ยาว
มีลำต้นสั้น มีใบเพียง 2–3 ใบ ใบ รูปรีหรือขอบขนาน สีเขียวเข้มเป็นมัน ขอบใบหยักเป็นคลื่น ช่อดอก สีเขียว ออกที่ข้างลำต้น ห้อยลงหรืออยู่ในแนวระนาบ ยาว 6–12 เซนติเมตร
ดอกในช่อทยอยบานจากโคนสู่ปลายช่อ ดอก กว้าง 1.4 เซนติเมตร กลีบสีขาว โคนกลีบมีจุดสีม่วง กลีบเลี้ยงบน รูปขอบขนาน ชี้ขึ้น กลีบเลี้ยงคู่ข้าง ขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย กลีบดอก รูปขอบขนานแกมไข่กลับ กลีบปากส่วนโคนคล้ายถุง หูกลีบ ปากขนาดใหญ่ ชี้ขึ้น คล้ายรูปไข่กลับ สีขาว พาดด้วยเส้นสีม่วง ที่โคนของหูกลีบแต่ละข้างมีสันนูนสีขาว ปลายกลีบปากชี้ไปข้างหน้า คล้ายรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ปลายสุดสีขาว ตรงกลางหยักลึก โคนแต้มด้วยสีม่วง
ตรงฐานของปลายกลีบปากมีกลุ่มเนื้อเยื่อนูน สีขาวคล้ายสันและมีส่วนของเนื้อเยื่อแหลมคล้ายเขี้ยว 2 อันเพิ่มเข้ามา เส้าเกสรยาว 0.4 เซนติเมตร ฝาครอบกลุ่มอับเรณูสีขาว พบในป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าดิบชื้น บางครั้งเจริญบนหิน ตามที่ร่มเงา หรือที่มีแสงแดดรำไร ช่วงเวลาในการออกดอกอยู่ระหว่างเดือนกันยายน - พฤศจิกายน
ที่มา : ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี, สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 (สุราษฎร์ธานี)
#กล้วยไม้ #ตากาฉ่อ #อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น #ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ #สุราษฎร์ธานี #กรมอุทยานแห่งชาติ
โฆษณา