29 ธ.ค. 2024 เวลา 03:13 • สิ่งแวดล้อม

โปรย ‘เพชร’ 5 ล้านตัน ในชั้นบรรยากาศ ช่วยโลกเย็นลง 1.6 °C แต่ต้นทุนสูงเกิน ไม่มีใครจ่ายไหว

นักวิทยาศาสตร์ผุดไอเดีย โปรย “กากเพชร” ไว้ในชั้นบรรยากาศเพื่อสะท้อนแสงแดดและทำให้โลกเย็นลง แม้ว่าการใช้เพชรอาจมีประสิทธิภาพและปลอดภัยกว่าการใช้อนุภาคอื่น แต่ราคาแพงจนทำไม่ได้จริง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ เหล่านักวิทยาศาสตร์ต่างเร่งหากทางที่จะทำให้ชั้นบรรยากาศเย็นลง วิธีการหนึ่งที่กำลังมีการพูดถึง คือ การเทคนิควิศวกรรมธรณีแสงอาทิตย์
ซึ่งเป็นการรฉีดละอองลอยในชั้นสตราโตสเฟียร์เพื่อลดการดูดซับความร้อนและสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์ออกจากโลก โดยเลือกใช้ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นอนุภาคที่จะฉีดเข้าไป
วิธีดังกล่าวน่าจะช่วยลดอุณหภูมิของโลกได้ แต่การฉีดกำมะถันเทียมก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสภาพอากาศมากมายเช่นกัน ละอองซัลเฟตประกอบด้วยหยดกรดซัลฟิวริกขนาดเล็ก ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักอย่างหนึ่งของฝนกรด ละอองเหล่านี้ยังสามารถทำลายชั้นโอโซนและทำให้เกิดภาวะโลกร้อนซึ่งส่งผลต่อสภาพอากาศและรูปแบบภูมิอากาศในชั้นบรรยากาศด้านล่างได้
ผู้เชี่ยวชาญได้เสนอแนะว่าอนุภาคชนิดอื่นอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า นั่นก็คือการใช้ “เพชร” หรือพูดให้ชัดเจนกว่านั้นคือ “กากเพชร” (Diamond Dust)
การฉีดอนุภาคเพชรเข้าไปในชั้นบรรยากาศอาจให้ประโยชน์ได้ดีเช่นเดียวกับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และทำให้เกิดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้น้อยลงอีกด้วย การศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Geophysical Research Letters พบว่า “กากเพชร” เป็นอนุภาคที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสงมากที่สุดและไม่จับตัวเป็นก้อนในขณะที่ลอยอยู่บนอากาศเป็นเวลานาน ซึ่งหมายความว่าสามารถตกตะกอนในชั้นบรรยากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีผลในการทำให้เย็นลงได้ยาวนานขึ้น
นอกจากนี้ เพชรยังเฉื่อยทางเคมีอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่มีภัยคุกคามจากฝนกรดหรือปฏิกิริยาที่ไม่สามารถคาดเดาได้อื่น ๆ
ผงเพชรเฉื่อย 5 ล้านตันอาจทำให้โลกเย็นลงเกือบ 1.6 องศาเซลเซียสในเวลา 45 ปี ซึ่งอาจช่วยบรรเทาผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น พายุที่รุนแรงขึ้น และการรบกวนระบบนิเวศ
ฟังดูเป็นทางออกที่ดี แต่ปัญหาอยู่ที่เพชรมีราคาแพงกว่ากำมะถันถึง 2,400 เท่า ซึ่งอาจต้องใช้เงินสูงถึง 175 ล้านล้านดอลลาร์ และ ต้องใช้เพชรในปริมาณมากกว่าที่ผลิตได้ทั่วโลกในปัจจุบันมาก
โฆษณา