24 ม.ค. เวลา 07:56 • คริปโทเคอร์เรนซี

LSS-EP5-หินไรแห่งเกาะแยป บิทคอยน์โบราณ ตำนานคริปโทเคอร์เรนซี

เมื่อประมาณ 500 ปีก่อน ชาวเกาะแยป พื้นที่เล็กๆในมหาสมุทรแปซิฟิก ได้สร้างนวัตกรรมที่คล้ายคลึงกับหลักการของบิทคอยน์ในปัจจุบันอย่างมาก นั่นก็คือหินไร มีลักษณะเป็นหินทรงกลมมีรูตรงกลาง ใช้แทนเงินบนเกาะแยป โดยการใช้งานสามารถส่งต่อกันได้โดยไม่ต้องขนหินไรมามอบให้กันเลย
ที่มาที่จะได้มาซึ่งหินไรก็ไม่ง่ายต้องทุ่มเทหยาดเหงื่อ แรงกาย เวลา หรือแม้กระทั่งชีวิต และนี่คือเรื่องเล่าตำนานจุดกำเนิดและจุดสิ้นจุดของหินไรแห่งเกาะแยป เชิญรับฟังครับ
ตอนนี้เนี่ยเป็นช่วงที่บิทคอยน์และบรรดาคริปโทเคอร์เรนซีกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งนะครับ หลังจากบิทคอยน์พุ่งไป 3 ล้านกว่าบาทแล้ว ซึ่งมันทำให้ผมนึกถึงเรื่องหนึ่งครับคือเรื่องของหินไรแห่งเกาะแยป ที่มีรูปแบบหลักการคล้ายกับบิทคอยน์ ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่านี่เป็นคริปโทเคอร์เรนซีรุ่นแรกๆได้เลยเชียวนะครับ
เกาะแยป ประกอบด้วยเกาะใหญ่ๆ 4 เกาะ แต่ภาพรวมแล้วก็ถือเป็นเพียงแค่เกาะเล็กๆ ปรากฏเป็นแค่จุดบนแผนที่โลก ที่ตั้งอยู่ในประเทศสหพันธรัฐไมโครนีเซีย ประเทศไมโครนีเซียตั้งอยู่ตรงไหน?
ถ้าท่านดูจากแผนที่จะพบว่าประเทศไมโครนีเซียเนี่ยตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก และถ้าแบ่งครึ่งมหาสมุทรแปซิฟิกตามแนวนอน ประเทศไมโครนีเซียเนี่ยจะอยู่ใกล้ๆเส้นนั้นแต่อยู่ทางด้านบนก็คือฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือนั่นเองครับ โดยอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ออกไป และอยู่เหนือใกล้ๆกับปาปัวนิวกินีหมู่เกาะโซโลมอนอีกที
ซึ่งพวกนี้จะอยู่บนทวีปออสเตรเลียอีกทีนั่นเองครับ ปัจจุบันประเทศนี้มีประชากรประมาณ 1 แสนคน อยู่บนเกาะแยปประมาณ 12,000 คน
ไอ้เกาะแยปแห่งนี้แหละเป็นที่อยู่ของตำนานคริปโทเคอร์เรนซีที่เรากำลังจะพูดถึงกัน เรื่องราวมันเกิดเมื่อประมาณ 500-600 ปีก่อนครับ ซึ่งตำนานการค้นพบหินไรเนี่ยมี 2 เรื่อง ซึ่งก็แต่ละอันมีเค้าความจริงแค่ไหน หรืออาจจะไม่จริงทั้งคู่ ก็คือ
ตำนานที่ 1 มีนักสำรวจชาวเกาะแยปท่านหนึ่งนามว่า อนากูมัง ได้รับคำสั่งจากเทพก็เลยพาพรรคพวกชาวเกาะแยปเนี่ยออกเดินทางไปถึงเกาะปะเลาห่างจากเกาะแยปไปทางทิศใต้ประมาณ 600 กิโลเมตร
ทำให้อนากูมังและพรรคพวกได้ไปเจอกับหินปูนจำนวนมากในถ้ำบนเกาะปะเลาซึ่งอนากูมังและพรรคพวกเนี่ยรู้สึกว่าไอ้หินปูนพวกเนี้ยมันสวยจังเลย และที่เกาะแยปไม่มี ชาวเกาะแยปก็เลยขนเอาหินปูนเหล่านี้เนี่ยแหละกลับ
ตำนานที่ 2 ตำนานนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเทพเกี่ยวกับการสำรวจอะไรเลยครับ แต่เรื่องมีอยู่ว่าชาวประมงกลุ่มหนึ่งออกหาปลาแล้วเกิดโดนพายุพลัดไปติดเกาะปะเลา และก็ดันไปเจอถ้ำแห่งหนึ่งที่มีหินปูนจำนวนมาก แล้วรู้สึกว่ามันสวยและดูมีค่าก็เลยขนกลับมาถวายพระราชาแทนปลาที่จับไม่ได้
ด้วยความที่จำนวนหินปูนบนเกาะปะเลามีจำกัด การสกัดก็ต้องใช้ทั้งฝีมือและความอดทนอย่างมาก และที่เกาะปะเลาเนี่ยก็มีชาวพื้นเมืองของเขาอยู่ครับ พอไปสกัดเอาหินเขาบ่อย ๆ ขึ้น ชาวปะเลาก็ไม่ได้อยู่เฉยๆให้ชาวเกาะแยปเอาไปได้ง่ายๆ มีการคิดค่าสัมปทานแลกเปลี่ยนเพื่ออนุญาตให้ชาวเกาะแยปมาขุดสกัดหินด้วยมะพร้าวแห้งกับลูกปัด
และระหว่างทำงานสกัดหินปูนพวกนี้ไปก็ต้องกินต้องนอนใช่ไหมครับ ชาวเกาะแยปก็ต้องแลกอาหารกับที่หลับนอนด้วยการทำงานรับจ้างทำงานต่าง ๆ ให้กับชาวเกาะปะเลาเพื่อแลกเปลี่ยน ไปต่างบ้านต่างเมืองอะครับ เขาใช้ให้ทำอะไรก็ต้องทำ อารมณ์เหมือนไปเป็นแรงงานต่างด้าวเลยครับ
พอสกัดได้หินปูนแล้วใช่ไหมครับ การขนกลับมาเนี่ยก็หนัก ยากลำบาก ใช้คนช่วยกันขนหลายคน เดินทางสุดแสนจะไกล ใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะไปถึงและเป็นเดือนกว่าจะกลับ สมัยนั้นต้องพายเรือไปเองครับ ระหว่างทางก็อาจจะโดนพายุเรือคว่ำ หลาย ๆ ครั้งคนขนถึงกับต้องเอาชีวิตไปทิ้งเลยครับ
คิดดูสิครับเดินทางมาเป็นเดือน ต้องขนข้าวของมาให้ชาวเกาะปะเลาเพื่อเป็นค่าขุดสกัดหิน ต้องทำงานรับจ้างให้ชาวปะเลา แล้วขนหินหนัก ๆ เดินทางอีกเป็นเดือนกลับบ้าน ดีไม่ดีอาจจะตาย ทำให้ชาวเกาะแยปจึงให้มูลค่ากับหินปูนเหล่านี้เป็นอย่างมาก
มีความเชื่อว่าหินปูนคือสิ่งที่แสดงฐานะความร่ำรวย เป็นของมีค่า และในที่สุดก็กลายเป็นสื่อกลางของการแลกเปลี่ยนหรือเงินในที่สุด โดยการเปลี่ยนหินปูนเหล่านี้ให้กลายเป็นหินไร สะกดเป็นภาษาอังกฤษว่า r a i สันนิษฐานกันว่าคำว่าไรเนี่ยอาจจะหมายถึงปลาวาฬในภาษาแยป เพราะหินไรก้อนแรกมีลักษณะคล้ายกับปลาวาฬนั่นเองครับ
โดยการทำหินไรเนี่ยก็ทำได้โดยการเกลาหินปูนที่ได้มาให้เป็นวงกลมมีรูตรงกลางคล้ายโดนัทเพื่อให้สอดคานหามได้ สะดวกต่อการขนย้ายนั่นเอง ซึ่งหินไรนี้มีขนาดตั้งแต่เล็ก ๆ มือถือได้จนไปถึงขนาดใหญ่ ก้อนที่ใหญ่ที่สุดมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 ฟุต หนัก 4 ตันหรือ 4000 กิโลกรัมเลยทีเดียว
ไอ้หินก้อนที่ใหญ่ที่สุดนี้ปัจจุบันยังอยู่ด้วยนะครับ สามารถไปเที่ยวชมได้ ส่วนหินไรขนาดอื่นๆปัจจุบันก็กระจายไปตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆทั่วโลก มูลค่าของหินไรแต่ละก้อนไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดเพียงอย่างเดียวเท่านั้นครับ ยังขึ้นอยู่กับฝีมือในการทำให้เป็นหินไร ประวัติของหินไรก้อนนั้น อย่างเช่นกะลาสีที่ไปนำมันมาเป็นใคร? มีชื่อเสียงแค่ไหน? หรือแม้กระทั่งระหว่างขนกลับมามีคนตายหรือไม่?
นอกจากนี้ยังมีตำนานเล่าต่อๆกันมาอีกว่าก่อนที่จะค้นพบหินปูนบนเกาะปะเลา ชาวเกาะแยปได้เคยพยายามสร้างหินไรด้วยหินท้องถิ่นก่อนแล้ว แต่ความพยายามดังกล่าวก็ต้องล้มเลิกไปก่อนเนื่องจากได้เกิดสงครามระหว่างเผ่าขึ้นบนเกาะ
เรื่องราวของหินไรมันน่าสนใจตรงที่ชาวเกาะแยปไม่ได้ทำเป็นหินไรแล้วให้กันไปกันมา ใครมีหินไรเยอะก็จบไปเพียงเท่านั้น ยังพบว่าชาวเกาะแยปเนี่ยได้มีการจัดบันทึกเอาไว้ด้วยครับหินไรบนเกาะเนี้ยมีรวมทั้งหมดเท่าไหร่ และใครครอบครองเท่าไหร่บ้างเป็นรายบุคคลเลยครับ
และการจดบันทึกแบบนี้ไม่ได้ทำกันคนเดียวนะครับ ทำกันแบบนี้เหมือนกันพร้อมกันทุกคนตั้งแต่หัวหมู่บ้านยันท้ายหมู่บ้าน พวกหินไรเล็กๆมีมูลค่าน้อยก็เปลี่ยนมือกันเฉย ๆได้ง่าย ๆไม่ซับซ้อนอะไร แต่ไอ้พวกหินไรที่มีขนาดใหญ่และหนักหลายตัน มันขนไปส่งกันไม่ได้ง่าย ๆ ใช่ไหมครับ แต่สามารถครอบครองเป็นเจ้าของและแลกเปลี่ยนแทนเงินได้ด้วย
แม้ว่าหินไรก้อนนั้นจะตกลงไปในมหาสมุทรระหว่างขนย้ายด้วยก็ตาม โดยไม่ต้องขนย้ายไปวางหน้าบ้านแสดงความเป็นเจ้าของเลย ตรงนี้น่าสนใจใช่ไหมครับ ว่าเขาทำกันยังไง? เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังครับ
บรรดาหินไรก้อนใหญ่สามารถเปลี่ยนเจ้าของโดยไม่ต้องเปลี่ยนมือหรือเคลื่อนย้ายได้เลยด้วยวิธีที่สุดแสนจะฉลาดล้ำของชาวเกาะแยป เนื่องจากหินบนเกาะมีการจดบันทึกไว้อยู่แล้วใช่ไหมครับ การเปลี่ยนมือเปลี่ยนเจ้าของก็ทำได้โดยการป่าวประกาศออกไปเลยว่าหินไรก้อนนี้ ๆ มูลค่าเท่านี้ ๆ ได้เปลี่ยนเจ้าของจากผู้ใหญ่บ้านไปเป็นของชาวบ้านท้ายเกาะแล้วอะไรก็ว่าไปพร้อมกับให้ทุกคนช่วยกันจดว่าตอนนี้หินส่วนไหน ก้อนไหน กลายเป็นของใครไปแล้ว
ซึ่งวิธีการแบบนี้มันทำได้ในชุมชนเล็กๆแบบชาวแยปแบบนี้ และมันก็ทำให้ทุกคนสามารถทราบโดยเปิดเผยเลยครับว่าหินไรนั้น ๆ เนี่ยตอนนี้เป็นของใคร และเคยผ่านมือใครมาก่อนหน้านี้บ้าง จำที่ผมเกริ่นไว้ก่อนนี้ได้ไหมครับว่าแม้แต่หินที่ตกลงไปในมหาสมุทรระหว่างขนย้ายก็ยังสามารถกลายเป็นหินไรแลกเปลี่ยนกันได้ เขาใช้วิธีแบบนี้ครับ พอคนขนเนี่ยกลับมาที่เกาะก็บอกเรื่องการทำหินตกในมหาสมุทรแปซิฟิกให้คนบนเกาะฟัง คนบนเกาะก็เห็นใจครับก็เลยตกลงกันว่า เอางี้แล้วกันหินก้อนนั้นพวกเราก็ยังนับมันนะ
ให้ถือว่าเป็นของคนที่ไปขนมันมาแล้วกัน พวกเรามาช่วยจดบันทึกไปพร้อมๆกันนะ ก็เลยกลายเป็นหินไรหรือเงินไปเสียแบบนี้เลยครับ ที่เขาทำแบบนี้ได้ก็ไม่ได้เกี่ยวกับว่าหินนั้นมันมีจริงไหม? ขนาดเท่าไหร่? แต่เพราะว่าระบบการจดบันทึกโดยถ้วนทั่วกันและปริมาณอุปทานหรือซัพพลายของหินไรที่มันมีจำกัดนั่นเองครับ การโกงก็ทำได้ยากครับแบบนี้ เพราะบันทึกนี้มันจะเหมือนๆกันทุกบ้าน ถ้าบ้านไหนลืมหรือจดผิดก็ยังมีอีกหลายๆหลังที่จดอยู่
เราจะเห็นว่าระบบระเบียบการเงินแบบนี้มันละม้ายคล้ายกับบิทคอยน์หรือบรรดาคริปโทเคอร์เรนซีในปัจจุบันเลยใช่ไหมล่ะ ท่านใดที่ฟังมาถึงตรงนี้เกิดฮึดอยากจะปิดเลิกฟังผมไปเสียเดี๋ยวนี้แล้วออกไปล่าหินไรสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองตอนนี้ ผมคงต้องรีบขอเบรกท่านไว้แล้วบอกว่าเดี๋ยวก่อนครับ
ช่วยฟังให้จบก่อนอีกสักนิด เพราะหินไรตอนนี้มันไม่ได้มีค่าแบบในอดีตแล้วครับ ภาษาวัยรุ่นคริปโตก็คือมันแตกไปแล้ว หรือฟองสบู่แตกไปแล้วครับ จากสาเหตุที่ผมจะเล่าดังต่อไปนี้
ประมาณช่วงปี ค.ศ.1871 ไม่รู้ว่าฟ้าประทานหรือสวรรค์กลั่นแกล้ง อยู่ๆเรือหาหอยมุกลำหนึ่งของชาวตะวันตกเกิดโดนพายุอับปางลงคนตายยกลำ รอดมาได้คนเดียวก็คือกัปตันเรือที่ชื่อกัปตัน เดวิด โอคีฟ (DAVID DEAN OKEEFE) ชาวอเมริกันไอริช
โดยตัวของกัปตันโอคีฟเนี่ยโดนคลื่นซัดมาติดเกาะแยปนั่นเอง ชาวเกาะแยปใจดีครับก็ช่วยรักษาพยาบาลดูแลจนกัปตันโอคีฟหายดีและใช้ชีวิตอยู่ที่เกาะแยปแห่งนี้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ทำให้เขาเห็นหินไรและเกิดไอเดียในการสร้างรายได้ ก่อนที่จะโบกเรือสัญชาติเยอรมันที่ผ่านมาเพื่อเดินทางกลับฮ่องกง และหาเรือลำใหม่มุ่งหน้ากลับมาที่เกาะแยปแห่งนี้
กัปตันโอคีฟก็เลยมาจับธุรกิจขนส่งให้กับชาวเกาะแยปครับ โดยแทนที่ชาวเกาะแยปต้องต่อเรือ พายเรือเสี่ยงอันตรายไปเกาะปะเลา ก็มาเช่าเรือของโอคีฟแทน ทำให้ชาวเกาะแยปสามารถสกัดหินปูนบนเกาะปะเลามาได้ครั้งละมาก ๆ รวดเร็ว และปลอดภัย โดยกัปตันโอคีฟเรียกค่าบริการเป็นมะพร้าวแห้งกับปลิงทะเล ว่ากันว่ากิจการของโอคีฟเจริญรุ่งเรืองมาก เขาทำเงินได้มากถึง 5 แสนดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 17 ล้านบาท ซึ่งในสมัยนั้นก็เป็นจำนวนเงินที่มหาศาลมาก ๆ
ตลอดระยะเวลา 30 ปี มีภรรยาเป็นชาวเกาะแยปถึง 2 คน ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลง แต่กว่าที่เขาจะเสียชีวิตลงเขาได้ทำให้ชาวแยปมีหินไรเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกิดเป็นภาวะเงินเฟ้อ มูลค่าของหินไรลดลงอย่างรวดเร็ว หินไรยุคหลัง ๆ ถูกนักประวัติศาสตร์เรียกว่าเงินของโอคีฟซึ่งหินที่ได้มาจากบริการของโอคีฟนี้ถูกตีมูลค่าให้ถูกกว่าหินไรยุคก่อน ๆ แม้จะมีขนาดใหญ่กว่าก็ตาม
สุดท้ายครับปลายศตวรรษที่ 19 ต้นศตวรรณที่ 20 เกิดความขัดแย้งระหว่างสเปนและเยอรมัน ซึ่งเป็นคู่ค้ากับประเทศไมโครนีเซียทั้งคู่ จนทำให้เยอรมันประกาศห้ามเดินทางระหว่างหมู่เกาะ ชาวเกาะแยปเลยไม่สามารถเดินทางไปเกาะปะเลาเพื่อผลิตหินไรได้อีกต่อไป จริงๆมันน่าจะดีใช่ไหมครับ? ทำให้ปริมาณหินไรหรือซัพพลายของมันจะได้ไม่เพิ่มขึ้น เงินจะได้ไม่เฟ้อ
แต่ชาวเกาะแยปเห็นว่ามันก็เฟ้อจนจะไม่มีค่าอยู่แล้วประกอบกับชาวเกาะแยปได้มีโอกาสรู้จักโลกภายนอกมากขึ้นได้เห็นเงินรูปแบบอื่นของชาวตะวันตก เลยถือโอกาสนี้เลิกใช้หินไรเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนไปเสียเลย
มีรายงานว่าเมื่อปี ค.ศ.1930 ชาวญี่ปุ่นได้เดินทางมาที่เกาะแยปและจดบันทึกกลับไปว่าบนเกาะแยปแห่งนี้มีหินไรมากกว่า 13,000 ก้อน ซึ่งดูกลายเป็นสิ่งไร้ค่าไปแล้ว บ้างถูกนำมาใช้เป็นสมอเรือ บ้างก็เอามาถมดินเฉยๆ บ้างก็ปล่อยทิ้งอยู่กับที่ไปเฉย ๆ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีชาวแยปบางส่วนใช้หินไรเป็นสัญลักษณ์ของของขวัญที่ให้กันในพิธีกรรมต่าง ๆ อยู่
#history #ที่นี่มีเรื่องเล่า #ประวัติศาสตร์ #longstoryshort #หินไร #raistone #cryptocurrency #บิทคอยน์โบราณ
โฆษณา