29 ม.ค. เวลา 14:00 • ธุรกิจ

‘ลัคกี้ สุกี้’ เปิด 3 ปี รายได้ ‘1 พันล้าน’ ม้ามืดท้าชิงสุกี้ตี๋น้อย?

หรือ “สุกี้ตี๋น้อย” จะเจอผู้ท้าชิงรายใหม่? คุยกับเจ้าของ “ลัคกี้ สุกี้” ตัดสินใจเปิดร้านแม้ไม่เคยทำธุรกิจอาหารมาก่อน เชื่อแบรนด์โตได้เพราะลงมือทำเองตั้งแต่คิดเงินไปจนถึงล้างจาน! ปีนี้เร่งขยายเพิ่มอีก 20 แห่ง วางเป้าทะยานสู่ “2 พันล้านบาท” หมายมั่นดันธุรกิจ IPO ตั้งแต่วันแรก
นับจากวันก่อตั้งจนถึงขณะนี้ “ลัคกี้ สุกี้” กำลังจะมีอายุครบ 3 ปี ในวันที่ 27 มกราคม 2568 จากปีแรกที่มีรายได้ 79 ล้านบาท ปีถัดมา “ลัคกี้ สุกี้” ทะยานสู่ 409 ล้านบาท และสิ้นปีที่ผ่านมาร้านสุกี้น้องใหม่แห่งนี้ทำรายได้ทะลุ “พันล้านบาท” ได้สำเร็จ
“แอน-รสรินทร์ ติยะวราพรรณ” หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านลัคกี้ สุกี้ บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สูตรโตของ “ลัคกี้ สุกี้” ไม่มีอะไรมากไปกว่าการที่ผู้บริหารทุกคนยังใช้เวลาอยู่กับร้านเหมือนเดิมทุกวัน เธอบอกว่า แม้แต่การเป็นแอดมินตอบคำถามหลังบ้าน ก็เป็นเธออีกนั่นแหละที่เข้าไปแก้ปัญหาให้ลูกค้าด้วยตัวเอง
ใครจะคิดว่า ร้านสุกี้ที่โตเร็วและแรงขนาดนี้ เกิดจากเจ้าของที่ไม่เคยคร่ำหวอดในธุรกิจร้านอาหารมาก่อนแม้แต่คนเดียว “รสรินทร์” รับหน้าที่ดูแลงานด้านการตลาด งานขาย และสร้างแบรนดิ้ง เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ก่อนจะต่อปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจ เธอมีโอกาสนำวิชาที่ร่ำเรียนมาช่วยธุรกิจอาหารสัตว์ที่บ้านอยู่บ้าง รวมถึงการเปิดร้านกาแฟ “Rolling Roasters” หรือที่คนแถวนั้นเรียกกันติดปากว่า “กาแฟลูกโลก”
ดูแลร้านกาแฟได้สักพัก รสรินทร์ก็ได้เจอกับลูกค้าประจำที่มากินบ่อยๆ จนมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เธอเล่าว่า คุยไปคุยมาก็รู้สึกว่า เคมีตรงกัน จึงเอ่ยปากชักชวนลูกค้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจ ซึ่งธุรกิจที่เธอเสนอไอเดียก็คือการเปิดร้านสุกี้ โดยก่อนหน้านั้น รสรินทร์เริ่มศึกษาตลาดสุกี้มาพักใหญ่ มั่นใจว่าทำได้ เพราะเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโต และหวังว่า จะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ตลาดไปข้างหน้า
ใช้เวลาหลังจากนั้นเพียง 3-4 เดือน ก็ออกมาเป็นร้านลัคกี้ สุกี้ สาขาแรก จากหุ้นส่วน 2 คน ขยายมาเป็น 4 คน โดยที่ไม่มีใครเคยทำธุรกิจอาหารมาก่อน แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัดสินใจร่วมหัวจมท้ายมาด้วยกัน เพราะตั้งต้นจากโจทย์สั้นๆ ง่ายๆ นั่นคือ ตัวเราต้องการกินอาหารแบบไหน อยากส่งต่ออะไรให้กับลูกค้ากันแน่
รสรินทร์บอกว่า หมุดหมายคือต้องเป็น “มากกว่าร้านสุกี้” คือบรรยากาศร้านต้องดี เพราะไม่ใช่ทุกร้านที่จ่ายราคานี้แล้วจะได้กลิ่นอายเดียวกัน ความสะอาดก็สำคัญไม่แพ้กัน รวมถึงคำติชมจากลูกค้าที่หากได้รับฟีดแบ็กต้องรีบเก็บมาพัฒนาต่อทันที
สูตรโตที่รสรินทร์มองว่า เป็นคีย์หลักส่งให้ธุรกิจโตเร็วกว่าคาด คือการที่หุ้นส่วนทุกคนยังอยู่กับธุรกิจ เมื่อเริ่มต้นจากความไม่รู้ จึงเลือกที่จะ “ใส่สุด” กับทุกๆ รายละเอียด เป็นเพราะทุกคนมีธุรกิจของตัวเองอยู่แล้ว การทำร้านลัคกี้ สุกี้ จึงไม่ได้คิดเรื่องกำไร-ขาดทุนเป็นตัวแปรลำดับต้นๆ มีการพูดคุยร่วมกันกับหุ้นส่วนทั้ง 4 คนตั้งแต่แรกว่า ถ้าเปิดร้านแล้วไม่เวิร์ก อนาคตเกิดเจ๊งขึ้นมาก็แยกย้ายกลับไปทำธุรกิจของตัวเองกันต่อก็ได้
ปัจจุบัน “ลัคกี้ สุกี้” มีทั้งหมด 20 สาขา พร้อมกับแบรนด์ใหม่ในเครือ “ลัคกี้ บาร์บีคิว” จากการมองเห็นโอกาสที่ยังไม่มีเจ้าตลาดเหมือนฝั่งสุกี้ รสรินทร์บอกว่า “ลัคกี้ บาร์บีคิว” แตกต่างจากร้านสุกี้โดยสิ้นเชิง ทั้งการตกแต่งที่เน้นสไตล์ญี่ปุ่น ผุดไอเดียเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ จนยก “สลัดบาร์” มาไว้ภายในร้าน เพิ่มไลน์ของกินเล่นอย่างปลาซาบะ ยากิโซบะ ไข่ตุ๋น เกี๊ยวซ่า ฯลฯ โดยราคาจะขยับขึ้นจากฝั่งสุกี้ราวๆ 80 บาท ตามคอนเซปต์เดิมที่รสรินทร์บอกว่า อยากให้ลูกค้าได้กินของดีแบบที่ไม่ต้องจ่ายเยอะ
โฆษณา