2 ก.พ. เวลา 03:22 • ประวัติศาสตร์

LSS-EP.6–ชนวนเหตุสงครามกลางเมืองซูดาน

สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในซูดานอยู่ตอนนี้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ประชาชนอยู่กันอย่างหวาดผวาขาดแคลนน้ำและอาหาร เกิดจากความขัดแย้งทางอำนาจของ พลเอกอับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบันและผู้นำกองทัพซูดาน กับพลเอก โมฮาเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล เฮเม็ดติ รองประธานาธิบดีและผู้บัญชาการกองกำลัง RSF ทั้งสองบิ๊กนี้ขัดแย้งกันเรื่องอะไรถึงนำไปสู่สงครามการเมืองได้
ก่อนอื่นผมต้องขอเล่า setting ของประเทศซูดานก่อน ซูดาน เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกาตอนเหนือ ทิศเหนือติดประเทศอียิปต์ ทิศตะวันออกติดทะเลแดง มีพื้นที่ 1.8 ล้านตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าประเทศไทยเป็น 3 เท่า มีประชากรประมาณ 45 ล้านคน เมืองหลวงชื่อเมืองคาร์ทูม
แผนที่ประเทศซูดาน
ซูดานไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมากนัก แต่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นอย่างมากเพราะด้วยความที่ทิศตะวันออกติดทะเลแดงซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งน้ำมันในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยไม่มีสถานทูต มีแต่สถานกงสุลกิตติมศักดิ์
ช่วงนี้เราจะเห็นข่าวสงครามกลางเมืองในกรุงคาร์ทูมและเมืองอื่น ๆ ในประเทศซูดาน สร้างความเสียหายต่อสนามบิน อาคารบ้านเรือน สถานที่สำคัญทางราชการ โรงพยาบาล รวมไปถึงชีวิตทั้งทหารและพลเรือนอย่างมากและมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนหลายคนเสียชีวิตอยู่กลางถนนและไม่สามารถเก็บศพได้เพราะอยู่ในพื้นที่สมรภูมิสู้รบ ประชาชนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องอยู่อย่างหวาดผวาออกไปไหนไม่ได้ ไม่มีทั้งไฟฟ้า ประปา น้ำสะอาดและอาหาร
ที่มาที่ไปที่นำไปสู่ความขัดแย้งบานปลายเป็นสงครามกลางเมืองในซูดานเป็นอย่างไร วันนี้ผมและรายการ Long story short จะมาเล่าให้ฟังครับ
ประเทศซูดานถูกจำกัดความจากสหประชาชาติว่าเป็นรัฐล้มเหลวเพราะปกครองในระบอบเผด็จการมาตลอด มีการรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้ง แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นมาบ้างแต่ก็มักจะถูกตั้งข้อสงสัยเพราะได้ผู้นำคนเดิมกลับมาตลอด
ปี 1989 ชื่อแรกที่เราต้องให้ความสนใจก็คือโอมาร์ อัล บาเซียร์ ได้ทำการรัฐประหารและยึดอำนาจการปกครองเป็นประธานาธิบดีเองตั้งแต่ปี 1992-2019 กินระยะเวลาเกือบ 30 ปี
ระหว่างดำรงตำแหน่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ไม่ว่าจะเป็นการที่ตอนใต้ของประเทศประกาศขอเป็นเอกราชกลายเป็นเป็นประเทศซูดานใต้ หรือสงครามปราบกบฏในแคว้นดาร์ฟูร์ โดยเฉพาะในสงครามปราบกบฏในแคว้นดาร์ฟูร์ตรงนี้มีความน่าสนใจดังนี้ครับก็คือประธานาธิบดีโอมาร์ อัล บาเซียร์ให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธ จันจาวีด มีชื่อเสียงอื้อฉาวจากการปราบปรามกลุ่มกบฏในแคว้นดาร์ฟูร์อย่างโหดเหี้ยมจนถูกตั้งข้อหาสังหารหมู่จากองค์การระหว่างประเทศ
โอมาร์ อัล บาเซียร์
กองกำลังกลุ่มติดอาวุธนี้ภายหลังพัฒนามาเป็นกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Support Forces หรือ RSF) ซึ่งเป็นกองกำลังรบกึ่งทหารที่ไม่ได้สังกัดกองทัพซูดานแต่ขึ้นตรงกับประธานาธิบดีโดยตรง กองกำลัง RSF มีผู้นำชื่อโมฮาเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล เฮเม็ดติ กองกำลัง RSF มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีอำนาจขนาดสามารถแทรกแซงความขัดแย้งในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เยเมน และลิเบีย รวมทั้งเข้าควบคุมธุรกิจเหมืองทองคำหลายแห่งในซูดาน
โอมาร์ อัล บาเซียร์ มีอำนาจตั้งแต่ช่วงปี 1989 ซึ่งเป็นปีที่สงครามเย็นสิ้นสุดแล้ว อุซามะฮ์ บิน ลาดิน ที่ก่อนหน้านี้ได้ก่อตั้งกลุ่มอัลกออิดะห์ช่วยเหลือ CIA มาก่อน แต่พอสงครามเย็นสิ้นสุดก็เลยย้ายออกจากอัฟกานิสถานไปซาอุดิอาระเบีย
ต่อมาปี 1990 เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย ซัมดัม ฮุสเซน บุกคูเวต ทำให้สหรัฐฯมาตั้งฐานทัพในประเทศซาอุดิอาระเบียและประเทศรอบอ่าว บิล ลาดิน ตอนนั้นไม่เห็นด้วยและแสดงออกถึงการต่อต้านการที่สหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพในกลุ่มประเทศรอบอ่าว ทำให้อยู่ซาอุฯ ต่อไปไม่ได้ต้องหนีไปอัฟกานิสถานซึ่งภายหลังถูกไล่ล่าก็เลยต้องหนีไปซูดาน
สาเหตุที่บิน ลาดิน หนีไปซูดานก็เนื่องมาจากซูดานเวลานั้นอนุญาตให้ชาวมุสลิมเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าประกอบกับบิน ลาดินเวลานั้นเป็นคนรวยคนหนึ่ง ซูดานเลยต้อนรับให้บิน ลาดินมาลงทุน ทำให้สหรัฐฯไม่พอใจรัฐบาลซูดาน ส่งผลให้ความสัมพันธ์แย่ลง
จนในที่สุดสหรัฐฯหันไปสนับสนุนฝ่ายค้านพร้อมกับขึ้นบัญชีซูดานเป็นรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้าย แต่ต่อมาภายหลังเกิดเหตุ 911 สหรัฐฯ เลยเปลี่ยนนโยบายท่าทีต่อซูดาน โดยไม่เน้นเรื่องประชาธิปไตยแล้ว แต่เน้นให้ประเทศซูดานมีเสถียรภาพก็พอ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศค่อยๆดีขึ้นอีกครั้ง
ปี 2019 ได้เกิดการประท้วงในประเทศซูดานส่งผลให้พลเอกอับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้นำกองทัพซูดาน ร่วมมือกันกับพลเอกโมฮาเหม็ด ฮัมดัน ผู้นำกองกำลัง RSF ทำการรัฐประหารประธานาธิบดีโอมาร์ อัล บาเซียร์ เป็นผลสำเร็จก่อนจะจับโอมาร์ขังคุกจนถึงทุกวันนี้
ตอนแรกที่บิ๊กทั้งสองร่วมมือกันทำรัฐประหารโค่นล้มโอมาร์และร่วมกันปกครองซูดาน ประชาชนซูดานตอนแรกดีใจใหญ่เลยครับ รู้สึกว่าประเทศตัวเองมีความหวัง ได้ปลดแอกจากทหารเสียที แต่ไป ๆ มากลายเป็นว่าซูดานก็ยังคงอยู่ใต้การปกครองของเผด็จการทหารเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนคน
อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน
ภายหลังทำการรัฐประหารสำเร็จคณะรัฐประหารได้ตั้งสภาทหารเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลพลเรือนและสัญญากับประชาชนว่าจะให้เลือกตั้งราวปี 2022 แต่ภายหลังได้รับแรงกดดันจากหลายฝ่ายจึงแปลงสภาพสภาทหารเป็นสภาอธิปไตยเพื่อการเปลี่ยนผ่านและตั้งนายกรัฐมนตรีจากพลเรือนขึ้นมาบริหาร ซึ่งสภาอธิปไตยฯนี้ได้มีข้อตกลงว่าสมาชิกในสภานี้จะไม่มีสิทธิลงเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไปเพื่อป้องกันการสืบทอดอำนาจ
แต่ยังไม่ทันอะไรเลยครับเดือนตุลาคม ปี 2021 ประชาธิปไตยของซูดานก็ต้องรอคอยต่อไปอีกเมื่อพลเอกอับเดลได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจอีกครั้ง ตั้งสภาทหารและขึ้นปกครองซูดานเองสาเหตุหลักๆก็มาจากรัฐบาลพลเรือนมีความพยายามจะลดอำนาจของกองทัพนั่นเอง
โดยก่อนทำการรัฐประหาร 2-3 วัน ซูดานเพิ่งทำข้อตกลงปรับระดับความสัมพันธ์กับอิสราเอลให้ความสัมพันธ์ให้สองประเทศดีขึ้น โดยซูดานหวังให้อิสราเอลช่วยพูดกับสหรัฐฯให้หากนายพลอับเดลทำการรัฐประหารอีกครั้งนั่นเอง
วันเวลาผ่านไป ชวนเหตุที่ทำให้นายพลทั้งสองเริ่มแตกคอกันก็ได้เริ่มต้นชัดเจนขึ้นจากการที่มีความพยายามจะรวมกองทัพซูดานและกองทัพ RSF เป็นกองกำลังเดียวกัน ซึ่งการรวมกองทัพนี้เป็น 1 ในเงื่อนไขในการพาประเทศเข้าสู่ประชาธิปไตย
แต่ปัญหาก็คือเมื่อรวมกันแล้วใครจะใหญ่กว่าใคร จะแบ่งอำนาจกันยังไง และสมาชิกของ RSF ก้ไม่ต้องการตกเป็นกองกำลังชั้นสองรองจากทหารในกองทัพซูดาน ตัวละครใหม่ที่น่าสนใจอีกข้างหนึ่งก็คือรัสเซียครับ นายพลทั้งสองมีความใกล้ชิดกับรัสเซียด้วยกันทั้งคู่
พลเอกโมฮาเหม็ด ฮัมดัน ผู้นำ RSF อยากให้รัสเซียมาตั้งฐานทัพที่ท่าเรือซูดาน แต่ทางกองทัพที่นำโดยพลเอกอับเดลประธานาธิบดีไม่ได้ไม่เห็นด้วยที่จะให้รัสเซียเข้ามานะครับแต่มองว่าสิทธิในการอนุญาตให้รัสเซียมาตั้งฐานทัพเนี่ยควรเป็นอำนาจของกองทัพมากกว่า
โมฮาเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล เฮเม็ดติ
นายพลทั้งสองจึงพยายามเพิ่มอำนาจของตัวเอง สถานการณ์แบบนี้ตรึงเครียดขึ้นทุกทีก่อนจะเปิดฉากยิงสู้รบกันเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็มีอาวุธหนักและกองกำลังที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในการสู้รบเป็นอย่างดี
เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่กี่เดือนก่อนเกิดสงครามกลางเมืองซูดาน ตัวแทนระดับสูงทั้งจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อิสราเอล ซาอุดิอาระเบีย ยูเออี ได้เดินทางไปเยือนเมืองคาร์ทูมก่อนจะออกมาประกาศอพยพพลเมืองโดยไม่มีสัญญาณแจ้งเตือนให้ระวังตัวก่อน แสดงให้เห็นว่าพวกชาติเหล่านี้เห็นสัญญาณมาก่อนหน้านี้นานแล้ว
สหประชาชาติและประชาคมโลก กลุ่มสันนิบาตอาหรับได้มีความพยายามเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายยุติการสู้รบและหันหน้ามาเจรจากัน แม้กระทั่งสหรัฐฯ ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ไปด้วย เนื่องจากขบวนรถทางการทูตของสหรัฐฯ ในซูดานถูกกระสุนไม่ทราบฝ่ายยิงใส่ แต่โชคยังดีที่ทุกคนในขบวนรถปลอดภัย
หลายฝ่ายต่างกังวลว่าการสู้รบในซูดานอาจลุกลามบานปลายเป็นสงครามกลางเมืองซ้ำเติมปัญหาความยากจนและภาวะเศรษฐกิจถดถอยของชาวซูดานเข้าไปอีก เพราะปัจจุบันนี้ซูดานก็ติดอันดับประเทศยากจนอันดับต้นๆของโลกอยู่แล้ว
แม้ล่าสุดทั้งสองฝ่ายจะยอมหยุดยิงช่วยคราวเพื่อเปิดทางให้ประชาชนได้อพยพและกักตุนอาหาร แต่นายพลดากาโลประกาศว่ากองกำลัง RSF จะไม่หยุดจนกว่าจะยึดฐานทัพของกองทัพซูดานได้ทั้งหมด
ขณะที่กองทัพซูดานก็ไม่น้อยหน้าประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมเจรจาใดๆจนกว่ากองกำลัง RSF จะสลายตัว นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าถ้าหากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติได้ สงครามครั้งนี้จะไม่มีผู้ชนะเด็ดขาดในเร็ววันนี้ และอาจจะยืดเยื้อต่อไปอีกหลายเดือน
ทางช่อง Hi story และรายการ Long story short ขอเป็น 1 กำลังใจให้ประชาชนชาวซูดานและขอให้สงครามกลางเมืองในซูดานสิ้นสุดลงโดยเร็ว
#สงคราม #สงครามกลางเมือง #ซูดาน #สาเหตุ #history #ที่นี่มีเรื่องเล่า #ประวัติศาสตร์ #longstoryshort
โฆษณา