Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เรื่องเล่าของสาว(เหลือ)น้อย
•
ติดตาม
11 ก.พ. เวลา 10:22 • ประวัติศาสตร์
โมนาลิซ่าแห่งเอเซีย พเยียแห่งรัฐฉาน
ภาพวาดทั้ง ๗ ภาพนี้ วาดโดยเซอร์ เจอรัลด์ เคลลี (Sir Gerald Kelly) จิตรกรชาวอักฤษผู้หลงใหลในวัฒนธรรมพม่า เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๓๒ เจ้านางอ่องยุนท์ ผู้เป็นธิดาของเจ้าฟ้าแห่งสีป้อ เมืองที่เจริญมากในรัฐฉาน ผู้มีความงดงามเพียบพร้อมตามแบบสาวชาววังสีป้อ รูปร่างสูงโปร่ง ใบหน้ารูปไข่ ดวงตาโตดำขลับ เจ้านางเสด็จเยือนอังกฤษพร้อมด้วยเสืออุงจ่า เจ้าฟ้าเมืองสีป้อ ซึ่งเป็นพี่เขย ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ๑๙๓๑ - มกราคม ๑๙๓๒
เมื่อท่านเซอร์ เจอรัลด์ พบเจ้านาง จึงขอให้เจ้านางเป็นแบบวาดภาพ จำนวน ๘ ภาพ (แม่เหน่งหามาได้แค่ ๗ ภาพ) ในอิริยาบถมุมต่างๆ อันเป็นที่มาของสมญานาม "โมนาลิซ่าแห่งเอเซีย"
ส่วน "พเยียแห่งรัฐฉาน" นี้แม่เหน่งตั้งให้เองแหละ ให้เป็นประโยคคล้องจองกับ "โมนาลิซ่าแห่งเอเชีย" แต่ก็แฝงไว้ด้วยความหมายนะคะ พเยีย เป็นคำยืมมาจาก ภาษาเขมร แปลว่า พวงดอกไม้/ดอกไม้ เมื่อเอ่ยถึง"พเยีย" ชวนให้เรานึกถึง สาวน้อยหน้าหวานคำพูดคำจาไพเราะ มักเกล้าผม และทัดดอกไม้ขาวกลิ่นหอม มีนักประพันธ์ท่านหนึ่งเขียนไว้เช่นนั้น ซึ่งตรงกับความงามและเอกลักษณ์ของเจ้านางอ่อง
ยุนท์
ภาพวาดเจ้านางอ่องยุนท์ เกล้าผมมวยทัดดอกพุดซ้อน ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น "โมนาลิซ่าแห่งเอเซีย"
เจ้านางอ่องยุนท์ มีพระเชษฐภคินี (พี่สาว) นามว่า เจ้านางจ่ายุนท์ ซึ่งมีความงดงามตามแบบฉบับสาวชาววังสีป้อเช่นเดียวกับเจ้านางน้องอ่องยุนท์ แต่เจ้านางจ่ายุนท์มีดวงตาที่แฝงไว้ด้วยความเศร้า
ตามแม่นางเหน่ง มาสดับรับฟังเรื่องราวของเจ้านาง 2 พี่น้องกันคะ
เจ้านางจ่ายุนท์ เจ้านางผู้มีชะตาอันแสนเศร้า มหาเทวีแห่งเชียงตุงผู้อาภัพ เรื่องราวของเจ้านางมีดังนี้
เจ้าฟ้าก้อนแก้ว แห่งเชียงตุง มีบุตรชายคนโปรดคือเจ้ากองไต ได้สู่ขอเจ้านางจ่ายุนท์ ให้แก่เจ้ากองไต โดยจัดพิธีเสกสมรสที่หอสกานส่า เมืองสีป้อ แล้วกลับมาครองรักกันที่เมืองเชียงตุง
ภาพถ่ายเจ้าฟ้ากองไต
ภาพถ่ายเจ้านางจ่ายุนท์
ชุดนักแสดงเป็นเจ้ามิ่งหล้า ในเรื่องรากนครา ก็มีต้นแบบมาจากชุดของเจ้านางจ่ายุนท์
(ซ้าย) นักแสดงเป็นเจ้ามิ่งหล้า ในละครรากนคร (ขวา) เจ้านางจ่ายุนท์ แห่งเชียงตุง
เจ้ากองไตและเจ้านางจ่ายุนท์ ท่านมีบุตรธิดารวมกัน 5 องค์ คือ เจ้านุช, เจ้าจาย, เจ้าธีรราช(เจ้าฟ้าจายหลวง), เจ้านุ่ม และเจ้าจายน้อย
หอเจ้าฟ้าแห่งรัฐฉาน
เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ เจ้าก้อนแก้วได้สิ้นพระชนม์ เจ้ากองไต/กองไท ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุง เจ้านางจ่า
ยุนท์ เจ้าหญิงผู้เลอโฉมและเพียบพร้อมจากสีป้อ ก็ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของชีวิตเป็น..."มหาเทวีเจ้าแห่งเชียงตุง"
ในเดือนมกราคม ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ กำลังจะมีการจัดงานครองเมือง แต่วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๙ มีงานพิธีออกพรรษา คืนนั้นเจ้าฟ้ากองไต ก็ถูกฆาตกรรม สามารถจับตัวฆาตกรได้ คือเจ้าสีหะ
แต่กระนั้นกลับมีเสียงร่ำลือว่าผู้อยู่เบื้องหลังการฆาตกรรม คือ เจ้าพรหมลือ เพราะต้องการแก้แค้นที่ถูกปล้นราชสมบัติไป
เจ้ากองไต ที่ได้รับแต่งตั้งจากเจ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง (เจ้าก้อนแก้ว)ให้เป็นรัชทายาท สืบราชบัลลังก์นั้นเป็นบุตรที่เกิดจากหม่อมซึ่งเป็นสามัญชน ส่วนเจ้าพรหมลือเป็นบุตรที่เกิดแต่พระมหาเทวี
ภายหลังเจ้าพรหมลือ ผ่านการพิจารณาคดีให้พ้นมลทินไม่เกี่ยวข้องกับการลอบสังหาร ทั้งยังได้รับการแต่งตั้ง
จากอักฤษให้ครองเมืองเชียงตุงในฐานะเจ้าฟ้า พระนามว่า เจ้าสิริสุวรรณราชยสสรพรหมลือ
ส่วนเจ้านางจ่ายุนท์ กลายเป็นมหาเทวีม่าย มหาเทวีได้รับข่าวร้ายซ้ำเติม เมืองสีป้อล่มสลาย เหล่าประยูรญาติต่างหนีตายกันอย่างหัวซุกหัวซุน หนำซ้ำเจ้าฟ้าจายหลวงบุตรชายที่ได้ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุง ก็ถูกทหารพม่าจับตัวไว้และถูกควบคุมตัวตราบจนสิ้นลมหายใจ พร้อมไปกับการล่มสลายของเจ้าฟ้ารัฐฉานทั้ง ๓๔ เมือง ความทุกข์ระทมถาโถมเข้าสู่อดีตมหาเทวีผู้เลอโฉมตราบจนสิ้นลม โดยไม่มีหลักฐานการสิ้นพระชนม์ของเจ้านางว่าอยู่ช่วงเวลาใด
ภาพวาดเจ้านางอ่องยุนท์ ในอีกมุมหนึ่ง
เจ้านางอ่องยุนท์ ผู้น้อง มีเส้นทางชีวิตที่ราบเรียบ แต่กลับโปรยปรายไปด้วยกลีบกุหลาบ เราโลดแล่นไปสู่รัฐฉาน เพื่อติดตามโมนาลิซ่าแห่งรัฐฉาน Sao Ohn yunt Monalisa of Shan States กันเถอะค่ะ
วันหนึ่ง เจ้ากองไตแห่งเชียงตุง ได้เดินทางมาเป็นตัวแทนพระบิดาเจ้าฟ้าก้อนแก้ว เพื่อสู่ขอเจ้านางอ่องยุนท์ ผู้งดงามให้แก่เจ้าขุนเมืองผู้เป็นน้องชาย
เจ้าขุนเมืองเป็นเจ้าชายจากเชียงตุง ผู้มีบุคลิกสง่างาม ใบหน้าหล่อเหลา คมเข้ม รูปร่างสูงโปร่ง ราวกับหลุดออกมาจากนวนิยาย ท่านได้รับการศึกษามาอย่างดี ฉลาดปราดเปรื่อง ทรงเป็นราชบุตรผู้คู่ควรกับเจ้านางอ่องยุนท์ ราวกับเทพอุ้มสม
ความรักของเจ้าขุนเมืองกับเจ้านางอ่องยุนท์ ก่อเกิดจากความผูกพันรักใคร่ หาได้เกิดจากประเพณีการคลุมถุงชนไม่ ด้วยว่าเจ้าฟ้ากองไต ผู้เป็นพี่ชายของเจ้าขุนเมืองนั้น ได้เสกสมรสกับเจ้านางจ่ายุนท์ ผู้เป็นเชษฐภคินีของเจ้านางอ่อง
ยุนท์ ทำให้เจ้าขุนเมืองได้มีโอกาสพบปะกับเจ้านางอ่องยุนท์อยู่เนืองๆ จนก่อเกิดเป็นความรัก นำมาซึ่งพิธีเสกสมรสอันยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของรัฐฉาน
ทั้งสองพระองค์ได้ครองรักกันเหมิอนดังตอนจบของเทพนิยาย...ที่ว่า...และแล้วเจ้าชายกับเจ้าหญิงก็ได้แต่งงานกัน และครองรักกันอย่างแสนสุขชั่วนิรันดร์
ภาพวาดเจ้านางอ่องยุนท์ ๑ ในจำนวน ๘ ภาพ ของเซอร์เจอรัลด์ เคลลี จิตรกรชาวอังกฤษ
เจ้าขุนเมือง กับเจ้านางอ่องยุนท์ มีโอรสธิดารวมกันถึง ๖ พระองค์ คือ เจ้านางกานจี, เจ้านางเขมาวดี, เจ้ากานจวย, เจ้าขุนอู, เจ้าสิงหเดช และเจ้าจายเล็ก
ความงดงามระดับตำนานของเจ้านางอ่องยุนท์ ได้ถ่ายทอดสู่โอรสธิดา จากรุ่นสู่รุ่น
เจ้านางเขมาวดีหรือเขมวดี มีสิริโฉมงดงามเช่นเดียวกับพระมารดา เจ้านางอ่องยุนท์
ในบทความนี้ได้กล่าวถึงเจ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง หรือเจ้าก้อนแก้วอินแถลง เรียกสั้นๆว่าเจ้าฟ้าก้อนแก้วอยู่หลายครา แม่เหน่งจึงขอเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเจ้าฟ้าผู้ยิ่งใหญ่แห่งเชียงตุงสักหน่อยนะคะ ชาวเชียงตุงนิยมเรียกท่านว่า เจ้าฟ้าเฒ่า เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงตุง ที่นำความเจริญมาสู่เมืองเชียงตุงอย่างมากมาย ที่สำคัญท่านเป็นเจ้าของตำนาน "หอหลวงเชียงตุง"
หอหลวงเชียงตุง เป็นสถาปัตยกรรมที่แปลกตาไปจากสถาปัตยกรรมหอหลวงหลังอื่นๆที่สร้างแบบสถาปัตยกรรมไทยใหญ่หรือพม่า แต่หอหลวงเชียงตุงกลับเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานแบบอินเดีย-ตะวันตก
เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง เป็นผู้สร้างหอหลวงหน้าตาลูกครึ่งนี้ ด้วยเหตุที่ท่านเคยไปร่วมงาน "ชุมนุมเจ้า ณ เดลลี" เป็นงานชุมนุมเจ้าฟ้า มหากษัตริย์ ของรัฐต่างๆที่อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ เจ้าฟ้าก้อนแก้วเห็นสถาปัตยกรรมแขกผสมฝรั่ง ที่เมืองเดลลี ประเทศอินเดีย ก็พอพระทัย จึงนำแบบอย่างเอามาสร้างหอหลวง แลเป็นหอหลวงเชียงตุง ที่งดงามยิ่งกว่าเมืองใดๆของรัฐฉาน
หอหลวงเชียงตุง สร้างโดยเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง
ภาพวาดหอหลวงเชียงคุง
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๔ หอหลวงเชียงตุงแห่งนี้ได้ถูกทำลายโดยเผด็จการทหารพม่า
ในปี พ.ศ.๒๕๖๕ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ และนายกรัฐมนตรี เมียนมา ได้อนุมัติให้สร้างหอหลวงเชียงตุงขึ้นใหม่ตามคำเรียกร้องของชาวเชียงตุง เพื่อให้เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวเชียงตุง ซึ่งได้แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๖๗
หอหลวงเชียงตุง สร้างใหม่ การซื้อใจชาวเชียงตุง ของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย
อีกมุมของหอหลวงเชียงตุง สร้างใหม่
เจ้านางสองพี่น้องมีเส้นทางชีวิตที่ผิดแผกแตกต่างกันไป แต่ที่เหมือนกันคือเจ้านางทั้ง ๒ พระองค์ เป็นเจ้าหญิงที่งดงามยิ่ง นับว่าเป็นโฉมสะคราญแห่งอุษาคเนย์
เจ้านางพี่งามซึ้งนัยน์ตาโศก
งามหยุดโลกเป็นเทวีศรีรัฐฉาน
แต่อาภัพอับโชคโฉมสะคราญ
สูญเสียบ้านแผ่นดินสิ้นสวามี
เจ้านางน้องงดงามปานเทพปั้น
ผ่องผิวพรรณตาสกาวราวเพชรสี
รักผูกพันเจ้าขุนเมืองเปรื่องปราดดี
เกิดบุตรีโอรสงดงามองค์
ทัดพุดซ้อนเพยียพวงดอกไม้
งามเฉิดฉายยินยลชนพิศวง
ความงดงามดำรงคงยืนยง
ด้วยภาพคงความงดงามสะท้านกรุง
ปิดท้ายด้วยภาพ "โมนาลิซ่าแห่งเอเซีย" อีกครั้งค่ะ และขอเวลาแม่เหน่งไปตามหาภาพวาดที่ ๘ ที่เหลืออยู่ก่อนนะคะ...วุ้ย!...ดูๆแล้วก็ตาลายเหมือนกันนะเจ้าคะ เพราะสวย
เหมือนๆกันหมด อีกภาพอยู่ไหนหนอ ช่วยรอแม่เหน่งหน่อยนะคะ แล้วจะกลับมาพร้อมเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่น่าหลงใหลเรื่องอื่นๆต่อไปนะคะ บ๊ายบาย...คร้า
Reference :
https://variety.teenee.com
>world
https://www.thebetter.co.th
>news>world
ประวัติศาสตร์
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย