9 ก.พ. เวลา 23:21 • ประวัติศาสตร์

Sebastião Salgado ชายผู้ใช้งานศิลปะเปลี่ยนแปลงโลก

เซบาสเตียว ซัลกาโด (Sebastião Salgado) หนึ่งในช่างภาพสารคดีที่ทรงอิทธิพล เขาไม่ได้เป็นเพียงช่างภาพ แต่ยังเป็นนักเล่าเรื่อง นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ใช้งานศิลปะเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก
ภาพถ่ายของซัลกาโดไม่ได้มีแค่ความงดงาม แต่เต็มไปด้วยพลังในการบอกเล่าเรื่องราวผ่านเทคนิคภาพขาวดำ ซึ่งเขาเชื่อว่าสามารถแสดงอารมณ์และความรู้สึกได้ดีกว่า ทำให้ผู้ชมสามารถโฟกัสที่ความหมายและเนื้อหาของภาพมากขึ้น
ซัลกาโดเกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1944 ในรัฐมินัสเจไรส์ ประเทศบราซิล ในครอบครัวเกษตรกร ก่อนเข้าศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเซาเปาโล ต่อมาได้สมรสกับเลเลีย วานิค ซัลกาโด (Lélia Wanick Salgado) ซึ่งทั้งสองพบกันขณะศึกษาในมหาวิทยาลัย
กระทั่งปี 1969 ระหว่างการปกครองโดยเผด็จการทหาร ซัลกาโดและเลเลียได้หลบหนีออกจากบราซิลเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากทั้งคู่มีความคิดทางการเมืองสนับสนุนความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นภัยต่อรัฐบาลเผด็จการในยุคนั้น พวกเขาตัดสินใจลี้ภัยไปที่ประเทศฝรั่งเศส ที่นั่น ซัลกาโดศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์และทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ ก่อนจะหันมาเอาดีทางด้านการถ่ายภาพอย่างจริงจัง
จุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การเป็นช่างภาพสารคดีของ Salgado เริ่มจากการขอยืมกล้องของภรรยาเพื่อทดลองถ่ายภาพ เนื่องจากในตอนนั้นเขายังไม่มีกล้องของตัวเองและไม่เคยมีประสบการณ์ในการถ่ายภาพมาก่อน ด้วยแรงสนับสนุนจากเลเลียมีส่วนสำคัญอย่างมากในเส้นทางการเป็นช่างภาพของ Salgado และในเวลาต่อมา เลเลียก็กลายเป็นผู้ช่วยสำคัญในการออกแบบนิทรรศการและหนังสือภาพถ่ายหลายเล่มของเขา
Salgado และ Lélia เขายกย่องเธอว่าไม่ได้เป็นเพียงแค่ภรรยา แต่เป็นเหมือน "สมอง" และ "หัวใจ" ของโปรเจ็กต์ถ่ายภาพหลายชิ้น
"Workers" ผลงานชิ้นแรก ถ่ายทอดภาพชีวิตของแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ใน 26 ประเทศได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นผลงานภาพถ่ายสารคดีที่ทรงพลังที่สุดและเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Salgado ได้รับการยอมรับในระดับสากล และผลงานของซัลกาโดชุดต่อๆ มาได้ถูกตีพิมพ์อีกจำนวนมาก อาทิ The other Americas, Sahel, Migrations, Genesis และภาพถ่ายชุดโด่งดังที่แสดงให้เห็นถึงสภาพการทำงานที่โหดร้ายและความยากลำบากของคนงานเหมืองทองในประเทศบราซิลที่ชื่อ “Gold mine”
1
Sebastião Salgado – Serra Pelada Gold Mine, Brazil (1986)
ซัลกาโดเคยหยุดถ่ายภาพไประยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากปัญหาสภาวะทางอารมณ์ที่เป็นผลกระทบมาจากการทำโปรเจกต์ภาพถ่ายชุด "Migrations" และ "Sahel" ซึ่งเขาต้องเผชิญกับภาพที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายและความทุกข์ทรมานของมนุษย์ โดยเฉพาะในรวันดาและพื้นที่ๆ เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สิ่งเหล่านี้สะสมจนทำให้เขารู้สึกแตกสลายและสิ้นหวังกับมนุษยชาติ อย่างที่เคยพูดไว้ว่า “ ฉันไม่เชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่ดีอีกต่อไป หลังจากเห็นสิ่งที่มนุษย์กระทำต่อกัน ฉันรู้สึกป่วยทั้งกายและใจ”
Sebastião Salgado – Mother and Child in Rwanda (1994)
เพื่อรักษาจิตใจของเขา ในราวปลายปี 1990 ซัลกาโดและเลเลียได้กลับไปยังฟาร์มของครอบครัวในรัฐมินัสเจไรส์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศบราซิล พวกเขาใช้เงินทุนส่วนตัวกว่า 1.2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ก่อตั้งโครงการป่าฟื้นฟูป่าในชื่อ "Instituto Terra" ทั้งคู่อุทิศตนไปกับการปลูกต้นไม้หลายล้านต้น ครอบคลุมพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและฝึกอบรมเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
การกลับบราซิลครั้งนั้นไม่ใช่แค่การกลับบ้าน เพราะการได้เห็นธรรมชาติฟื้นตัวกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ซัลกาโดกลับมาถ่ายภาพอีกครั้ง โดยสร้างผลงานสำคัญอย่าง “Genesis” ถ่ายทอดความงามบริสุทธิ์ของธรรมชาติที่ยังไม่ถูกแตะต้องโดยมนุษย์ และ “Amazônia” ผลงานชิ้นล่าสุดที่บอกเล่าเรื่องราว ความหลากหลายของป่าฝนอเมซอนและวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง
Marauiá mountain range. Yanomami Indigenous Territory. Municipality of São Gabriel da Cachoeira, state of Amazonas, 2018. © Sebastião SALGADO Published by TASCHEN.
บันทึกเรื่องราวชีวิตและเบื้องหลังผลงานภาพถ่ายของซัลกาโดถูกถ่ายทอดผ่านสารคดีที่ชื่อ "The Salt of the Earth" (2014) กำกับโดย Wim Wenders และ Juliano Ribeiro Salgado บุตรลูกชายของเขา ได้รับรางวัลมากมายไม่ว่าจะเป็น Un Certain Regard Special Prize จาก Cannes Film Festival (2014), รางวัล César Award สาขาสารคดียอดเยี่ยม และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาสารคดียอดเยี่ยม (2015).
โฆษณา