18 ก.พ. เวลา 06:26 • การศึกษา

ทำช้าแต่ชัวร์ vs ทำเร็วแต่พัง : จาก Google Glass ถึง Theranos บทเรียนราคาแพงของความรีบร้อน

เคยสังเกตกันมั๊ยว่า ในการแข่งรถ แทบไม่มีนักแข่งคนไหนเหยียบคันเร่งตลอดเวลา พวกเขาต้องรู้จังหวะเบรกตอนเข้าโค้ง ต้องแวะพิทสต็อป และถ้าเกิดไฟไหม้ก็ต้องรีบออกจากรถ ซึ่งชีวิตการทำงานก็เหมือนกัน บางทีการชะลอตัวหรือการมีอุปสรรคก็อาจเป็นเรื่องดี
Bob Sutton นักจิตวิทยาองค์กรและผู้เขียนหนังสือขายดี 8 เล่ม มองเห็นความเชื่อมโยงนี้ เขาเขียนหนังสือชื่อ “The Friction Project” พูดถึงเรื่อง “ความฝืด” หรือสิ่งที่ทำให้งานช้าลง ยากขึ้น หรือน่าหงุดหงิด แต่บางทีความฝืดพวกนี้ก็มีประโยชน์
ลองคิดดู ถ้าเราจะจ่ายบิลหรือเบิกค่าเดินทาง มันควรทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องมีขั้นตอนยุ่งยาก แต่ถ้าใครจะขโมยเงินหรือทำผิดกฎหมาย มันควรจะยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย นี่แหละคือหัวใจของการจัดการความฝืดที่ฉลาด
มันมีเรื่องที่น่าสนใจ Elizabeth Holmes อดีต CEO ของ Theranos เคยพยายามขายเครื่องตรวจเลือดที่ใช้งานไม่ได้ เธอถึงขั้นใช้นายพลระดับ 4 ดาวไปกดดันทหารให้ติดตั้งเครื่องบนเฮลิคอปเตอร์ แต่ด้วยกฎของ FDA ที่เข้มงวด แผนนี้เลยล้มไป
1
ตรงกันข้ามกับบริษัท Sequel ในซานฟรานซิสโก ที่ทำผ้าอนามัยแบบสอดรุ่นใหม่ พวกเขายอมเสียเวลาทำตามขั้นตอนการทดสอบและขออนุมัติจาก FDA อย่างครบถ้วน ตอนนี้เลยมีผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและใช้ได้จริง
Sutton เรียกคนที่รู้จักจัดการกับความฝืดว่า “นักแก้ความฝืด (friction fixer)” พวกเขาเก่งเรื่องการทำให้สิ่งที่ควรง่ายเป็นเรื่องง่าย และทำให้สิ่งที่ควรยากเป็นเรื่องยาก
เขาเล่าประสบการณ์ที่ Department of Motor Vehicles (DMV) ตอนไปถึงมีคนรอคิวอยู่ 60 คน คิดว่าต้องเสียเวลาทั้งวัน แต่มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเดินมาถามทุกคนว่ามาทำอะไร คนไหนทำไม่ได้ที่นี่ก็ให้กลับ คนที่ทำได้ก็แจกฟอร์มให้เลย สุดท้ายใช้เวลาแค่ 35 นาที
ที่สำคัญคือ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บริหารระดับสูงก็เป็นนักแก้ความฝืดได้ แค่คิดถึงเวลาของคนอื่น และพยายามทำให้งานที่ควรง่ายเป็นเรื่องง่ายขึ้น
เวลาจะตัดสินใจอะไร นักแก้ความฝืดมักถามตัวเองสองคำถาม คำถามแรกคือ “เรารู้จริงๆ หรือเปล่าว่ากำลังทำอะไร?” บางทีการหยุดคิดก็ดีกว่าการรีบทำ
อย่างกรณี Google Glass แว่นตาอัจฉริยะที่ Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้ง Google รีบเอาออกมาขายทั้งที่ทีมบอกว่ายังไม่พร้อม ผลคือมีปัญหาสารพัด ทั้งแบตหมดเร็ว ความปลอดภัย ใช้งานยาก จนติดอันดับผลิตภัณฑ์แย่ที่สุดตลอดกาล
คำถามที่สองคือ “ถ้าทำไปแล้วย้อนกลับได้ไหม?” ถ้าเป็นเรื่องใหญ่อย่างการไล่ CEO หรือการควบรวมกิจการ ต้องคิดให้ดี แต่ถ้าเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ ก็ลองทำดู
อย่างที่บริษัท IDEO ตอนที่โตจาก 50 คนเป็น 150 คน เกิดความวุ่นวาย David Kelly CEO ของบริษัทเลยตัดสินใจปรับโครงสร้างองค์กร แต่ที่น่าสนใจคือวิธีสื่อสารของเขา
ก่อนประชุม Kelly โกนหนวดแบบ Groucho Marx ที่ติดหน้าของเขามาทั้งชีวิตออก ทำเอาทุกคนตกใจ แม้แต่เมียยังร้องกรี๊ด เขาบอกว่า “การปรับโครงสร้างก็เหมือนหนวดผม ถ้าไม่ดีก็เปลี่ยนกลับได้ ไม่เหมือนกับการตัดนิ้ว ที่ตัดแล้วตัดเลย”
เรื่องความฝืดในองค์กรเลยเหมือนการขับรถแข่ง บางทีต้องเร่ง บางทีต้องเบรก บางทีต้องหยุด สำคัญที่สุดคือต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ควรทำอะไร
ความฝืดไม่ใช่ศัตรูที่ต้องกำจัด แต่เป็นเครื่องมือที่ต้องเรียนรู้วิธีใช้ ถ้าใช้เป็น มันช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น และสำเร็จได้อย่างยั่งยืน
◤━━━━━━━━━━━━━━━◥
หากคุณชอบคอนเทนต์นี้อย่าลืม 'กดไลก์'
หากคอนเทนต์นี้โดนใจอย่าลืม 'กดแชร์'
คิดเห็นอย่างไรคอมเม้นต์กันได้เลยครับผม
◣━━━━━━━━━━━━━━━◢
ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA ด.ดล Blog
คลิกเลย --> https://lin.ee/aMEkyNA
รวม Blog Post ที่มีผู้อ่านมากที่สุด
——————————————–
ติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่
=========================
โฆษณา