19 ก.พ. เวลา 10:26 • ประวัติศาสตร์

LSS-EP.7-สตรีผู้ปฏิเสธรัก ร.5 เจ้าศรีพรหมา

การที่ผู้หญิงได้เข้าวังเป็นเจ้าจอมอาจทำให้ชีวิตสุขสบาย แต่ทว่าครั้งหนึ่ง เคยมีหญิงสาวนางหนึ่งปฏิเสธโอกาสจะได้เป็นเจ้าจอมต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้ชีวิตในแบบที่เธอต้องการ และเธอยังเป็นเจ้าของประโยคปฏิเสธ “ข้าพเจ้าเทิดทูนและเคารพพระองค์ แต่มิได้รักพระองค์ในเชิงชู้สาว” และนี่คือเรื่องราวของเจ้าศรีพรหมา สตรีผู้กล้าปฏิเสธรักจากพระมหากษัตริย์
เรื่องนี้ด้วยความที่เกี่ยวข้องกับรั้วกับวังอาจจะมีเรื่องของคำราชาศัพท์อยู่บ้าง ซึ่งผมเองก็ไม่ได้เก่งเรื่องราชาศัพท์เท่าไหร่ และประกอบกับอยากให้ท่านผู้ฟังเข้าใจง่าย หากมีคำไหนประโยคไหนใช้ผิดหรือละเว้นใช้คำสามัญแทนต้องขออภัยด้วยนะครับ วันนี้ผมขอพาท่านผู้ฟังย้อนกลับไปสมัยรัชกาลที่ 5 กันครับ เริ่มเรื่องโดยการแนะนำเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 63 ซึ่งนครน่านในเวลานั้นเนี่ยมีฐานะเป็นประเทศราชของสยาม
เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชเนี่ยได้มีหม่อมเอกหรือภรรยาหลวงชื่อหม่อมศรีคำ โดยหม่อมศรีคำเนี่ยมีเดิมเป็นเชลยศึกชาวเวียงจันทน์ ทั้งสองมีโอรสและธิดารวม 5 คน และคนเล็กก็คือนางเอกเรื่องนี้ของเราครับ ก็คือเจ้าศรีพรหมา ณ น่าน นั่นเอง เจ้าศรีพรหมาเกิดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2431 มีชื่อเล่นที่เจ้าพ่อตั้งให้ว่าจอด บรรดาบ่าวรับใช้จะเรียกว่าอีนายจอด ด้วยความที่เป็นลูกสาวและยังเป็นลูกคนเล็ก ทำให้เจ้าศรีพรหมากลายเป็นลูกรักของทั้งเจ้าพ่อและเจ้าแม่
1
ปี พ.ศ. 2435 หรือ ปีรัตนโกสินทรศก 111 สยามตอนนั้นมีนโยบายปฏิรูปการปกครอง ยกเลิกประเทศราชและรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ด้วยความที่นครน่านมีอาณาเขตติดกับหลวงพระบางใช่ไหมครับ เวลานั้นเนี่ยหลวงพระบางถือเป็นดินแดนของฝรั่งเศส สยามก็กลัวครับ กลัวว่าจะเสียนครน่านให้กับฝรั่งเศสก็เลยส่งข้าราชการจากส่วนกลางขึ้นมาเป็นข้าหลวงประจำนครน่าน
ซึ่งคนที่ถูกส่งขึ้นมาก็คือหลวงชาญภูเบศร์ หรือ สวัสดิ์ ภูมิรัตน์ ซึ่งหลังจากนี้คุณสวัสดิ์เนี่ยจะได้เลื่อนบรรดาศักดิ์หลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็นพระพรหมสุรินทร์ พระยาชลบุรีบริรักษ์ หรือพระยามหิบาลบริรักษ์ เพื่อไม่ให้ท่านผู้ฟังงงผมจะขอเรียกคุณสวัสดิ์แทนนะครับ
ปี พ.ศ. 2436 เกิดเหตุการณ์ ร.ศ. 112 และในปีเดียวกันนี้คุณสวัสดิ์คนที่สยามส่งมาก็ได้เลื่อนเป็นพระพรหมสุรินทร์ ซึ่งคุณสวัสดิ์เนี่ยมีภรรยาชื่อคุณอุ๊น ซึ่งคุณอุ๊นเนี่ยเป็นสาวหัวก้าวหน้าครับเพราะได้ไปร่ำเรียนจากฝรั่งเศส พูดภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้คล่อง ทำให้คอยช่วยราชการสามีอยู่เป็นประจำ ทั้งสองมาราชการที่น่านก็ได้เจอกับเจ้าศรีพรมหาอยู่บ่อย ๆ จนเกิดความเอ็นดูจนขนาดเอ่ยปากขอเจ้าศรีฯมาเป็นลูกบุญธรรม ซึ่งแม้จะเป็นลูกรักของทั้งเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชกับหม่อมศรีคำก็ตาม แต่ทั้งสองก็ได้ยกให้
ต่อมาคุณสวัสดิ์ถูกย้ายมาเป็นผู้ว่าการเมืองชลบุรี ทำให้เจ้าศรีฯย้ายมาเข้าโรงเรียนประจำที่กรุงเทพก็คือโรงเรียนสุนันทาลัย และโรงเรียนกุลสตรีวังหลังของแหม่มโคลด์ ซึ่งปัจจุบันก็คือโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ตามลำดับ
ประมาณปี พ.ศ. 2441 ชีพจรลงเท้าคุณสวัสดิ์อีกครั้ง เนื่องจาก ร.5 ได้ส่งเจ้าฟ้าองค์หนึ่งไปศึกษาวิชาทหารที่รัสเซีย ก็เลยเลื่อนยศคุณสวัสดิ์อีกครั้งครับ และให้ไปเป็นอัครราชทูตประจำกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย พร้อมกับเป็นพระอภิบาลของเจ้าฟ้าฯ ก็คือพูดง่าย ๆ นอกจากจะแต่งตั้งให้เป็นทูตแล้วยังให้ไปช่วยดูแลโอรสด้วยน่ะแหละครับ
ทีนี้คุณหญิงอุ๊นก็ต้องติดตามสามีไปด้วย แต่ด้วยความที่รัสเซียเป็นประเทศที่มีอากาศหนาวใช่ไหมครับ ก็กลัวเจ้าศรีพรมหาซึ่งยังเด็กอยู่จะทนอากาศหนาวไม่ไหว เลยไปถวายให้อยู่ในพระอุปการะของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เจ้าศรีพรหมาก็เลยได้มีโอกาสถูกอบรมเลี้ยงดูร่วมกับพระบรมวงศาสนุวงศ์ ได้ใกล้ชิดคุ้นเคยกับเจ้านายทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ได้ศึกษาขนบธรรมเนียมในราชสำนักและวิชาการสมัยใหม่ เป็นเพื่อนเล่นกับเจ้านายในรุ่นราวคราวเดียวกัน
วันเวลาผ่านไป พอเจ้าศรีพรหมาอายุครบ 12 ปี ทางคุณสวัสดิ์กับคุณอุ๊นก็เห็นว่าเจ้าศรีฯโตพอแล้วก็เลยขอรับตัวไปอยู่ที่รัสเซียด้วย มีอยู่ช่วงหนึ่งครอบครัวต้องไปอยู่ที่อังกฤษ เจ้าศรีฯก็เลยต้องติดตามไปด้วยและได้มีโอกาสได้ฝึกภาษาอังกฤษ และที่นี่นี่เองที่เจ้าศรีพรหมาได้พบปะกับชายหนุ่มที่คนหนึ่งเป็นครั้งแรกนั่นก็คือหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ซึ่งแก่กว่าเจ้าศรีพรมหา 5 ปี ว่ากันว่าทั้งสองได้มีโอกาสเรียนด้วยกันที่นี่ นอกจากนี้ยังเคยเล่นละครด้วยกันอีกด้วย
ต่อมาเจ้าศรีพรหมมาก็ได้กลับประเทศไทยครับ โดยกลับมาก็เข้ามารับราชการเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ช่วงเวลานี้ว่ากันว่าเจ้าศรีพรหมากำลังเป็นสาวเต็มตัว เป็นสาวสวย หน้าตาดี มีวิชาความรู้เพราะเคยไปอยู่ต่างประเทศ แม้จะไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากสถานศึกษาใดเลยก็ตาม นอกจากนี้ด้วยการเลี้ยงดูจากคุณอุ๊นซึ่งเป็นสาวหัวก้าวหน้าและการที่ได้ออกไปเห็นโลกมา ก็เลยมีความเป็นตัวของตัวเอง มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ซึ่งบุคลิกลักษณะจะแตกต่างจากสาวชาววังทั่วไป
ด้วยคุณสมบัติดังที่กล่าวมาก็เลยไปต้องใจพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงกับเอ่ยปากขอเจ้าศรีพรหมาให้เข้ามารับราชการเป็นเจ้าจอม หรือพูดกันภาษาชาวบ้านก็คือให้มาเป็นภรรยาน้อยอีกคนนั่นเอง ซึ่งการเป็นเจ้าจอมในสมัยนั้นสบายมาก จะมีบ่าวไพร่รับใช้เต็มไปหมด มีเงินทองให้ใช้สอยสุขสบาย
แต่เจ้าศรีพรหมาไม่ได้สนใจอะไรแบบนั้นครับ ได้ตอบปฏิเสธ ร.5 เป็นภาษาอังกฤษเพื่อไม่ให้ระคายพระเคืองเบื้องพระยุคลบาทว่า "I admire you and respect you, but I don't love you" ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “ข้าพเจ้าเทิดทูนและเคารพพระองค์ แต่มิได้รักพระองค์ในเชิงชู้สาว” พอ ร.5 ได้ฟังก็ไม่ได้โกรธเคืองครับ ปล่อยให้เป็นไปตามใจเจ้าศรีฯ นอกจากนี้ยังประทับใจเพิ่มมากขึ้นและเมตตาตลอดรัชสมัยของพระองค์
มีเรื่องเล่าว่าพระองค์ได้ฉายพระรูปเจ้าศรีฯด้วยพระองค์เอง แล้วก็เอารูปถ่ายนี้มาตั้งไว้ที่ห้องบรรทมตลอดมาจนสวรรคต ส่วนเจ้าศรีพรหมาก็ประทับใจพระราชนิพนธ์เงาะป่าเป็นอย่างมาก และมักจะเล่าเรื่องเงาะป่าให้ลูกฟังบ่อยๆ ในเรื่องเงาะป่าเนี่ยมีกลอนท่อนหนึ่งว่า “แม้นแต่เดิมเริ่มรู้ความตระหนัก จะะห้ามหักจิตไว้ให้หนักหนา ไม่ชิงรักหักหาญดวงกานดา ความแสนเสน่หาหักอาลัย ถึงจะยอมออมอดไม่เอิบเอื้อม ก็ไม่เสื่อมซาคิดพิสมัย จะฝังรักสลักรูปไว้ภายใน”
มีผู้สังเกตในยุคหลัง ๆ ก็มาตีความว่ากลอนในเรื่องเงาะป่าท่อนนี้น่าจะสื่อความหมายถึงเหตุการณ์ที่ ร.5 ถูกเจ้าศรีพรหมาปฏิเสธ และเลือกที่ฝังรูปเอาไว้ที่ห้องนอนแทน
วันเวลาผ่านไปครับ ปี พ.ศ.2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.6 ได้ทรงสู่ขอเจ้าศรีพรหมาให้กับหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ซึ่งเรื่องของเจ้าศรีพรหมากับหม่อมเจ้าสิทธิพรนี่ก็มีเรื่องเล่าว่าแม่ของหม่อมเจ้าสิทธิพรก่อนหน้านี้ก็เคยมาขอเจ้าศรีฯกับคุณอุ๊นแม่บุญธรรมแล้วตอนเจ้าศรี 15 ขวบ แต่ตอนนั้นเจ้าอุ๊นก็บอกว่าก่อนจะยกให้หม่อมเจ้าสิทธิพรต้องไปทำมาหากินตั้งตัวให้ได้ก่อน
หม่อมเจ้าสิทธิพรได้ยินดังนี้ก็ฮึดครับ ออกไปประกอบกิจการค้าขาย แต่ทว่าเจ๊งครับ ต้องกลับมารับราชการ แต่กลับสามารถรับราชการได้เป็นอย่างดี เจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และก่อนจะวนกลับมาแต่งงานกับเจ้าศรีพรหมา หม่อมเจ้าสิทธิพรเคยแต่งงานมีบุตรมาก่อน แต่ทว่าภรรยาก็มาเสียชีวิตไปกลายเป็นพ่อหม้าย สุดท้ายเจ้าศรีพรหมาก็ได้แต่งงานในวัย 28 ปี ซึ่งสำหรับผู้หญิงสมัยนั้นโดยเฉพาะชาววังถือว่าช้ามากๆ เจ้าศรีพรหมาได้มีฐานะเป็น "หม่อมศรีพรหมา" หลังจากเสกสมรส
ชีวิตคู่ของเจ้าศรีพรหมาและหม่อมเจ้าสิทธิพร ก็ดูเรียบง่าย อบอุ่น มีลูกด้วยกัน 2 คน ซึ่งถ้าให้ตัดจบตรงนี้แบบบทละครก็ได้เลยครับ แฮปปี้เอ็นดิ้งได้เลย แต่ทว่าเรื่องราวของครอบครัวนี้ความน่าสนใจไม่ได้หมดลงเพียงเท่านี้ครับ วันดีคืนดีสามีภรรยาคู่นี้รู้สึกเบื่อชีวิตข้าราชการ เบื่อความวุ่นวายในกรุงเทพอยากจะเข้าป่าไปทำการเกษตร
หม่อมเจ้าสิทธิพรจึงตัดสินใจลาออกจากราชการไปทำไร่บนที่ดินมรดกของเจ้าศรีพรหมาที่ได้จากคุณสวัสดิ์พ่อบุญธรรม ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งไร่นั้นก็มีชื่อว่า “ฟาร์มบางเบิด” หรือในปัจจุบันเรียกว่าศูนย์วิจัยหม่อมเจ้าสิทธิพรกฤดากร โดยปลูกผักสวนครัว พืชไร่ เลี้ยงไก่ สุกรพันธุ์เนื้อ และโคนม
และต่อมาขยายกิจการเป็นฟาร์ม มีผลผลิตประสบความสำเร็จครั้งแรกของไทย เป็นผลทำให้ภายหลังหม่อมเจ้าสิทธิพรได้รับยกย่องว่า เป็นบิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่ของไทย ท่านผู้ฟังเคยได้ยินประโยคนี้ไหมครับ “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” ประโยคนี้ก็มาจากหม่อมเจ้าสิทธิพรนั่นเอง
ต่อมาปี พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.7 ได้เรียกให้หม่อมเจ้าสิทธิพรกลับเข้ามารับราชการอีกครั้งในตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจกสิกรรม แต่ทว่าอีก 5 ปี หลังจากนั้นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทำให้หม่อมเจ้าสิทธิพรต้องตกงานกลับไปทำฟาร์มต่อ หลังจากนั้นอีก 1 ปี พระองค์เจ้าบวรเดชซึ่งมีสถานะเป็นพระเชษฐาหรือพี่ชายได้ชวนหม่อมเจ้าสิทธิพรไปก่อการต่อต้านรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกฯคนที่ 2 ของประเทศไทย
ซึ่งก่อนรับปากเข้าร่วมก่อการหม่อมเจ้าสิทธิพรได้ไปปรึกษาหม่อมศรีฯ ซึ่งหม่อมศรีฯได้ให้ความเห็นว่าถ้าสามีจะไปทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองแล้วล่ะก็ แม้จะเสี่ยงเพียงใดก็เห็นด้วยและยินดีสนับสนุนเต็มที่ หม่อมเจ้าสิทธิพรจึงตอบรับเข้าคณะก่อการแต่ทว่าทำไม่สำเร็จ ถูกรัฐบาลปราบปรามก่อนทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชมีสถานะเป็นกบฏบวรเดช
ส่วนหม่อมเจ้าสิทธิพรก็ไม่รอดครับถูกศาลสั่งจำคุกตลอดชีวิต หม่อมศรีพรหมาจึงกลายเป็นเมียกบฏนับแต่ตอนนั้น และต้องกลายเป็นผู้ดูแลกิจการฟาร์มบางเบิดต่อ ต้องเลี้ยงลูก และต้องส่งข้าวส่งยาให้กับสามีที่สถานคุมขัง หม่อมเจ้าสิทธิพรถูกส่งไปขังที่เกาะเต่าและเกาะตะลุเตาอยู่ประมาณ 11 ปี ก่อนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษและนิรโทษกรรม กลับมาดูแลฟาร์มและอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง
กราฟชีวิตของคนเรามีคนมีลง กราฟชีวิตของหม่อมเจ้าสิทธิพรก็เช่นกัน หลังจากลงต่ำสุดถึงกับต้องข้อหากบฎติดคุกติดตารางมาแล้วก็มาสู่งจุดสูงสุดของชีวิตบ้าง เมื่อรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ได้เชิญหม่อมเจ้าสิทธิพรมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เป็นประธานคณะกรรมการข้าว และได้รับรางวัลแม็กไซไซ ด้านบริการสาธารณะ
วันเวลาผ่านไปจนทั้งสองอายุมากขึ้น จึงตัดสินใจขายฟาร์มให้กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วย้ายไปซื้อสวนเล็กๆที่หัวหิน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2514 หม่อมเจ้าสิทธิพรก็เสียชีวิตในวัย 88 ปี หม่อมศรีฯก็ดำรงชีวิตอยู่ต่อด้วยความอบอุ่นด้วยลูกหลาน มีสุขภาพกายใจที่แข็งแรง
มีอยู่ครั้งหนึ่งครับรัฐบาลได้ทำสำมะโนครัวประชากรทั่วทั้งประเทศ ก็มีเจ้าหน้าที่มาสอบถามหม่อมศรีฯว่าเรียนจบระดับใดมา ให้ช่วยบอกวิทยฐานะหน่อย หม่อมศรีฯก็เลยตอบกลับไปว่า ฉันจะไปมีได้ยังไง ป.4 ฉันยังเรียนไม่จบเลย เรื่องนี้ไปเข้าหูอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งตอนนั้นเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ด้วยความที่อาจารย์ป๋วยรู้จักครอบครัวนี้ที่ได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศและให้ความเคารพทั้งหม่อมเจ้าสิทธิพรและหม่อมศรีพรหมาเป็นอย่างมาก จึงได้เตรียมประวัติหม่อมศรีฯเพื่อจะขอรับพระราชทานปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางสังคมสงเคราะห์ศาสตร์แต่ทว่ายังไม่ทันได้มอบครับ มีเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ก่อน ทำให้อาจารย์ป๋วยต้องลี้ภัย
บั้นปลายชีวิตของหม่อมศรีพรหมาเล่าว่าหม่อมเจ้าสิทธิพรหลังจากเสียชีวิตแล้วก็มักจะมาเยี่ยมเยียนอยู่บ่อยครั้ง แม้จะไม่เห็นเป็นร่างแต่ก็ได้ไออุ่นจนอุ่นไอรัก และหม่อมเจ้าสิทธิพรจะหมุนนาฬิกาปลุกแบบที่เคยทำมาตลอดสมัยที่ยังมีชีวิต ภายหลังสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ยกย่องให้ทั้งสองเป็นคู่ชีวิตในอุดมคติ
หม่อมเจ้าศรีพรหมาก็เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2521 ศิริรวมอายุ 90 ปี อัฐิของเจ้าศรีพรหมาถูกนำมาประดิษฐานไว้ที่ ณ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร ร่วมกับพระอัฐิของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร
#เจ้าศรีพรหมา #หม่อมศรีพรหมา #สาวน่าน #หม่อมเจ้าสิทธิพร #history #ที่นี่มีเรื่องเล่า #ประวัติศาสตร์ #longstoryshort
โฆษณา