29 เม.ย. เวลา 03:00 • ไลฟ์สไตล์

จะทำอย่างไรหากถูกฟ้องล้มละลาย

การก่อหนี้ที่ดี ควรคำนึงถึงศักยภาพในการชำระหนี้ของเรา ซึ่งควรประเมินตามสภาพความเป็นจริง ไม่สร้างหนี้ที่สูงมากจนเกินไปเพียงเพราะคิดว่าถ้าหารายได้มาเพิ่มได้ก็จะเพียงพอให้ผ่อนไหว รวมทั้งการไม่คิดเผื่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆที่อาจทำให้ภาระทางการเงินตึงตัว ส่งผลให้ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ในที่สุด และนำไปสู่การฟ้องร้องของเจ้าหนี้ตามมา
การฟ้องล้มละลาย จะเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหนี้พิจารณาแล้วเห็นว่าเรามีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ โดยมีมูลหนี้เกิน 1ล้านบาท ( สำหรับนิติบุคคลต้องมีมูลหนี้เกิน 2 ล้านบาท) และมักเป็นหนี้สินชนิดที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันทำให้ไม่สามารถฟ้องแพ่งเพื่อยึดหลักทรัพย์ก่อนได้ หรือมูลหนี้อาจสูงเกินกว่าหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่มากจนหนี้สินที่เหลืออยู่เข้าเกณฑ์การถูกฟ้องล้มละลาย
ซึ่งหากเราถูกฟ้องล้มละลายแล้ว ทางเลือกในการทำความตกลงกับเจ้าหนี้จะเป็นไปใน 3 แนวทาง ซึ่งเราต้องพิจารณาว่าแนวทางใดเหมาะสมกับเรามากที่สุด โดยทางเลือกนั้น ได้แก่
  • ​เจรจาปรับโครงสร้างหนี้
สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีธุรกิจหรือ ประกอบอาชีพการงานที่ยังมีรายได้มาสม่ำเสมอ อาจพิจารณาตกลงไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ หรือขอขยายเวลาชำระหนี้
โดยอาจเสนอขอทยอยจ่ายหนี้บางส่วนอย่างสม่ำเสมอ 3-6 เดือน เพื่อให้เจ้าหนี้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้ของเรา ก่อนจะถอนฟ้องล้มละลายต่อไป
  • ​การขอสู้คดี
โดยการพิสูจน์ต่อศาลว่าเราไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และ มีความสามารถในการชำระหนี้สิน นั่นคือ
  • 1.
    ​แสดงหลักฐานว่ามีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน หรือ
  • 2.
    ​แสดงแผนการเงินและแผนธุรกิจที่ชี้ให้ศาลเห็นว่าธุรกิจของเรามีศักยภาพพอที่จะหารายได้มาชำระหนี้สินได้
ซึ่งหากแผนการเงินและแผนธุรกิจของเรามีความละเอียดรัดกุมเพียงพอ ศาลอาจตัดสินให้เราได้เจรจาพักชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ใหม่อีกครั้ง
  • ​ยินยอมล้มละลาย
หากเราพิจารณาแล้วว่ารายได้ที่มี ไม่เพียงพอจะชำระหนี้ที่ก่อไว้ได้อย่างแน่นอน อาจต้องยิมยอมล้มละลาย เพื่อให้ศาลแต่งตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาดูแลจัดการทรัพย์สินของเราต่อไป โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะดูแลทั้งทรัพย์สินเดิมที่เรามี และรายได้ที่เราจะได้รับในอนาคตต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลา 3ปี แต่หากเคยเป็นบุคคลล้มละลายมาก่อน อาจถูกยืดระยะเวลาเป็น 5ปี หรือ 10ปี ตามดุลพินิจของศาล
# ผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อถูกฟ้องล้มละลาย
มีทั้งผลทางกฎหมาย การเงิน และสังคม โดยผลกระทบหลักๆ มีดังนี้
  • ​ผลกระทบด้านกฏหมาย
ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ทำให้ลูกหนี้สูญเสียสิทธิ์ในการบริหารทรัพย์สินของตน โดยทรัพย์สินของลูกหนี้จะถูกนำมาจัดสรรชำระคืนให้เจ้าหนี้ตามกฎหมาย และลูกหนี้สามารถขอเบิกเบี้ยดำราชีพจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ ประมาณ 70%ของรายได้ แต่หากมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น การโอนทรัพย์สินโดยไม่ชอบ ลูกหนี้อาจถูกดำเนินคดีอาญา
  • ​ผลกระทบด้านการเงิน
บุคคลล้มละลายไม่สามารถทำนิติกรรมใดๆทั้งสิ้น รวมถึงธุรกรรมทางการเงินต่างๆ และไม่สามารถเป็นกรรมการบริษัท หรือดำรงตำแหน่งทางธุรกิจบางประเภทได้ตามกฎหมาย
  • ​ผลกระทบทางสังคมและอาชีพ
ผลกระทบต่อโอกาสในการทำงาน โดยเฉพาะตำแหน่งที่ต้องการความน่าเชื่อถือทางการเงิน และไม่สามารถรับราชการได้ หรือกรณีรับราชการอยู่แล้วต้องออกจากราชการ รวมถึงไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็นสส. หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อครบกำหนดเวลาตามคำสั่งศาล ลูกหนี้สามารถปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลายได้ โดยการวางแผนทางการเงินใหม่และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อเริ่มต้นใหม่และกลับมาทำงานและทำธุรกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ รวมทั้งยังหลุดพ้นจากหนี้สินเดิมอีกด้วย เว้นแต่หนี้สินจากภาษีอากร หรือ หนี้สินจากการทุจริต ฉ้อโกง ที่ยังต้องมีหน้าที่ชำระหนี้กันต่อไป
โฆษณา