25 ก.พ. เวลา 12:05 • ประวัติศาสตร์

“โอดะ โนบุนากะ (Oda Nobunaga)” ผู้วางรากฐานการรวมแผ่นดินญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่น

ในสมัยศตวรรษที่ 16 “ญี่ปุ่น” คือดินแดนที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย โดยในสมัยที่เรียกว่า “ยุคเซ็งโงกุ (Sengoku Period)” ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ค.ศ.1467-1615 (พ.ศ.2010-2158) โครงสร้างระบอบฟิวดัลในญี่ปุ่นนั้นเริ่มจะสั่นคลอน ทำให้เกิดการสู้รบนองเลือดในเวลาต่อมา
เหล่าขุนศึกผู้กระหายอำนาจและซามูไรของตนต่างรบกับขั้วอำนาจต่างๆ เพื่อชิงความเป็นหนึ่ง ในขณะเดียวกัน สังคมญี่ปุ่นซึ่งเป็นสังคมปิดก็ต้องดิ้นรนในการเปิดรับเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่จากยุโรป
ในช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายนี้เอง “โอดะ โนบุนากะ (Oda Nobunaga)” ได้ก้าวเข้ามาในหน้าประวัติศาสตร์
โนบุนากะนั้นเป็นคนที่ฉลาดหลักแหลมและห้าวหาญ และได้วางรากฐานสู่การรวมญี่ปุ่นเป็นปึกแผ่น
เรื่องราวของเขาเป็นอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังครับ
โอดะ โนบุนากะ เกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.1534 (พ.ศ.2077) ที่แคว้นโอวาริ โดยเป็นบุตรชายของ “โอดะ โนบุฮิเดะ (Oda Nobuhide)” ไดเมียวและผู้นำตระกูลโอดะ
โอดะ โนบุนากะ (Oda Nobunaga)
ตั้งแต่วัยเยาว์ โนบุนากะได้ชื่อว่าเป็นเด็กที่แหกคอก มักจะทำผิดกฎระเบียบ และยังมีนิสัยเอาแน่เอานอนไม่ได้ ยากที่จะควบคุม มักจะชอบไปคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านโดยไม่สนใจสถานะของตน
ด้วยพฤติกรรมเหล่านี้ ทำให้ผู้คนตั้งฉายาให้เขาว่า “คนโง่แห่งโอวาริ”
แต่อันที่จริงแล้วโนบุนากะนั้นไม่โง่เลย เขามีความสนใจในอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ต่อมาในภายหลังช่วยให้เขายึดอำนาจและเป็นใหญ่เหนือแผ่นดินญี่ปุ่น
โอดะ โนบุฮิเดะ (Oda Nobuhide)
ค.ศ.1549 (พ.ศ.2092) บิดาของโนบุนากะได้เจรจาสันติภาพกับแคว้นมิโนะ โดยได้ยกโนบุนากะให้แต่งงานกับ “โนฮิเมะ (Nōhime)“ บุตรสาวของไดเมียวแห่งแคว้นมิโนะ
แต่แล้วในปีค.ศ.1551 (พ.ศ.2094) บิดาของโนบุนากะเสียชีวิต และถึงแม้โนบุนากะจะเป็นทายาทที่ถูกต้องของผู้เป็นบิดา แต่โนบุนากะก็ไม่เป็นที่ยอมรับมากนักจากพฤติกรรมที่ผ่านๆ มา
แต่โนบุนากะก็ไม่ยอมให้ใครมาขวางทางการขึ้นสู่อำนาจของตน โดยโนบุนากะได้รวบรวมไพร่พลจำนวน 1,000 นาย และบดขยี้ทุกคนที่ต่อต้านตน ซึ่งนั่นก็รวมถึงญาติพี่น้องของตนเองด้วย
2
ค.ศ.1554 (พ.ศ.2097) โนบุนากะสามารถเอาชนะ “โอดะ โนบุโตโมะ (Oda Nobutomo)” ผู้เป็นลุงได้ใน “ยุทธการที่ปราสาทคิโยสุ (Battle of Kiyosu Castle)” และบังคับให้ผู้เป็นลุงปลิดชีพตนเอง
ต่อมาในปีค.ศ.1557 (พ.ศ.2100) โนบุนากะได้สั่งประหาร “โอดะ โนบุยูกิ (Oda Nobuyuki)” ผู้เป็นน้องชาย หลังจากทราบว่าโนบุยูกิวางแผนจะโค่นล้มตน
เมื่อถึงปีค.ศ.1559 (พ.ศ.2102) ก็ไม่มีใครในแคว้นโอวาริกล้าต่อต้านโนบุนากะอีกต่อไป และโนบุนากะก็วางแผนจะขยายอำนาจของตนออกไป เริ่มจากตระกูลศัตรูอย่าง “ตระกูลอิมางาวะ (Imagawa Clan)”
ผู้นำตระกูลอิมางาวะคือ “อิมางาวะ โยชิโมโตะ (Imagawa Yoshimoto)” ซึ่งเป็นหนึ่งในไดเมียวที่ทรงอำนาจที่สุดคนหนึ่งในญี่ปุ่น และในปีค.ศ.1560 (พ.ศ.2103) โยชิโมโตะก็คิดว่าตนควรจะต้องได้ขึ้นเป็นโชกุน ปกครองแผ่นดินญี่ปุ่น
1
อิมางาวะ โยชิโมโตะ (Imagawa Yoshimoto)
แต่โนบุนากะย่อมไม่ยอมให้โยชิโมโตะขึ้นเป็นใหญ่ได้โดยง่าย
โยชิโมโตะได้รวบรวมกำลังพลจำนวน 25,000 นายเพื่อโจมตีกรุงเกียวโต และโนบุนากะก็ได้รวบรวมกำลังพลเพื่อรบกับโยชิโมโตะ
แต่ปัญหาก็คือ โนบุนากะสามารถรวบรวมกำลังพลได้เพียงแค่ไม่กี่พันนายเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่ากำลังพลของโยชิโมโตะมาก ทำให้โนบุนากะต้องใช้ความฉลาดเพื่อวางแผนพิชิตโยชิโมโตะ
โนบุนากะปล่อยให้โยชิโมโตะชนะไปก่อน และเฝ้ารอเวลาที่กองทัพของโยชิโมโตะการ์ดตก ไม่ทันระวังตัว เลี้ยงฉลองชัยชนะ เหล่าทหารเมาสาเกกันอย่างสนุกสนาน
ในจังหวะนี้เอง ขณะที่เกิดพายุฝนและฟ้าผ่า โนบุนากะก็นำกำลังพลของตนเข้าโจมตีค่ายของโยชิโมโตะ
กองทัพขนาดมหึมาของโยชิโมโตะแตกพ่าย โยชิโมโตะก็ถูกสังหาร และจากชัยชนะในครั้งนี้ ทำให้โนบุนากะโด่งดังไปทั่ว กลายเป็นขุนศึกที่เป็นที่หวาดเกรงที่สุดคนหนึ่งในแผ่นดินญี่ปุ่น
ในช่วงเวลา 20 ปีต่อจากนั้น โนบุนากะก็ได้รวบอำนาจเหนือแผ่นดินญี่ปุ่นด้วยการใช้กำลังทหารบดขยี้ทุกคนที่คิดจะต่อต้านตน
ความสำเร็จของโนบุนากะนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดรับการนำอาวุธปืนเข้ามาใช้ โดยโปรตุเกสนำอาวุธปืนเข้ามายังญี่ปุ่นในปีค.ศ.1543 (พ.ศ.2086) และโนบุนากะก็เป็นชาวญี่ปุ่นรายแรกๆ ที่ได้ลองใช้อาวุธปืน และได้นำอาวุธปืนเข้ามาใช้ในกองทัพของตน
1
นอกจากนั้น โนบุนากะยังแหวกประเพณีแต่ดั้งเดิม ด้วยการเลื่อนยศและโปรโมทนายทหารโดยดูจากความสามารถ ไม่ได้ดูจากสถานะและชาติตระกูลเหมือนคนอื่นๆ ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในแม่ทัพคนสำคัญของโนบุนากะ และเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากโนบุนากะ ก็คือ “โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi)” ก็เริ่มชีวิตในกองทัพจากการเป็นทหารเลวธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น ก่อนจะแสดงความสามารถเป็นที่ประจักษ์และได้โปรโมทขึ้นเป็นนายทหารคนสำคัญของโนบุนากะ
1
โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi)
แต่นอกเหนือจากความสำเร็จทางด้านการทหารแล้ว โนบุนากะยังได้ทำการปฏิรูประบบเศรษฐกิจในดินแดนของตน มีการห้ามการค้าผูกขาด เปิดตลาดเสรี ส่งเสริมการค้า และมีการสร้างสกุลเงินญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในรอบหลายร้อยปี และจัดระบบการเก็บภาษีใหม่
ค.ศ.1568 (พ.ศ.2111) โนบุนากะได้เดินทางมายังกรุงเกียวโต และแต่งตั้ง “อาชิคางะ โยชิอากิ (Ashikaga Yoshiaki)” เป็นโชกุนหุ่นเชิด และทำให้โนบุนากะมีอำนาจควบคุมโชกุน
แต่หลังจากผ่านมาได้ห้าปี ค.ศ.1573 (พ.ศ.2116) โนบุนากะก็ได้ถอดถอนโยชิอากิออกจากตำแหน่ง และเมื่อถึงค.ศ.1579 (พ.ศ.2122) แผ่นดินภาคกลางของญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดก็ตกอยู่ใต้อำนาจของโนบุนากะ
อาชิคางะ โยชิอากิ (Ashikaga Yoshiaki)
ค.ศ.1582 (พ.ศ.2125) โนบุนากะยังคงเป็นใหญ่ในภาคกลางของญี่ปุ่น ขยายอำนาจครอบคลุมกว่า 20 แคว้น และวางแผนจะขยายอำนาจออกไปยังภาคตะวันตก
แต่เวลาของโนบุนากะกำลังจะหมดลงแล้ว
มิถุนายน ค.ศ.1582 (พ.ศ.2125) โนบุนากะส่งกำลังเสริมไปให้ฮิเดโยชิ ผู้เป็นนายทหารคู่ใจของตน ซึ่งรวมถึงแม่ทัพอย่าง “อาเคจิ มิทสึฮิเดะ (Akechi Mitsuhide)” ด้วย
อาเคจิ มิทสึฮิเดะ (Akechi Mitsuhide)
จากนั้น โนบุนากะก็เดินทางไป “วัดฮอนโนจิ (Honnō-ji)” ในเกียวโตเพื่อเข้าร่วมพิธีชงชา แต่ด้วยเหตุผลอะไรไม่ทราบ อาจจะเป็นความโกรธแค้นส่วนตัว มิทสึฮิเดะได้นำทัพมายังวัดฮอนโนจิ
จากบันทึกในเหตุการณ์นี้มีหลายฉบับ บ้างก็ว่าทหารของมิทสึฮิเดะได้จุดไฟเผาวัด บ้างก็ว่าทหารของมิทสึฮิเดะได้เข้าโจมตีโนบุนากะ
แต่ไม่ว่าจะฉบับไหนจุดจบก็ตรงกัน นั่นคือโนบุนากะติดกับดัก ไม่สามารถฝ่าวงล้อมหนีออกไปได้ และตัดสินใจปลิดชีพตนเอง
เมื่อโนบุนากะเสียชีวิต มิทสึฮิเดะก็ตั้งใจจะขึ้นเป็นโชกุนเอง แต่ก็ต้องพบกับการต่อต้านจากฮิเดโยชิ ซึ่งรีบยกทัพกลับมายังเกียวโตเมื่อทราบข่าวการตายของโนบุนากะ
กองทัพของฮิเดโยชิบดขยี้กองทัพของมิทสึฮิเดะ และสังหารมิทสึฮิเดะในสนามรบ ทำให้ฮิเดโยชิขึ้นมาเป็นขุมอำนาจแถวหน้าในญี่ปุ่น
1
ฮิเดโยชิได้สานต่อภารกิจของโนบุนากะในการรวบรวมญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่น และภารกิจนี้ก็สำเร็จในสมัยของผู้สืบทอดอำนาจต่อจากฮิเดโยชิ นั่นคือ “โทคุงาวะ อิเอยาสุ (Tokugawa Ieyasu)”
โทคุงาวะ อิเอยาสุ (Tokugawa Ieyasu)
ในทุกวันนี้ “โอดะ โนบุนากะ (Oda Nobunaga)” “โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi)” และ “โทคุงาวะ อิเอยาสุ (Tokugawa Ieyasu)” ได้รับยกย่องให้เป็นสามบุรุษผู้ “รวบรวมแผ่นดินญี่ปุ่น“
และจนถึงปัจจุบัน โอดะ โนบุนากะก็ยังคงได้รับการยกย่อง เป็นที่จดจำของชาวญี่ปุ่น
เรียกได้ว่าไม่เลวเลยสำหรับเด็กที่เคยถูกต่อว่าว่าเป็นพวกนอกคอก และเคยถูกเรียกว่าเป็น “คนโง่”
โฆษณา