26 ก.พ. เวลา 12:02 • ประวัติศาสตร์

“รูธ เอลลิส (Ruth Ellis)” นักโทษประหารหญิงคนสุดท้ายแห่งเกาะอังกฤษ

ในวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.1955 (พ.ศ.2498) ได้มีใบประกาศแปะอยู่ด้านนอกเรือนจำ “Holloway Prison” ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
บนประกาศนั้นมีข้อความว่า
“คำตัดสินตามกฎหมายต่อรูธ เอลลิส ซึ่งพบว่ามีความผิดฐานฆาตกรรม และจะต้องถูกประหารในเวลา 9:00 น. ของวันพรุ่งนี้“
นี่คือเรื่องราวของ “รูธ เอลลิส (Ruth Ellis)” นักโทษประหารหญิงคนสุดท้ายแห่งเกาะอังกฤษ
รูธ เอลลิส (Ruth Ellis)
“รูธ เอลลิส (Ruth Ellis)” เกิดในปีค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) ที่เวลส์ สหราชอาณาจักร โดยเธอเกิดมาก็ต้องพบเจอกับความรุนแรงจากผู้เป็นพ่อแม่ตั้งแต่ยังเด็ก
พี่สาวของเอลลิสนั้นถูกพ่อแท้ๆ ล่วงละเมิดจนตั้งครรภ์ ส่วนตัวเธอเองก็ถูกพ่อล่วงละเมิดตั้งแต่อายุเพียง 11 ขวบ
1
เมื่อโตขึ้น เอลลิสก็ได้มีความสัมพันธ์กับชายหนุ่มหลายคน ซึ่งล้วนแต่จบลงไม่ดีทั้งนั้น โดยเธอเคยมีความสัมพันธ์กับทหารชาวแคนาดาคนหนึ่งขณะที่เธออายุเพียง 17 ปี และตั้งครรภ์บุตรชายในปีค.ศ.1944 (พ.ศ.2487)
1
จากนั้น เอลลิสก็ได้แต่งงานกับชายที่อายุมากกว่าเธอมาก และมีบุตรสาวด้วยกันในปีค.ศ.1951 (พ.ศ.2454) หากแต่สามีของเธอไม่ยอมรับว่าบุตรที่เกิดมาเป็นบุตรของตน
4
ดูเหมือนชีวิตส่วนตัวของเอลลิสจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่สำหรับหน้าที่การงานนั้น เธอทำได้ดีเลยทีเดียว
เอลลิสเริ่มต้นทำงานเป็นนางแบบนู้ดในไนท์คลับแห่งหนึ่ง ก่อนจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการไนท์คลับขณะที่เธอมีอายุเพียง 27 ปี
2
และที่ไนท์คลับแห่งนี้เอง เป็นสถานที่ที่เธอได้พบกับ “เดวิด เบลคลี (David Blakely)” ชายที่จะเปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอดกาล
เบลคลีได้มีความสัมพันธ์กับเอลลิส หากแต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ไม่ได้ราบรื่นมาตั้งแต่ต้น โดยตัวเบลคลีนั้นเป็นนักแข่งรถ อีกทั้งยังเป็นนักดื่มและเพลย์บอย มีความสัมพันธ์กับหญิงสาวมากหน้าหลายตา ทำให้เบลคลีและเอลลิสมีปัญหา รักๆ เลิกๆ กันบ่อยครั้ง
2
เดวิด เบลคลี (David Blakely)
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ยังมีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเบลคลีเคยต่อยเข้าที่ท้องของเอลลิส ซึ่งขณะนั้นกำลังตั้งครรภ์ ทำให้เธอแท้งลูก
เมื่อถึงเดือนเมษายน ค.ศ.1955 (พ.ศ.2498) ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ยิ่งแย่ลงไปอีก เนื่องจากเอลลิสได้เริ่มมีความสัมพันธ์กับชายอื่น นามว่า “เดสมอนด์ คัสเซน (Desmond Cussen)” แต่เอลลิสก็ยังไม่ได้เลิกกับเบลคลี
1
ทางด้านเบลคลี ก็เริ่มบ่นให้เพื่อนสนิทฟังเรื่องเอลลิส และกล่าวว่าตนนั้นอยากจะทิ้งเอลลิสไปแล้ว ติดแค่ว่าเอลลิสไม่ยอมเลิก
1
เดสมอนด์ คัสเซน (Desmond Cussen) กับเอลลิส
เบลคลีได้ไปพักอาศัยอยู่กับเพื่อน และเอลลิสก็ใช้เวลาหลายวันตามหาตัวเขา ก่อนที่ในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ.1955 (พ.ศ.2498) เอลลิสจะเรียกรถแท๊กซี่ไปยังย่านแฮมสตีด ซึ่งเป็นย่านที่พักอาศัยของเบลคลี
เอลลิสตามไปเจอเบลคลีที่ผับในย่านนั้น ก่อนที่ในเวลาราว 21:30 น. เอลลิสได้จ้องมองดูขณะเบลคลีออกมาจากผับกับเพื่อนที่ชื่อ “ไคลฟ์ กันเนลล์ (Clive Gunnell)”
3
ขณะที่กำลังจะก้าวขึ้นรถ อยู่ๆ เอลลิสก็โผล่ออกมา และยิงปืนใส่เบลคลีห้านัด ทำให้เบลคลีเสียชีวิตทันที
หลังจากยิงเบลคลีเสร็จ เอลลิสก็ได้หันไปหากันเนลล์ และกล่าวว่า
“ฉันทำความผิด ฉันรู้สึกสับสนนิดหน่อย คุณช่วยโทรแจ้งตำรวจให้ทีได้มั้ย ไคลฟ์?”
แต่กันเนลล์ไม่จำเป็นต้องโทรแจ้งตำรวจ เนื่องจากตำรวจที่ตระเวนตรวจตราความเรียบร้อย ได้ยินเสียงปืนและรีบรุดมายังที่เกิดเหตุ และทำการจับกุมตัวเอลลิสทันที
เอลลิสนั้นมีท่าทีมึนงง แต่ไม่ได้ดูว่าเมาเหล้าหรือเมายา
สำหรับสาเหตุการสังหาร ก็เนื่องจากการที่เบลคลีเคยข่มเหงและนอกใจเธอ เคยทำร้ายร่างกายเธอจนแท้ง
2
หลังจากขึ้นศาลได้ไม่ถึง 20 นาที คณะลูกขุนก็ตัดสินให้เอลลิสมีความผิดฐานฆาตกรรม และให้ลงโทษประหารชีวิต
จากข่าวการตัดสินประหารเอลลิส ทำให้สังคมเสียงแตก เกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย แต่เอลลิสก็ยอมรับผลการตัดสินแต่โดยดี และปฏิเสธที่จะยื่นอุทธรณ์
13 กรกฎาคม ค.ศ.1955 (พ.ศ.2498) เอลลิสถูกประหารด้วยการแขวนคอในเวลา 9:00 น.
1
หลังจากเอลลิสถูกประหาร สาธารณชนได้ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารในสหราชอาณาจักร และได้มีการประชุมหารือระดับประเทศว่าโทษแบบใดจึงควรจะได้รับโทษประหาร
นอกจากนั้น ยังมีการเปิดเผยในภายหลังว่าในวันที่สังหารเบลคลี เอลลิสนั้นใช้เวลาดื่มเหล้ากับคัสเซน ซึ่งเป็นชู้รักของเธอ และเป็นคัสเซนนี่แหละที่ให้ปืนกับเธอและเป็นคนขับรถไปส่งเธอลงมือ
1
ในเวลาต่อมา เพื่อนของคัสเซนยังให้การกับตำรวจว่าคัสเซนเป็นคนยุให้เอลลิสสังหารเบลคลี เพื่อที่จะได้กำจัดชายที่เป็นก้างขวางคอ
แต่คัสเซนก็ปฏิเสธมาตลอดว่าตนไม่เกี่ยวข้อง ก่อนจะเสียชีวิตในปีค.ศ.1991 (พ.ศ.2534) อีกทั้งยังมีคนโต้แย้งว่าคณะลูกขุนไม่ทราบมาก่อนเลยว่าในวัยเด็ก เอลลิสเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศมาก่อน
ในปีค.ศ.1964 (พ.ศ.2507) สหราชอาณาจักรได้ทำการประหารนักโทษเป็นรายสุดท้าย ก่อนที่ในปีต่อมา จะมีการห้ามโทษประหารในสหราชอาณาจักร เปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต
ในที่สุด ค.ศ.1998 (พ.ศ.2541) กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องและผลักดันจนทำให้โทษประหารชีวิตในสหราชอาณาจักรต้องถูกยกเลิกไปอย่างถาวร
2
นั่นทำให้ “รูธ เอลลิส (Ruth Ellis)” เป็นนักโทษประหารหญิงรายสุดท้ายในสหราชอาณาจักร
2
โฆษณา