Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นักปรัชญานอกรีต - Freethinker
•
ติดตาม
27 ก.พ. เวลา 08:52 • ปรัชญา
[ พระพุทธศาสนา วิชาที่ควรหมดอายุ? ]
ถ้าใครเคยเป็นนักเรียนในโรงเรียนของรัฐไทย ย่อมต้องเคยผ่านการถูก "ยัดเยียด" ให้ปฏิบัติพิธีกรรมและกิจกรรมทางศาสนา และรวมถึงการถูกบังคับให้ต้องเรียนวิชา "พระพุทธศาสนา" มาบ้างไม่มากก็น้อย
นับตั้งแต่ตั้งแต่พิธีการหน้าเสาธง ที่ให้นักเรียนต้องสวดมนต์ไหว้พระ อีกทั้งในโรงเรียนยังมีการแผ่เมตตา นั่งสมาธิ และเข้าร่วมพิธีกรรมต่าง ๆ ในวันสำคัญทางศาสนา ไปจนถึงการถูกบังคับให้ต้องเข้าร่วมค่ายปฏิบัติธรรม หรือในบางโรงเรียนยังมีการบังคับให้นักเรียนเข้าร่วมพิธีกรรมปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ
การที่โรงเรียนของรัฐใส่วิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรวิชาบังคับ ถือเป็นการยัดเยียดให้เด็ก “ทุกคน” ไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม ซึ่งก็รวมถึงเด็กนักเรียนที่ไม่นับถือศาสนาจำเป็นต้องเรียนพุทธศาสนาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่จบตามหลักสูตร
นอกจากโรงเรียนจะบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนาแล้ว คณะสงฆ์ไทยยังพ่วงหลักสูตรธรรมศึกษาตรี, โท, เอกเข้ากับวิชาพระพุทธศาสนาด้วย โดยแชร์คะแนนในรายวิชาดังกล่าว ซึ่งสิ่งนี้ขัดกับ “ความชอบธรรม” ตามหลัก “ความเป็นกลางทางศาสนา” ของรัฐ
ก็คือการที่รัฐให้สิทธิพิเศษแก่องค์กรทางศาสนาบางศาสนาเข้ามามีอำนาจบังคับยัดเยียดความเชื่อทางศาสนาของตนเองใน public school อย่างไม่แยแสต่อการเคารพเสรีภาพทางศาสนาของนักเรียน ในแง่นี้จึงเป็นบทบาทที่เพี้ยนของสถาบันพุทธศาสนาไทยอีกด้วย
ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้นี้ทำให้เห็นว่า ระบบการศึกษาของรัฐไทยนั้น "ไร้เสรีภาพทางศาสนา" และเป็นการไม่เคารพเสรีภาพทางศาสนาของนักเรียนในฐานะปัจเจก
.
ในเมื่อศาสนาเป็นเรื่องของ “ความเชื่อ” ซึ่งสิ่งนี้ควรถือให้เป็นเป็น “เสรีภาพ” ส่วนบุคคล และเมื่อขึ้นชื่อว่าความเชื่อแล้วย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์จนสิ้นสงสัยได้ ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ควรเป็นเรื่องที่ระบบการศึกษาของรัฐจะเข้ามาแทรกแซงหรือยัดเยียดความเชื่อศาสนาใดศาสนาหนึ่งแก่เด็กนักเรียน โดยเฉพาะในสังคมที่อ้างว่าตัวเองเป็น "พหุวัฒนธรรม"
การที่การศึกษาของรัฐกับศาสนามีบทบาทเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึง "อิทธิพลของรัฐ" และสถาบันศาสนา ในการเข้ามากำหนดแนวทางการศึกษา โดยไม่คำนึงถึงความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมที่มีอยู่ในสังคมไทย
ซึ่งการที่รัฐบังคับให้นักเรียนทุกคนต้องเรียนพระพุทธศาสนา ไม่เพียงแต่ละเมิดเสรีภาพทางศาสนาแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังขัดแย้งกับหลักการในด้านสิทธิมนุษยชนและหลักเสรีภาพทางมโนธรรมของนักเรียน
อีกทั้งยังขัดแย้งกับหลักการของรัฐโลกวิสัย (secularism) ซึ่งเน้นให้รัฐมีความเป็นกลางทางศาสนา ไม่สนับสนุนศาสนาใดเป็นพิเศษ และไม่ก้าวก่ายความเชื่อหรือการปฏิบัติทางศาสนาของประชาชน
.
[ ปัญหาการละเมิดเสรีภาพทางศาสนาและสิทธิมนุษยชน ]
การกำหนดให้นักเรียนทุกคนต้องเรียนพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักเสรีภาพทางศาสนาอย่างชัดเจน ทั้งยังถือเป็นการกีดกันเสรีภาพในการเลือกทางศาสนา และเสรีภาพจากการถูกบังคับให้ต้องเรียนศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยที่นักเรียนไม่สามารถเลือกได้
แม้ว่าจะไม่ใช่การบังคับให้คนศาสนาอื่นหรือคนไม่มีศาสนาหันมานับถือพุทธศาสนาก็ตาม แต่ก็ย่อมเป็นการบังคับให้พวกเขาต้องเรียนในสิ่งที่ขัดต่อเจตจำนงของตนเอง ซึ่งในแง่นี้ถือว่าขัดกับหลักการทางด้านสิทธิมนุษยชน
หลักสิทธิมนุษยชนสากล เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ต่างเน้นย้ำว่าแต่ละบุคคลมีเสรีภาพในการเลือกศาสนาและสามารถปฏิเสธการเรียนรู้หรือปฏิบัติตามหลักศาสนาที่ตนเองไม่ศรัทธาได้
ในบริบทของประเทศไทย การที่รัฐบังคับให้โรงเรียนสอนพระพุทธศาสนาโดยไม่คำนึงถึงความเชื่อของนักเรียนเป็นการละเมิดสิทธิดังกล่าวอย่างชัดเจน อีกทั้งยังเป็นการฝืนหลักการรัฐโลกวิสัย ซึ่งควรให้รัฐวางตัวเป็นกลางและไม่กำหนดศาสนาเป็นศูนย์กลางของการศึกษา
นอกจากนี้ นักเรียนที่นับถือศาสนาอื่นหรือไม่มีศาสนาต้องถูกบังคับให้เรียนเนื้อหาทางศาสนาที่อาจขัดกับความเชื่อของตนเอง ซึ่งอาจทำให้เกิดความรู้สึกถึงการกีดกันและความไม่เท่าเทียมภายในระบบการศึกษาได้
.
อีกทั้งยังขัดกับหลักการเรื่อง เสรีภาพทางมโนธรรม (freedom of conscience) ที่หมายถึงเสรีภาพของบุคคลในการคิดและตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องศาสนาและศีลธรรมโดยปราศจากการบังคับยัดเยียด
การบังคับให้นักเรียนทุกคนต้องเรียนพระพุทธศาสนาไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดเสรีภาพทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นการกดดันให้พวกเขาต้องซึมซับแนวคิดและค่านิยมของศาสนานี้โดยที่เขาเองก็ไม่ได้เชื่อ
และที่สำคัญคือในระบบการศึกษาไม่มีทางเลือกอื่นในการวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามเกี่ยวกับวิชาพระพุทธศาสนา ซึ่งการเรียนลักษณะนี้เป็นการเรียนเพื่อให้เชื่อเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
นอกจากนี้ การสอนศาสนาในลักษณะที่ให้ความสำคัญกับการสอนเพื่อให้เชื่อหรือการปฏิบัติทางศาสนามากกว่าการถกเถียงทางปรัชญา อาจส่งผลให้เกิดการยัดเยียดความเชื่อโดยไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนพิจารณาแนวคิดทางศีลธรรมจากมุมมองอื่น ๆ ที่หลากหลาย และเป็นสากลมากกว่าศาสนา
ซึ่งขัดกับหลักการทางการศึกษาสมัยใหม่ที่ควรสนับสนุนให้ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์และตั้งคำถามต่อระบบความเชื่อที่ถูกถ่ายทอดให้พวกเขา
.
ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางศาสนา และอ้างตัวเองว่าเป็นสังคม “พหุวัฒนธรรม” โดยมีประชากรที่นับถือศาสนาต่าง ๆ รวมถึงผู้คนที่ไม่นับถือศาสนาอยู่ร่วมกัน การให้ความสำคัญกับศาสนาหนึ่งเหนือศาสนาอื่นผ่านระบบการศึกษา ถือเป็นการส่งเสริมแนวคิดแบบเอกภาพนิยมทางศาสนา (religious homogenization) ซึ่งอาจนำไปสู่การกีดกันลดทอนคุณค่า และการเลือกปฏิบัติของกลุ่มศาสนาและความเชื่ออื่น ๆ ในสังคม
ในบริบทของสังคมพหุวัฒนธรรม การที่รัฐกำหนดให้วิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับอาจนำไปสู่ความรู้สึกแบ่งแยกหรือการแบ่งเขาแบ่งเราในหมู่นักเรียนที่มาจากศาสนาอื่น
การเรียนรู้ศาสนาในลักษณะที่ครอบงำโดยศาสนาเดียว อาจส่งผลให้เกิดอคติและการไม่เข้าใจความแตกต่างทางศาสนา ซึ่งขัดกับแนวทางการสร้างความสมานฉันท์และความเป็นเอกภาพในสังคมที่มีความหลากหลายทางด้านความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรม
.
เพราะฉะนั้น การที่โรงเรียนของรัฐบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนาเป็นนโยบายที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน เสรีภาพทางศาสนา และเสรีภาพทางมโนธรรม อีกทั้งยังเป็นปัญหาต่อการสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มศาสนาและความเชื่ออื่น ๆ ในสังคม
และเพื่อแก้ปัญหาที่กล่าวมาในบทความนี้ ผู้เขียนจึงขอเสนอว่าระบบการศึกษาควรเปลี่ยนจากการสอนศาสนาเพียงศาสนาเดียวไปเป็นการศึกษาเชิงปรัชญาและจริยศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้รับความรู้เกี่ยวกับหลักศีลธรรมและแนวคิดทางจริยธรรมจากมุมมองที่เป็นกลาง
เพราะการศึกษาด้านปรัชญาและจริยศาสตร์ช่วยพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) การคิดแบบมีวิจารณญาณ และการให้เหตุผลเชิงจริยธรรม (moral reasoning) โดยไม่ยัดเยียดความเชื่อทางศาสนาใดศาสนาหนึ่งให้แก่นักเรียน
การเรียนการสอนปรัชญาและจริยศาสตร์ยังช่วยให้นักเรียนมีโอกาสศึกษาแนวคิดทางจริยธรรมที่หลากหลายจากทั้งศาสนาและปรัชญาตะวันตกและตะวันออก ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถตัดสินใจเชิงศีลธรรมได้โดยอาศัยเหตุผลมากกว่าความเชื่อที่ถูกบังคับให้ต้องเรียนรู้
นอกจากนี้ การยกเลิกวิชาพระพุทธศาสนาและเปลี่ยนมาเป็นการเรียนปรัชญาและจริยศาสตร์ ยังช่วยส่งเสริมการเคารพในความแตกต่างและการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพใน "เสรีภาพทางศาสนา" ในสังคมที่เรียกตัวเองว่า "พหุวัฒนธรรม" และสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและหลักการทางด้านความเสมอภาคทางศาสนา
ข้อมูลบางส่วนจาก
https://prachatai.com/journal/2019/02/80860
ศาสนา
ปรัชญา
แนวคิด
บันทึก
1
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย