5 มี.ค. เวลา 13:48 • ปรัชญา

โลกที่เราไม่รู้จัก : ว่าด้วยทางเลือกของชีวิตและสรรพสิ่ง

เมื่อเราตั้งคำถามถึงความเป็นจริงของโลก จักรวาล และชีวิตของมนุษย์ ว่าแท้จริงแล้วมันคืออะไรกันแน่ มันมีความจริงอะไรที่อยู่เบื้องหลังโลกที่เรารับรู้ผ่านประสาทสัมผัสของเราหรือไม่ เราอาจเห็นคำตอบและคำอธิบายจากศาสนาต่าง ๆ วิทยาศาสตร์ และรวมถึงข้อถกเถียงทางปรัชญาอีกมากมาย ซึ่งคำถามก็คือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคำตอบหรือคำอธิบายแบบไหนที่เป็นความจริง
ในฐานะของ “เผ่าพันธุ์มนุษย์” เผ่าพันธุ์ของเราต่างอาศัยอยู่บนดาวเคราะห์เล็ก ๆ ที่ลอยเท้งเต้งในจักรวาลที่เรียกว่า “โลก” ถ้าเทียบกับจักรวาลอันยิ่งใหญ่ไพศาลแล้ว เผ่าพันธุ์ของเรานั้นเปรียบเสมือนเศษเสี้ยวของฝุ่นผงในจักรวาลอันกว้างใหญ่ แต่เมื่อเราสังเกตการดำรงอยู่ของจักรวาลแล้วเราอาจเห็นได้ว่าสรรพสิ่งที่ดำรงอยู่ในนั้นเป็นเสมือนระบบที่มีความซับซ้อน และเต็มไปด้วยปริศนาที่ยากจะเข้าใจได้ในฐานะของเผ่าพันธุ์นี้
ดูเหมือนว่าจักรวาลนั้นเป็นสิ่งที่ “ดำรงอยู่โดยจำเป็น” และอาจเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับการรับรู้ของเรา แต่ทว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความสงสัยใคร่รู้และตั้งคำถามถึงสิ่งเหล่านี้มาเป็นเวลาอันยาวนาน แม้จะมีคำอธิบายอยู่มากมายแค่ไหนก็ตาม แต่คำอธิบายเหล่านั้นก็หลีกหนีไม่พ้นการตั้งคำถามของมนุษย์ไปได้ ซึ่งทำให้เรื่องของ “ความเป็นจริง” ของชีวิต โลก และจักรวาลนั้นนำมาสู่คำถามที่ยากจะตอบคืออะไรคือความจริงของการดำรงอยู่ของมนุษย์และจักรวาลกันแน่ และ “ทำไม” มันจึงดำรงอยู่
.
[ ชีวิตและทางเลือก ]
ความเป็นไปของสรรพสิ่งในจักรวาลดูเหมือนสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นจะถูก “กำหนด” ไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ ทั้งกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ หลักการทางด้านดาราศาสตร์ หรือแม้แต่พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตบนโลก ในบทความนี้เราจะมาพิจารณาถึงความเป็นไปได้ใน “สมมติฐานโลกจำลอง” (Simulation Hypothesis) ที่มองว่าโลกและจักรวาลเป็นเพียงการจำลองขึ้นโดย “บางสิ่ง” หรือถูกสร้างขึ้นโดยอารยธรรมที่ก้าวหน้ากว่าเรา ที่อาจมองได้ว่าเป็น “ผู้สร้างเกม” หรือสร้างการจำลองนี้ขึ้นมาที่เราไม่อาจเข้าถึงได้
เมื่อพิจารณาจากแนวคิดนี้นำมาสู่คำถามที่ว่า เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าโลกและจักรวาลที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนที่เราอาศัยอยู่ไม่ใช่เพียงการจำลองขึ้นหรือเป็นเพียงเกม ๆ หนึ่ง และเมื่อเป็นเช่นนั้นเราควรต้องมาตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของ “เจตจำนงเสรี” (Free Will) ของมนุษย์ ว่าแท้จริงแล้วมนุษย์มีทางเลือกอย่างแท้จริงหรือไม่
หรือแท้จริงแล้วมนุษย์อาจเป็นเพียง NPC (Non-Player Character) หรือ AI ที่อาจไม่มีทางเลือกอย่างเป็นอิสระได้อย่างแท้จริงก็เป็นได้ โดยจะพิจารณาเปรียบเทียบกับแนวคิดและคำอธิบายทางศาสนาควบคู่กันไปด้วย
.
ตั้งแต่โครงสร้างของอตอมไปจนถึงการเคลื่อนที่ของดาราจักร ดูเหมือนว่าทุกอย่างจำเป็นต้องดำเนินไปตาม “กฎที่แน่นอน” และความเป็นไปของสรรพสิ่งอย่างเป็นระบบระเบียบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำมาสู่คำถามที่ว่าจักรวาลและสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏในการรับรู้ของเรานั้นเป็นการจำลองขึ้นของระบบคอมพิวเตอร์หรือไม่
หากพิจารณาโลกของเราในแง่ของสมมติฐานโลกจำลอง เราจะพบว่าการจำลองนี้มีลักษณะที่คล้ายกับเกมที่ถูกสร้างขึ้นมา และสิ่งต่าง ๆ ก็อาจดำเนินไปตามโค้ดที่ถูกเขียนขึ้น และสรรพสิ่งในจักรวาลอาจไม่มีอิสระในการเลือกสิ่งใด ๆ ได้อย่างแท้จริง
.
เมื่อเรามองดูสิ่งต่าง ๆ ที่ดำเนินไปในจักรวาลแล้ว เราอาจพบข้อเท็จจริงร่วมกันได้ว่า “ไม่มีสิ่งใดที่มีทางเลือกได้อย่างแท้จริง” อย่างเช่นโลกและดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ที่มันต่าง “ไม่มีทางเลือกอะไรเลย” นอกจากต้องหมุนไปตามแรงโน้มถ่วงที่กำหนดไว้ ดวงจันทร์จำเป็นต้องโคจรรอบโลก หรือการที่ดวงอาทิตย์ต่องปล่อยพลังงานออกมาอย่างต่อเนื่อง
ไปจนถึงการที่สัตว์ต่าง ๆ มีพฤติกรรมที่ถูกกำหนดโดยพันธุกรรมและสัญชาตญาณ เช่น แมลงหลายชนิดต้องบินเข้าหาแสงไฟ หรือมดและผึ้งต่างมีการแบ่งหน้าที่การทำงานอย่างเป็นระบบโดยที่ไม่ต้องมีใครไปสอนมันเลย และเป็นไปได้ไหมว่าเบื้องหลังของธรรมชาติและจักรวาลนั้นถูก “โปรแกรม” ว่าสิ่งต่าง ๆ ควรต้องทำอะไรอยู่เบื้องหลัง
และที่สำคัญคือ มนุษย์ในยุคปัจจุบันยังสามารถ “ทำนายหรือคาดการณ์อนาคต” ได้อย่างแม่นยำ อย่างการที่นักดาราศาสตร์สามารถคำนวณได้ล่วงหน้าว่าดาวหางจะเกิดขึ้นเมื่อใด หรือการคำนวณว่าสุริยุปราคาจะเกิดขึ้นในอีกกี่ปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้บ่งชี้ว่าอะไร สำหรับผู้เขียนอย่างน้อย ๆ ก็บ่งชี้ว่าโลกและสรรพสิ่งในจักรวาลไม่ได้ดำเนินไปโดยบังเอิญ และสิ่งต่าง ๆ ในจักรวาลก็จำเป็นต้องดำเนินไปตาม “กฎเกณฑ์บางอย่าง” ที่อยู่เบื้องหลังเสมอ
เมื่อพิจารณาจากสิ่งเหล่านี้จะพบว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ในจักรวาลและรวมถึงการดำรงอยู่ของธรรมชาติต่างดูเหมือนจะดำเนินไปอย่างไม่มีทางเลือกอย่างไม่มีอิสระ ซึ่งนำมาสู่คำถามที่สำคัญคือ “แล้วมนุษย์เป็นข้อยกเว้นหรือไม่?” มนุษย์มีทางเลือกหรือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจักรวาลที่ถูกกำหนดมาแล้วและไม่มีทางเลือกที่เป็นอิสระได้อย่างแท้จริง เราจะมาหาคำตอบกันต่อไปโดยพิจารณาจากแง่มุมทางศาสนา
.
ในศาสนาพุทธอธิบายว่าทุกอย่างล้วนเป็นไปตามเหตุและปัจจัย หรือแนวคิดที่เชื่อว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” ซึ่งอาจหมายความว่าทุกสิ่งล้วนถูก “กำหนด” ไว้แล้วด้วยเงื่อนไขบางอย่าง หรือในเรื่องของ “พรหมลิขิต” ของศาสนาพราหมณ์ หรือการที่บอกว่าพระเจ้าเป็นผู้กำหนดทุกสิ่งก็สะท้อนแนวคิดที่ว่าชีวิตถูกกำหนดไว้แล้วทั้งสิ้น แม้แต่ในมุมมองของปรัชญาเต๋าก็ได้มีการกล่าวว่า “สรรพสิ่งล้วนแล้วแต่เป็นอย่างที่มันเป็น” ซึ่งในทรรศนะเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างดำเนินไปตามเส้นทางของมันโดยไม่มีทางเลือก
ในพุทธศาสนามีหลักคำสอนเกี่ยวกับ “อนัตตา” ซึ่งเท่าที่ทราบหมายถึง “ความไม่มีตัวตนที่แท้จริง” แนวคิดนี้เป็นการมองว่ามนุษย์นั้นไม่ได้เป็นเจ้าของความคิด อารมณ์ หรือการกระทำของตนเองอย่างแท้จริง ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นผลจากเหตุและปัจจัยตามหลักของ อิทัปปัจจยตา
ในทางพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธว่ามนุษย์มีความสามารถในการตัดสินใจโดยสิ้นเชิง แต่เป็นการมองว่า ทุกการกระทำล้วนแล้วแต่ถูกกำหนดโดยเงื่อนไขบางอย่างที่มีอยู่ก่อน เช่น กรรม ปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ และสังสารวัฏ และถ้ามองในแง่นี้การที่เราคิดว่าเรามีอิสระในการเลือกแท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงมายาแห่งจิตสำนึกเท่านั้น
ในศาสนาคริสต์มีความขัดแย้งระหว่างแนวคิด Free Will และ Predestination นักเทววิทยาอย่าง ออกัสติน (St. Augustine) และ จอห์น คาลวิน (John Calvin) เชื่อว่า พระเจ้าทรงกำหนดโชคชะตาของมนุษย์ไว้ล่วงหน้า และมนุษย์ไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงเส้นทางของตนเองได้
หากพระเจ้าทรงรอบรู้และทรงพลังสูงสุด พระองค์ก็ต้องรู้ล่วงหน้าว่ามนุษย์จะกระทำอะไร ซึ่งหมายความว่า การกระทำของมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่ถูกเลือกโดยเสรี แต่เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดแล้ว ดังนั้น แนวคิดเรื่องบาปและบุญในคริสต์ศาสนาอาจเป็นเพียงกลไกที่เสริมสร้างความรู้สึกว่าเรามีเสรีภาพในการเลือก ทั้งที่แท้จริงแล้ว มนุษย์อาจเป็นเพียงปฏิบัติตามแผนการของพระเจ้า
ในศาสนาอิสลามมีแนวคิดที่เรียกว่า "อัลกอดัร" (Al-Qadar) ซึ่งแปลว่า "การกำหนดล่วงหน้า" (Divine Decree) ตามหลักศาสนาอิสลาม ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจักรวาลนี้เป็นไปตามการกำหนดของอัลลอฮ์
มีโองการจากคัมภีร์อัลกุรอานที่กล่าวว่า "ไม่มีภัยพิบัติใดเกิดขึ้นบนแผ่นดินหรือกับตัวของพวกเจ้า เว้นแต่ว่ามันได้ถูกกำหนดไว้ในบันทึกแล้ว ก่อนที่เราจะให้มันเกิดขึ้นจริง" (ซูเราะห์อัลฮะดีด 57:22) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดของอิสลามใกล้เคียงกับแนวคิดของศาสนาคริสต์ที่มองว่ามนุษย์ไม่มีอิสระที่แท้จริง
ทั้งนี้ ในทรรศนะทางปรัชญาของอริสโตเติลยังมองว่า จะต้องมีพระเจ้าซึ่งเป็นผู้ริเริ่มทุกกระบวนการในโลกธรรมชาติ อีกทั้งอริสโตเติลยังมองว่าการเคลื่อนไหวของดวงดาวและดาวเคราะห์ต่าง ๆ เป็นตัวชี้นำการเคลื่อนไหวทั้งหลายบนโลก แต่จะต้องมีบางอย่างที่ทำให้ดวงดาวบนท้องฟ้าโคจรไป อริสโตเติลเรียกสิ่งนี้ว่า “ปฐมกร” หรือ “พระเจ้า” โดย “ปฐมกร” เองไม่เคลื่อนไหว แต่เป็น “รูปปัจจัย” ของการเคลื่อนที่ของดวงดาวบนท้องฟ้า และการเคลื่อนไหวทั้งมวลในธรรมชาติ
แม้แต่ในทางโหราศาสตร์เองก็มีการเชื่อว่า การเคลื่อนที่ของดวงดาวนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตของมนุษย์ เช่น ลักษณะนิสัย เหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต หรือในเรื่องของโชคชะตา ซึ่งนำมาสู่ที่ว่าหากดวงดาวสามารถทำนายอนาคตได้ แสดงว่าทางเลือกของมนุษย์อาจถูกกำหนดไว้แล้วล่วงหน้า และถ้าโหราศาสตร์เป็นจริงก็ย่อมเชื่อมโยงมาถึงเรื่องของการที่มนุษย์นั้นไม่มี Free Will อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
.
[ ศาสนาและโลกจำลอง ]
ในศาสนาและทรรศนะทางปรัชญาต่าง ๆ สัจธรรมสูงสุดมักถูกอธิบายว่าเป็นสิ่งที่ “ไร้รูปร่าง” ไม่มีการเกิดหรือการตาย และดำรงอยู่เป็นนิรันดร์ ก็คือสัจธรรมเหล่านี้ไม่ถูกจำกัดอยู่ในเงื่อนไขของรูปร่าง การเกิดหรือการตาย และรวมไปจนถึงการมีอยู่ของกาลเวลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้คล้ายกับแนวคิดเกี่ยวกับโค้ดหรือโปรแกรมที่อยู่เบื้องหลังของระบบของการจำลอง ที่สิ่งนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของโลกที่ถูกสร้างขึ้นโดยการจำลองนั้น
หากโลกและจักรวาลเป็นการจำลองขึ้นมา สิ่งที่จะตั้งข้อสังเกตในบทความนี้คือเป็นไปได้ไหมว่าศาสดาของศาสนาต่าง ๆ เป็นผู้ที่ค้นพบความจริงนี้ แต่ไม่รู้จะอธิบายเรื่องนี้ให้ผู้คนเข้าใจได้อย่างไร จึงมีการอธิบายในลักษณะที่แตกต่างกันไป ในที่นี้หากทฤษฎีโลกจำลองเป็นจริงผู้เขียนมองว่าอาจมีสองสมมติฐานด้วยกันเกี่ยวกับความจริงทางศาสนา อย่างแรกคือศาสดาเป็นผู้ค้นพบ “ผู้สร้างเกม” หรือผู้สร้างการจำลอง
ในหลายศาสนามีแนวคิดเกี่ยวกับโลกและจักรวาลว่ามี “ผู้สร้าง” แต่ผู้สร้างในศาสนาฝั่งเทวนิยมเท่าที่ทราบมีคุณสมบัติคือไร้รูปร่าง ไร้การเกิดหรือการตาย ดำรงอยู่เป็นหนึ่งเดียว (ไม่พึ่งพาสิ่งใด) และดำรงอยู่เป็นนิรันดร์ ซึ่งแนวคิดเหล่านี้อาจสอดคล้องกับสมมติฐานที่ว่า หากจักรวาลนี้เป็นการจำลองขึ้นมาโดยอะไรก็ตาม สิ่งนั้นย่อมไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และเงื่อนไขใด ๆ ก็ตามของโลกและจักรวาลที่ถูกสร้างขึ้น
กับอีกสมมติฐานคือ ศาสนาค้นพบ “ช่องโหว่ของเกม” ซึ่งในแนวคิดนี้อาจเป็นไปได้ว่าศาสดาของศาสนาต่าง ๆ ไม่ได้เพียงแค่พบผู้สร้างเกม แต่เป็นการค้นพบวิธีที่จะหลุดพ้นจากกฎของระบบที่ถูกสร้างขึ้น เช่นแนวคิดเรื่อง “นิพพาน” หรือการหลุดพ้น ในพุทธศาสนา ที่หมายถึงการออกจากวัฏสงสารและพ้นไปจากกฎเกณฑ์ในเรื่องของการเกิดและการตายโดยสิ้นเชิง
หรือแนวคิดในปรัชญาเต๋าที่อธิบาย “เต๋า” ว่า เต๋าที่สามารถอธิบายได้นั้นไม่ใช่เต๋าที่แท้จริง ซึ่งสิ่งนี้อาจบ่งชี้ถึง ความเป็นจริงหรือมีสัจธรรมบางอย่างที่อยู่เหนือไปจากการรับรู้ของมนุษย์
.
ซึ่งทั้งสภาวะของนิพพาน สุญญตา เต๋า และพระเจ้า ล้วนเป็นสภาวะที่มีคุณสมบัติที่มีจุดร่วมกันคือ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีการเกิดหรือตาย และดำรงอยู่เป็นนิรันดร์ ซึ่งคำถามคือ ศาสดาในศาสนาต่าง ๆ พูดถึงเรื่อง ๆ เดียวกันหรือไม่ และถ้าพูดถึงเรื่องเดียวกันทำไมถึงอธิบายต่างกัน ผู้เขียนอาจตั้งข้อสังเกตว่าคนเหล่านี้ก็ล้วนไม่มี Free Will เพราะศาสดาแต่ละคนล้วนเกิดมาภายใต้ยุคสมัย สภาพแวดล้อม และรวมไปจนถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ต่างกัน
ซึ่งในที่นี้คือศาสดาแต่ละคนก็ไม่ได้มีอำนาจเหนือสัจธรรมที่มีอยู่แล้วแต่เดิม หรือมีอยู่ก่อนแล้ว หรือพูดให้ง่ายคือคนในยุคสมัยหรือสถานที่ ๆ แตกต่างกันล้วนมีความเข้าใจไม่เหมือนกันโดยธรรมชาติ เพราะแต่ละพื้นที่และยุคสมัยต่างมีความคิด ความเข้าใจในการอธิบาย และการเข้าถึงที่ไม่เหมือนกัน และศาสดาเองก็ไม่ได้มี Free Will เหนือสิ่งเหล่านี้ไปได้ จึงมีคำอธิบายต่อสภาวะนี้ต่างกันออกไป
ในเมื่อศาสดาไม่มี Free Will ภายใต้สัจธรรมที่ตนเองได้ค้นพบ ย่อมทำให้สิ่งที่เกี่ยวกับคำสอน คำบอกกล่าว และคำอธิบายเป็นเสมือนแผนที่ ๆ แตกต่างกัน เพราะมาจากคนละทิศคนละทาง แต่อาจชี้ไปที่ภูเขาลูกเดียวกันก็เป็นได้ ซึ่งสิ่งที่แตกต่างกันนั้นผู้เขียนเห็นว่าเป็นสิ่งก็กลับกลายมาเป็นศาสนา ไม่ใช่การพูดถึงสภาวะที่เป็นสัจธรรมจริง ๆ อย่างที่ศาสดาได้ค้นพบ
.
ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือศาสดาแต่ละคนไม่ได้เขียนอะไรทิ้งไว้ นบีมูฮัมมัดนั้นอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้บันทึกอะไรไว้ด้วยตนเอง พระเยซูก็เช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจและน่าตั้งข้อสังเกตเป็นอย่างมาก เพราะแท้จริงแล้วสภาวะที่เป็นสัจธรรมที่ศาสดาเป็นผู้ค้นพบอาจไม่สามารถทำความเข้าใจได้จากการอธิบายผ่านตัวอักษรหรือการอธิบายผ่านกรอบคิดและการตีความ
ซึ่งการอธิบายและทำความเข้าใจสัจธรรมผ่านเหล่านี้อาจไม่ใช่เป็นการเข้าถึงสิ่งนั้นได้อย่างจริง ๆ เพราะศาสดาเหล่านี้ก็ไม่ได้เข้าถึงสัจธรรมโดยผ่านตัวอักษรของคนที่อ้างว่าเป็นของพวกเขาเอง
หรือพูดให้ง่ายก็คือพุทธะตอนตรัสรู้ก็ไม่ได้เป็นชาวพุทธ พระเยซูก็ไม่ได้เป็นชาวคริสต์ หรือพระมูฮัมมัดก็ไม่ใช่เป็นชาวมุสลิมอย่างที่เราเข้าใจกันใจปัจจุบัน เพราะตอนที่ผู้คนเหล่านี้เข้าถึงสัจธรรมที่พวกเขาพบ ศาสนาเหล่านั้นที่เป็นลายลักอักษรยังไม่กำเนิดขึ้นเลย ดังนั้นผู้ที่เข้าถึงสัจธรรมเหล่านี้เป็นการเข้าถึงจากสิ่งที่มีอยู่ก่อน และเป็นอนันต์ ซึ่งไม่ว่าจะเรียกสภาวะนี้ว่าอะไรก็ตาม ไม่ใช่เป็นการเข้าถึงผ่านสิ่งที่กำเนิดมาทีหลังจากสัจธรรมเหล่านี้
.
ซึ่งสิ่งที่อธิบายมานี้อาจเข้ากับแนวคิดในเรื่องของ “สมมติฐานโลกจำลอง” ที่ว่าจักรวาลที่เราอาศัยอยู่เป็นการจำลองขึ้นจาก “บางสิ่ง” หรือโดยอารยธรรมที่ก้าวหน้ากว่าเรา ที่เราอาจไม่สามารถเข้าถึงสิ่งนั้นได้ในฐานะของเผ่าพันธุ์มนุษย์ และสิ่งต่าง ๆ ในจักรวาลล้วนดำเนินไปโดยมีการควบคุมจากบางสิ่งอยู่เบื้องหลังอย่างไม่มีอิสระที่แท้จริง แต่ในที่นี้ก็จะตั้งคำถามว่าการที่ศาสดาเข้าถึงหรือค้นพบสัจธรรมนั้นเป็นไปโดยที่ทำให้พวกเขาเป็นอิสระ หรือที่จริงแล้วเป็นเพียงเส้นทางของพวกเขาที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว
เมื่อสรรพสิ่งในจักรวาลล้วนดำเนินไปตามกฎที่แน่นอนและไม่สามารถเป็นไปตามอิสระได้ กลับมาสู่คำถามที่สำคัญคือ “แล้วมนุษย์เป็นข้อยกเว้นหรือไม่?” ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นไปได้ที่มนุษย์ต่างไม่มีทางเลือกและไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริง อย่างการที่เราไม่สามารถเป็นอิสระจากกฎทางฟิสิกส์หรือชีวะวิทยาได้ และการเลือกหรือตัดสินใจของมนุษย์ก็ล้วนเป็นไปด้วยการกำหนดด้วยปัจจัยบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังเสมอ และแม้แต่ศาสนาเองก็ยังมีแนวคิดที่สนับสนุนแนวคิดนี้เช่นกัน
.
ในหนังสือ “กำหนดมาแล้ว: หลักวิทยาศาสตร์ของชีวิตที่ไร้เจตจำนงเสรี” (Determined: A Science of Life Without Free Will) ผลงานชิ้นล่าสุดของศาสตราจารย์ โรเบิร์ต เอ็ม. ซาโปลสกี นักประสาทชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าปัจจุบันมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากมาย ที่สนับสนุนแนวคิดทางอภิปรัชญา “นิยัตินิยม” (Determinism)
อันเป็นแนวคิดที่มองว่าคนเราตัดสินใจเลือกหรือกระทำสิ่งต่าง ๆ เพราะแรงผลักดันหรือสาเหตุจูงใจที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา เช่นพันธุกรรม สภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมที่เราเติบโตมา โดยสิ่งเหล่านี้เป็นสภาพบังคับที่มนุษย์ไม่อาจต้านทานหรือฝ่าฝืนให้เกิดการตัดสินใจเป็นอย่างอื่นได้
แนวคิดยัตินิยมหรือเรียกอีกอย่างว่า “เหตุวิสัย” มองว่าแท้จริงแล้วมนุษย์ไม่อาจพิจารณาเลือกสิ่งต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ เหมือนกับที่ก้อนหินจะต้องตกลงพื้นเสมอเพราะแรงโน้มถ่วงฉันใด เซลล์ประสาทของเราก็จะส่งสัญญาณไฟฟ้าในแบบหนึ่ง เพื่อให้สมองคิดตัดสินใจไปในทางหนึ่งเสมอฉันนั้น เนื่องมาจากสาเหตุทางพันธุกรรมและฮอร์โมนที่มีมาแต่กำเนิด รวมทั้งอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่เราไม่อาจควบคุมได้
.
เมื่อพิจารณาจากทั้งหมดนี้รวมถึงในเรื่องของสมมติฐานโลกจำลอง จึงอาจสรุปได้ว่าแท้จริงแล้ว “เผ่าพันธุ์มนุษย์” อาจไม่มีเจตจำนงเสรีหรืออิสรภาพอย่างที่มนุษย์ต่างพากันเชื่อว่าเรามี ทุกสิ่งที่มนุษย์ตัดสินใจกระทำล้วนเป็นผลมาจากเหตุและปัจจัยหรืออะไรบางอย่างเบื้องหลังมากำหนดเราอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเรียกสิ่งนั้นว่าอะไรก็ตาม มันอาจเป็นกลไกที่อยู่เบื้องหลังความจริงของทุกสรรพสิ่ง และถ้าสมมติฐานในเรื่องนี้เป็นจริงเท่ากับว่า ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามเงื่อนไขและการกำหนดที่ตั้งไว้แล้วตั้งแต่ต้น
การสำรวจแนวคิดเรื่องจักรวาลจำลอง เจตจำนงเสรี และศาสนาควบคู่กันไป ไม่ใช่เพียงแค่การตั้งคำถามถึง “ความจริงทางศาสนา” แต่เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการตั้งคำถามถึง “ธรรมชาติของการดำรงอยู่” และความจริงที่อยู่เบื้องหลังที่ต่าง ๆ ของโลกที่เราพบเห็นและรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส
และยังถือว่าเป็นการพูดถึง “โลกที่เราไม่รู้จัก” อย่างที่เคยอ้างว่ารู้จักมาโดยตลอด และหากทฤษฎีที่ว่าโลก ชีวิต และการดำรงอยู่ของจักรวาลนี้เป็นงการจำลองนั้นเป็นจริง เท่ากับว่าเราได้ไขปริศนาในเรื่องต่าง ๆ ที่เคยเป็นข้อถกเถียงกันมายาวนานในทางศาสนา และอาจเป็นการเปิดประตูสู่ความเป็นอิสระของเผ่าพันธุ์มนุษย์ก็เป็นได้
โฆษณา