11 มี.ค. เวลา 09:48 • ประวัติศาสตร์

ภาพประวัติศาสตร์ที่ช่างภาพถูกตั้งค่าหัวไว้กว่า 940,000 ดอลลาร์

ภาพที่เห็นด้านบน คือภาพของเด็กคนหนึ่งนั่งร้องไห้ท่ามกลางซากปรักหักพังอันเป็นผลจากสงคราม
ภาพนี้ถ่ายโดยช่างภาพชาวจีนเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ.1937 (พ.ศ.2480) และแสดงให้เห็นสภาพของเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนในช่วง “สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (Second Sino-Japanese War)”
2
ก่อนจะมีการถ่ายภาพนี้ ฝูงบินญี่ปุ่นได้ทำการทิ้งระเบิดลงยังนครเซี่ยงไฮ้ ในบริเวณสถานีรถไฟซึ่งมีคนรอรถไฟอยู่กว่า 1,800 คน
ช่างภาพข่าวรายหนึ่งได้ถ่ายภาพขณะเกิดเหตุได้พอดี และติดเด็กคนหนึ่งนั่งร้องไห้ท่ามกลางเศษซากสงคราม ก่อนจะได้ยินเสียงเครื่องบินบินกลับมาอีกครั้ง
ช่างภาพรีบคว้ากล้องและตั้งใจจะวิ่งไปคว้าตัวเด็กน้อยคนนั้นเข้าไปหลบยังที่ปลอดภัย แต่ก่อนจะไปถึงตัวเด็ก ก็ได้มีคนมาคว้าตัวเด็กคนนี้ไว้ได้ก่อน ก่อนจะรีบวิ่งออกไป
ไม่เป็นที่ทราบว่าเด็กคนนี้เป็นใคร เป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง หรือชะตากรรมของเด็กต่อจากนั้นเป็นอย่างไร
แต่ภาพที่ถ่ายไว้ได้ก็โด่งดังและได้รับการตีพิมพ์ไปทั่วโลก เข้าถึงผู้คนกว่าร้อยล้านคน ทำให้โลกเห็นถึงความโหดร้ายของญี่ปุ่นที่กระทำต่อประเทศจีน
แต่ภาพนี้ก็ได้สร้างความโกรธแค้นแก่กลุ่มชาตินิยมญี่ปุ่น ซึ่งออกมาอ้างว่าภาพนี้เป็นการจัดฉากเพื่อดิสเครดิตญี่ปุ่น ก่อนจะมีการตั้งค่าหัวช่างภาพผู้ถ่ายภาพนี้
สำหรับช่างภาพที่ถ่ายภาพอันโด่งดังนี้คือ “เอช.เอส. หว่อง (H.S. Wong)” ช่างภาพข่าวประจำสำนักข่าวในเซี่ยงไฮ้ในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2
ในปีค.ศ.1937 (พ.ศ.2480) ได้เกิดสงครามขึ้นระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 (WWII) จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ
เอช.เอส. หว่อง (H.S. Wong)
อันที่จริง ความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นนั้นมีมาตั้งแต่ปีค.ศ.1931 (พ.ศ.2474) แล้ว โดยญี่ปุ่นได้ทำการรุกราน “แมนจูเรีย (Manchuria)” ซึ่งเป็นพื้นที่ของจีน เนื่องจากญี่ปุ่นต้องการทรัพยากรเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมของตน
จากนั้น ญี่ปุ่นก็ขยายอิทธิพลในจีน และความขัดแย้งนี้ก็กลายเป็นสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 ในปีค.ศ.1937 (พ.ศ.2480)
ในเวลานั้น เซี่ยงไฮ้ถือเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย และเป็นเป้าหมายโจมตีของญี่ปุ่น
หว่องเป็นหนึ่งในช่างภาพที่ถ่ายภาพการสู้รบระหว่างสองชาติ รวมทั้งภาพต้นเรื่องนี้ด้วย
หลังจากเหตุการณ์นี้ หว่องก็ไม่ทราบความเป็นไปของเด็กน้อยอีกเลย ไม่ทราบแม้กระทั่งว่าเด็กผู้นี้เป็นชายหรือหญิง และคนที่ช่วยเด็กออกไปและตัวเด็กนั้นรอดชีวิตหรือไม่
ภาพข่าวที่หว่องถ่ายได้ถูกตีพิมพ์ในวันต่อมา โดยรายงานว่าผู้คนกว่า 1,800 คน ซึ่งส่วนมากเป็นเด็กและสตรี ได้ยืนรอรถไฟก่อนที่เครื่องบินญี่ปุ่นจะมาทิ้งระเบิด และมีผู้รอดชีวิตเพียง 300 คน
ภาพข่าวของหว่องได้ถูกตีพิมพ์และเผยแพร่ไปทั่วโลกในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ค.ศ.1937 (พ.ศ.2480) และว่ากันว่ามีผู้ชมภาพนี้กว่า 100 ล้านคน และทำให้เกิดกระแสการต่อต้านญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริกา
ทางด้านกลุ่มชาตินิยมญี่ปุ่นก็ได้ออกมาตอบโต้ว่าภาพนี้เป็นการจัดฉาก โดยมีอยู่ภาพหนึ่งที่หว่องถ่ายและดูน่าสงสัย
ในภาพนั้น ชายอีกคนหนึ่งคุกเข่าอยู่ข้างๆ เด็กอีกคนหนึ่ง ซึ่งดูแล้วน่าจะอายุประมาณห้าขวบ และทั้งสองก็อยู่ใกล้ๆ กับเด็กที่ร้องไห้
เชื่อว่าชายผู้นี้คือผู้ช่วยของหว่อง ซึ่งทำการจัดฉากให้หว่องถ่ายรูป
แต่หว่องก็โต้ว่านั่นคือพ่อเด็กที่มาช่วยเหลือเด็กหลังจากที่เครื่องบินทิ้งระเบิดจากไปแล้ว
และหว่องก็ยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น ยังคงถ่ายภาพสงคราม ตีแผ่ความโหดร้ายของญี่ปุ่นที่กระทำต่อชาวจีน ทำให้กลุ่มชาตินิยมญี่ปุ่นโกรธแค้น และตั้งค่าหัวหว่องสูงถึง 50,000 ดอลลาร์ ซึ่งหากคิดตามค่าเงินปัจจุบัน จะอยู่ที่ประมาณ 940,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 31.7 ล้านบาท)
ด้วยเหตุนี้ ทำให้หว่องต้องไปขอความคุ้มครองจากอังกฤษ หากแต่หว่องก็ยังคงได้รับหมายขู่ฆ่าจากฝั่งญี่ปุ่นอยู่เรื่อยๆ และทำให้หว่องต้องย้ายครอบครัวจากเซี่ยงไฮ้ไปฮ่องกงเพื่อความปลอดภัย
หว่องยังคงถ่ายภาพสงครามเรื่อยมาจนกระทั่งเสียชีวิตที่ไทเป ไต้หวันในปีค.ศ.1981 (พ.ศ.2524) ขณะมีอายุได้ 81 ปี
นี่ก็เป็นเรื่องราวหนึ่งของสงครามอันโหดร้าย
โฆษณา