13 มี.ค. เวลา 14:00 • สิ่งแวดล้อม

ทั้งโลกมีแค่ 7 ประเทศที่อากาศดี ที่เหลือมี ‘PM 2.5’ เกินเกณฑ์ ‘ไทย’ รั้งอันดับ 45 อากาศแย่สุดในโลก

ตามการวิเคราะห์ของบริษัทเทคโนโลยีคุณภาพอากาศ IQAir ของสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า ในปี 2024 มีเพียง 12 ประเทศและดินแดนเท่านั้นที่มีอนุภาคขนาดเล็กที่เรียกว่า “ฝุ่น PM2.5” ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งเป็นไปตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนหรือโอเชียเนีย
ประเทศที่มีอากาศบริสุทธิ์ในโลก คือ บาฮามาส โดยมีค่า PM2.5 อยู่ที่ 2.3 ตามมาด้วยเบอร์มิวดา และ เฟรนช์พอลินีเชีย ที่มีค่า #PM25 เท่ากันที่ 2.5 ถัดมาเป็นเปอร์โตริโก ที่ 2.6 ขณะที่หมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐ และ มอนต์เซอร์รัต มีค่า PM2.5 อยู่ที่ 2.7 เท่ากัน กลุ่มประเทศที่มีอากาศไม่เกินเกณฑ์ของ WHO ประเทศอื่น ๆ ได้แก่ บาร์เบโดส (3.1) เกรเนดา (3.2) ไอซ์แลนด์ (4) นิวซีแลนด์ (4.4) ออสเตรเลีย (4.5) และเอสโตเนีย (4.6)
ส่วนประเทศที่มลพิษมากที่สุด คือ ชาด มีค่า PM2.5 สูงถึง 91.8 ซึ่งมากกว่าค่ามาตรฐานถึง 18 เท่า ขณะที่อันดับ 2-4 ได้แก่ บังกลาเทศ (78) ปากีสถาน (73.7) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (58.2) และอินเดีย (50.6) หมายความว่าระดับ PM2.5 ในทั้ง 4 ประเทศนั้นในปี 2024 สูงกว่าระดับที่แนะนำถึง 10 เท่า และประเทศที่มีอากาศแย่ที่สุดในอันดับ 6-10 ประกอบไปด้วย ทาจิกิสถาน (46.3) เนปาล (42.8 ) อูกันดา (41) รวันดา (40.8 ) และบุรุนดี (40.3)
สำหรับประเทศไทยติดอยู่ที่อันดับ 45 ด้วยค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ตลอดทั้งปี 2024 ที่ 19.8 ซึ่งลดลงจากปี 2023 ที่มีค่าเฉลี่ย 23.3 โดยต.พญาแก้ว จ.น่าน เป็นพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นโดยเฉลี่ยตลอดทั้งปีสูงสุดในประเทศไทยที่ 39.2
แม้จะมีระดับ PM2.5 ที่แนะนำ แต่แพทย์ระบุว่าไม่มีระดับ PM2.5 ที่ปลอดภัย เพราะ PM2.5 มีขนาดเล็กพอที่จะไหลเข้าสู่กระแสเลือดและทำลายอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย อีกทั้งอากาศไม่ดียังเป็นปัจจัยที่ค่าชีวิตผู้คนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากความดันโลหิตสูง ดังนั้นหากทำตามคำแนะนำของ WHO ก็จะสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้หลายล้านคนต่อปี
แฟรงก์ แฮมเมส ซีอีโอของ IQAir กล่าวว่า “มลพิษทางอากาศไม่ได้ฆ่าเราทันที อาจต้องใช้เวลาสองถึงสามทศวรรษกว่าที่เราจะเห็นผลกระทบต่อสุขภาพ เว้นแต่จะรุนแรงมาก การหลีกเลี่ยงมลพิษเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันที่ผู้คนมักไม่นึกถึงจนกว่าจะสายเกินไปในชีวิต”
โฆษณา