26 มี.ค. เวลา 04:00 • ธุรกิจ

ถอดรหัสจิตวิทยาเบื้องหลัง Digital Transformation ที่ผู้ประกอบการต้องเข้าใจ โดยคุณทิป มัณฑิตา จินดา

ในปัจจุบัน การนำเทคโนโลยีมาใช้กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการแข่งขันและการเติบโตทางธุรกิจ จากข้อมูลของ Gartner พบว่า
  • 91% ของบริษัทในหลากหลายอุตสาหกรรม กำลังดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
  • 87% ของผู้บริหารระดับสูง มองว่าการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญขององค์กร
อย่างไรก็ตาม McKinsey ระบุว่า 70% ของการเปลี่ยนแปลงองค์กรประสบความล้มเหลวหรือได้ผลลัพธ์ไม่ตรงตามที่คาดหวัง โดย 1 ในสาเหตุสำคัญของความล้มเหลวนี้คือ การละเลยปัจจัยด้านมนุษย์ หรือการขาดการจัดการที่เหมาะสมกับ “คน” ซึ่งเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี
ดังนั้น การเข้าใจวิธีที่บุคคลตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงเข้าใจ อารมณ์ ความรู้สึกและอคติทางความคิดต่างๆ ที่เรียกว่า “จิตวิทยาของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล” (Psychology of Digital Transformation) จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และอาจเป็นตัวกำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวของการทำ Digital Transformation ได้
➡️ 4 จิตวิทยาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการทำ Digital Transformation ได้แก่
1. Groupthink (การคิดแบบกลุ่ม)
Groupthink เป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้น เมื่อบุคคลมองว่า การรักษาความกลมเกลียวภายในกลุ่ม มีความสำคัญมากกว่าการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล จนทำให้ไม่กล้าแสดงความเห็นต่าง แม้จะพบว่ามีสิ่งที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นก็ตาม
ยกตัวอย่าง การนำโซลูชันที่ฝ่ายไอทีแนะนำมาใช้ โดยไม่ได้สำรวจทางเลือกอื่นที่อาจเหมาะสมกว่า เช่น ความต้องการของลูกค้า หรือความคุ้มค่า ซึ่งพฤติกรรมลักษณะนี้ อาจส่งผลกระทบต่อความเสียหายในองค์กรได้ในระยะยาว
2. Cognitive Bias (อคติการยืนยัน)
หมายถึง การพยายามตีความข้อมูล หรือหาเหตุผลมาสนับสนุนการตัดสินใจในทางที่สอดคล้องกับความเชื่อเดิม เช่น เมื่อพนักงานเชื่อว่าระบบเดิมที่ใช้มานาน เป็นระบบที่ดีอยู่แล้ว ก็จะหาข้อมูลต่างๆ มาใช้เพื่ออ้างอิงว่า ทำไมระบบใหม่จึงไม่เหมาะกับบริษัท แม้ว่าจะมีฟีเจอร์ที่ดีกว่ามาก เป็นต้น
3. Loss Aversion (ความเกลียดชังการสูญเสีย)
หมายถึง การที่คนเรารู้สึกเจ็บปวดจากการสูญเสีย มากกว่าความสุขจากการได้รับในปริมาณเท่ากัน ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล พนักงานมักจะกลัวการสูญเสียความคุ้นเคยกับระบบเดิม ทักษะที่มีอยู่ หรือแม้กระทั่งตำแหน่งงาน มากกว่าที่จะมองเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีใหม่
4. Fear of the unknown (ความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้)
สมองของเราถูกกำหนดให้ระมัดระวังสิ่งใหม่ๆ ซึ่งเป็นกลไกการอยู่รอดจากวิวัฒนาการในอดีต เมื่อเผชิญกับเทคโนโลยีใหม่ ผู้คนจำนวนมากจึงเกิดความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ เช่น มืออาชีพที่มีประสบการณ์ อาจกังวลว่า “ระบบใหม่นี้จะทำให้ประสบการณ์ของฉันด้อยค่าลงหรือไม่?” หรือ “ฉันจะเรียนรู้สิ่งนี้ได้เร็วพอหรือไม่?” เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ความสำเร็จของ Digital Transformation ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งทั้งซับซ้อนและละเอียดอ่อน
และต่อไปนี้ คือ 3 Checklist สำคัญ ที่จะช่วยให้กระบวนการการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นไปได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น
1. การสื่อสารวัตถุประสงค์และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน (Clear purpose and vision)
ขั้นตอนแรกของการทำ Digital Transformation คือ การสื่อสารวัตถุประสงค์และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน โดยเน้นการเชื่อมโยงทางอารมณ์ ไม่ใช่แค่เพียงผลลัพธ์ทางธุรกิจ และอธิบาย “เหตุผล” (Why) ของการเปลี่ยนแปลงให้ชัดเจน
ดังแนวคิดของ Simon Sinek ในหนังสือ “Start With Why” ที่กล่าวไว้ว่า ผู้นำควรจะเริ่มจากการอธิบายว่า “ทำไม” ต้องเปลี่ยนแปลง ก่อนที่จะบอกว่า “ทำอย่างไร” เช่น แทนที่จะบอกว่า “เราต้องใช้ระบบดิจิทัลใหม่” ควรอธิบายว่า “การเปลี่ยนแปลงระบบใหม่นี้ จะช่วยให้ทุกคนมีเวลามากขึ้นได้อย่างไร”
2. การสร้างความปลอดภัยทางจิตวิทยา (Psychological safety)
เพื่อให้ทุกคนในองค์กรรู้สึกสบายใจที่จะแสดงความคิดเห็น หรือแม้กระทั่งท้าทายแนวคิดเดิมๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิ รวมถึง ไม่กลัวความผิดพลาดจากการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งผู้นำสามารถทำเป็นแบบอย่าง ด้วยการยอมรับความผิดพลาดของตนเอง และแสดงให้เห็นถึงบทเรียนที่ได้รับจากความผิดพลาดนั้น
3. สร้างวัฒนธรรมแห่งการเปลี่ยนแปลง (Foster a culture of change)
วัฒนธรรมองค์กร ถือเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเปลี่ยนแปลง โดยผู้นำต้องเข้าใจและสนับสนุนการทำ Digital Transformation อย่างจริงจังเพื่อกำหนดทิศทางและบรรยากาศ โดยเริ่มจากการประเมินวัฒนธรรมและค่านิยมที่มีอยู่ วางแผนการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ จากนั้นจึงเริ่มต้นลงมือทำ วัดผล และปรับปรุงตามความเหมาะสม
➡️ ความเห็นผู้เขียน
ทุกการเปลี่ยนแปลงในองค์กร ล้วนแล้วแต่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องคนเสมอ
ดังนั้น การเข้าใจจิตวิทยาของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล จะช่วยให้ผู้บริหารคาดการณ์และรับมือกับปฏิกิริยาของพนักงานได้ดีขึ้น ซึ่งหากพิจารณาตามแบบจำลอง Change Curve (ปรับปรุงจาก Stages of Grief ของ Elisabeth Kübler-Ross) จะพบว่า มนุษย์มักตอบสนองต่อสถานการณ์ใหม่ผ่านขั้นตอนที่คาดการณ์ได้ โดยเริ่มตั้งแต่ การ ปฏิเสธ (Denial) ต่อต้าน (Resistance) ก่อนที่จะค่อยๆกลายเป็นการเปิดใจทดลองใช้ (Exploration) จนกระทั่ง สามารถผสานเทคโนโลยีให้เข้ากับการทำงานได้อย่างสมบูรณ์ (Commitment) ในที่สุด
ดังนั้น การจะสร้างระบบนิเวศที่สามารถสนับสนุน Digital Transformation จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคนมากพอๆกับเทคโนโลยี ซึ่งวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้พนักงานรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง มองเห็นโอกาสในการพัฒนาตนเอง และยินดีร่วมสร้างสรรค์ความคิดที่เป็นประโยชน์ต่อองค์ก
ในวันที่โลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างวัฒนธรรมที่พร้อมรับมือกับอนาคต จะไม่เพียงช่วยให้องค์กรมีความยืดหยุ่น ปรับตัวและเติบโตได้ แต่ยังช่วยทำให้การทำ Digital Transformation เป็นเหมือนการเดินทางที่น่าตื่นเต้นท้าทาย และสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน
References:
โฆษณา