Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Hi Story - ที่นี่มีเรื่องเล่า
•
ติดตาม
14 มี.ค. เวลา 15:21 • หุ้น & เศรษฐกิจ
LONG STORY SHORT - EP.8 – ITV สื่อที่ (เคย) เสรี
ITV ถูกก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นสื่อเสรีที่นำเสนอข่าวอย่างเป็นกลางโดยแท้จริง แต่กาลเวลาเปลี่ยน ITV เผชิญกับมรสุมหลายลูกจนทำให้ ITV กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองหลายยุคสมัย แม้กระทั่งปัจจุบันที่ ITV จะไม่ได้ออกอากาศแล้วก็ตาม และนี่คือเรื่องราวของสถานีโทรทัศน์ ITV สื่อที่เสรี วงเล็บว่า เคย
เรื่องราวจุดกำเนิดของ ITV ต้องย้อนไปช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี พ.ศ.2535 สถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยทั้งหมดจำนวน 5 ช่อง ในขณะนั้น คือ ช่อง 3, ททบ.5, ช่อง 7 ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.และช่อง 11 ซึ่งปัจจุบันก็คือ NBT อยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากรัฐ ทำให้ไม่ได้รายงานข่าวเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาทมิฬตามความเป็นจริง ประกอบกับมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนให้มีช่องทีวีเสรี เพื่อให้คนไทยมีโอกาสได้รับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องเป็นกลางอย่างแท้จริง
ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬผ่านไป รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายอานันท์ ปันยารชุน จึงได้มีแนวคิดก่อตั้ง ITV ขึ้นมา ซึ่ง ITV ก็ย่อมาจาก Independent Television ซึ่งแปลตรงตัวว่าทีวีเสรีนั่นเอง โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือต่อจากนี้ผมจะเรียกสั้นๆว่า สปน. เป็นผู้เปิดสัมปทานช่องใหม่ให้เอกชนมาร่วมประมูลโดยมีอายุบริหารสัปทาน 30 ปี
ซึ่งถ้าตามสัญญาเนี่ยจะสิ้นสุด 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2569 ซึ่งยังไม่ถึง พร้อมกันนี้ยังได้มีเงื่อนไขของสัมปทานว่า ผู้รับสัมปทานจะต้องมีผู้ถือหุ้น 10 ราย แต่ละรายต้องมีสัดส่วนหุ้นที่เท่ากัน พร้อมกับแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เพื่อป้องกันการผูกขาด และมีสัดส่วนเนื้อหารายการข่าวและสาระ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และรายการบันเทิงไม่เกินร้อยละ 30
พร้อมกันนี้ต้องแบ่งรายได้ให้กับ สปน.อย่างน้อย 25,200 ล้านบาท หรือ 840 ล้านบาทต่อปี โดยผู้เข้าร่วมประมูลขณะนั้นมี 2 กลุ่มครับ กลุ่มแรกนำโดยเครือธนาคารไทยพาณิชย์ กลุ่มที่สองนำโดยเครือเนชั่น
ผลประมูลก็เสร็จสิ้นในปี 2358 ผู้ชนะได้แก่กลุ่มแรกที่นำโดยเครือธนาคารไทยพาณิชย์ครับ และก็ได้ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเพื่อดูแลกิจการนี้ชื่อ บริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด ภายหลังมีบริษัทผู้ร่วมหุ้นถอนตัวไปบางราย ทำให้มีการดึงเครือเนชั่นที่ประมูลแพ้มาร่วมกันลงทุนและช่วยกันบริหารด้วย โดยเลือกอาคารไทยพาณิชย์ ปาร์ค พลาซ่า เป็นสำนักงานของ ITV ทำให้ ITV ได้ถือกำเนิดขึ้นนับแต่บัดนั้นและถือเป็นสถานีโทรทัศน์ในระบบ UHF ช่องแรกของประเทศไทย
และแล้ววินาทีประวัติศาสตร์ก็เกิดขึ้นครับ สถานีโทรทัศน์ ITV หรือช่อง ITV ออกอากาศครั้งแรกอย่างเป็นทางการวันที่ 1 ก.ค. 2539 เวลา 19.00 น. โดยเริ่มต้นจากการนำเสนอข่าวภาคค่ำ โดยผู้ประกาศข่าวคู่แรกของสถานีไอทีวี (ITV) คือคุณกิตติ สิงหาปัด พร้อมกับผู้อำนวยการฝ่ายข่าว ITV ขณะนั้นคุณเทพชัย หย่อง
ทีนี้ขอนอกเรื่องนิดหนึ่งครับ หลายท่านได้ยินชื่อนี้อาจจะสงสัยว่าคุณเทพชัย หย่อง กับคุณสุทธิชัย หยุ่น นามสกุลคล้ายกัน หย่อง กับ หยุ่น มีความสัมพันธ์กันหรือไม่? ซึ่งคุณเทพชัย หย่อง ก็คือน้องชายของคุณสุทธิชัย หยุ่น นั่นเองครับ สาเหตุที่นามสกุลไม่เหมือนกันก็เพราะตอนที่ไปแจ้งเกิดคุณเทพชัยเนี่ย เจ้าหน้าที่อำเภอเขียนนามสกุลคุณเทพชัยในสูติบัตรผิด แต่คุณเทพชัยก็ใช้นามสกุลนี้เรื่อยมาโดยไม่ได้แจ้งเปลี่ยนครับ
กลับมาเรื่อง ITV ครับ เรตติ้งของ ITV แม้จะเป็นสถานีโทรทัศน์น้องใหม่ แต่ก็ค่อนข้างดีเลยทีเดียว สามารถสู้กับช่องหลักที่ออกอากาศมานานแล้วได้เลย รายการขึ้นชื่อของ ITV สมัยนั้นก็จะมี ข่าวภาคค่ำ, ไอทีวี ทอล์ค, สายตรงไอทีวี, ถอดรหัส, ย้อนรอย
เนื่องจากเป็นธุรกิจน้องใหม่ที่กำลังขาขึ้นใช่ไหมครับ ก็ต้องมีการกู้เงินมาลงทุน แต่ช่วงเวลานั้นเนี่ยดอกเบี้ยเงินกู้จากต่างประเทศมันถูกกว่าดอกเบี้ยเงินกู้สถาบันการเงินในประเทศไทย ทำให้ ITV ตัดสินใจไปกู้เงินดอลลาร์มาใช้ในกิจการเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นไม่ถึงปีครับก็เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ.2540 อย่างที่ทุกคนรู้ มีการลดค่าเงินบาทจาก 1 ดอลลาร์ประมาณ 25 บาท พุ่งไปเป็น 1 ดอลลาร์ประมาณ 40 บาท เลยครับ ITV ที่ตอนแรกกะว่ากู้เงินต่างประเทศจะได้เสียดอกฯ น้อย ๆ ตอนนี้อ่วมเลยครับ ขาดทุนค่าเงินมากมายมหาศาล
หลังจากนั้น บริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด ก็เลยเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยครับ โดยเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ส่งสัญญาณจากยอดอาคารใบหยก 2 และมีสถานีเครือข่ายทั้งสิ้น 52 แห่งทั่วประเทศ นับเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีเครือข่ายมากที่สุด ครอบคลุมจำนวนผู้รับชม ประมาณร้อยละ 98 ของประชากรในประเทศไทยเลยทีเดียว
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของ ITV ก็เกิดขึ้นครับ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2543 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ตัดสินใจขายหุ้น ITV ให้กับบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป ของตระกูลชินวัตร พร้อมให้สิทธิตระกูลชินวัตรมาบริหารอีกด้วย ITV ก็เลยต้องย้ายสำนักงานจากอาคารไทยพาณิชย์ ปาร์ค พลาซ่า มาอยู่บนอาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ถนนวิภาวดีรังสิต
ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว คุณทักษิณกำลังเป็นนักการเมืองที่กำลังมาแรงมากและใกล้ช่วงเลือกตั้งใหญ่ของประเทศไทยใช่ไหมครับ ทำให้เขาก็กลัวกันว่า ITV เนี่ยจะถูกแทรกแซงการนำเสนอข่าวไหม จะผิดกับเจตนารมณ์ตอนก่อตั้งหรือเปล่า พนักงานฝ่ายข่าวของ ITV หลายคนไม่เห็นด้วยแต่ทำอะไรไม่ได้ครับก็เลยตัดสินใจลาออกไปในที่สุด
ซึ่งการลาออกของพนักงาน ITV ก็มีหลายระลอกครับ คนดัง ๆ หลายคนลาออกในช่วงนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีการสั่งปลดพนักงาน 23 คน ซึ่ง 21 ใน 23 คนนี้ภายหลังถูกเรียกว่ากบฏ ITV ก็คือไปฟ้องศาลแรงงานครับ คดีไปถึงศาลฎีกาเลย กว่าจะสิ้นสุดล่อไปปี 2548 ในที่สุดฝ่ายที่เรียกว่ากบฏ ITV ก็ชนะคดีได้กลับเข้าทำงานและได้เงินเดือนย้อนหลังชดเชยอีกด้วย
ย้อนกลับมาช่วงกุมภาพันธ์ปี 2544 ตอนนั้นคุณทักษิณชนะการเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาลเป็นนายกรัฐมนตรีสำเร็จใช่ไหมครับ ด้วยความที่ ITV ถือหุ้นใหญ่โดยตระกูลชินวัตรและนามสกุลนายกฯ สมัยนั้นก็ชินวัตรด้วย ทำให้มีประเด็นทางการเมืองเกี่ยวกับ ITV เยอะมากเลยครับ เกี่ยวกับความเป็นกลาง ความอิสระ และสิทธิพิเศษต่าง ๆ
ในปี พ.ศ. 2547 บริษัทชินคอร์ปก็ได้ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลากาเพื่อขอแก้ไขสัญญาและขอลดค่าสัมปทาน เพราะช่วงเวลานั้นพบว่าช่องหลักช่องอื่น ๆ เนี่ยจ่ายค่าสัมปทานถูกมากครับ ช่อง 3 ตอนนั้นจ่ายอยู่ที่ 107 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ช่อง 7 ก็จ่ายอยู่ที่ 187 ล้านบาทต่อปี ส่วน ททบ. 5 โมเดิร์นไนน์ทีวี และ ช่อง 11 ไม่ต้องเสียค่าสัมปทาน เนื่องจากเจ้าของคลื่นความถี่ดำเนินการออกอากาศเอง ITV ก็คิดว่าอ้าว ทำไมฉันต้องจ่ายตั้ง 840 ล้านบาทต่อปีด้วยล่ะ ช่องก็ช่องเหมือนกันไม่แฟร์เลย
สุดท้ายครับอนุญาโตตุลาการก็ได้มีคำวินิจฉัยให้ลดค่าสัมปทานให้ ITV จาก 840 ล้านบาท เป็น 230 ล้านบาท พร้อมกับอนุญาตให้ปรับผังรายการ ตรงนี้เริ่มสำคัญแล้วนะครับแล้วจะเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ในอนาคต ก็คือผังรายการเดิมจาก รายการข่าวและสาระไม่น้อยกว่า 70% และรายการบันเทิงไม่เกิน 30% ได้เปลี่ยนเป็นรายการข่าวและสาระ 50 และบันเทิง 50 พร้อมกันนี้ยังให้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. เนี่ย จ่ายค่าชดเชยให้บริษัท ITV อีก 20 ล้านบาท
ขอเล่าเพิ่มเติมแบบนี้ครับอนุญาโตตุลาการก็คือคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนทั้งสองฝ่ายและคนกลาง ตั้งขึ้นเพื่อตัดสินข้อพิพาทต่างๆให้มีความเป็นกลางมากที่สุด ซึ่งในเรื่องนี้คณะอนุญาโตตุลาการ ประกอบด้วย ตัวแทนจาก 2 ฝ่าย และคนกลาง รวม 3 คน ได้แก่
นายประดิษฐ์ เอกมณี อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการ
นายชัยเกษม นิติสิริ รองอัยการสูงสุดขณะนั้น อนุญาโตตุลาการฝ่ายสำนักนายกรัฐมนตรี
นายจุมพต สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุญาโตตุลาการฝ่ายสถานีโทรทัศน์ไอทีวี
หลังจากที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยออกมาแบบนี้ใช่ไหมครับ บรรดารายการบันเทิงที่อยู่ช่องอื่นก็ย้ายมาที่ ITV กันเต็มเลยครับ เพราะ ITV ได้สัดส่วนรายการบันเทิงเพิ่มขึ้นแล้ว การหาสปอนเซอร์ก็เลยง่ายขึ้นครับ แต่ผู้ที่เสียประโยชน์ก็คือ สปน. ผู้ให้สัมปทานกับ ITV นั่นเอง เพราะนอกจากจะได้รายได้ส่วนแบ่งจาก ITV ลดลงแล้วยังต้องจ่ายค่าชดเชยให้ ITV อีก 20 ล้าน ทาง สปน.ก็เลยไม่อยู่เฉยครับ ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ
วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ศาลปกครองกลางก็มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการทั้งหมดเลยครับ พร้อมกับจ่ายค่าปรับจากการผิดสัญญาสัมปทาน ต่อมา 19 กันยายน 2549 ก็เกิดรัฐประหารรัฐบาลทักษิณนำโดยพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน นั่นเอง ก่อนที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ศาลปกครองสูงสุดก็พิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ที่ผมเรียงไทม์ไลน์แบบนี้เพื่อจะเล่าให้ท่านผู้ฟังเห็นภาพครับ ว่าคดี ITV ที่ศาลปกครองทั้งสองศาลตัดสินอยู่คาบเกี่ยวกันกับช่วงเวลารัฐประหารปี 49 นั่นเอง
ผลของการที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางมีผลหลัก ๆ 3 ข้อ ดังนี้ครับ ข้อแรก ITV ต่อไปนี้ต้องกลับไปจ่ายค่าสัมปทานปีละ 840 ล้านบาทตามเดิมและชดเชยค่าสัมปทานย้อนหลัง ข้อสอง ITV ต้องปรับผังรายการจาก 50-50 กลับไปเป็น 70-30 ตามเดิม จริงๆฟังดูก็น่าจะโอเคใช่ไหมครับ ITV ตอนนั้นเรตติ้งดีมีโฆษณามาก แค่กลับไปจ่ายเท่าเดิมเหมือนก่อนหน้านี้ที่ก็อยู่มาได้ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร
แต่ปัญหามันอยู่ที่คำสั่งข้อที่สำคัญข้อสามนี่แหละครับ เนื่องจาก ITV มีการปรับผังใช่ไหมครับ ถือว่าผิดสัญญาสัมปทานทำให้ถูกสั่งให้จ่ายค่าปรับที่เปลี่ยนสัดส่วนผังรายการถึงวันละ 100 ล้านบาท แล้วให้คิดย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันแรกที่ ITV เปลี่ยนผังรายการด้วยครับ
โอ้โห คิดดูครับอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดเรื่องนี้ไปตั้งแต่ปี 2547 ให้ ITV เปลี่ยนสัดส่วนผังรายการได้ ขณะที่ศาลมีคำสั่งปลายปี 2549 ระยะเวลาประมาณเกือบ 2 ปี ค่าปรับวันละ 100 ล้านบาท แทบไม่ต้องคูณเลยครับ ตามรายงานว่ากันว่าความเสียหายทั้งหมดที่ ITV ต้องจ่ายให้รัฐรวมดอกเบี้ยและค่าปรับแล้วประมาณ 1 แสนล้านบาทเลยทีเดีว ขณะที่ ITV มีรายได้ต่อปีหลักพันล้านเท่านั้น
วันแรกที่คำพิพากษานี้ออกมา ด้วยความที่ ITV อยู่ในตลาดหุ้นใช่ไหมครับ ไม่ต้องเดาเลย ราคาหุ้นดิ่งเละ ติดฟลอร์ -30% ทันที พร้อมกันนี้รัฐบาลก็ได้ให้โอกาส ITV ครับ โดยกำหนดเส้นตายวันที่ 6 มีนาคม 2550 ถ้าถึงกำหนดนี้ ITV ยังหาเงินมาจ่ายไม่ได้ก็จะยกเลิกสัมปทาน ซึ่งพอสัดส่วนรายการบันเทิงโดนลดแบบนี้ทำให้รายการบันเทิงหลายรายการต้องหลุดผังถอนตัวออกไป เรตติ้งของ ITV ก็ตกลงไปอีก ยิ่งไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้เลยครับ
สุดท้ายครับ ITV ก้ต้องยุติการออกอากาศและทำธุรกิจสถานีโทรทัศน์ มีคนไปคำนวณมาให้ครับ ว่า ITV ออกอากาศไปทั้งสิ้น 10 ปี 8 เดือน 6 วัน กับอีก 5 ชั่วโมง ภายหลังช่องสัญญาณที่เคยออกอากาศ ITV แห่งนี้ก็เปลี่ยนเป็นช่อง TITV และปัจจุบันก็คือ Thai PBS ในที่สุด
ตัวอย่างรายชื่อบรรดาศิษย์เก่า ITV ที่เราคุ้นชื่อและยังโลดแล่นในวงการข่าวปัจจุบันได้แก่ คุณกรุณา บัวคำศรี, คุณกิตติ สิงหาปัต, คุณจตุรงค์ สุขเอียด, คุณแยม ฐปณีย์, คุณไบรท์ พิชญทัฬห, คุณต๊ะ นารากร, คุณอนุวัต เฟื่องทองแดง, คุณสุทธิชัย หยุ่น, คุณสรยุทธิ์ สุทัศนะจินดา เป็นต้น
ปัจจุบันบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ยังคงมีวัตถุประสงค์บริษัทตามเอกสารในฐานะธุรกิจสื่ออยู่ แต่งบปี 2565 มีรายได้ทั้งสิ้น 20.6 ล้านบาท โดยรายได้ทั้งหมดมาจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับทั้งสิ้น ไม่มีรายได้จากการทำธุรกิจสื่อเลยแม้แต่สตางค์เดียว และถือหุ้นใหญ่ประมาณ 75% โดย บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ของอินทัชก็คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ของคุณสารัชถ์ รัตนาวะดี มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศไทยนั่นเอง
#itv #ไอทีวี #ประวัติ #คืออะไร #history #ที่นี่มีเรื่องเล่า #ประวัติศาสตร์ #longstoryshort
ประวัติศาสตร์
ข่าวรอบโลก
ความรู้รอบตัว
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย