21 มี.ค. เวลา 03:01 • ประวัติศาสตร์
เมียนมาร์ (พม่า)

ประเทศเมียนมาร์ ตอนที่ 1 รากเหง้าความขัดแย้ง

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการเข้าทลายแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ อาชญากรร้ายข้ามชาติในประเทศเพื่อนบ้านคือ “ พม่า” ได้ถูกกวาดล้างครั้งใหญ่ โดยความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน จนกลายเป็นข่าวใหญ่โด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งเรามักจะได้ยินข่าวการปะทะกัน ข่าวความขัดแย้งกันเองในระหว่างชนชาติพันธุ์ต่างๆ หรือกับรัฐบาลกลางของพม่ามาโดยตลอดเป็นเวลานานนับทศวรรษ แทบจะเรียกว่า.. ตั้งแต่เราจำความได้
1
ทำให้อดถามไม่ได้ว่า ในเมื่อชาติพันธุ์เหล่านี้ และชาวพม่าไม่ได้รักกัน แล้วพวกเขามาอยู่รวมกันได้ยังไง เป็นเวลานานนับพันปี และทำไมต้องมาอยู่ร่วมกันด้วย ที่สำคัญคือ หลังจากที่พม่าเองได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว พวกเขาก็ยังคงอยู่ด้วยกัน รวมตัวกันเป็น “สหภาพพม่า” ซึ่งในเวลาต่อมาก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น “สหภาพเมียนมา” ดังที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
1
แต่ว่าทุกเรื่องราวต่างก็มีความเป็นมา มีประวัติศาสตร์ที่เป็นจุดกำเนิด และมีความยุ่งเหยิงซับซ้อนกันมากมายในกลุ่มเผ่าชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งบางครั้งก็เรียกกันว่า “ชนกลุ่มน้อย” ในเมียนมาและเราคงต้องมองย้อนขึ้นไปนับพันๆ ปีกันเลยทีเดียว ผ่านกาลเวลาของ 3 อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และประติมากรรมของ 3 มหาราชผู้เกรียงไกร
1
ประติมากรรมของ 3 มหาราชผู้เกรียงไกร
อันประกอบด้วย พระองค์ที่หนึ่งคือ พระเจ้าอโนรธามังช่อ แห่งอาณาจักรพุกาม พระองค์ที่สองคือ พระเจ้าบุเรงนองกะยอดินนรธา แห่งราชวงศ์ตองอู ซึ่งคนไทยรู้จักในนามของ “ผู้ชนะสิบทิศ” จากนวนิยายของยาขอบ และสุดท้ายพระองค์ที่สามคือ พระเจ้าอลองพญา แห่งราชวงศ์โก้นบอง
1
ซึ่งก่อนที่จะเริ่มต้นศึกษาประวัติศาสตร์นั้น เรามาทำความเข้าใจลักษณะเชิงภูมิศาสตร์กันก่อน หน้าตาของพม่า ก็คล้ายๆกับไทยคือ หน้าตาเหมือนขวาน เพียงแต่ว่า คมขวานของ 2ประเทศก็จะหันออกไปคนละทิศ โดยที่ด้ามขวานของทั้ง 2 ประเทศ ก็วิ่งคู่ขนานกันลงมาตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งถ้าดูแผนที่ของสหภาพเมียนมา จะพบว่ามีการแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็นแบบนี้
1
ภาพการแบ่งภูมิประเทศของเมียนมาร์
“ 7 ภาค 7 รัฐ ” และคำว่า ภาค นั้นหมายถึง พื้นที่อันได้แก่ ย่างกุ้ง (Yangon) อิระวดี (Irrawaddy or Ayeyarwady) พะโค หรือหงสาวดี (Bago หรือ Pegu) มัณฑะเลย์ (Mandalay) มะกเว (Magwe) และ สะไกง์ (Sagaing) หากมองดูในแผนที่ก็จะพบว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่บริเวณใจกลางของประเทศเลย เป็นพื้นที่ราบลุ่ม
โดยมีกลุ่มชนชาติพันธุ์พม่า ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ มีอิทธิพลมากอาศัยอยู่ และยังมีอีกหนึ่งพื้นที่เป็นเทือกเขา นั่นก็คือ พื้นที่ใต้สุดด้ามขวานของเขาเรียกว่า พื้นที่ตะนาวศรี (Tenasserim หรือ Tanintharyi) รวมเป็น 7 ภาค
1
ในขณะที่พื้นที่ที่เรียกว่า รัฐ ซึ่งมีด้วยกัน 7 รัฐ ต้องบอกว่า “สหภาพเมียนมา” นั้นมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูงมาก และพวกเขามิใช่ชาติพันธุ์พม่า แต่ด้วยความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ พวกเขากับชาวพม่าไม่ได้กลมเกลียวกัน ไม่ได้อยู่ร่วมกัน แถมยังมีความขัดแย้งกันมาโดยตลอด สำหรับ 7 รัฐที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ นี้ก็จะมีชาติพันธุ์อื่นๆ จากเหนือไหลลงมาเลยก็คือ กะชิน (Kachin)
2
เขตการปกครองของประเทศของเมียนมาร์
สำหรับฉานเป็นรัฐของกลุ่มชนชาติพันธุ์ไทใหญ่ พื้นที่นี้เราจะมีความคุ้นเคย เพราะมีพื้นที่ติดกับประเทศไทย และเป็นรัฐชาติพันธุ์ที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุด ถัดมาก็คือ กะเหรี่ยง (Karen) ก็จะมีพื้นที่ติดกับประเทศไทยเช่นเดียวกัน ลงมาอีกนิดหนึ่งก็จะเป็น รัฐมอญ ส่วนทางตะวันตกของเขาก็จะมียะไข่ (Arakan or Rakhine) บางทีก็เรียก อาระกัน บางทีก็เรียกว่า ราคิน อีกหนึ่งรัฐที่หันหน้าไปทางอินเดีย นั้นก็คือรัฐฉิ่น (Chin) รวมเป็น 7 รัฐ
3
เริ่มต้นกันที่ภูมิศาสตร์พม่าก่อน พวกเขาติดอินเดียทางทิศตะวันตก ติดจีนอยู่ทางตอนเหนือ และติดไทยอยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งพม่านับเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ในเชิงมนุษยวิทยามาก พวกเขามีภาษา และวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป แต่มีเพียงสิ่งหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นสิ่งเดียวที่อาจเป็นข้อยึดโยงร่วมกันคือ เกือบทุกฝ่าย ขอใช้คำว่า “เกือบ” เพราะไม่ใช่ทุกที่ก็คือ การที่พวกเขานับถือพุทธศาสนา นิกายเถรวาทเป็นศาสนาหลัก
4
พลเมืองชาวพม่าก็คือ ชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดประมาณ 70% ในขณะที่อันดับสอง มีประมาณ9% นั้นก็คือไทยใหญ่ อยู่ที่ฉานอีก7% นอกนั้นเป็นกะเหรี่ยง ส่วนมอญมีเล็กน้อยมากประมาณ2% ชาติพันธุ์อื่นๆ ก็กระจายจัดกระจายกันไปทั่ว จากการที่แต่ละชาติพันธุ์ ต่างก็มีอัตลักษณ์ หรือเอกลักษณ์ของตัวเอง เช่น พูดภาษาต่างกัน ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของประเทศนี้
2
ตั้งแต่เป็นอาณาจักร เป็นจักรวรรดิ จนต้องเป็นอาณานิคม พวกเขาขัดแย้งกันตลอดมา และกลุ่มชาติพันธุ์พม่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นผู้ปกครองประเทศ โดยมิได้ใช้หลักการแห่งความเท่าเทียมกัน
พระเจ้าอโนรธามังช่อ หรือ พระเจ้าอโนรธา แห่งอาณาจักรพุกาม
ทีนี้เราไปย้อนดูยุคก่อน ที่พม่าจะตกเป็นอาณานิคมของบริติชเอ็มไพร์ ซึ่งวิธีง่ายที่สุดในการอธิบายประวัติศาสตร์พม่าที่ยาวนานนับพันๆ ปีนั้นคือ ต้องไปที่เมืองเนปยีดอ เราก็จะได้เห็นอนุสาวรีย์ใหญ่ยักษ์นี้ เรียกกันว่า “อนุสาวรีย์สามมหาราช” เป็นการสะท้อนออกมาบ่งบอกถึง 3 ยุค 3 อาณาจักรที่พม่านั้นเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่มาก
1
ประติมากรรมของสามมหาราช โดยเริ่มกันที่พระองค์แรกคือ พระเจ้าอโนรธามังช่อ แห่งอาณาจักรพุกาม เริ่มต้นในศตวรรษที่ 11 ก็คือ เรามองย้อนกลับไปประมาณ 1000 ปีที่แล้ว ถือเป็นจุดกำเนิดของประวัติศาสตร์พม่าอย่างเป็นทางการ ซึ่ง ณ เวลานั้น อาณาจักรพุกามของพระองค์ ไม่เพียงแต่ครอบครองพื้นที่ราบลุ่มใจกลางประเทศที่ในวันนี้ได้กลายเป็น “สหภาพเมียนมา” ไปแล้วนั้น
1
แต่ยังได้มีการขยายอาณาเขตออกไปยังพื้นที่ห่างไกลโดยรอบๆ ซึ่งก็มีทั้งพื้นที่ราบสูง รวมถึงพื้นที่บนภูเขาของชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น ยะไข่ (Arakan or Rakhine) และฉิ่น (Chin) ทางทิศตะวันตก ก็คือหันหน้าไปทางอินเดียบางส่วนของลุ่มแม่น้ำสาละวินของชาวกะเหรี่ยง ลงมาจนถึงพื้นที่ตะนาวศรีทางตอนใต้บางส่วน
กุบไล ข่าน
แต่อาณาจักรพุกามนั้นต้องสิ้นสุดลงไป เพราะการรุกรานของผู้บุกรุกทางตอนเหนือ นั่นก็คือ กองทัพมหึมาของพระจักรพรรดิหยวนซื่อจู หรือพระนามจีนว่า ฮูเปีย คนไทยรู้จักในนามของ “กุบไลข่าน” ที่ขยายอิทธิพลลงใต้ในศตวรรษที่ 14 จากนั้นต่อมาอีกประมาณ 200 ปี เกิดราชวงศ์ตองอู ซึ่งก็มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองตองอู
1
โดยปฐมกษัตริย์ที่มีชื่อว่า พระเจ้าเมงจีโย หรือคนไทยรู้จักในนามของ “พระเจ้าเมงกะยินโย” ทรงวางรากฐานอำนาจของเมืองตองอูที่ต่อมาในรัชกาลถัดมาของพระโอรสของพระองค์ที่มีพระนามว่า ดะบิ่งเฉฺว่ที่ หรือ “พระเจ้าตะเบ็ง ชะเวตี้” แปลว่า สุวรรณเอกฉัตร กษัตริย์ตองอู ที่เล่ากันว่า พระองค์นั้นมีความกล้าหาญ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
2
ในช่วงที่พระองค์มีพระชนมายุ 15 ชันษา ไปทำพิธีเจาะพระกรรณพูดง่ายๆคือ ”พิธีเจาะหู“ ของพม่า ก็คงเหมือนพิธีโกนจุก หรือว่า โสกันต์ของบ้านเราเป็นการบอกว่า เด็กคนนี้ ตอนนี้กลายมาเป็นคนหนุ่มเต็มตัวแล้ว ณ เวลานั้น พระองค์เข้าไปทำพิธีการเจาะพระกรรณ ที่เจดีย์พระมหาเจดีย์ชเวมอดอ บางคนเรียกพระธาตุมุเตา ที่เมืองหงสาวดี
พิธีเจาะพระกรรณของพระเจ้าตะเบ็ง ชะเวตี้
ซึ่ง ณ เวลานั้น หงสาวดีไม่ใช่พื้นที่ของพม่า แต่เป็นพื้นที่ของชาวมอญในขณะนั้น หลังจากทำพิธีเจาะพระกรรณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระองค์ทรงฝ่าวงล้อมออกมาจากเหล่าทหารกองทัพมหึมาของชาวมอญได้สำเร็จ โดยมิได้เกรงกลัวข้าศึกเลย เมื่อเติบใหญ่ขึ้น พระองค์ทรงขยายอำนาจมาสู่เมืองพะโค ก็คือ เมืองหงสาวดี
ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจของชาติพันธุ์มอญ รวมถึงเมาะตะมะที่อยู่ทางตอนใต้ ทรงขยายอำนาจขึ้นทางเหนือไปยังอังวะ และยะไข่ที่อยู่ติดกับบริเวณพื้นที่เบงโกทางตะวันตกเฉียงเหนือ ในขณะที่ทางตะวันออกก็คือ หันหน้ามาด้านบ้านเรา ทรงยึดครองพื้นที่พะสิม ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นดินแดนของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เมื่อสิ้นพระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำ หรือ พระเจ้าตะเบ็ง ชะเวตี้ ไปแล้ว
พระเจ้าบุเรงนองกะยอดินนรธา หรือพระเจ้าบุเรงนอง
พระองค์ถัดมาเลยก็คือ พระเจ้าบุเรงนองกะยอดินนรธา หรือพระเจ้าบุเรงนอง ทรงครองราชย์ตรงกับ ปี ค.ศ.1550 รัชสมัยของพระองค์ก็ยื่นยาวออกไปถึง 30 กว่าปี ในยุคนั้นตองอูได้ขยายอาณาเขตภายใต้การทำศึกของพระเจ้าบุเรงนอง รวบรวมพื้นที่ต่างๆ ของชาติพันธ์อื่นๆ เข้ามามากมาย จนกระทั่งเกิดเป็นจักรวรรดิตองอูที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ขึ้น และมีพื้นที่กว้างใหญ่มากกว่าพื้นที่ของ ”สหภาพเมียนมา” ในปัจจุบันซะอีก ยังไม่นับรวมพื้นที่ตอนล่างของพม่า ที่ได้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลก่อน คือ สมัยพระเจ้าตะเบ็ง ชะเวตี้
และยังมีการขยายขึ้นเหนือไปยังพื้นที่พุกามเดิม และไปยังพื้นที่ของไทใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันก็คือ รัฐฉาน รวมถึงล้านนา ในปัจจุบันก็คือ ตอนเหนือของประเทศไทย อีกทั้งพื้นที่ล้านช้าง ซึ่งก็คือ สปป.ลาวในปัจจุบัน ด้านทิศตะวันตกได้ขยายยังได้พื้นที่มณีปุระ ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ภายใต้ การปกครองของอินเดีย ถือเป็นยุคที่พม่าเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติพม่าเลย
2
ในแง่การปกครอง ชนชาติพม่าคือ ชนชาติที่เหนือกว่าชาติอื่นๆ ที่ตัวเองเข้าไปรุกราน หากเราดูจากแผนที่จะพบว่า ทุกชาติพันธุ์ที่เป็นคู่ขัดแย้งกับพม่าในเวลานั้นอยู่ภายใต้การปกครองของตองอูทั้งหมดทั้งสิ้น ยุคนี้คนไทยจะคุ้นเคยดี เพราะว่าตรงกับยุคเสียกรุงครั้งที่ 1 ของเรา
3
พระเจ้าอลองพญา
ถัดมาในปี ค.ศ.1752 เป็นการเริ่มต้นของยุคที่ 3 ก็คือ อาณาจักรอังวะ หรือจักรวรรดิอังวะ บางคนก็เรียกว่า “ราชวงศ์โก้นบอง” ที่มีพระเจ้าอลองพญา ถ้าเป็นภาษาไทย ก็แปลว่า พระโพธิสัตว์ ซึ่งพระองค์ก็เริ่มต้นซ่องสุมกำลังก่อนที่จะสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์อยู่ที่หมู่บ้านชเวโบ ซึ่งยุคนี้ บางคนก็เรียกว่า “ราชวงศ์อลองพญา”
แล้วโอรสของพระองค์ก็คือ “พระเจ้ามังระ” ก็คือกษัตริย์ที่นำทัพมาพิชิตกรุงศรีอยุธยาในยุคสมัยของ “ราชวงศ์บ้านพลูหลวง กับการเสียกรุงครั้งที่ 2“ และในยุคนี้ก็ไม่แตกต่างไปจาก 2 ยุคก่อนหน้านั้น เพราะว่า ”ผู้ปกครองก็คือชาวพม่า“ ที่ใช้กำลังในการผนวกดินแดนของชาติพันธุ์อื่นๆ เข้ามารวมเอาไว้ในขอบขัณฑสีมาจนก่อเกิดเป็นจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ทั้ง 3 ยุค ตามที่ได้เล่าเรียงมาก่อนหน้านี้
ว่าง่ายๆ คือ แผนที่ของอังวะ หน้าตาคล้ายๆ กับแผนที่ “สหภาพเมียนมา” ที่เราเห็นในยุคปัจจุบัน ดินแดนทางตะวันตกถึงแคว้นอัสสัม ขึ้นไปถึงอินเดียตอนบนสักเล็กน้อย ขอบขัณฑสีมาในยุคดังกล่าวนี้ ก็สามารถปกป้องการรุกรานของกองทัพที่มาจากต้าชิงถึง 4 ครั้งในรัชสมัยของพระเจ้าเฉียนหลงในสงครามที่มีชื่อว่า “สงครามต้าชิง-พม่า(เผ่าเหมี่ยนเตี้ยน)” ปกป้องแผ่นดินที่ปัจจุบันนี้ เป็นรัฐคะฉิ่น และรัฐฉานเอาไว้ได้
ภาพวาดเหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่ 2 ภาพของชาวบ้านต่อสู้กับทหารพม่า ภาพของทหารมองโกล ตามลำดับ
สรุปใจความตรงนี้ก่อนว่า ประเทศที่เราเห็นเป็นชาติพันธุ์เหมือนหนึ่งเดียวกันนั้น แท้จริงแล้ว พม่าคือ ชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด ผนวกพื้นที่ของชนชาติพันธุ์อื่นๆ ไปอยู่ภายใต้การปกครองของตนเอง และพม่ามิได้มองชาติพันธุ์อื่นๆ นั้นว่า เท่าเทียม แต่มองว่า ต่ำต้อยกว่าชาติตน ในยุคของราชวงศ์โก้นบองปกครอง 133 ปี ก็คือ ราชวงศ์อลองพญา หรือบางคนเรียกกันว่า อังวะเนี่ย
มีกษัตริย์ทั้งหมด 11 พระองค์ เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนเมืองหลวงบ่อยที่สุด เบื้องต้นคือ เมืองชเวโบ ถัดมาก็คือ เมืองอังวะ ถัดมาคือ เมืองมณีปุระ และจบที่เมืองมัณฑะเลย์ ถามว่า ทำไมถึงต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ล่ะ คำตอบก็คือ ในช่วงเวลานี้ เป็นยุคเริ่มต้นของการขยายอำนาจอิทธิพล ของจักรวรรดิบริติช เอ็มไพร์ ซึ่งก็คือ การออกล่าอาณานิคมนั่นเอง
ทั้ง 3 จักรวรรดิ 3 มหาราชนี้ เป็นการบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดของชนชาติที่ได้ชื่อว่า “พม่า” ซึ่งแน่นอนว่า.. เมื่อมีช่วงรุ่งเรืองก็ย่อมมีช่วงที่โรยรา สำหรับพม่าจะไปถึงช่วงนั้นได้อย่างไร?? โปรดติดตาม ตอนต่อไปครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา