21 มี.ค. เวลา 05:18 • การศึกษา

เกร็ดความรู้เรื่องป้าย ที่อาจจะทำให้คุณจ่ายภาษีป้ายลดลง >>>

1.ป้ายแต่ละประเภทจ่ายภาษีไม่เท่ากัน ถูกสุด ๆ ก็ป้ายอักษรไทยล้วน หากลูกค้าคุณเป็นคนไทย การสื่อสารสินค้าหรือบริการด้วยป้ายอักษรไทยล้วน จะจ่ายภาษีถูกที่สุด
2. หากลูกค้าคุณเป็นคนไทยและคนต่างชาติ การออกแบบป้ายเพื่อสื่อสารสินค้าหรือบริการ ควรออกแบบให้อักษรภาษาไทยทั้งหมดอยู่บนอักษรภาษาต่างประเทศ จะเสียภาษีได้ถูกที่สุด
3. ไม่ควรออกแบบป้าย ที่เป็นเพียงรูปภาพอย่างเดียว เพราะจะทำให้คุณเสียภาษีแพงสุด ๆ คุณควรใส่อักษรภาษาไทยเข้าไปด้วย (ขนาดเล็ก ๆ ก็ได้)
4. การขึ้นป้าย ที่ภาษีถูกที่สุด คือ ขึ้นป้ายในเดือนที่ 1,4,7,10 ของปี เพราะ ภาษีป้ายที่ขึ้นใหม่ เก็บเป็นรายไตรมาสหรือราย 3 เดือน ได้แก่ (1) ป้ายที่ขึ้นข่วงเดือน 1-3 ของปี เก็บภาษี 100% (2) ป้ายที่ขึ้นช่วงเดือน 4-6 ของปี เก็บภาษี 75% (3) ป้ายที่ขึ้นช่วงเดือน 7-9 ของปี เก็บภาษี 50% (4) ป้ายที่ขึ้นช่วงเดือน 10-12 ของปี เก็บภาษี 25%
5. ป้ายที่เคยขึ้นและจ่ายภาษีไปแล้ว ภายหลัง ต้องการเปลี่ยนป้ายเพื่อสื่อสารสินค้าหรือบริการใหม่ ในตำแหน่งติดตั้งป้ายเดิม จะไม่ต้องเสียภาษีเพิ่ม ถ้า (1) ป้ายใหม่ที่ขึ้นเป็นประเภทเดียวกันกับป้ายเดิมที่เสียภาษีไปแล้ว หรือ (2) ป้ายใหม่ที่ขึ้นเป็นประเภทป้ายที่เสียภาษีถูกกว่าของเดิม เช่น เดิม ออกแบบป้ายเป็นประเภทอักษรไทยปนภาพ และเปลี่ยนป้ายมาเป็นอักษรไทยล้วนไม่มีภาพปน เป็นต้น
6. การสื่อสารสินค้าหรือบริการบนเสื้อ (เราจะเห็นกันบ่อย ๆ เสื้อโลโก้บริษัท หรือ ร้านค้า) แบบนี้เป็นการสื่อสารที่ไม่เสียภาษีป้าย แถม พอใส่แล้ว เดินไปเดินมา ไปไหนมาไหน นำเสนอสินค้าและบริการได้อีกด้วย
7. ป้ายติดตั้งชั่วคราวไม่เสียภาษีป้าย เช่น ไปออกบูธ ติดตั้งป้ายเพื่อแนะนำสินค้าหรือบริการ ตามสถานที่ต่าง ๆ (ชั่วคราวเท่านั้น หากติดตั้งทั้งปี แบบนี้ไม่เรียกป้ายชั่วคราว)
8. ภาษีป้าย ถ้าคำนวณแล้วต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท จะถูกเก็บภาษีที่ 200 บาท ต่อ ป้าย (ป้ายเล็ก ป้ายน้อย ป้ายที่เป็นการสื่อสารสินค้าหรือบริการซ้ำ ๆ ในจุดสถานที่เดิม ๆ อาจจะต้องปรับขนาดให้ใหญ่ขึ้น เด่น ๆ ไปเลย 1 ป้าย) ภาษีจะถูกที่สุด
เกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้ง 8 ข้อนี้ อาจจะพอทำให้จ่ายภาษีป้ายได้ลดลงบ้าง นิด ๆ หน่อย ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยังดีนะคะ
#VIStylebyMooduang #สำนักงานกฎหมายภาษีสยามลอว์ #ภาษีป้าย #ออกแบบป้ายลดภาษี
โฆษณา