23 มี.ค. เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สงครามการค้าเดือด ดัน 'ราคารถแพง' ทั้งแผ่นดิน ?

[เรื่องโดย : กันต์ เอี่ยมอินทรา]
สงครามการค้าเดือดทั่วโลก ดันราคารถแพงทั้งแผ่นดิน แม้แต่ละประเทศ/ภูมิภาคมีข้อเด่นข้อด้อยที่ต่างกัน แต่ปัจจัยหลายๆอย่าง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เกิดสงครามการค้าและทำให้รถยนต์แพง ในที่สุด
ในขณะที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่เซื่องซึมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วิกฤติโควิดเรื่อยมา
ประกอบกับเทคโนโลยีและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและหนึ่งในตัวชี้วัดที่ชัดเจนก็คือจำนวนยอดขายรถในประเทศที่ตกลงเรื่อยๆ แม้กระทั่งแบรนด์รถ EV จากจีนอย่าง BYD ก็มียอดที่แย่ลงเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ถือเป็นสัญญาณอันตรายสำหรับเศรษฐกิจไทยที่เราเคยได้ชื่อว่า ดีทรอยต์แห่งตะวันออก เพราะเราพึ่งพิงอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างหนัก
แต่สิ่งที่ไทยกำลังเผชิญนั้นน่าจะเรียกได้ว่ายังไม่กะทันหันเท่ากับสิ่งที่คู่ค้ารถยนต์หลักของสหรัฐ อย่างเม็กซิโก แคนาดาและสหภาพยุโรปกำลังเผชิญอยู่ อันเนื่องมาจากการขึ้นกำแพงภาษีที่สูงถึง 25% ของสหรัฐกับรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ไม่ได้ผลิตในอเมริกา
อุตสาหกรรมรถยนต์นั้นมีความซับซ้อนมาก และแต่ละประเทศหรือภูมิภาคก็มีข้อเด่นข้อด้อยที่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่นแคนาดามีเหล็กและอะลูมิเนียมที่ถูกซึ่งถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของรถยนต์ สหรัฐมีเทคโนโลยี ขณะที่เม็กซิโกมีแรงงานที่ถูก และนี่คือส่วนประกอบที่สำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในทวีปอเมริกาเหนือนั้นเติบโตมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี เกิดรถยนต์ที่มีคุณภาพภายใต้ราคาที่เข้าถึงได้ เกิดมูลค่าตลาดกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์
เช่นเดียวกันกับยุโรปและเอเชีย ที่บางประเทศมีทรัพยากรเหล็ก อะลูมีเนียมที่ถูก หรือในปัจจุบันที่บางประเทศมีแร่ที่เอื้อต่อการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า อาทิ อินโดนีเซีย ขณะที่บางประเทศมีแรงงานที่ถูก (อาทิ ไทยในอดีต) บางประเทศมีเทคโนโลยี (อาทิ ญี่ปุ่น) จึงเกิดการรวมตัวสร้างเครือข่ายอุปทานของอุตสาหกรรมรถยนต์ระดับภูมิภาค และหากทำดี ก็สามารถเริ่มตีตลาดโลกแบบที่เราและยุโรปทำได้
ซึ่งปัญหาในปัจจุบัน หากมองเร็วๆ แบบนักบัญชีก็จะพบว่า ตัวเลขของการนำเข้าสินค้ามันเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เกิดการขาดดุลอย่างหนัก โดยเฉพาะประเทศที่มีกำลังซื้อสูง แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างทำให้อุปทานในประเทศตนเองกลายเป็นต้นทุนที่สูงกว่าคู่แข่ง อาทิ สหรัฐ ซึ่งก็นำมาซึ่งสงครามภาษีที่กำลังเกิดขึ้น
โฆษณา