"เข็มม่วง" สีสันที่โดดเด่น ถูกสำรวจพบที่อุทยานแห่งชาติเขานัน จ.นครศรีธรรมราช

เรื่องไม่ลับฉบับนักวิจัย...รู้จักกล้วยไม้ป่า โดยศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาแนะนำให้รู้จักกับกล้วยไม้ป่า นั่นคือ เข็มม่วง Vanda ampullacea (Roxb.) L.M.Gardiner
เข็มม่วง กล้วยไม้ชนิดนี้สำรวจพบที่อุทยานแห่งชาติเขานัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ความสูงจากระดับน้ำทะเล 300 - 1,500 เมตร เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยขนาดเล็ก เจริญทางปลายยอด ลำต้นค่อนข้างสั้น
ใบ รูปแถบ กว้าง 1.5 เซนติเมตร ยาว 10 เซนติเมตร เรียง สลับกัน ค่อนข้างแน่น ปลายใบเว้า ใบอ่อนพับตามแนวยาว มีอายุหลายฤดู ใบแก่ หลุดร่วงที่ข้อต่อ เหลือส่วนกาบติดคาต้น ช่อดอก เป็นช่อกระจะ ตั้งตรง ออกข้างลำต้น สั้นกว่าความยาวของใบ
ดอก ดอกจำนวนมาก เรียงเวียน แน่น ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงและกลีบดอก แยกเป็นอิสระ มีขนาดและรูปทรงคล้ายกัน รูปขอบขนานแกมรูปรี ปลายกลีบมน มีสีม่วงแดง กลีบปากรูปแถบ ชี้ไปทางด้านหน้า ปลายกลีบมน สีม่วง โคนกลีบ มีสีขาว มีเดือยดอกรูปทรงกระบอก ยาวกว่ากลีบปากและยื่นลงทางข้างล่าง
เส้าเกสร สั้น กลุ่มเรณู 2 กลุ่ม พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และที่ราบเชิงเขาหินปูน ในที่โล่งแจ้งแดดจัด ที่ความสูงประมาณ 300 เมตร จากระดับน้ำทะเล
ช่วงเวลาในการออกดอก มีนาคม – พฤษภาคม
ที่มา : ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
#เข็มม่วง #ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ #สุราษฎร์ธานี #อุทยานแห่งชาติเขานัน #นครศรีธรรมราช #กรมอุทยานแห่งชาติ
โฆษณา