26 มี.ค. เวลา 10:32 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

[รีวิว] Mickey 17 - งานไซไฟตลกร้ายไม่เน้นสมจริงกับหลากประเด็นล้นเรื่องแต่ก็เล่าได้ลื่นไหลจนจบ

(1) เป็นเรื่องธรรมดาที่ Mickey 17 จะต้องแบกรับความคาดหวังอันมหาศาล เพราะนี่เป็นผลงานเรื่องล่าสุดของ “บง จุนโฮ” (Bong Joon-ho) ผู้กำกับที่เคยสร้างประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่บนเวทีออสการ์จากภาพยนตร์เสียดสีชนชั้นสุดคมคายอย่าง Parasite (2019) และหากมองย้อนกลับไปอีก ผลงานของผู้กำกับชาวเกาหลีผู้นี้ก็ข้องแวะอยู่กับประเด็นเรื่องสังคม การเมือง และความเหลื่อมล้ำ อยู่เรื่อยๆ
Mickey 17 (2025)
(2) ไม่ว่าจะเป็น The Host (2006) ภาพยนตร์แนวสัตว์ประหลาดที่เสียดสีการทำงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล หรือ Snowpiercer (2013) ภาพยนตร์แนวไซไฟกับการเข้าไปสำรวจปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งน่าจะมีอิทธิพลต่องานชิ้นล่าสุดของเขาที่สุด แถมด้วย Okja (2017) เรื่องราวของเด็กสาวกับเพื่อนสี่ขาตัวโตที่นอกจากจะสะท้อนระบอบทุนนิยมและบริโภคนิยมแล้ว ยังบ่งบอกถึงวิสัยทัศน์การเล่าเรื่องที่ไม่จำกัดอยู่แค่มนุษย์กับมนุษย์เท่านั้นด้วย
Mickey 17 (2025)
(3) และคงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า Mickey 17 เป็นงานที่บง จุนโฮ (หรือบางทีก็เรียก พง จุนโฮ จะเรียกแบบไหนแล้วแต่สะดวก) นำเอาประสบการณ์ในภาพยนตร์ก่อนหน้าของเขาอย่างละนิดละหน่อย มาประกอบสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้ว่าบทดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง Mickey 7 ของผู้เขียน Edward Ashton ที่วางขายก่อนหน้านี้ไม่นานนัก แต่บง จุนโฮ ก็ได้สิทธิในการดัดแปลงทุกอย่างได้ตามใจชอบ(แม้กระทั่งชื่อเรื่อง) เราจึงบอกได้เลยว่า Mickey 17 เป็นงานของเขาอย่างแท้จริง
Mickey 17 (2025)
(4) เมื่อมันเป็นงานจากความตั้งใจของผู้กำกับโดยตรงแล้ว จะดีจะชั่วก็ต้องได้รับเครดิตไปเต็มๆ เช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ก่อนหน้านี้งานของบง จุนโฮ มักจะมาในแนวทางที่ดราม่าและจริงจังเป็นหลัก โดยสอดแทรกความขำแบบยิ้มแห้งถึงชะตากรรมอันขมขื่นของตัวละครไว้เป็นเรื่องรอง รวมถึงท่าทีของการเสียดสีประเด็นต่างๆ ก็ไม่ได้ถูกนำเสนอแบบจงใจนัก
แต่สำหรับ Mickey 17 เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามทั้งหมด บง จุนโฮ ดันความตลก(ร้ายๆ) มาเป็นโทนหลักของเรื่องแบบไม่สนความสมจริง ผ่านชะตากรรมตายซ้ำตายซากของ “มิกกี้ บารนส์” (Robert Pattinson) ในสภาพสังคมที่ถูกปกครองโดยเผด็จการจอมงั่งอย่าง “มาร์แชล” (Mark Ruffalo)
Mickey 17 (2025)
(5) สำหรับ Mickey 17 ใช้คำว่าเสียดสีหรือเหน็บแนมคงไม่ได้ เพราะมันคือการ “ด่าโต้งๆ” เลย ตัวละครส่วนใหญ่ของเรื่องถูกออกแบบมาให้เฟอะฟะ หรือไม่ก็เป็นไอ้งั่งสุดขอบโลก ชัดเจนที่สุดคงจะหนีไม่พ้นมาร์แชล นักธุรกิจและนักการเมืองที่เป็นเจ้าของโปรเจคยานอวกาศสำรวจดวงดาวลำนี้ ที่ดูไปก็ได้แต่สงสัยว่า คนแบบนี้มันเป็นใหญ่เป็นโตแบบนี้ได้ยังไง?
หรือมิกกี้เองก็เป็นตัวแทนชนชั้นล่างที่ถูกอำนาจกดทับจนโงหัวไม่ขึ้นยังไม่พอ ความเฟอะฟะยังเป็นสารตั้งต้นพาเขาให้จมดิ่งสู่ก้นบึ้งไร้ที่แสงสว่าง ทั้งหมดนี้ บง จุนโฮ ตั้งใจเอาความบัดซบทั้งหมดในสังคมมาสร้างเป็นตัวละครที่ดูบิดเบี้ยวไร้ตรรกะ เพื่อสะท้อนภาพที่น่าขำแต่ความเป็นจริงช่างน่าเจ็บปวดเข้าไว้ด้วยกัน
Mickey 17 (2025)
(6) แต่การทำแบบนี้ก็ย่อมส่งผลให้เกิดทางแยก (dilemma) ขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ ความหมายคือ เมื่อมาทางตลกก็จะลดทอนความหนักแน่นของสิ่งที่จะสื่อ ซึ่งคุณไม่สามารถเลือกทั้งสองสิ่งไปพร้อมๆ กันได้ และดีไม่ดีมันจะพาลทำให้ทุกอย่างเสียไปหมด แม้ชื่อชั้นของบง จุนโฮ จะทำให้เราเบาใจได้ว่ามันต้องออกมาดีแน่
แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็ต้องบอกว่าเขาเกือบเอาไม่อยู่เหมือนกัน เห็นได้จากการที่เมื่อถึงจุดไคลแมกซ์ของเรื่องแล้ว แต่ตัวหนังยังสร้างผลทางอารมณ์ได้ไม่มากพอ ส่งผลให้บทสรุปของเรื่องเป็นเพียงลมฤดูหนาวที่มาไวไปไวจนไม่ทันได้ลิ้มรสอะไรนัก
Mickey 17 (2025)
(7) หนำซ้ำตัวเรื่องยังมีประเด็นยิบย่อยเยอะแยะไปหมด ทั้งการเมือง ทุนนิยม วิทยาศาสตร์ จริยธรรม ปรัชญา และอื่นๆ ที่ต่อให้คุณพูดอะไรมาก็โดนไปซะหมด มันทำให้ประเด็น “มนุษย์ใช้แล้วทิ้ง” (Expendable) ที่เป็นประเด็นหลักของเรื่องโดนบดบังไปมากพอดู จนเอาเข้าจริงดูจบแล้วยังสัมผัสไม่ได้เลยว่าอะไรคือแก่นของเรื่องกันแน่ ตัวละครมิกกี้หมายเลข 17 และ 18 ที่ควรจะเป็นดาวเด่น
แต่กลายเป็นว่า สิ่งมีชีวิตรูปร่างคล้ายหมีน้ำที่ประจำถิ่นบนดาวนิฟเฮล์ม (Niflheim) ที่ถูกตั้งชื่อส่งๆ ว่า “คีปเปอร์” และความบัดซบของมาร์แชลกลับน่าติดตามมากกว่าซะอีก โดยเฉพาะฝ่ายหลังว่าเขาจะพบจุดจบแบบไหน(ซึ่งค่อนข้างน่าผิดหวัง)
Mickey 17 (2025)
(8) นอกจากนี้ Mickey 17 ยังเสียเวลาไปกับเรื่องไร้สาระมากเกินไป ทั้งการเล่าที่มาของโครงการโคลนนิ่งอย่างละเอียด ตั้งแต่มิกกี้เบอร์ 1 ถึงปัจจุบัน ในตอนต้นเรื่อง หรือความต้องการอธิบายหลักการทางวิทยาศาสตร์มากเกินไป ทั้งๆ ที่ตัวหนังมันก็ไม่ได้ยึดหลักความสมจริงอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ควรเปลี่ยนมาเป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้มากขึ้น ระหว่างมิกกี้และ “นาชา” (Naomi Ackie) หัวหน้าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่กลายมาเป็นแฟนสาวของเขาในระหว่างการทดลองดำเนินไป
Mickey 17 (2025)
(9) โดยเฉพาะในช่วงกลางเรื่องที่มิกกี้ทั้งสองมาเจอกัน แล้วนาชารับรู้เรื่องนี้ พ่วงด้วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสาวอีกคน “คาทซ์” (Anamaria Vartolomei) ที่เล็งมิกกี้อยู่เหมือนกัน ความสัมพันธ์สี่เส้านี้เป็นจังหวะที่ดีมากในการสร้าง “ความเป็นมนุษย์” ให้กับเหล่าตัวละคร และท้าทายประเด็นมนุษย์ใช้แล้วทิ้งในอีกแง่หนึ่งด้วยซ้ำ(คงไม่ต้องบอกว่าอย่างไร) แต่ดูเหมือน บง จุนโฮ จะไม่สนใจมัน และปล่อยให้เรื่องดำเนินผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างมิกกี้และนาชาถูกขัดเกลาจนพอใช้งานได้
Mickey 17 (2025)
(10) การรับบทเป็นตัวละครโคลนนิ่งหรือฝาแฝดอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ที่น่าทึ่งขนาดนั้น แต่โรเบิร์ต แพททินสัน ก็ยังฝากการแสดงที่น่าจดจำเอาไว้ได้ ภายใต้ความเหมือนของมิกกี้ 17 และ 18 แต่อุปนิสัยกับต่างกันสิ้นเชิง โรเบิร์ต แพททินสัน ทำให้เราแยกความแตกต่างของสองคนนี้ได้โดยที่เขาไม่ต้องพูดออกมาสักคำ
Mickey 17 (2025)
(11) ในขณะที่ “มาร์ค รัฟฟาโล” กับ “โทนี คอลเล็ตต์” เป็นตัวสีสันของเรื่องที่ขาดไม่ได้ ฝ่ายแรกแสดงถึงความน่าน่าหมั่นไส้จนเราอยากให้เขาพบกับจุดจบที่สาแก่ใจ ส่วนฝ่ายหลังเป็นช้างเท้าหลังที่เสนอหน้าบ่อยมากเพื่อคอยบ่งการสามีอย่างใกล้ชิด แอบทึ่งเหมือนกันว่านักแสดงคุณภาพเหล่านี้จะสามารถถ่ายทอดความยียวนกวนประสาทได้จนคันฝ่าเท้า และไม่มีการห่วงภาพลักษณ์ใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะ โรเบิร์ต แพททินสัน ที่ปู้ยี่ปู้ยำมาหลายเรื่องแล้ว
Mickey 17 (2025)
(12) คุณภาพงานสร้างเป็นอีกจุดที่ค้ำจุนภาพยนตร์ทั้งเรื่องดูมีพลังขึ้นมา ด้วยทุนสร้างกว่า 120 ล้านดอลลาร์ฯ การเนรมิตฉากอันล้ำสมัยและใหญ่โตก็สามารถทำได้ตามใจปรารถนา ถือว่าเป็นงานเดบิ้วฮอลลิวูดที่เริ่มอย่างเล่นใหญ่ของบง จุนโฮ เลยก็ว่าได้ และหากเทียบกับ Parasite ที่มีทุนสร้างราวๆ 10 ล้านดอลลาร์ฯ แล้ว ถือว่าเป็นการก้าวกระโดดที่ค่อนข้างเสี่ยงไม่น้อยเหมือนกัน
Mickey 17 (2025)
(13) เอาเข้าจริงหากไม่ใช่ความสามารถของนักแสดงและงานสร้าง รวมถึงการเล่าเรื่องของ บง จุนโฮ ตัวหนังอาจจะเละกว่านี้มาก แต่อย่างน้อยๆ ตัวเรื่องก็พาผู้ชมไปส่งที่ตอนจบได้แบบไม่ทุลักทุเล แต่ก็ไม่ได้สร้างประสบการณ์ที่ดีเลิศอะไรมากมาย รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่ไม่รู้จะมาถกต่ออย่างไร เพราะความเจือตลกและความบ้าบอของมันผลักดันให้ประเด็นต่างๆ ห่างไกลจากความเป็นจริงไปมาก คือ ถ้าในความเป็นจริง ยานอวกาศของมาร์แชลอย่าว่าแต่พามนุษยชาติออกไปนอกโลกเลย มันจะระเบิดตอนเปิดเครื่องรึเปล่าก็ยังน่ากังวลกว่าด้วยซ้ำ
Mickey 17 (2025)
Story Decoder
โฆษณา