Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กรุงเทพธุรกิจ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
15 เม.ย. เวลา 07:00 • ไลฟ์สไตล์
ทำงาน กิน นอนเน่าบนเตียงทั้งวัน อาจกระทบการนอนหลับกว่าที่คิด
การนอนหลับให้เพียงพอสำคัญกับวัยทำงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นระดับพนักงาน ผู้จัดการ หรือแม้แต่ผู้บริหารอย่างซีอีโอ เพราะมีผลต่อทั้งสุขภาพกายและใจ รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานและความก้าวหน้าในอาชีพ แต่ในยุคของการทำงานแบบผสมผสาน พนักงานสามารถทำงานอยู่บ้านสลับกับเข้าออฟฟิศได้ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เส้นคั่นระหว่างเวลางานกับเวลาพักผ่อนส่วนตัวหายไป ส่งผลต่อสุขภาพจิตใจและรบกวนระบบการนอนหลับให้แย่ลง
อย่างไรก็ตาม คนจำนวนมากกลับต้องเผชิญกับปัญหาการนอนเนื่องจากความเครียดจากงาน มีผลสำรวจพบว่า 52% ขอวัยทำงานชาวอเมริกันบอกว่า งานทำให้พวกเขานอนไม่พอ บางคนจึงหันไปใช้วิธี "Bed Rotting" ซึ่งเป็นเทรนด์การดูแลตัวเองที่กำลังมาแรงบนโลกออนไลน์
การนอนเน่าบนเตียง ไม่ใช่การนอนหลับพักผ่อน แต่หมายถึงการทำงาน ดูหนัง เล่นมือถือ กินข้าว ทำทุกอย่างอยู่บนเตียงทั้งวัน เพื่อให้รู้สึกว่าได้พักผ่อนมากขึ้น แต่รู้หรือไม่? ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเตือนว่า วิธีนี้อาจไม่ได้ช่วยให้ได้พักผ่อนมากขึ้นอย่างที่คิด แถมระบบการนอนอาจแย่กว่าเดิม!
📌 ‘Bed Rotting’ คืออะไร?
จากผลสำรวจของ Mattress Firm Sleep Index ที่จัดทำโดย The Harris Poll พบว่า 53% ของวัยทำงานชาวอเมริกันประเมินคุณภาพการนอนของตัวเองว่า "ปานกลาง" หรือ "แย่" ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว พวกเขาหลายคนจึงหันมาใช้วิธี Bed Rotting ซึ่งหมายถึงการใช้เวลานาน ๆ อยู่บนเตียง อาจจะทั้งวันหรือหลายวันติดต่อกัน เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการไถฟีดเล่นโซเชียลบนจอโทรศัพท์ ดูซีรีส์รวดเดียวจบ หรือแม้แต่ทำงานอยู่บนเตียง
หากดูผิวเผิน เหมือนเป็นวิธีพักผ่อนที่ดี แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การนอนแช่เตียงนานเกินไปอาจส่งผลเสียต่อคุณภาพการนอนหลับและระดับพลังงานโดยรวม โดย ดร.เจด วู (Jade Wu) นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนและที่ปรึกษาของ Mattress Firm อธิบายประเด็นนี้ว่า จริงๆ เทรนด์ของพฤติกรรมเหล่านี้มีมานานแล้ว เพียงแต่ถูกเรียกด้วยชื่ออื่น
“โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็น ‘นกฮูกกลางคืน’ (Night Owls) หรือวัยทำงานที่มีนาฬิกาชีวิตแบบนอนดึกตื่นสาย แม้จะเช้าแล้วแต่สมองของพวกเขายังคงไม่ตื่นเต็มที่ ทำให้รู้สึกอยากอยู่บนเตียงต่อ แต่อย่างไรก็ตาม เทรนด์นี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะเวลาที่รู้สึกเหนื่อยล้าเป็นพิเศษ หรือแค่อยากมีวันพักผ่อนแบบ ‘ไม่ต้องทำอะไรเลย’ ทั้งวัน” ดร.วู อธิบาย
📌 ทำไมพฤติกรรม ‘Bed Rotting’ อาจทำให้ระบบการนอนแย่ลง?
แม้ว่าการงีบสั้นๆ ตอนกลางวันจะช่วยเพิ่มพลังงานและบูสต์สมองได้ แต่การใช้เวลานานเกินไปบนเตียง หรือการทำกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่การนอนอยู่บนเตียงจนเคยชิน อาจมีผลเสียต่อระบบการนอนหลับของคนเรา 4 ข้อสำคัญ ได้แก่
1. ทำให้เวลาเห็นเตียงนอนแล้วไม่รู้สึกอยากนอน
เมื่อตื่นนอนแล้ว แต่ใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ บนเตียงต่อเนื่องนานเกินไป ทำให้สมองของคนเราเชื่อมโยงเตียงเข้ากับการตื่น มากกว่าการนอน ส่งผลให้หลับยากขึ้นในเวลากลางคืน
2. ทำให้ระบบนาฬิกาชีวิตแปรปรวน
ดร.วู อธิบายว่า การนอนแช่บนเตียงจนสายทำให้ร่างกายสับสน ส่งผลให้ความรู้สึกง่วงนอนหรือความอยากที่จะนอนหลับพักผ่อน (Sleep Drive) ลดน้อยลง และอาจทำให้หลับยากขึ้นในคืนถัดไป
3. ทำให้เหนื่อยล้ามากขึ้นแทนที่จะช่วยให้สดชื่น
หลายคนเข้าใจผิดว่าการนอนแช่เตียงช่วยฟื้นฟูร่างกาย หรือช่วยชดเชยให้ได้พักมากขึ้นหลังจากนอนไม่พอมาหลายวัน แต่ ดร. วู เตือนว่า “การนอนเน่าอยู่บนเตียงทั้งวัน ทำให้คนเราเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเกินไป ส่งผลให้เกิดความอ่อนเพลียได้มากกว่าการพักผ่อนไม่เพียงพอ ดังนั้น เราควรเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น ด้วยการลุกออกไปเจอแสงธรรมชาติ และลุกขึ้นจากเตียงไปทำกิจกรรมอย่างอื่น จะช่วยปรับระดับพลังงานได้ดีกว่า”
4. ทำให้สมองตื่นตัวตลอดเวลา
การใช้เวลาบนเตียงทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การนอนหลับ เช่น ดูทีวีหรือทำงาน อาจทำให้สมองตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา แม้ร่างกายจะอ่อนล้าแล้วก็ตาม ดร.วู เสริมว่า “ยิ่งเราใช้เตียงทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการนอนมากเท่าไหร่ สมองก็จะยิ่งเชื่อมโยงเตียงเข้ากับความตื่นตัวมากขึ้น”
📌 วิธีเพิ่มคุณภาพการนอนโดยไม่ต้องใช้วิธี ‘Bed Rotting’
การนอนหลับไม่เพียงพออาจส่งผลเสียหลายอย่าง ตั้งแต่ความเครียด สมองล้า ตัดสินใจผิดพลาด ไปจนถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ น้ำหนักขึ้น ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานประเภทที่ 2
แทนที่จะพึ่งพาพฤติกรรม Bed Rotting เพื่อให้ได้พักผ่อน แต่ควรใช้วิธีอื่นๆ เพื่อปรับปรุงการพักผ่อนจะดีกว่า โดย ดร.วู มีคำแนะนำสำหรับวัยทำงานเพื่อปรับพฤติกรรมการนอนให้ดีขึ้น ได้แก่
ขยับร่างกายตอนเช้า: การลุกจากเตียง เคลื่อนไหวร่างกาย และรับแสงแดดยามเช้าจะช่วยปรับสมดุลนาฬิกาชีวิต และเพิ่มระดับพลังงานตลอดวัน
ใช้เตียงสำหรับการนอนเท่านั้น: หลีกเลี่ยงการทำงานหรือดูทีวีบนเตียง เพื่อให้สมองจดจำว่าเตียงคือที่สำหรับการนอนเท่านั้น
ตื่นให้เป็นเวลา: การตื่นนอนในเวลาเดียวกันทุกวัน จะช่วยให้ร่างกายปรับจังหวะการนอน และทำให้นอนหลับได้ดีขึ้นตอนกลางคืน
รับแสงธรรมชาติในตอนเช้า: แสงแดดยามเช้าช่วยส่งสัญญาณให้ร่างกายรู้ว่าเป็นเวลากลางวัน และช่วยปรับนาฬิกาชีวิตให้สมดุล ทำให้หลับง่ายขึ้นในตอนกลางคืน
ท้ายที่สุด ผู้เชี่ยวชาญย้ำว่าหากต้องการการพักผ่อนที่ดีและมีคุณภาพอย่างแท้จริง ไม่แนะนำให้ใช้วิธี Bed Rotting แต่ควรปรับเวลาการเข้านอนและการตื่นนอนให้ตรงเวลา เพื่อช่วยให้นาฬิกาชีวิตทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ควรจัดห้องนอนให้เหมาะสม เช่น ทำให้ห้องมืด อากาศถ่ายเทดี และหลีกเลี่ยงแสงรบกวน การออกกำลังกายในช่วงเช้า หรือหากออกกำลังกายช่วงเย็นก็ควนทำอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงก่อนนอน ฯลฯ วิธีเหล่านี้ช่วยให้นอนหลับได้ดีมีคุณภาพมากขึ้น
อ้างอิง:
-
https://tinyurl.com/35yhh222
-
https://tinyurl.com/mvbafx4d
-
https://tinyurl.com/4jktf8ck
1 บันทึก
9
5
1
9
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย