27 มี.ค. เวลา 06:13 • หนังสือ

เมื่อหนังสือการ์ตูนไกลเกินเอื้อสำหรับเด็ก

ทำไมงานสัปดาห์หนังสือบูธหนังสือการ์ตูนเยอะจัง?
“ในวันที่หนังสือการ์ตูนไม่ใช่ของเด็กอีกต่อไป แต่เป็นของสะสมของผู้ใหญ่และนักเก็งกำไร และพ่อค้าคนกลาง”
วันนี้เป็นงานสัปดาห์หนังสือวันแรก เลยอยากจะขอแชร์มุมมองที่มีเกี่ยวกับโลกของหนังสือการ์ตูน หรือ “มังงะ” ในฐานะของคนที่ติดตามวงการนี้มาระยะหนึ่ง และเห็นพัฒนาการของหนังสือการ์ตูนจากสินค้าที่เด็กๆ วัยรุ่นวัยเรียนสามารถหาซื้อหาได้ในราคาเล่มละ 25-50 บาท สู่ราคาที่ทะยานขึ้นไม่แพ้ทองคำ โดยเริ่มต้นที่ 125++ บาทต่อเล่ม จากวงการที่กำลังตกต่ำถึงขีดสุด จนหลายสำนักพิมพ์เกือบจะปิดตัวลง สู่การเติบโตในยุคโควิทที่ทำให้มังงะพัฒนาตัวเองจากสินค้าที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก ไปเป็นกลุ่มผู้ใหญ่แทน
ด้วยราคาต่อเล่มที่มากกว่าค่าขนมรายวันของเด็กๆ ซะอีก
ถ้าใครเคยไปงานสัปดาห์หนังสือในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมาจะสังเกตได้ว่าบูธหนังสือที่ใหญ่ อลังการและมีจำนวนมากที่สุด คนเยอะที่สุดคงหนีไม่พ้นของสำนักพิมพ์หนังสือการ์ตูน และนิยายที่เรียกว่า light novel มีปีหนึ่งที่เข้าคิวกับยาวจนต้องไปต่อคิวแต่เช้าก่อนเข้างานตี 3 ตี 4 มีการซื้อขายคิว การฝากหิ้ว สงครามการแย่งซื้อมังงะที่ดุเดือดยิ่งกว่าแจกฟรี ทำให้บางคนงงจนอุทานว่า “อิหยังวะ?” มันคืออิเว้นท์อะไร นี่คือจุดเริ่มต้นของการเข้าวงการนี้อย่างจริงจังของเรา
แม้ว่ากระแส e-book จะมาแรงเพราะไม่ต้องแบกและหาที่เก็บให้วุ่นวายแต่อย่าลืมว่าจุดแข็งของหนังสือเล่มคือจับต้องได้ และซื้อขายต่อได้อย่างอิสระ ต่างจาก e-book ที่ซื้อมาแล้วไม่สามารถขายต่อได้ ที่สำคัญคือตอนนี้มันเป็นสินค้าที่ซื้อไว้เก็งกำไร และเป็นวงการของนักสะสมมากกว่าจะเป็นสินค้าที่ให้คนมาซื้ออ่านแล้วกองไว้ รอโละทิ้งหรือขายมือสองถูกๆ อีกต่อไป จากโดเรม่อน, โคนัน, one piece, จอมเกบลู, คอบร้า, โจโจ้, ก้าวแรกสู่สังเวน, ชินจัง ที่ย้อนกลับไปยุค 90 ราคาเล่มละ 25-35 บาท
กลายมาเป็นราคาทะลุร้อยกลางๆ มันเกิดขึ้นมาได้ยังไง? บางสำนักพิมพ์เริ่มต้นก็ปาเข้าไปเกือบเล่มละ 200 แล้ว และก็รู้ๆ กันว่ามันคงไม่จบได้เล่มเดียวกว่าจะซื้อถึงเล่มจบอย่างต่ำต้องมี 2-3 พัน บางเล่มที่มาพร้อมกล่องสะสมอาจจะไปถึง 4-5 พัน ราคานี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไปในวงการนี้
สาเหตุที่วงกามังงะฟื้นคืนชีพที่เราพอจะเดาได้คือ ช่วงโควิทคนออกจากบ้านไม่ได้ หาอะไรทำที่ห้องชิลๆ ก็คงหนีไม่พ้นอ่านหนังสือการ์ตูนแก้เซ็ง พอมีแรงซื้อมากขึ้นในตลาดที่กำลังซบเซาถึงขีดสุด ก็ทำให้เกิดความต้องการมากกว่าสินค้าที่มี อย่างที่รู้ๆ กันว่ามังงะแต่ละเรื่องส่วนมากจะไม่จบใน 1 เล่ม บางเรื่องเขียนยาวนานเกิน 10 ปียังไม่จบก็มี ถ้าเราไม่มีสักเล่มก็ถือเป็นหายนะได้ หนังสือแหว่ง จัดเข้าตู้ก็ฟันหลอ ไม่สวยงามครบเซ็ต
จึงเริ่มเกิดการเก็งกำไรสำหรับคนที่มีเล่มที่ขาดไป บางเล่มสามารถขายต่อได้เป็น 2-5 เท่าของราคาเดิม เป็นประเภทแรไอเท็ม จึงเกิดการแย่งชิงวิ่งราวในงานสัปดาห์หนังสือ ถึงขนาดขโมยตระกร้ากันก็มี และยังทำให้เกิดอาชีพพ่อค้าคนกลางที่เน้นเก็งกำไรกว้านซื้อเรื่องที่มีแนวโน้มจะขาดตลาดแล้วเอามา re-sale แพงๆ และยังเกิดกลุ่มนักสะสมขึ้นมาด้วย ถ้าใครเข้าไปดู facebook กลุ่มผู้สนใจมังงะ ไลท์โนเวลจะเห็นได้ว่าสมาชิกแค่เพจเดียวตอนนี้ก็เกินหนึ่งแสนสองหมื่นคนเข้าไปแล้ว
สถานการณ์นี้มาถึงจุด peak ช่วง 2 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันทางสำนักพิมพ์ก็ reprint เรื่องที่ขาดตลาดมาเพิ่มขึ้น และมีการซื้อ license หรือ LC เรื่องใหม่ๆ มาเพิ่มขึ้น ตลาดนี้จึงลดความร้อนแรงลงไปได้บ้าง
เมื่อสำนักพิพม์มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาสำนักพิพม์ก็ต้องแย่งตลาดกันด้วยกลยุทธ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายการ์ตูนพร้อม Box กล่องสะสม หรือพร้อมโปสการ์ด หน้าปกพิเศษ รวมไปถึงของอื่นๆ ที่เราไม่เคยเห็นขายพร้อมการ์ตูนมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น standee, ผ้าแขวน, แผ่นรองเม้าส์, ตุ๊กตา, พวงกุญแจ ฯลฯ ยังไม่รวมถึง fan meet ที่อาจารย์ที่เขียนและวาดการ์ตูนจะมาแจกลายเซ็นต์สดให้อีก วงการนี้มาไกลเกินกว่าคนที่ชอบอ่านการ์ตูนธรรมดาๆ จะจินตนาการถึง
อย่างไรก็ตามราคาของหนังสือที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ก็ทำให้โอกาสที่เด็กๆ เข้าถึงการ์ตูนได้ลดลง จนตอนนี้เรียกได้ว่าหนังสือการ์ตูนไม่ใช่ของเด็กอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นของผู้ใหญ่ที่ยังมีความรักและประสบการณ์ดีๆ จากการได้ติดตามการ์ตูนมังงะในวัยเด็กในช่วงเวลาที่การ์ตูนยังเป็นของเด็กๆ และพ่อค้าคนกลางที่เข้ามาทำกำไรจากนักสะสม ทิศทางและแนวโน้มตลาดการ์ตูนตอนนี้ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงและคาดว่าคงไม่หวนกลับมาเป็นตลาดสำหรับเด็กอีกต่อไป…
โฆษณา