5 เม.ย. เวลา 14:20 • ความคิดเห็น
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

10 บทเรียน ความเป็นผู้นำของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ผมติดตามข่าวและฟังบรรยายของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรี เป็นแคนดิเดตนายก ฯ ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และเมื่อเผชิญสถานการณ์วิกฤต ยิ่งฉายแสงให้โดดเด่นขึ้น สถานการณ์มันสร้างวีรบุรุษจริง ๆ ผมจะลองถอดบทเรียนเรื่องภาวะผู้นำของท่าน เพื่อให้ผู้บริหารทุกภาคส่วนได้ทดลองนำไปปรับใช้ ดังบทเรียน 10 ประการ ดังนี้
1. การทำงานหนัก (Work hard) เรื่องนี้คือสิ่งที่แบ่งคำว่า หัวหน้า กับ ผู้นำ คุณชัชชาติ ขึ้นชื่อเรื่องความเป็นผู้นำสูง ทำงานหนักกว่าผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่เน้นสั่งการในห้องแอร์ เมื่อมีเหตุการณ์ต่าง ๆ จะยืนอยู่หน้างานเสมอ สังเกตจากสถานการณ์แผ่นดินไหวมีคนแชร์คลิปท่านเดินให้กำลังใจคนทำงานตอนตีหนึ่ง ตีสอง มันเลยจุดที่เรียกว่าสร้างภาพไปแล้ว สิ่งนี้สร้างตื่นตัวให้กับคนที่ทำงาน และทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชายอมรับด้วยความเต็มใจ
2. รู้จริงในเรื่องที่ทำ (Knowledgeable) ผู้นำต้องรู้ในเรื่องที่ทำอย่างละเอียด เพื่อป้องกันการถูกหลอกทั้งจากผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้มีส่วนได้เสียอื่น การค้นหาข้อมูลอย่างต่อเนื่อง สอบถามผู้รู้ที่อยู่หน้างาน ทำให้เกิดความรู้ลึก รู้จริง การตัดสินใจจึงอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่สามารถพยากรณ์ผลลัพธ์ได้ เมื่อรู้จริงก็สั่งการได้ถูกต้อง แม่นยำ นอกจากนี้ตัวคุณชัชชาติเองยังเป็นนักอ่านตัวยง ก่อนรับงาน กทม. ก็กว้านซื้อหนังสือที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองในอแมซอนมาอ่านเป็นตั้ง ๆ เพื่อให้มีความรู้ก่อนรับทำงาน
3. กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth mindset) เรื่องนี้เห็นชัดเจนมาก สังเกตจากการตอบคำถามสื่อ เรื่องไหนผิดพลาดก็ยอมรับว่าผิดพลาด เรื่องไหนไม่รู้ก็ตอบว่าเป็นเรื่องที่ดีจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ทุกบทสัมภาษณ์ไม่เคยกล่าวตำหนิหรือโทษคนอื่นเลย แตกต่างจากนักการเมืองหลายคนที่ทำให้ตนเองโดดเด่นขึ้น ด้วยการโจมตีคนอื่น และหลายครั้งโดนเม้นต์โจมตีในไลฟ์สด ก็ไม่เคยตอบโต้ด้วยความโกรธ หรือคำหยาบเลยแม้แต่ครั้งเดียว
4. นักฟังที่ดี (Active listening) คุณชัชชาติ อาจไม่ใช่ผู้นำที่พูดเก่งที่สุด แต่เป็นผู้นำที่ฟังเก่งที่สุด สามารถเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ปัญหาได้อย่างละเอียด การฟัง ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลใหม่ ได้มุมมองใหม่ ได้เรียนรู้เรื่องใหม่ ถึงแม้บางเรื่องจะไม่เห็นด้วยก็ต้องรับฟังเอาไว้ สังเกตการเดินลงพื้นที่จะนำโดยการตั้งคำถาม แล้วฟังประชาชนพูดถึงปัญหาต่าง ๆ ทำให้รับรู้ถึงข้อมูลเชิงลึก และที่สำคัญคนที่พูด คือ ประชาชน ก็จะรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ
5. การใช้คนให้เหมาะกับงาน (Put the right man on the right job) ประโยคง่าย ๆ ในวิชา HR แต่การบริหารจริงทำยากมาก ประเด็นนี้สังเกตการแต่งตั้งรองผู้ว่าหญิงอดีตคณบดีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการสาธารณภัย (ผมเคยอ่านของท่าน) จะเห็นว่าแตกต่างจากการเมืองทั่วไปที่แต่งตั้งคนตามโควตา หรือเงื่อนไขการเมือง ผลงานการจัดการสาธารณภัยแผ่นดินไหวครั้งนี้แหละ คือ สิ่งสะท้อนคำว่า
"Put the right man on the right job" ได้เป็นอย่างดี
6. การให้เครดิตทีมงาน (Team credit) คุณชัชชาติ เป็นผู้นำที่ไม่เอาความดีความชอบใส่ตัวคนเดียว ทุกภารกิจจะให้เครดิตทีมงาน โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง เราจึงเห็นภาพผู้ว่า ฯ เดินถามสารทุกข์สุกดิบกับคนกวาดถนน คนเก็บขยะของ กทม. บางครั้งร่วมวงกินข้าวด้วย เพราะเขารู้ว่าคนกลุ่มนี้แหละที่จะผลักดันนโยบายให้สำเร็จ อย่าลืมว่างานทุกอย่างไม่สำเร็จได้ด้วยคนเพียงคนเดียว ผู้นำที่ดีต้องรู้จักให้เครดิตคนอื่น
7. สื่อสารด้วยความเข้าใจ (Empathic Communication) ผู้นำที่ดีต้องสื่อสารด้วยความเข้าใจความรู้สึก ความต้องการ และมุมมองของผู้ฟังอย่างลึกซึ้ง คุณชัชชาติพยายามสื่อสารสองทางด้วยการเชื่อมโยงกับความรู้สึกของผู้รับสาร ผ่านการไลฟ์สดที่ไม่ได้ใช้งบประมาณหลวงเลย อ่านคอมเม้นแล้วนำไปปรับปรุงแก้ไข ที่สำคัญการสื่อสารด้วยการไลฟ์อันตรายมาก เพราะเดี๋ยวมีคนมาเม้นด่า เดี๋ยวมีคนในพื้นที่มายืนด่า ยืนต่อว่า แต่ท่านก็ไม่กลัว สะท้อนถึงความต้องการสื่อสารที่จริงใจ
8. เข้าใจความหลากหลาย (Diversity) ผู้นำที่ดีต้องเข้าใจความหลากหลาย ประเภทยึดติดความเห็นตัวเองเป็นหลัก คนอื่นเห็นต่างก็ทำหน้าบึ้งตึงใส่ นานวันเข้าก็เหลือแต่พวกประจบสอพลออยู่รอบตัว และที่สำคัญตำแหน่งการเมืองยิ่งอยู่ภายใต้ความขัดแย้ง สิ่งนี้เองที่คุณชัชชาติ ทำได้ดีมากในเรื่องการจัดการความหลากหลาย ไม่สร้างความขัดแย้งเพิ่ม สามารถทำงานร่วมกับ สก. ที่มาจากการเมืองได้ และยังทำงานกับรัฐบาลที่เปลี่ยนมาแล้วถึง 3 ครั้ง ในวาระการดำรงตำแหน่งของท่านอย่างไร้รอยต่อ
9. ไม่เน้นพิธีรีตอง (Informal) คุณชัชชาติชอบไปตรวจงานคนเดียวโดยไม่มีคนเดินตามเป็นขโยง ประเภทว่าถ่ายภาพเสร็จก็แยกย้าย คงได้แต่ผักชีไปเป็นอาหาร การไม่เน้นพิธีรีตรองนี่แหละทำให้เห็นปัญหาที่แท้จริง สามารถนำไปกำหนดนโยบายได้อย่างละเอียด ตรงกับความต้องการ สังเกตว่านโยบายท่านมีแผนปฏิบัติรองรับเกือบสามร้อยประเด็น และยังทลายวัฒนธรรมเจ้ายศเจ้าอย่าง ความเป็นลำดับชั้นที่ฝังรากลึกในสังคม ทำให้คนทำงานรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ เป็นคนระดับเดียวกัน และประชาชนรู้สึกได้รับการเอ็มพาวเวอร์อำนาจจริง ๆ
10. มีความน่าเชื่อถือ (Trustworthyness) คุณชัชชาติพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกเรื่อง Trust หรือ ความไว้วางใจ ท่านอธิบายว่าเรื่องนี้เปรียบเสมือนใบอนุญาตในการเป็นผู้บริหาร เมื่อเข้ารับตำแหน่งจึงมีนโยบาย Open Data คือ เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดในออนไลน์ และนำทราฟฟี่ฟองดูว์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ประชาชนร้องเรียนปัญหามาใช้ แล้วข้อมูลดังกล่าวจะอยู่ในระบบออนไลน์สามารถติดตามผลได้ โดยไม่ผ่านลำดับขั้นแบบเดิมที่คนเส้นใหญ่รู้จักผู้บริหาร จะได้รับการแก้ไปัญหาก่อน หรือการขอใบอนุญาตผ่านออนไลน์ ป้องกันการเรียกรับสินบน ทำให้ภาพลักษณ์ กทม. มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
และเรื่องส่วนตัวก็ปราศจากข่าวลือการคอรัปชั่น การเรียกรับผลประโยชน์ หรือผลประโยชน์ทับซ้อนต่าง ๆ แม้อาจถูกโจมตีเรื่องอื่นตามประสาของนักการเมือง แต่ไม่เคยมีเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น สิ่งนี้สะท้อนความเป็นผู้นำที่น่าเชื่อถือและเป็นต้นแบบได้อย่างดี บทบาทผู้นำหากเรื่องอื่นทำได้ดี แต่มาเสียเรื่องการคอรัปชั่น ก็ทำลายความน่าเชื่อถือลงทันที ใครเป็นผู้นำอยู่ต้องรักษาเครดิตตรงนี้ให้ดี
สรุปการถอดบทเรียนทั้ง 10 ประการ เป็นเพียงมุมมองของผมบนพื้นฐานการวิเคราะห์ภาวะผู้นำเชิงพฤติกรรม (Behavior Leadership) ที่สะท้อนออกมาในแง่มุมต่าง ๆ เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการฝักใฝ่พรรคการเมืองแต่อย่างใด และยังคงยืนยันว่า "ระบบการเมืองที่ดี" ต้องผลักดันให้ได้นักการเมืองที่มีความรู้ความสามารถ เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ
และชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คือ หนึ่งในนักการเมืองคนนั้น !!
#สามารถบันทึก
โฆษณา