8 เม.ย. เวลา 08:01 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

[รีวิว] Cells at Work! - พ้นคำสาปจากงานดัดแปลงด้วยคุณภาพคับแก้วทั้งเนื้อหาและงานสร้าง

(1) พูดได้เต็มปากว่า Cells at Work ฉบับ Live Action ในการกำกับของ “ทาเคอุจิ ฮิเดกิ” (Takeuchi Hideki) เป็นการดัดแปลงเนื้อหาจากอนิเมชั่น(หรือมังงะ)สู่ภาพยนตร์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้แล้ว บ่อยครั้งการดัดแปลงหรือการทำเป็นหนัง “คนแสดง” มักประสบปัญหาหลายอย่าง แต่ดูเหมือนว่ากับ Cells at Work หรือในชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า Hataraku Saibou (はたらく細胞) จะก้าวข้ามมันไปได้อย่างหมดจด
Cells at Work! (2024)
(2) ย้อนกลับไปดูผลงานในสายภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ของผู้กำกับทาเคอุจิ ฮิเดกิ ก็ไม่แปลกใจถ้างานชิ้นล่าสุดของเขาจะออกมายอดเยี่ยม นั่นเพราะที่ผ่านมาเขาคลุกคลีอยู่กับภาพยนตร์ในแนวที่สร้างจากบทดัดแปลงอยู่แล้ว ทั้ง Nodame Cantabile: The Final Score - Part I และ Part II (2009-2010) หรือ Thermae Romae ทั้ง 2 ภาค (2012-2014) ที่ดัดแปลงมาจากมังงะในชื่อเดียวกัน
หรือหากมองที่ด้านของงานสร้าง Fly Me To The Saitama ทั้ง 2 ภาค (2019-2023) และ Moshimo Tokugawa Ieyasu ga Sori Daijin ni Nattara (2024) ก็เป็นผลงานที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงการสร้างโทนเรื่องที่ตลก บ้าบอ และถึงใจ
Cells at Work! (2024)
(3) ทางด้านงานต้นฉบับเป็นของนักเขียน “ชิมิซุ อาคาเนะ” (Shimizu Akane) เล่าเรื่องราวของระบบการทำงานในร่างกาย หรือจะพูดให้เจาะจงก็คือ ระบบหมุนเวียนเลือดและระบบภูมิคุ้มกัน โดยการใช้วิธี “บุคลาธิษฐาน” (Personification) ที่หมายถึงการกล่าวถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่มีชีวิต ไม่มีความคิด ไม่มีวิญญาณ หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์โดยให้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ แสดงกิริยาอาการและความรู้สึกได้เหมือนมนุษย์
เราจึงได้เห็นเหล่าเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเชื้อก่อโรคต่างๆ ที่อยู่ในร่างกาย มีชีวิตขึ้นมาโดยนักแสดงที่เป็นมนุษย์อีกทีนึง(ใน Live Action)
Cells at Work! (2024)
(4) ปกติคำสาปของการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์คนแสดงมักจะติดอยู่ตรงที่ “ความสมจริง” แน่นอนสำหรับมังงะหรืออนิเมชั่นที่มีความแฟนตาซีมากๆ ยิ่งแล้วใหญ่ แต่สำหรับ Cells at Work โลกของบุคลาธิษฐานกลับเข้ากันอย่างพอเหมาะพอเจาะในการทำเป็น Live Action ตัวเรื่องมีการแบ่งเป็นโลกสองฝั่งอย่างชัดเจน
ฝั่งหนึ่งเป็นโลกปกติของ “ชิเงรุ” (Abe Sadawo) หนุ่มวัยกลางคนผู้สุญเสียภรรยาไป เขาจึงใช้ชีวิตอยู่กับลูกสาว “นิโกะ” (Mana Ashida) กันตามวิถีปุถุชนคนธรรมดาที่ละเลยการดูแลร่างกายเพราะงานหนัก ส่วนคนลูกก็ว้าวุ่นตามประสาเด็กกำลังย่างเข้าสู่วัยรุ่น
“ชิเงรุ” (Abe Sadawo)
“นิโกะ” (Mana Ashida)
(5) ส่วนอีกโลกหนึ่งเป็นฝั่งของระบบการทำงานของร่างกาย ซึ่งเป็นที่ที่เอาไว้ให้ “ปล่อยของ” อย่างจัดเต็ม ทุกจินตนาการ ทุกความบรรเจิด ถูกอัดแน่นอยู่ในโลกใบน้อยๆ แต่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ นำโดย “เซลล์เม็ดเลือดแดง AE3803” (Nagano Mei) ผู้ขยันขันแข็งคอยส่งออกซิเจนไปทั่วร่างกาย “เซลล์เม็ดเลือดขาว U-1146” (Satou Takeru) ผู้คอยตรวจตราต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย และเซลล์อื่นๆ ที่ทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบ
“เซลล์เม็ดเลือดแดง AE3803” (Nagano Mei)
“เซลล์เม็ดเลือดขาว U-1146” (Satou Takeru)
(6) การทำแบบนี้มันสุ่มเสี่ยงมากจะทำให้ตัวละครในโลกบุคลาธิษฐานกลายเป็นการแต่งคอสเพลย์ตามงานประกวดทั่วๆ ไป แต่สิ่งที่ทำให้ Cells at Work ก้าวข้ามจุดนี้ไปได้ คือ งานสร้างที่อลังการแบบสุดๆ มันเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และการเล่นใหญ่แทบจะทุกกระเบียดนิ้ว ทั้งฉากที่จำลองมาจากระบบในร่างกายที่ทั้งดูน่ารักและได้ความรู้ หรือเหล่านักแสดงประกอบนับร้อยนับพันที่ช่วยยกระดับภาพของเซลล์ต่างๆ นับล้านในร่างกายของเราให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น
รวมถึงฉากแอคชั่นที่เร้าใจผิดจากความสดใสของตัวเรื่อง เหมือนเพื่อจะบอกกับเราว่าหากจะต้องปกป้องร่างกายพวกเขาก็จะสู้อย่างเต็มที่นะ
Cells at Work! (2024)
(7) ตัวภาพยนตร์ดำเนินเรื่องของทั้งสองโลกนี้คู่ขนานกันไปโดยยึดเส้นเรื่องของชิเงรุและมิโกะเป็นหลัก ถ้าหากยึดตามฉบับอนิเมชั่นในระบบร่างกายของผู้เป็นพ่อจะอ้างอิงตามภาคแยกอย่าง Cells at Work! Code Black ที่มีความมืดมนกว่าโลกในร่างกายของลูกสาวอย่างเห็นได้ชัด แต่สำหรับฉบับภาพยนตร์มีการเชื่อมภาคแยกมาไว้ด้วยกัน และต้องบอกว่าการเล่าเรื่องของผู้กำกับฮิเดกิสร้างความลื่นไหลของทุกอย่างในเรื่องให้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างไร้รอยต่อ มีการรับส่งเหตุการณ์ว่าข้างนอกเกิดอะไรขึ้น แล้วเหล่าเซลล์น้อยๆ รับมืออย่างไร
รวมถึงพัฒนาเรื่องราวไปสุดจุดไคลแมกซ์ที่ผู้ชมจะต้องเสียน้ำตาให้แน่นอน
Cells at Work! (2024)
(8) นักแสดงระดับต้นๆ ของฟากฟ้าญี่ปุ่นอย่าง “ซาโต้ ทาเครุ” ในบทเซลล์เม็ดเลือดขาว แม้จะถูกทาหน้าขาววอกแต่นั่นก็ไม่ได้กลบความเท่ของเขาได้แต่อย่างใด ตัวละครนี้ยังคงเป็นดาวเด่นของเรื่อง พร้อมๆ กับ “นากาโนะ เมอิ” นักแสดงสาวหน้าใสดาวรุ่งที่เหมาะเหลือเกินกับบทเซลล์เม็ดเลือดแดง ที่ดูป้ำๆ เป๋อๆ แต่ก็พยายามตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
และอีกคนที่กลับมาร่วมแสดงกับทาเครุอีกครั้งอย่าง “มัทสึโมโตะ วากานะ” ในบทแมคโครฟาจ (Macrophage) นี่ถือว่าเป็นการกลับมาร่วมกันในรอบเกือบ 20 ปี หลังจาก Kamen Rider Den-O ในปี 2007-2008 ซึ่งถือว่าเป็นงานที่แจ้งเกิดทั้งคู่อย่างเต็มตัว
Cells at Work! (2024)
(9) Cells at Work ในฉบับ Live Action นี้เก็บประเด็นสำคัญในเรื่องของความ “ไม่ยอมแพ้” จากต้นฉบับมาตีความได้อย่างน่าชื่นชม อย่างการบอกว่า “เวลาเราท้อถอยหรือเจออุปสรรคจนคิดจะยอมแพ้ แต่อย่าลืมนะว่าเหล่าเซลล์เม็ดเลือดแดงยังพยายามอย่างสุดชีวิตเพื่อส่งออกซิเจนและเซลล์เม็ดเลือดขาวก็พยายามปกป้องร่างกายของเราอย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง ในวันที่ไม่มีใครทำเพื่อเราพวกเขาก็ยังทำเพื่อเราอยู่เสมอนะ” มันเป็นการสร้างความโรแมนติกที่เป็นพลังบวกสุดๆ เลย
Cells at Work! (2024)
Story Decoder
โฆษณา