9 เม.ย. เวลา 00:21 • ปรัชญา

กฎของคันนิงแฮม (Cunningham’s Law): พฤติกรรมมนุษย์ที่อาจทำลายความคิดสร้างสรรค์ของผู้อื่น

ปัญหาสำหรับผมที่พบเจอทุกครั้งเวลาที่พยายามสร้างสรรค์หรือริเริ่มบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นไอเดียในการสอน เนื้อหาที่จะสอน งานวิจัย หรือแม้แต่ไอเดียทั่ว ๆ ไปที่อาจจะไม่ได้สลักสำคัญอะไร มักจะโดนคนอื่น ๆ แก้ไข หรือทำให้ผมรู้สึกว่าไอเดียนี้มันงี่เง่า มันยังไม่ดีพอ หลายครั้งทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ
มันตอกย้ำให้ผมคิดว่า “การแก้ไขเป็นเรื่องง่ายกว่าการสร้างสรรค์” อีกทั้งทุกคนต่างก็พูดเสมอว่าความผิดพลาดเป็นจุดเริ่มสำคัญของการเรียนรู้ แต่ปัญหาคือหลายครั้งผู้ใหญ่หรือคนรอบข้างเราก็มักไม่ปล่อยให้ความผิดพลาดเหล่านั้นได้เกิดขึ้น และทำให้ทุกคนหลอนจนไม่กล้าทำในสิ่งที่ผิดพลาด (เพราะกลัวจะโดนต่อว่า)
ผมอ่านหนังสือ Crossover creativity real life stories about where creativity comes from ที่เขียนโดยครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ชั้นครูอย่าง เดฟ ทรอตต์ (Dave Trott) แล้วพบเนื้อหาที่น่าสนใจ สอดคล้องกับสิ่งที่ผมบ่นมาก่อนหน้านี้ ทรอตต์เล่าถึงกฎของคันนิงแฮม (Cunningham’s Law) ที่ระบุว่า "วิธีที่ดีที่สุดในการได้รับคำตอบที่ถูกต้องบนอินเทอร์เน็ตคือไม่ต้องถามคำถาม แต่เป็นการโพสต์คำตอบที่ผิด"
กฎหรือแนวคิดนี้ถูกพูดถึงบ่อยในแวดวงอินเทอร์เน็ต โดยชื่อของกฎมาจาก วอร์ด คันนิงแฮม (Ward Cunningham) ผู้ให้กำเนิดระบบวิกิ (Wiki) ซึ่งเป็นพื้นฐานให้กับวิกิพีเดียในปัจจุบัน ต่อมา สตีเวน แมคเกียดี (Steven McGeady) อดีตผู้บริหารของ Intel ได้อธิบายหรือบันทึกแนวคิดนี้ในช่วงประมาณปี 2010 มีใจความว่า “ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยตอบคำถามอย่างจริงจัง แต่พวกเขาไม่อาจทนเห็นคำตอบที่ผิดโดยไม่เข้าไปแก้ไขได้เลย”
กล่าวอีกอย่างคือ หากเราโพสต์อะไรผิด ๆ ลงไปในโลกออนไลน์ คนจะกระตือรือร้นเข้ามาแก้ความผิดพลาดนั้นมากกว่าการเข้ามาตอบคำถามที่เราตั้งคำถามเอาไว้เสียด้วยซ้ำ แมคเกียดี หรือ คันนิงแฮม ไม่ได้อธิบายกลไกทางจิตวิทยาเอาไว้ แต่ผมสันนิฐานว่ากลไกทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องมีดังนี้
1
1) ปกป้องข้อเท็จจริง เมื่อเราเจอข้อมูลผิด ๆ หลายคนรู้สึกเป็นหน้าที่หรือแรงกระตุ้นให้เข้าไปปกป้องสิ่งที่ตนเองมองว่าถูกต้อง
2) หลีกเลี่ยงการเข้าใจผิด เรากลัวว่าคนอื่นจะนำข้อมูลผิด ๆ ไปใช้ต่อ หรือเชื่อไปแบบผิด ๆ
3) ศักดิ์ศรีทางปัญญา คนเรามักอยากพิสูจน์ว่า "ฉันรู้" "ฉันถูก” จึงอาจตอบสนองต่อข้อมูลผิด ๆ อย่างรวดเร็วกว่าการตอบคำถามทั่วไป ผมใช้คำว่าศักดิ์ศรีทางปัญญาดูสุภาพใช่มั้ยครับ แต่จริง ๆ แล้วมันก็คือสิ่งที่เราเรียกว่า "กระหายอยากมีแสง" นั้นแหละครับ
ส่วนตัวผมคิดว่าข้อสามคือสิ่งที่เราพบเจอมากที่สุดกับการแก้ไขข้อมูลผิด ๆ ไม่ว่าจะเป็นโลกออนไลน์ องค์ประชุม หรือการสนทนาทั่วไป เหตุผลก็เพราะว่ามนุษย์เรามีปมอยู่เสมอ เรามีความอยากแข่งขัน อยากเด่น หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าอยากมีแสง ไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่ประสบการณ์ในอดีตและปัจจุบัน
ผมมักจะบอกกับคนอื่นอยู่เสมอว่า คนทุกคนต่างเป็นผู้แข่งขัน แต่มีคนไม่มากที่กระหายจะแข่งขัน และคนผู้นี้หากเขาสู้โดยตรงไม่ได้ เขาจะพยายามดึงเราลงมา โดยการพยายามที่จะทำให้เราขายหน้า ไม่ว่าจะเป็นการกระจายเรื่องเลวร้ายของเรา หรือ (พยายาม) หาข้อผิดของเรามาพูดถึงในที่แจ้ง โดยอ้างอิงว่าเป็นการแก้ไขข้อผิด (ตามกฎของคันนิงแฮม)
ผู้อ่านจะเห็นว่ากฎนี้มีทั้งความเรียบง่ายที่พยายามจะปกป้องข้อเท็จจริง หลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด ไปจนถึงการอยากมีแสง ซึ่งการกระเสือกกระสนนี้แหละที่มันจะทำลายความคิดสร้างสรรค์ เพราะไอเดียต่าง ๆ ความผิดพลาดต่าง ๆ จะถูกนำมาชำแหละจนไม่ได้ผุดได้เกิด อีกทั้งยังทำลายความมั่นใจของผู้พูด กล่าวคือแทนที่เราจะพยายามสร้างนักสร้างสรรค์ที่จะมาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เรากลับสร้างคนที่กลัวผิดพลาด เป็นทุกข์ และหมดไฟในองค์กรแทน
อย่างไรก็ตามกฎนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้าย มันคือพฤติกรรมมนุษย์ที่สามารถนำมาสร้างความคิดสร้างสรรค์ได้เหมือนกัน เช่น ในวงประชุมหรือตอนระดมความคิด บางครั้งทุกคนอาจนั่งเงียบ แต่ถ้ามีใครพูดสิ่งที่ผิดหรือย้อนแย้งเมื่อไหร่ บรรยากาศจะเปลี่ยนทันที เพราะคนอื่น ๆ จะกระตือรือร้นที่จะแก้ไขหรือแย้งความผิดนั้น ซึ่งบางครั้งก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ
การปล่อยให้คนได้ลองเสนอไอเดีย แม้ไม่สมบูรณ์หรืออาจมีจุดอ่อนบ้าง ก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ และการปรับปรุงให้เกิดขึ้น เพราะในขั้นตอนนี้คำวิจารณ์หรือการแก้ไข (อย่างสร้างสรรค์) จะช่วยให้ไอเดียแข็งแรงขึ้น แทนที่จะตัดรอนกันตั้งแต่แรก ซึ่งผมอยากนำเสนอแนวทางการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ดังนี้
1) จดจำไว้ว่าความผิดพลาดเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ อย่าเพิ่งท้อเมื่อมีคนแก้หรือวิจารณ์ แต่ให้มองคำติหรือการแก้ไขเป็นโอกาสที่จะทำให้ไอเดียของเราดีขึ้น ชัดเจนขึ้น
2) พัฒนาทักษะกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) โดยมองว่าอุปสรรคหรือเสียงค้านเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเติบโต เพราะคำว่ากรอบความคิดมิได้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน แต่จะต้องหล่อหลอมคล้ายกับการเก็บเลเวลในเกมเพื่ออัพสกิลนั้นแหละครับ เราจะต้องฟาร์มประสบการณ์เสียก่อน ซึ่งอาจจะตายบ้าง ล้มบ้าง ชนะบ้าง
3) เปลี่ยนวิธีการสื่อสารสำหรับคนอยากฟีดแบ็ก แม้ในสมองเราจะคิดขึ้นมาว่า "ไอเดียนี้งี่เง่า” แต่เราควรใช้แนวทางเสนอแนะสร้างสรรค์ เช่น “ถ้าเราปรับเปลี่ยนแบบนี้จะเป็นอย่างไร” หรือ “จุดนี้น่าสนใจแต่จำเป็นต้องดูข้อมูลเพิ่มเติมนะ” กล่าวคือ เราไม่จำเป็นต้องพูดทุกสิ่งที่คิด แต่เราจะต้องคิดทุกสิ่งที่พูดให้เกิดผลดีที่สุด สิ่งนี้เรียกว่า ความคิดเห็นเชิงบวก (Constructive Feedback) เป็นการที่ทำให้ผู้เสนอไอเดียไม่สูญเสียกำลังใจ และพร้อมพัฒนาต่อไป
4) จงตระหนักว่าการ แก้ไขโครตง่าย แต่การสร้างสรรค์โครตยาก เพราะมันต้องใช้ความคิดและพลังใจอย่างมาก ดังนั้นเราต้องเคารพความพยายามของผู้อื่นอยู่เสมอ
สุดท้ายผมอยากจะสรุปดังนี้ กฎของคันนิงแฮม คือพฤติกรรมของมนุษย์ทั่วไป มิใช่สิ่งเลวร้ายอะไร เพียงแต่บางคนมีประสบการณ์บางอย่างที่กระหายอยากจะเอาชนะผู้อื่น และพยายามเขี่ยนักสร้างสรรค์ (ที่ส่วนใหญ่จะมีแสง) ให้ล้มลง สำหรับคนปกติทั่วไปเราสามารถใช้พฤติกรรมนี้มาเป็นแนวทางการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ได้ดังที่ผมยกตัวอย่างเอาไว้
สิ่งสำคัญก็คือเราจะต้องไม่ลืมว่าการยอมรับความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสร้างสรรค์ และการให้ฟีดแบ็กอย่างสร้างสรรค์ก็เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยกันและกันพัฒนาทั้งความคิดและผลงาน การสร้างสมดุลระหว่าง การทดลองและผิดพลาด การแก้ไขและปรับปรุงจึงเป็นหัวใจของการผลิตนักสร้างสรรค์ นวัตกร เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งการเปลี่ยนแปลงในองค์หรือในสังคมของเรา
อ้างอิง
Trott, D. (2023). Crossover Creativity: Real-life stories about where creativity comes from. Harriman House
โฆษณา