Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
รายการ ต้นรู้ โลกรู้ BY : Anurak News
•
ติดตาม
9 เม.ย. เวลา 07:43 • ข่าวรอบโลก
เรือพนมสุรินทร์ เรืออาหรับสมัยทวารวดี เข้ามาค้าขายกับสยามประเทศ
เมื่อราวเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากรได้รับรายงานการค้นพบซากเรือโบราณจมอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำขณะปรับพื้นที่ เพื่อทำเป็นนากุ้ง ในตำบลพันท้ายนรสิงห์ ซากเรือจมที่พบนั้นอยู่ในที่ดินของนายพนม และนางสุรินทร์ ศรีงามดี ซากเรือดังกล่าวมีลักษณะเป็นซากไม้ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวประมาณ 18 เมตร วางตัวในแนวนอนทิศเหนือ-ใต้ พร้อมกับเศษภาชนะดินเผาจำนวนหนึ่ง
จากการขุดค้นทางโบราณคดี ทำให้ทราบขอบเขตของเรือส่วนตัวเรือ และส่วนท้ายเรือ สันนิษฐานว่ามีอายุสมัยพุทธศตวรรษที่ 13-14 ลักษณะของเรือเป็นชิ้นส่วนไม้ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือด้วยวิธีการใช้เชือกผูกเข้าด้วยกัน มีการใช้น้ำมัน น้ำยาง หรือน้ำมันดินยาเรือเพื่อป้องกันน้ำเข้าเรือ และยังพบชิ้นส่วนของเหลือที่ค่อนข้างสมบูรณ์ทำให้นักโบราณคดีสามารถนำมาวิเคราะห์ขั้นตอนการต่อเรือได้ ไม่ว่าจะเป็นเสากระโดง กงเรือ กระดานเรือ ทวนหัวเรือ คานขวางเรือ กระดูกงู ฯลฯ
ซึ่งทำจากไม้เนื้อแข็งต่างชนิดกัน เช่น ไม้ตะเคียน ไม้เต็ง ไม้ตาล ไม้สัก ฯลฯ พันธุ์ไม้เหล่านี้เป็นไม้ในท้องถิ่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หลักฐานทางประวัติศาสตร์
การค้นพบไม้หลายประเภทที่นำมาต่อเรือทำให้สามารถตีความได้ว่าเรือลำนี้เป็นเรือที่ต่อขึ้นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับเทคโนโลยีจากภายนอกมาใช้กับไม้ในท้องถิ่น
เรือลำนี้นับว่ามีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับเรือร่วมสมัย เห็นได้จากการศึกษาของกองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2564 ด้วยการวัดขนาดของเรืออย่างละเอียดมาจำลองในโปรแกรม 3 มิติ พบว่า เรือลำนี้มีความยาวตามแนวกระดูกงู 26 เมตร สันนิษฐานความกว้างของท้องเรือประมาณ 5 เมตร ความกว้างกราบเรือ 7.5 เมตร และกราบเรือสูง 3.15 เมตร นี่จึงสะท้อนให้เห็นว่า เรือลำนี้อาจเดินทางระยะไกลและบรรทุกสินค้าจำนวนมากได้
ในซากเรือโบราณพนม-สุรินทร์ยังพบข้าวของมากมายที่แสดงให้เห็นการค้า วิถีชีวิตของผู้คนเมื่อกว่าพันปีก่อน ไม่ว่าจะเป็น
เศษภาชนะดินเผาที่ทำให้สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับแหล่งผลิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาชนะดินเผาแบบทวารวดีที่อาจเป็นของผลิตในภูมิภาคนี้หรืออินเดีย ภาชนะดินเผาจากเตาซินหุ้ย สมัยราชวงศ์ถังของจีน ภาชนะดินเผาจากตะวันออกกลาง ตลอดจนภาชนะดินเผาสีเขียวแกมฟ้า (Turquois-glazed jar) ที่สันนิษฐานว่าเป็นสินค้ามาพร้อมกับเรือ
เมล็ดพืชประมาณ 10 ชนิด ที่ได้รับยืนยันแล้วเพียงชนิดเดียวคือ หมากปลอกเปลือก และมีข้อสันนิษฐานว่ามี เมล็ดของต้นประคำไก่ (Euphorbiaceae) ด้วย พบทั่วไปในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอนใต้ของจีน เมล็ดที่เหลือยังไม่มีข้อมูลชนิด ซึ่งหาคำตอบกันต่อไป
ข้าวของเครื่องใช้ทั่วไป ได้แก่ หินที่สันนิษฐานว่าใช้ถ่วงเรือ อิฐในวัฒนธรรมทวารวดี ตุ๊กตาที่สันนิษฐานว่าเป็นที่เคารพบูชาของชาวเรือ แผ่นไม้ เครื่องจักสาน หมากรุก ฯลฯ นอกจากนั้น ยังพบชื้นส่วนกระดูกปลาในภาชนะดินเผา พบกรามช้างในตะกร้าสาน ชิ้นส่วนของสัตว์ที่ยังระบุไม่ได้ และเปลือกหอยต่าง ๆ
แหล่งเรือจมพนม-สุรินทร์ นับเป็นแหล่งเรือจมเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่สะท้อนให้เห็นร่องรอยการค้าทางทะเลในภูมิภาคนี้ช่วงสมัยทวารวดี และยังทำให้สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการค้ากับบริเวณอินโดนีเซีย เนื่องจากมีการพบแหล่งเรือจมที่มีอายุร่วมสมัยกันที่ทางชายฝั่งตะวันตกของเกาะเบลิตุง ประเทศอินโดนีเซีย และมีเทคโนโลยีการต่อเรือที่ใกล้เคียงกัน
ผลการศึกษาทางธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณี บ่งชี้ให้ทราบว่า “เรือโบราณ” นี้ พบอยู่ในร่องน้ำโค้งตวัดโบราณ ที่ระดับความลึกประมาณ 2 เมตร จากผิวดินปัจจุบัน ลำน้ำโค้งตวัดที่เรือโบราณจมตัวอยู่นี้ เป็นส่วนของแม่น้ำท่าจีนโบราณหรือแม่น้ำสาขาที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำท่าจีน
เรือลำนี้น่าจะเป็นเรือที่เดินทางไปมาระหว่างดินแดนแถบตะวันออกกลางและจีน พิจารณาจากภาชนะดินเผาแบบแอมฟอราที่คล้ายกับไหทรงตอร์ปิโด (torpedo jar) ซึ่งมีแหล่งผลิตในตะวันออกกลาง
ในภูมิภาคตะวันออกกลางมีเมืองท่าสำคัญอยู่หลายเมืองที่อยู่ในเส้นทางการค้า “เส้นทางสายไหมทางทะเล” เช่น เมืองบัสเราะฮ์ (Basra) เมืองอัล-อูบัลเลาะห์ (Al-Ubullah) ในประเทศอิรัก เมืองซีรอฟ (Siraf) ในประเทศอิหร่าน เป็นต้น ส่วนภาชนะดินเผาจากจีนที่พบในเรือพนม-สุรินทร์ มีแหล่งผลิตอยู่ใกล้กับเมืองกว่างโจว (Guangzhou) ในมณฑลกว่างตง เมืองท่าค้าขายทางทะเลที่สำคัญในสมัยราชวงศ์ถัง
การขุดค้นพบเรืออาหรับโบราณ
เมืองโบราณหลายเมืองยังตั้งอยู่ใกล้แนวชายฝั่งทะเลเดิม เรือสินค้าจากต่างภูมิภาคสามารถเดินทางเข้าไปยังเมืองโบราณได้ โดยใช้เส้นทางแม่น้ำสายหลักที่อยู่ใกล้เมือง ส่งผลให้เมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีหลายเมืองมีฐานะเป็นเมืองท่าค้าขาย-จุดแลกเปลี่ยนสินค้าต่างๆ ทั้งสินค้าท้องถิ่นและสินค้าต่างประเทศ
โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 เป็นช่วงที่เส้นทางการค้า “เส้นทางสายไหมทางทะเล” เจริญรุ่งเรือง เทคโนโลยีการเดินเรือมีความก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้การเดินเรือข้ามทวีปสามารถทำได้ เกิดเป็นเครือข่ายการค้าตามเส้นทางสายไหมทางทะเล
ส่งผลให้พบโบราณวัตถุจากต่างประเทศ เช่น สินค้าจากอินเดีย จีน กระทั่งสินค้าจากโรมันและอาหรับ แพร่กระจายอยู่ตามเมืองโบราณสำคัญที่ร่วมสมัยกัน ทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศ เช่น พม่า มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น
การขุดค้นพบเรืออาหรับโบราณ
เรือโบราณพนม-สุรินทร์ “เก่าแก่ที่สุดในไทยและอุษาคเนย์” อายุพันกว่าปีมาแล้ว
เรือโบราณพนม-สุรินทร์ อายุราว พ.ศ. 1200-1300 ขุดพบในนากุ้ง ต. พันท้ายนรสิงห์ อ. เมือง จ. สมุทรสาคร นับเป็นหลักฐานแหล่งเรือจมมีอายุเก่าแก่ที่สุด เท่าที่เคยมีการค้นพบแหล่งเรือจมในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็น “เรือโบราณ” ที่ช่วยเติมเต็มภาพวัฒนธรรมยุคเมื่อพันกว่าปีก่อนได้ชัดขึ้น
จากการศึกษาอักษรอาหรับบนชิ้นส่วนภาชนะดินเผา รูปภาชนะดินเผาที่พบทั้งจากแหล่งผลิตจากจีน ตะวันออกกลาง และภาชนะในท้องถิ่น ทั้งรูปแบบเรือที่ใช้วิธีการต่อเรือแบบอาหรับโบราณ และการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ตัวอย่างอินทรียวัตถุที่พบ สอดคล้องกันว่าเรือโบราณลำนี้มีอายุราว พ.ศ. 1200-1300 (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14) ร่วมสมัยกับเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี
ภาพ : ศิลปวัฒนธรรม
เรียบเรียงโดย : อาจารย์ต้นสัก สนิทนาม
#เรืออหรับโบราณ #ขุดค้นพบ #กรมศิลปากร #การพัฒนาทางประวัติศาสตร์
ข่าวรอบโลก
โบราณคดี
อาหรับ
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย