12 เม.ย. เวลา 03:00 • ไลฟ์สไตล์

'นิราศสงกรานต์' ของเด็กไทยที่เคยอยู่ใน 'กรีซ' │ A Songkran Story in Thessaloniki

บันทึกประสบการณ์การฉลอง ‘สงกรานต์’ ของคนไทยที่เคยไปเรียนและใช้ชีวิตในเมือง ‘เทสซาโลนิกิ’ ประเทศกรีซ │Let’s experience ‘Songkran’ like no other in a city called Thessaloniki.
📌 Read the article in English / อ่านเวอร์ชันภาษาอังกฤษที่: www.thaipbs.or.th/now/content/2575
พอนึกย้อนกลับไป บางที ผมก็ยังสงสัยตัวเองนะครับว่า เคยไปอยู่จุดที่ฉลองสงกรานต์ในกรีซได้อย่างไรกัน…
วิวของเทสซาโลนิกิที่มีเทือกเขาโอลิมปัสอยู่เป็นฉากหลังไกล ๆ
เกริ่นสักนิดหนึ่งครับว่า เมืองที่ผมเคยไปเรียนและอาศัยอยู่ระหว่างปี 2566-2567 นั้นมีชื่อว่า ‘เทสซาโลนิกิ (Thessaloniki – Θεσσαλονίκη) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกรีซ คนไทยคงอาจไม่รู้จักเมืองนี้สักเท่าไหร่เมื่อเทียบกับเอเธนส์หรือซานโตรินี โดยชื่อเมืองนั้นตั้งมาจาก ‘เทสซาโลไนกิ (Thessalonike of Macedon)’ น้องสาวต่างแม่ของ ‘อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great)’ และคำว่า ‘นิกิ (η νίκη)’ ในภาษากรีกนั้น แปลว่า ‘ชัยชนะ’ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ ‘Nike’ ที่หลาย ๆ คนอาจจะเอ๊ะกันครับ
รูปปั้นอเล็กซานเดอร์มหาราช เลียบท่าชายฝั่งของเทสซาโลนิกิ
เทสซาโลนิกิเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมาถูกพัฒนาเป็นเมืองท่า และปัจจุบันกลายเป็นเมืองศูนย์กลางการเดินทางในยุโรป ช่วงหน้าร้อน นักท่องเที่ยวยุโรปจะบินมาที่นี่เพื่อไปพักผ่อนริมชายหาดที่เมืองใกล้ ๆ และทุกภาคการศึกษา นักเรียนในโปรแกรมอีราสมุส (Erasmus) จากทั่วโลกก็มาแลกเปลี่ยนที่นี่ จากประสบการณ์ของผู้เคยอยู่จริง
ผมมักจะพูดติดตลกว่า “เด็กกรีกครึ่งประเทศกับเด็กอีราสมุสอีกครึ่งโลกรวมตัวกัน ไม่ใช่เพื่อเรียนนะ แต่มาปาร์ตี้ต่างหาก” เพราะแทบทุกคืน เด็กวัยรุ่นทั้งท้องที่และต่างชาติต่างออกไปกินดื่มกันตามประสาจนถึงเช้า และตัวเมืองเองก็เล็กกับปลอดภัยมากพอสำหรับทุกคนที่จะใช้ชีวิตในยามวิกาลได้ อีกทั้งเครือข่ายนักเรียนอีราสมุส (ESN: Erasmus Student Network) ประจำเมืองก็ขยันจัดอีเวนต์โดยนักเรียน เพื่อนักเรียน จึงทำให้เทสซาโลนิกิเป็นเมืองนักเรียนอย่างแท้จริงครับ
งานทำการ์ดวันคริสต์มาสที่ ESN Thessaloniki จัดร่วมกับบ้านเด็กออทิสติก เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 66 (มีใครเห็นอะไรเด่นขึ้นมาทางภาพด้านขวาไหมครับ ?)
ต้องบอกเลยว่า เทสซาโลนิกินั้น “เหมือนกรุงเทพฯ” แบบที่ผมเองก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะได้เจอในอีกซีกโลกหนึ่ง อย่างย่านที่ผมอยู่ก็คลับคล้ายคลับคลาเยาวราชจนเพื่อนคนไทยทัก เดินลงมาจากหอ ก็มีร้านขายของชำที่ชวนให้คิดถึงร้านขายของอาแป๊ะอาม่าตามตรอกซอกซอยเก่า ๆ ตามถนนและฟุตบาทก็มีหมาจรแมวจัดเดินครองถิ่นกันทั้งเมือง (จริง ๆ ก็ทุกที่เลยนะครับ) ทุก ๆ เช้า ที่ตื่นมาวิ่ง ก็จะเจอคุณปู่คุณย่าขาประจำประคองกันเดินเลียบหาด
และที่สุดของแจ้ก็คือ ผู้คนต่างบ่นถึงเรื่องต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สถานการณ์ของประเทศใน ‘ยุคนายพล (Greek junta era)’ ช่วงปี ค.ศ. 1967-1974 และรถไฟฟ้าใต้ดินของเมืองที่สร้างนานพอ ๆ กับถนนและรถไฟฟ้าบางสายในกรุงเทพฯ (เพิ่งจะแล้วเสร็จและเปิดใช้ไปเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา) ส่วนเรื่องอาหารการกินนั้น ที่กรีซมีประเภทร้านอาหารที่เรียกว่า “มากีเรฟตา (μαγειρευτά - แปลว่า ปรุงแล้ว)” ซึ่งคล้ายกับร้านข้าวแกงในไทยไม่มีผิด แต่ต่อให้กรีซจะเหมือนไทยอย่างไร บ้านก็ไม่ใช่บ้านอยู่ดีครับ
วันหนึ่ง จู่ ๆ ก็มีงานคล้ายโต๊ะจีนจัดที่โรงเรียนติดกับหอ
สิ่งหนึ่งที่ผมพอจะทำแก้คิดถึงบ้านได้คือ การทำอาหารไทยครับ ก่อนจะย้ายไปกรีซ ผมซื้อเครื่องปรุงสำเร็จรูปต่าง ๆ พร้อมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปประมาณหนึ่ง เพราะรู้ตัวว่าตัวเองจะได้ทำกับข้าวแน่ ๆ ต่อให้ฝีมือจะไม่ได้ดีก็ตาม พอไปถึงก็ตามคาดครับ เทสซาโลนิกิไม่มีร้านอาหารไทย แต่ที่รับไม่ได้จริง ๆ ก็คือ พริกป่นในกรีซนี่... ไม่มีความเผ็ดใด ๆ เลย!
ผมจะเข้าครัวในหอตอนที่เบื่อกับข้าวโรงอาหารมหาวิทยาลัย (ซึ่งฟรีและ “ซ้ำ” ได้ด้วยหากไม่อิ่ม) และไม่อยากกินข้างนอก สิ่งที่ทำก็ง่าย ๆ ครับ หมูกระเทียม กะหล่ำปลีผัดน้ำปลา (ผัดทีนี่ กลิ่นคลุ้งไปทั้งหอจนรูมเมตจะบ่นเอาได้) เมนูสารพัดไข่ และข้าวที่หุงในหม้อต้มบะหมี่หม้อเล็ก ๆ อย่างไรก็ดี การกินอาหารไทยคนเดียวบ่อย ๆ ครั้ง ก็เหงาเกินไปใช่ไหมครับ เราต่างเคยชินกับการแบ่งกับข้าวกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงตามฉบับคนไทย ทีนี้ ผมก็เกิดดำริที่จะจัดปาร์ตี้อาหารไทยบ้าง และก็ “หาทำ” จนจัดได้ 3 ครั้งถ้วนครับ
รอบแรก ผมยืนผัดกะเพราและต้มไข่พะโล้กินกับเพื่อนร่วมโปรแกรมชาวโคลอมเบีย 2 คนช่วงวันคริสต์มาส รอบสอง ก็เล่นใหญ่ขึ้นมาหน่อยครับ เพราะหาเรื่องจัด “โต๊ะจีน” ตอนวันตรุษจีนเลี้ยงคน 13 ชีวิต รอบนี้ ผมนึกอยากทำหมูกรอบทั้ง ๆ ที่ไม่เคยทำ ก็เปิด YouTube หาสูตรและวิธีที่ง่ายที่สุด จนเจอว่า แค่มีหม้อใบใหญ่ ๆ แล้วทอดหมูซ้ำ 3 รอบ ก็ได้หมูกรอบแล้วครับ ถึงทำจริง หน้าตาหมูกรอบผมอาจจะไม่เหมือนอย่างที่เคยกิน ๆ มา แต่รสชาติก็ไม่ขี้เหร่ แถมเพื่อนต่างชาติมารุมกินหมูกรอบจนหมดเป็นจานแรกเลย
กับข้าวตอนคริสต์มาส (ซ้าย) และสภาพหมูกรอบจากอุปกรณ์ไม่กี่ชิ้น (ขวา)
หลังได้การตอบรับที่ดีตอนตรุษจีน ผมก็เริ่มวางแผนจัดงานสงกรานต์ที่หอของตัวเอง - ซึ่งตรงกับวันที่ 13 เม.ย. 67 พอดี อย่างแรกที่ต้องคิดคือ จะทำกับข้าวอะไรเลี้ยงเพื่อน ๆ และแขกเหรื่อดี จนได้เมนูที่มาพร้อมกับเรื่องราวทั้งส่วนตัวและไม่ส่วนตัวครับ อย่างแรกคือ สะเต๊ะหมูกับไก่ที่เป็นดั่งการรำลึกถึงบรรพบุรุษไปในตัว เพราะพ่อของผมชอบเล่า (หรือให้พูดว่า “ขิง” น่าจะถูกต้องกว่า) ว่า ย่าทวดทำสะเต๊ะขายที่คลองดำเนินสะดวกตอนพ่อเด็ก ๆ และเป็นสะเต๊ะที่อร่อยที่สุดที่พ่อเคยกินมา
ส่วนอาหารจานที่สองเป็นแกงมัสมั่นเนื้อน่องและมังสวิรัติ เหตุผลก็ง่าย ๆ เลยครับ คือมัสมั่นเคยเป็นแกงที่ดีที่สุดในโลก และต่างชาติหลายคนก็ไม่รู้เรื่องนี้ แต่จานที่ขายดีที่สุดในคืนวันสงกรานต์คือลาบทอดหมูครับ กินกันเกลี้ยงจนตัวคนทำเกือบไม่ได้กิน สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด คือชานมไข่มุกแบบพร้อมชงที่เอาไปจากไทย เอาใจเพื่อนเวียดนามกับจีน พอยังเหลือซองที่ไม่ได้กิน ผมก็ยกให้สาว ๆ สาวกชานมทั้งสองไปครับ น้ำใจคนเอเชียที่แท้
ภาพอาหารจากงานดินเนอร์สงกรานต์ 13 เม.ย. 67 (ภาพจาก : Zara R.)
แต่ผมก็ไม่ได้เตรียมงานสงกรานต์คนเดียวนะครับ งานสงกรานต์ทั้งที ทุกคนก็ต้องรวมใจกันอยู่แล้ว อย่างเพื่อนเวียดนามของผมก็ให้ยืมหม้อหุงข้าว – ที่ได้ต่อจากเพื่อนร่วมโปรแกรมคนจีนที่เคยอยู่เทสซาโลนิกิอีกที – ทำให้เราหุงข้าวสวยได้ถูกต้อง ไม่ต้องลำบากหุงในหม้อต้มบะหมี่อย่างที่ผมหุงกินเอง หรืออย่างรูมเมตคนอังกฤษในหอผมก็ทำเปาะเปี๊ยะผักสดมาแชร์กัน น่าคิดและตลกดีนะครับที่ในโลกตะวันตก เรียกเปาะเปี๊ยะสดและเปาะเปี๊ยะทอดว่า ‘summer rolls’ และ ‘spring rolls’ ผสมปนเปสลับกันไปมา...
กลับมาที่งานเลี้ยงสงกรานต์กันต่อครับ เด็ก ป.ตรี คนฝรั่งเศสที่รู้จักกันก็ทำสลัดผลไม้สูตรเด็ดของเขามา ส่วนรูมเมตคนฝรั่งเศสกับเพื่อนของเขาก็ช่วยกันเตรียมคุกกีช็อกโกแลต และเพื่อน ๆ และเพื่อนของเพื่อนคนอื่น ๆ ก็ซื้อเครื่องดื่มและขนมเข้ามาเพิ่ม จนสุดท้าย คืนนั้นมีคนฉลองสงกรานต์ในหอผมรวม 20 คนถ้วน
แต่สงกรานต์งานนี้จะไม่ใช่สงกรานต์เลยถ้าไม่มีการเล่นน้ำใช่ไหมล่ะครับ ผมเลยมีปืนฉีดน้ำจิ๋ว ๆ อยู่สามอันให้ทุกคนผลัดกันฉีดน้ำตามความสะดวก “ดูสิ นี่เหมือนฉันฉี่รดตัวเองเลย” เพื่อนของรูมเมตผมคนหนึ่งบ่น “เดี๋ยวมันก็แห้งแหละคุณ” ผมขำเบา ๆ
บรรยากาศอุ่นเครื่อง (ซ้าย - ภาพจาก : Maïté G.) และการวิ่งไล่ฉีดน้ำในห้องครัว (ขวา)
ตัดมาตอนที่เพื่อนคนกรีกกำลังวิ่งไล่ฉีดน้ำใส่กัน เด็ก ป.ตรี คนฝรั่งเศสก็หยิบปืนฉีดน้ำอีกอัน ทำท่าลังเลว่าสิ่งนี้คืออะไร “มา มาฉีดใส่เรานี่ นี่สงกรานต์นะ” ผมบอกเขา “ไม่ได้สิ เธอเป็นเจ้าบ้าน ฉันจะแกล้งเธอได้อย่างไร” เจ้าตัวพูด แล้วก็ฉีดน้ำใส่ผมเบา ๆ… หลังจบงานเลี้ยงคืนสงกรานต์ไปวันสองวัน ผมก็มีพิธี “รดน้ำดำหัว” ให้เพื่อนร่วมชั้นเรียน (ที่อายุมากกว่า) และครูสอนกรีกที่โรงเรียนภาษากรีกด้วย ก็ต้องรียูสปืนฉีดน้ำมารดน้ำแทนการใช้ขัน ดูตลกแปลก ๆ แต่น่ารักไปอีกแบบครับ
การนำเสนอวัฒนธรรมร้านข้าวแกงในไทย และพิธีรดน้ำดำหัวเล็ก ๆ ที่โรงเรียนสอนภาษากรีก
คืนงานเลี้ยงสงกรานต์ในเทสซาโลนิกิ ถือเป็นความทรงจำที่ดีมาก ๆ ของผมตอนที่อยู่ในยุโรปครับ มันไม่ใช่แค่คืนคืนหนึ่งที่เด็กมหา’ลัยมาสังสรรค์กันเฉย ๆ แต่ยังทำให้ผมได้ตกผลึกความคิดบางอย่าง อย่างแรก ไม่ว่าในโอกาสใดก็ตาม มื้ออาหารนำพาผู้คนหลากหลายให้มาเจอกันเพื่อแบ่งปันเรื่องราว แลกเปลี่ยนมุมมอง และสำรวจ “ความเป็นอื่น” ไปด้วยกันครับ
อย่างที่สองคือ ในแง่หนึ่งนั้น การเป็นนักเรียนต่างชาติในต่างแดน หมายความว่า คุณก็เป็นทูตวัฒนธรรมด้วย อย่างผมเองก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรม สังคม และวิถีชีวิตในกรีซ (ยกเว้นตำนานเทพเจ้ากรีกที่ไม่เคยเข้าหัวเสียที) และในทางกลับกัน ผมก็มีโอกาสนำเสนอความเป็นไทยเท่าที่พอจะทำได้ พอพูดอย่างนี้แล้ว ส่วนตัวผมคิดว่า รัฐควรจะส่งเสริมและโปรโมต ‘ซอฟต์พาวเวอร์ไทย’ อย่างที่มันเป็นจริง ๆ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่า เมืองไทยไม่ได้มีแค่ผัดไทย มวยไทย หรือข้าวเหนียวมะม่วงแค่นั้น
และสิ่งสุดท้ายที่ผมได้เรียนรู้นั้นคือ เราควรรู้สึกดีใจเมื่อได้พบเจอผู้คนดี ๆ และน่าจดจำ ไม่ว่าช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันนั้นจะสั้นหรือยาวก็ตาม ตัวผมเองก็ยังดีใจที่ได้พบเจอผู้คนเหล่านั้นในกรีซ และจะคิดถึงพวกเขาเสมอเมื่อวันสงกรานต์เวียนมาถึงในทุก ๆ ปีครับ
ปิดท้ายคืนงานดินเนอร์สงกรานต์ในกรีซ
ติดตามบทความและเรื่องราวทันทุกกระแสที่ Thai PBS NOW: www.thaipbs.or.th/now
โฆษณา