21 เม.ย. เวลา 08:00 • ธุรกิจ

เรียนจบบัญชี จุฬาฯ มาเปิดร้าน ‘White Story’ ปีที่แล้วขายได้ ‘600 ล้าน’ วางเป้าสิ้นปีมี 100 สาขา

เปิดมา 18 ปี โตพีคสุดคือช่วงปิดเมือง! คุยกับ “แวว-วาศิณี” แห่ง “White Story” เริ่มจากชอบทำอาหาร-เข้าครัวตั้งแต่เด็กๆ จุดพลิกคือช่วงเรียนต่อเมืองนอก อยากมีร้านอาหาร-เบเกอรีทำสดใหม่ทุกวัน ปีที่แล้วโกยยอดขาย “600 ล้านบาท” ตั้งเป้าสิ้นปีเปิดให้ครบ 100 แห่ง
ร้านขายอาหารและเบเกอรีขนาดกะทัดรัดไม่เกิน 40 ตารางเมตร ไม่มีโต๊ะที่นั่งทาน มีเพียงข้าวกล่อง ขนม และน้ำหวานเย็นๆ ให้เลือกซื้อกลับ แต่ตกเย็นเมื่อไหร่มีพนักออฟฟิศนับสิบต่อแถวเลือกซื้อกันเป็นประจำ ไม่ใช่แค่สาขาเดียวเท่านั้น แต่ทุกๆ ที่ที่มี “White Story” มักเต็มไปด้วยบรรยากาศแบบที่เราว่ามาเสมอ
“White Story” คือร้านขายข้าวกล่องที่มีการตกแต่งแนว Cottage Style กระจายสาขาทั่วประเทศไปแล้ว 80 แห่ง แม้จะเพิ่งได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลายเมื่อไม่กี่ปีมานี้ แต่รู้หรือไม่ว่า “White Story” เปิดทำการมาแล้ว 18 ปี แต่เพิ่งมาโตก้าวกระโดดสุดๆ หลังวิกฤติโรคระบาดใหญ่
โดย “แวว-วาศิณี สุรชาติชัยฤทธิ์” ผู้ก่อตั้งและเจ้าของร้าน “White Story” บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเหมือนโอกาสในวิกฤติที่แม้ร้านจะได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง แต่ขณะเดียวกันก็ได้รับข้อเสนอดีๆ จากแลนด์ลอร์ดในกาเปิดสาขาใหม่ๆ เพิ่มเติมด้วย
“แวว” เติบโตมาในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่ชอบเข้าครัว-ทำอาหารตั้งแต่เด็กๆ เพราะส่วนใหญ่ที่บ้านทำกับข้าวกินเอง เธอจึงรับหน้าที่เป็นลูกมือให้คุณแม่ทั้งเมนูอาหารไทยและจีนอยู่เป็นประจำ กระทั่งเรียนจบปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้เข้าสู่เส้นทางการเป็นพนักงานประจำมาระยะหนึ่ง เมื่อได้จังหวะพร้อมออกมาทำธุรกิจจึงเลือกปักหมุดตามความตั้งใจเดิม คือร้านนี้ต้องขายทั้งอาหาร เค้ก เบเกอรี และกาแฟไปพร้อมๆ กันได้
ช่วงเริ่มต้น “แวว” ยังไม่สามารถกำเงินก้อนไปเปิดร้านบนโลเกชันย่าน CBD จึงมองหาทำเลที่มีศักยภาพ มีกำลังซื้อพอเหมาะ เธอเริ่มต้นสาขาแรกบริเวณย่านพระราม 5 เพราะมีหมู่บ้านจัดสรรเกิดใหม่มากมาย ทั้งยังได้พื้นที่ที่ตรงกับคอนเซปต์ในใจด้วยลักษณะบ้านไม้หลังเก่าๆ แถบวงเวียนพระราม 5 “แวว” อยากให้บรรยากาศร้านมีความอบอุ่น โปร่งสบาย จึงทาสีขาวทั้งหลังพร้อมตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์สไตล์ Cottage เป็นจุดเริ่มต้นของบ้านไม้สีขาว “White Story” ที่รอลูกค้าเข้ามาแต่งแต้มสีสัน
ธุรกิจร้านบ้านไม้สีขาวแห่งนี้ไม่ได้เกิดและปังตั้งแต่วันแรก “แวว” เริ่มจากขายเมนูเบเกอรีและเครื่องดื่ม เธออยู่กับลูปการขายกาแฟได้เพียงวันละ 5 แก้วเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน พยายามปรับแก้คิดหาทางแก้ไข จะทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้ ไม่นานหลังจากนั้นจึงผุดเมนูอาหารจานเดียวง่ายๆ เป็นมื้อกลางวันและมื้อเย็น อาทิ ข้าวผัดปลาสลิด ข้าวหมูอบ ข้าวผัดแหนม สปาเกตตี้หอยลาย ฯลฯ
ช่วงเวลานั้นเกิดจุดพลิกผันให้เรียนผูกเรียนแก้หลายอย่าง เพิ่มเมนูอาหารจานเดียวเข้ามาแล้วก็พอจะได้ลูกค้าเพิ่มบ้างแต่ก็ยังไม่เพียงพอจะหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน กระทั่งมีแม็กกาซีนชื่อดังเขียนถึง “White Story” ในฐานะร้านแนะนำย่านวงเวียนพระราม 5 ถัดจากนั้นก็เจอมรสุมน้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554 จนร้านบ้านไม้สีขาวต้องปิดตัวลง แต่ก็เป็นจังหวะพอดีกับการได้ฤกษ์เข้าไปอยู่ในห้างสรรพสินค้า “The Walk” ตรงนี้นี่เองที่ทำให้ร้านสะสมชื่อเสียงมากขึ้น
การได้เข้าไปอยู่ในห้างสรรพสินค้า ช่วยเพิ่ม “Visibility” ให้กับร้านได้จริง นอกจากลูกค้ากลุ่มครอบครัว และคนทำงานออฟฟิศ คอนเซปต์ของ “White Story” ก็ดันไปเตะตาต้องใจห้างแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ อย่าง “สามย่านมิตรทาวน์” แววบอกว่า ความโชคดีในตอนนั้น คือมีคนดูแลพื้นที่สามย่านมิตรทาวน์เล็งเห็น มองว่า สินค้าและคอนเซปต์ของร้านตอบโจทย์คนเมือง จึงชวนไปเปิดพร้อมกับวันเปิดห้างวันแรก โดยโลเกชันในสามย่านมิตรทาวน์เป็นจุด “Hotspot” มีคนผ่านไปมาเยอะ การมาอยู่ที่นี่ช่วยติดสปีดธุรกิจ ทำให้คนรู้จักแบรนด์มากขึ้นกว่าเดิม
เวลาเย็นจนถึงช่วงค่ำก่อนปิดร้าน “White Story” แทบทุกสาขาโดยเฉพาะโซนตึกออฟฟิศสำนักงาน มักเต็มไปด้วยหนุ่มสาวคนทำงานที่มายืนเลือกข้าวกล่องจากโปรโมชัน “2 กล่อง 100 บาท” ทำให้สินค้าหมดลงอย่างรวดเร็ว “แวว” เล่าว่า เป็นความตั้งใจตั้งแต่ต้นอย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ว่า เธอต้องการทำอาหารสดใหม่ทุกวัน ไม่ใส่สารกันบูด ไม่เก็บของไว้ขายในวันถัดไป ถ้าขายไม่หมดจริงๆ ก็จะนำกลับเข้าครัวกลางเพื่อทำเป็นปุ๋ยแทน
นอกจากเมนูที่มีให้เลือกหลากหลาย ฉลากบนกล่องของร้าน “White Story” ก็เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร ด้วยข้อความน่ารักๆ ที่มีทั้งคำคล้องจองหรือคำคมเด็ดๆ ทำให้คนซื้ออย่างเราๆ อ่านแล้วยิ้มตามได้ไม่ยาก ซึ่งเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นหลังจากได้เข้าไปอยู่ในสามย่านมิตรทาวน์ “แวว” ระบุว่า การทำสินค้าออแกนิก ใช้สารเคมีให้น้อยที่สุดทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นกว่าปกติ ลดค่าใช้จ่ายส่วนไหนได้ก็จำเป็นต้องทำ หนึ่งในนั้นคืองบการตลาด
คิดพลิกแพลงไปมาเธอก็มองว่า การทำฉลากน่ารักๆ ให้คนซื้อสนุกกับการอ่านนี่แหละ นอกจากจะช่วยให้ลูกค้าเข้าใจสินค้ามากขึ้น ยังทำให้เกิดภาพจำแบบไม่ต้องอัดค่ามาร์เกตติ้งมากมายด้วย ยกตัวอย่างเช่น เค้กไข่หน้าย่นไม่ง้อโบท็อกซ์ หรือสปาเกตตี้แซลมอนเทอริยากิ ว่ายทวนน้ำมาจากนอร์เวย์ เป็นต้น
โฆษณา