13 เม.ย. เวลา 15:37 • ความคิดเห็น

ทำไมถึงไม่มีใครสงสารกีกี้ …

ในช่วงเวลาสามปี คุณฟิลิปส์ (Philip Humm) ยูทู้ปเบอร์ด้าน storytelling อ่านหนังสือว่าด้วยศาสตร์และศิลป์ด้านนี้ไปสามสิบกว่าเล่ม แล้วสรุปหัวใจสำคัญจากหนังสือกองโตๆนั้นกลั่นออกมาเหลืออยู่สามเรื่อง เป็นหัวใจที่ทำให้เรื่องบางเรื่องช่างน่าจดจำกว่าเรื่องอื่นๆทั่วไปอยู่มาก
1
Big idea number ONE : Character
คุณฟิลิปส์ยกตัวอย่างทหาร stromtrooper ในสตาร์วอร์ แต่ในบริบทไทย ถ้าเรานึกถึงกีกี้ พวกลูกสมุนตัวร้ายในหนังไอ้มดแดงอาจจะนึกภาพชัดกว่า พวกกีกี้นี้ไม่ว่าตอนไหนก็จะออกมาถูกอัด ถูกฆ่าเป็นร้อยๆก่อนเจอตัวร้ายหลัก แต่ถ้าถามเราๆ ท่านๆ ที่ได้ดู ทำไมเราถึงไม่มีใครสงสารหรือเห็นใจพวกกีกี้เลย
นั่นเพราะเราไม่เห็นหน้า ไม่รู้จักพวกกีกี้ว่าเป็นใครมาจากไหน เราถึงไม่แคร์ ไม่มีความรู้สึกยินดียินร้ายอะไร เหมือนเวลาเราเล่าเรื่องว่า เออมีผู้จัดการคนนึงฝ่ายบัญชีเพิ่งถูกไล่ออก ฟังแล้วก็จะเฉยๆ แต่ถ้าเราเล่าว่ามีรุ่นพี่ชื่อป๋อง รู้จักกันมานานหลายปีแล้ว เป็นคนน่ารัก มีน้ำใจ ตลกเฮฮา มีลูกเล็กอยู่เลย เพิ่งถูกไล่ออก เราจะแคร์ขึ้นมาทันที
ไอเดียแรกที่คุณฟิลิบส์ได้มาก็คือ การสร้าง “คาแรกเตอร์” (character) ของตัวละครในเรื่องเล่าของเราให้มีชีวิตขึ้นมา ไม่ว่าจะเล่าที่มาที่ไป นิสัย หรือความฝันของเขาก็ได้ เพราะจะทำให้ผู้ฟัง “รู้สึก” ขึ้นมากับเรื่องที่เราเล่าได้ดีกว่าเรื่องที่ไม่มีตัวตนของใครชัดๆในเรื่องนั้น
Big idea number TWO : Surprise
2
ปี 1979 เครก เจ้าของห้างสรรพสินค้า Nordstorm ที่โด่งดังในสหรัฐที่มีชื่อเรื่องถ้าซื้อไปแล้วไม่พอใจจะรับคืนโดยไม่มีคำถามใดๆ ในตอนนั้นเพิ่งเปิดสาขาแรกที่แฟร์แบงค์ อลาสก้า วันนึงเขาสังเกตเรื่องแปลกๆเรื่องนึง มีผู้ชายมอๆคนนึงเข็นยางรถยนต์เข้ามาในห้าง เจ้าของห้างก็เลยถามว่ามีอะไรให้ช่วยหรือไม่ ชายคนนั้นก็บอกว่าเอายางมาคืน เจ้าของห้างก็ยิ่งแปลกใจเพราะห้างนี้ไม่ได้ขายยางแต่เป็นห้างสรรพสินค้าหรูๆ ถามไปถามมาก็พบว่าชายคนนี้เคยซื้อยางจากร้านยางที่เดิมเป็นที่ตั้งของห้างนี้เมื่อหลายปีก่อน
เจ้าของห้างคิดหนักว่าจะทำยังไงดี เลยเอาความรู้สึกตัวเองเป็นตัวตั้ง โทรไปถามร้านยางละแวกนั้นว่ายางแบบนี้ราคาเท่าไหร่แล้วตัดสินใจคืนเงินชายคนนั้นไป ทั้งๆที่ nordstorm ไม่ได้มีแผนกยางด้วยซ้ำ เป็นที่ฮือฮาของพนักงานในร้านและภายหลังก็พัฒนากลายเป็นไอเดียที่เป็นจุดขายของ Nordstorm จนดังไปทั่วอเมริกา
เรื่องราวแบบนี้คนจะจำแม่นและเอาไปเล่าต่อเพราะมีหัวใจหลักคือ “Surprise” เซอร์ไพรส์ตั้งแต่มีคนเข็นยางเข้ามาในห้างและเซอร์ไพรส์ยิ่งกว่าคืออีตาเครกก็ยังใจดีคืนเงินให้อีก เซอร์ไพรส์ทำงานได้ดีในเรื่องเล่าเพราะมนุษย์เรานั้นเก่งด้านการดูอะไรเป็นแพตเทิร์น อะไรที่เป็นไปตามคาดก็จะไม่ได้สนใจ มนุษย์เราจะสนใจเมื่อมีอะไรที่ไม่ได้คาดหวัง ไม่ได้เป็นไปตามที่คิด มีใครบางคนเคยบอกว่า เรื่องเล่าที่ดีจะต้องทำให้เกิดปฏิกริยาอุทาน LOL OMG หรือ WTF ( ใครงงลองไปหาความหมายของสามคำนี้เอาเองนะครับ) เวลาฟัง
Big idea number THREE
แต่ถ้าเรานึกเรื่องที่ LOL OMG หรือ WTF แรงๆไม่ได้ เราต้องมี “element of change” ถ้าเราเล่าเรื่องเริ่มด้วยความสนุกแล้วมีอะไรระหว่างทางแล้วจบก็ยังสนุกอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆก็จะไม่มีใครจำ เรื่องเล่าที่ดีคือ ตัวละครที่เราเล่า ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของเราเองหรือคนอื่นก็ได้ เริ่มต้นแบบนึงแต่ตอนจบกลายเป็นอีกแบบ เริ่มเศร้าจบสุข เริ่มสุขจบเศร้า เป็นต้น
ในหนังที่เราดูแล้วประทับใจหลายๆเรื่อง ตัวละครก็จะมีลักษณะแบบนี้ เอ็มในหลานม่าที่เริ่มจากอยากได้เงินอาม่าแล้วจบด้วยการโตขึ้นและเข้าใจอาม่ามากขึ้น วอเตอร์ ไวท์ใน breaking bad ก๊วยเจ๋งในมังกรหยก ตัวละครที่เราจำได้มีการเปลี่ยนแปลงทุกตัว
เรื่องเล่าที่ดีจึงต้อง “ show the change” ไม่ว่าจะเดิมวิ่งแทบไม่ได้จนกลายเป็นนักวิ่งมาราธอน จากที่ไม่พูดกับน้องสาวตอนจบกลับมาคืนดี เรื่องเล่าที่ดีจึงต้องแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเสมอ
สามไอเดียที่น่าสนใจและน่าเอาไปใช้เวลาเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเล่าในบทสนทนา การเล่าบนเวที หรือการพรีเซนต์งานก็เอาไปปรับใช้ได้ ในฐานะคนที่ทำงานด้านเล่าเรื่องบ่อยๆ ผมว่าสามข้อนี้ชัดเจนและต้องมีในเรื่องเล่าที่ดีจริงๆครับ
ก่อนเล่าเรื่องอะไรลองตรวจเช็คลิสต์ว่ามี Character….Surprise….Change… ครบหรือยังในเรื่องที่อยากจะเล่าดูนะครับ
โฆษณา