16 เม.ย. เวลา 00:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

โลกกำลังพร้อมใจ ลดพึ่งพาเงินดอลลาร์? | #บทบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจ

“เงินดอลลาร์” เสาหลักของระบบการเงินโลกกำลังสั่นคลอน? ...เป็นคำถามที่ถูกตั้งมานับสิบๆ ปีแล้ว แต่ไม่มีครั้งไหนเท่ากับช่วงเวลานี้ที่คำถามนี้
1
ดูใกล้เคียงความเป็นจริงมากสุด ย้อนไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงทำระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี สะท้อนสัญญาณที่ไม่อาจมองข้ามเกี่ยวกับบทบาทและความนิยมของเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินหลักของโลกได้
ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ (Dollar Index - DXY) ซึ่งวัดความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์เทียบกับตะกร้าสกุลเงินหลัก เช่น ยูโร เยน ปอนด์ ฯลฯ ลดลงต่ำกว่าระดับ 100 จุด น่าแปลกใจตรงที่สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดสินทรัพย์การลงทุนทั่วโลก
โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงถูกถล่มขายยับจากความกังวลเรื่องสงครามการค้า ถ้าย้อนดูสถิติในอดีตทุกครั้งที่แรงขายเกิดขึ้นกับตลาดเหล่านี้ “เงินดอลลาร์” จะแข็งค่าขึ้น เพราะนักลงทุนให้ความเชื่อมั่นว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยสุด แต่สถานการณ์ครั้งนี้กลับไม่ใช่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องหยิบมาคิดอย่างจริงจัง
อันที่จริงกระบวนการลดพึ่งพาเงินดอลลาร์หรือ De-Dollarization เริ่มมีมาพักใหญ่ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็น จีน รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย หรือกลุ่มประเทศ BRICS หันมาใช้สกุลเงินตัวเองค้าขายกันมากขึ้น ล่าสุดได้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินรูปแบบใหม่ โดยใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) เชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศตอนนี้เชื่อมกับ 10 ประเทศอาเซียน และอีก 6 ประเทศในตะวันออกกลาง โดยไม่ต้องผ่านระบบดอลลาร์ แถมยังทำธุรกรรมได้เร็วกว่าระบบ SWIFT ด้วย
1
เราเชื่อว่าระยะสั้นยังไงเงินดอลลาร์ก็ยังคงเป็นเสาหลักของระบบการเงินโลก ด้วยบทบาทในตลาดทุน ตลาดพันธบัตร และการคำนวณราคาสินค้าสำคัญอย่างน้ำมัน ทว่าแรงกดดันเชิงโครงสร้างและความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังดำเนินไป อาจทำให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคของ “หลายสกุลเงินหลัก” แทนที่ยุคของดอลลาร์เป็นศูนย์กลางแต่เพียงผู้เดียว
คำถามสำคัญสำหรับผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐ ไม่ใช่เพียงแค่จะประคองค่าเงินให้แข็งแกร่งในระยะสั้นอย่างไร แต่คือจะรักษาความเชื่อมั่นของโลกในระยะยาวได้อย่างไร เพื่อไม่ให้เงินดอลลาร์ต้องค่อยๆ สูญเสียสถานะผู้นำโดยไม่ทันรู้ตัว บอกได้คำเดียวว่า “บัลลังก์เงินดอลลาร์” ในเวลานี้กำลังถูกเขย่าอย่างรุนแรง!
โฆษณา